สรุปความรู้จากการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2561
วันที่เขียน 11/1/2562 16:15:10     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 22/11/2567 1:30:43
เปิดอ่าน: 3867 ครั้ง

การเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2561 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ทางด้านการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ หรือ การเกษตรแม่นยำ การใช้จุลินทรีย์บำบัดของเสีย การศึกษายีนแก้หมันของละอองเรณูในข้าว สารประกอบฟีนอลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากสาหร่ายไกและใบดาหลา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง

การเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2561 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมประชุม ดังต่อไปนี้

ดิจิตอลพลิกโลกเกษตร 

จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตทางการเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเติบโตไม่ทันต่อความต้องการของประชากร การนำเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทันสมัยมาใช้ทางด้านการเกษตร ที่เรียกว่า การเกษตรอัจฉริยะ หรือ การเกษตรแม่นยำ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยสามารถช่วยสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพในภาคการเกษตร โดยใช้พื้นที่ทางการเกษตรและทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะมีความก้าวหน้าไปอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป เช่น การพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับการไหลผ่านของเมล็ดพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ในประเทศเกาหลีใต้ได้ไปเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับแต่งให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยมีตัวเซนเซอร์ให้สามารถตรวจจับเมล็ดข้าวขนาดเล็ก และมีซอฟต์แวร์ควบคุมจังหวะการปล่อยเมล็ดข้าวลงไปเพาะในนาให้ถูกต้อง

การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญ คือ การพลิกผัน (Disruption) ในอุตสาหกรรมหลัก ๆ และภาคการเกษตร เทคโนโลยีที่เป็น Megatrends ที่มีผลกระทบต่อการพลิกผัน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, IoT, 5G และ Robotics เป็นต้น ในทางการเกษตรจะมีการใช้เทคโนโลยี genomic engineering :ซึ่งมีการดัดแปลงพันธุกรรมพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด เพื่อให้ปลูกได้ในสภาวะแห้งแล้ง ปลูกในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกได้ เทคโนโลยี precision farming จะถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช เช่น การควบคุมและวินิจฉัยโรค การให้ปุ๋ย ประเทศไทยมีนโยบายเรื่องการเกษตรอัจฉริยะออกมาแล้ว เหลือเพียงขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น

 

การพัฒนากรงไก่ไข่สำหรับนับจำนวนไข่และควบคุมการให้อาหาร

การนำเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงปศุสัตว์ และพัฒนาองค์ความรู้ ระบบประกอบด้วยกรงเลี้ยงไก่ไข่จำลอง และ Node MCU esp8266 ใช้สำหรับประมวลผลและส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ เซนเซอร์ Reflective photoelectric เพื่อตรวจนับจำนวนไข่ไก่ มีการแสดงผลผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ส่วนการให้อาหารไก่ควบคุมการเปิด-ปิด มอเตอร์เซอร์โวผ่านเว็บแอปพลิเคชัน

 

สมาร์ทฟาร์มเห็ดแม่โจ้

ระบบการผลิตเห็ดหลินจือที่นำเทคโนโลยีระบบการควบคุมและการแจ้งเตือนอัจฉริยะ ผ่านระบบอินเทอร์เนตโดยอัตโนมัติส่งไปยังสมาร์ทโฟน ทำให้ทราบสถานะในโรงผลิตเห็ด และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที ระบบสมาร์ทฟาร์มเห็ดแม่โจ้ประยุกต์ใช้ loT ที่มีเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้น และควบคุมการเปิดปิดน้ำที่ใช้ระบบสปริงเกอร์ชนิดหัวพ่นหมอก และมีระบบบันทึกข้อมูลความชื้น อุณหภูมิตลอดระเวลาการผลิตเห็ด

 

การบำบัดของเสียซูโครสจากอุตสาหกรรมอาหารทางชีวภาพ

เอนไซม์ลีแวนซูเครส (levansucrase) ย่อยสลายซูโครสได้เป็นกลูโคสและฟรุกโตสผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (hydrolysis) และเกิดเป็นสารลีแวน (levan) โดยปฏิกิริยาทรานส์ฟรุกโตซิลเลชัน (transfructosylation) ลีแวนมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น เป็นสารให้ความหวานในอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นสารต้านมะเร็งในทางเภสัชกรรม เป็นต้น การศึกษาการบำบัดของเสียของอุตสาหกรรมอาหารที่มีซูโครสเป็นองค์ประกอบด้วยเอนไซม์ลีแวนซูเครสจากจุลินทรีย์ Bacillus siamensis ที่คัดเลือกจากถั่วเน่า พบว่า สามารถลดปริมาณซูโครสลงได้

 

การคัดแยกแบคทีเรียจากตะกอนน้ำเสียของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

การคัดแยกแบคทีเรียจากตะกอนน้ำเสียเพื่อใช้ผลิตพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (Polyhydroxyalkanoate; PHA) โดยใช้กลีเซอรอลเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (waste glycerol) เป็นแหล่งคาร์บอน พบว่า แบคทีเรียที่คัดแยกได้ คือ Bacillus cereus ซึ่งสามารถย่อยสลาย waste glycerol ที่ใช้เป็นแหล่งคาร์บอน สำหรับการผลิต PHA ได้ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตไอโอพอลิเมอร์ต่อไปได้

 

ความสามารถในการแก้หมันของละออกเรณูในข้าว

การศึกษาความสามารถของยีนแก้หมันของละอองเรณูระบบ Wild Abortive Cytoplasmic Male Sterility (WA-CMS) ในข้าว โดยศึกษาความมีชีวิตของละออกเรณูและการติดเมล็ด ร่วมกับการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอ พบว่า ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ไม่มียีนแก้หมันระบบ WA-CMS แต่น่าจะมียีนแก้หมันของระบบ Boro II-CMS (BT-CMS) ดังนั้น ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จัดเป็นกลุ่ม B-line ของระบบ WA-CMS ที่น่าจะมียีนแก้หมันของระบบ BT-CMS โดยจะนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมต่อไป

 

สารประกอบฟีนอลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสาหร่ายไก

สาหร่ายไก (Rhizoclonium hieroglyphicum) เป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวเป็นอาหารพื้นบ้านของคนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีการขจัดอนุมูลอิสระเอบีทีเอส (ABTS radical scavenging activity) พบว่า สารสกัดสาหร่ายไกด้วยเอทานอลมีปริมาณสารฟีนอลิกสูงที่สุด ส่วนสารสกัดสาหร่ายไกด้วยน้ำมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพและเวชสำอางได้

 

องค์ประกอบฟีนอลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของใบดาหลา

ดาหลาเป็นพืชสมุนไพรในตระกูลขิงข่า ส่วนของใบประกอบด้วยสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ สารสกัดใบดาหลาด้วยน้ำและตรวจวัดสารกลุ่มฟีโนลิกด้วยวิธี Folin-Ciocalteu method วิเคราะห์องค์ประกอบของสารกลุ่มฟีนอลิกด้วย LS/MS และวิเคราะห์ฤทธิ์ขจัดอนุมูลอิสระเอบีทีเอสและดีพีพีเอช พบว่า สารประกอบฟีนอลิกที่สำคัญ ได้แก่ isoquercetin, catechin และ gallic acid และสารสกัดใบดาหลามีประสิทธิภาพขจัดอมุมูลอิสระเอบีทีเอสและดีพีพีเอชได้ ดังนั้น ใบดาหลาเป็นแหล่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้

 

ในการเข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การใช้แบคทีเรียบำบัดของเสีย การปรับปรุงพันธุ์ข้าว และการวิจัยสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาการเรียนการสอน และการทำงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

รายงานการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2561. วันที่ 11-13 ธันวาคม 2561. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่.

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 13:36:43   เปิดอ่าน 106  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง