การประชุมวิชาการจีโนมิกส์ และพันธุศาสตร์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้างานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งในงานประชุมได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในหลายๆ ด้าน ซึ่งสามารถสรุปเป็นเรื่องต่างๆ ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงจีโนม (genome editing) สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้วิธี zinc finger nucleases (ZFNs), วิธี transcription-activator like effector nucleases (TALENs) และวิธี CRISPR-Cas9 ซึ่งวิธี CRISPR-Cas9 เป็นวิธีใหม่ล่าสุด และกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และง่ายไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ในกระบวนการของวิธี CRISPR-Cas9 นี้ ต้องมีโมเลกุลที่สำคัญ 2 ชนิดคือ สายอาร์เอ็นเอที่จำเพาะเจาะจงกับบริเวณที่ต้องการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอ หรือเรียกว่า short guide RNAs (gRNA) และ โปรตีน RNA-binding Cas9 nuclease (Cas9) โดย gRNA จะไปจับกับบริเวณที่เป็นเบสคู่สม หรือบริเวณที่เราต้องการ หลังจากนั้น โปรตีน Cas9 จะเข้าไปตัดในบริเวณที่จำเพาะเจาะจงทั้งสองด้านของ gRNA ทำให้เกิดการแตกหักของชิ้นดีเอ็นเอทั้งสองสาย (double strand break) หลังจากนั้นเซลล์จะมีกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของดีเอ็นเอ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจีโนมในบริเวณที่ต้องการ วิธีนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น มีการใช้วิธีนี้เพื่อรักษาโรคทาลัสซีเมีย โดยต้องการเปลี่ยนแปลงลำดับเบสที่ผิดปกติของคนที่เป็นโรคนี้ และรักษาโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ