สรุปประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 21 “พันธุศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: Genetics for Sustainable Development”
วันที่เขียน 1/8/2562 13:10:24     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 22:27:33
เปิดอ่าน: 3987 ครั้ง

การเข้าร่วมประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 21 นี้ มีการนำเสนอความรู้ครอบคุลมวิชาการด้านพันธุศาสตร์ทุกแขนง ได้แก่ นิติวิทยาศาสตร์ พันธุศาสตร์จุลินทรีย์ พันธุศาสตร์ของเซลล์ พันธุศาสตร์มนุษย์และเวชพันธุศาสตร์ พันธุศาสตร์เกษตรและการประยุกต์ และความรู้ด้านโอมิกส์ โดยได้ฟังการนำเสนอทั้งจากภาคบรรยายและโปสเตอร์

ข้าพเจ้า นางสาวยุพเยาว์ คบพิมาย ตำแหน่งอาจารย์ สังกัด สาขาพันธุศาสตร์ ขอนำเสนอรายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 20-21มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเดอะซายน์ อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามหนังสือขออนุญาตเลขที่ ศธ 0523.4.9.1/313  ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ดังนั้นจึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการประชุมวิชาการดังต่อไปนี้

ในการประชุมครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับฟังการบรรยายดังต่อไปนี้

1. การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สรุปความได้ว่า ในการตรวจพิสูจน์หลักฐานของคดีต่าง ๆ ต้องอาศัยความรู้ทั้งทางด้านฟิสิกส์ เคมี และพันธุศาสตร์  เช่น ใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์ และเคมีในการตรวจหาสารทำระเบิดที่มือของผู้ต้องสงสัย การวิเคราะห์รูปแบบและการจุดฉนวนของระเบิด ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ใช้ในการตรวจดีเอ็นเอเพื่อระบุตัวตนของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งสามารถตรวจดีเอ็นเอได้จากหลักฐานที่มีอยู่ เช่น แปรงสีฟัน เสื้อผ้า ถุงมือ ก้นบุหรี่เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจดีเอ็นเอยังสามารถใช้ระบุความเป็นญาติพี่น้องกับผู้ต้องสงสัยเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกด้วย และผู้บรรยายได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์หลักฐาน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

2. การบรรยายพิเศษ เรื่อง ผลของ Streptomyces เอนโดไฟต์ที่ผลิตเอนไซม์ ACC deaminase ต่อการทนเค็มของข้าว โดย รศ.ดร.อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต สรุปความได้ว่า Streptomyces เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต้นพืชสามารถผลิตเอนไซม์ 1-aminocyclopropane-1-carboxylate (ACC) deaminase ซึ่งช่วยให้ข้าวทนเค็มโดยลดการผลิตเอธิลีน ลด ROS ปรับสมดุลไอออนและแรงดันออสโมซิส และมีการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียดในข้าว เมื่อวิเคราะห์การแสดงออกของยีน acdS ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตเอนไซม์ ACC deaminase ของ Streptomyces ที่อาศัยอยู่ในต้นข้าว พบว่ามีการแสดงออกของยีนนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แบคทีเรีย Streptomyces พันธุ์กลายที่มีการแสดงออกของยีน acdS สูงขึ้นมีผลทำให้ข้าวทนเค็มได้มากขึ้น ดังนั้นผลการวิจัยยืนยันว่า Streptomyces ที่ผลิตเอนไซม์ ACC deaminase ช่วยส่งเสริมให้ข้าวเจริญและทนเค็มได้ดีขึ้น

 

3. การบรรยายพิเศษ เรื่อง From optical imaging to nano-imaging for chromosome research โดย Prof. Dr. Kiichi Fukui สรุปความได้ว่า การศึกษาโครโมโซมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์จากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนากล้องจุลทรรศน์และเทคนิคการใหม่ ๆ ทำให้ศึกษารายละเอียดของโครโมโซมได้มากยิ่งขึ้น มีการใช้กล้อง differential interference contrast microscope (DIC) บันทึกการเคลื่อนไหวของโครโมโซมในการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส นอกจากนี้ยังมีการจำแนกโครโมโซมที่มีขนาดเล็ก เช่น โครโมโซมของข้าว โดยการดูรูปแบบความหนาแน่นของโครโมโซมในระยะ pro-metaphase เพื่อช่วยในการจับคู่โครโมโซม นอกจากนี้มีการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง เช่น SEM และ TEM มาช่วยในการศึกษาโครงสร้างภายในของโครโมโซมด้วย 

 

4. การบรรยายพิเศษ เรื่อง Personalized Neoantigen-Based Cancer Immunotherapy โดย Trairak Pisitkun สรุปความได้ว่า วิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ผู้ป่วยตายมากกว่ารอด  สาเหตุอาจเนื่องมาจากความแตกต่างของสารพันธุกรรมที่ก่อให้มะเร็งชนิดต่าง ๆ รวมถึงความแตกต่างของสารพันธุกรรมระหว่างตัวคนไข้แต่ละคน ดังนั้นจึงมีการคิดค้นหาวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่โดยใช้ระบบภูมิคุ้มกัน (Cancer immunotherapy) เนื่องจากเป็นระบบที่มีตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงน่าจะมีผลข้างเคียงน้อย ในการพัฒนาการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิคุ้มกันให้เฉพาะกับแต่ละบุคคล เช่น การพัฒนาวัคซีน จำเป็นต้องมีการศึกษาเป้าหมายที่ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้าทำลาย เซลล์มะเร็งมักมีการกลายพันธุ์หลายรูปแบบซึ่งไม่พบในเซลล์ปกติ ดังนั้นจึงมีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาด้วย โปรตีนที่ผิดปกติเหล่านี้จะปรากฏบนผิวเซลล์มะเร็งโดยอยู่รวมกับโปรตีน human leukocyte antigen (HLA) class I กลายเป็นสารผสม สารผสมเหล่านี้จะเป็น neoantigen ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และจะถูกจดจำโดย T cell ในที่สุดเซลล์มะเร็งจะถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย ดังนั้นการศึกษา neoantigen จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับการรักษามะเร็งต่อไป

 

5. การบรรยายพิเศษกลุ่มสาขาพันธุศาสตร์มนุษย์และเวชพันธุศาสตร์ เรื่อง การศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณและมนุษย์ปัจจุบันในประเทศไทย โดย จตุพล คำปวนสาย สรุปความได้ว่า ประเทศไทยเป็นทางผ่านการอพยพของมนุษย์ออกจากแอฟริกา จากหลักฐานการค้นพบทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ และมีการอพยพเข้ามายังประเทศไทยอย่างน้อยสามครั้ง ได้แก่ 1) กลุ่มชนเก็บของป่าล่าสัตว์เมื่อประมาณ 45,000 ปีก่อน 2) กลุ่มชนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติกจากตอนใต้ของจีนซึ่งนำการเกษตรกรรมเข้ามาในยุคหินใหม่ 3) ในยุคสำริดมีการอพยพของกลุ่มออสโตรนีเซียนจากประเทศจีนมายังพม่า แล้วแพร่กระจายมายังเวียดนามและไทยเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว

 

6. การนำเสนอปากเปล่า กลุ่มสาขาพันธุศาสตร์มนุษย์และเวชพันธุศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับความยาวเทโลเมียร์จากผิวหนัง กระดูก และกระดูกอ่อนในมนุษย์ โดย มัณฑนี แก้วกูล สรุปความได้ว่า จากการศึกษาวัดความยาวของเทโลเมียร์ในเซลล์ผิวหนัง กระดูก และกระดูกอ่อน โดยวิธีการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอในสภาวะจริง (Real time PCR) ในร่างผู้เสียชีวิตที่บริจาคร่างกายจำนวน 80 ร่าง เพศชาย 51 ร่าง เพศหญิง 29 ร่าง อายุ 16-95 ปี แล้ววิเคราะห์สมการถดถอย พบว่าค่า R2 มีค่า 0.585, 0.557 และ 0.864 ในเนื้อเยื่อผิวหนัง กระดูก และกระดูกอ่อนตามลำดับ และสรุปได้ว่าการสั้นลงของเทโลเมียร์จากเนื้อเยื่อทั้ง 3 ชนิด มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น

 

7. การบรรยายพิเศษ กลุ่มสาขาพันธุศาสตร์เกษตรและการประยุกต์ เรื่อง ความก้าวหน้าการปรับปรุงพันธุ์พืชระดับโมเลกุลในพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย โดย กิตติพัฒน์ อุโฆษกิจ สรุปความได้ว่า ยางพาราและอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย การวิเคราะห์แผนที่ความสัมพันธ์ทั้งจีโนม (genome-wide association mapping) โดยศึกษาสนิปส์ที่มาจากลำดับเบสของอาร์เอ็นเอทั้งจีโนมเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสำหรับการค้นหายีนที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตน้ำยางและความยาวเส้นรอบวงลำต้นยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ปริมาณฝนน้อย สำหรับในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยซึ่งเป็นโพลีพลอยด์จะมีความซับซ้อน การใช้เทคนิคการค้นหาเครื่องหมายดีเอ็นเอที่สัมพันธ์กับลักษณะความหวานโดยการวิเคราะห์แผนที่ QTL ด้วยเครื่องหมาย EST-SSR เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาเครื่องหมายที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำตาลซูโครสและผลผลิตน้ำตาล

 

8. การบรรยายพิเศษ กลุ่มสาขาพันธุศาสตร์เกษตรและการประยุกต์ เรื่อง ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเชื้อราโรคไหม้ในประเทศไทย และวิวัฒนาการร่วมระดับโมเลกุลระหว่างข้าวกับเชื้อราโรคไหม้ โดย ชัชวาล จันทราสุริยารัตน์ สรุปความได้ว่า เชื้อรา Magnaporthe oryzae เป็นสาเหตุของโรคไหม้ในข้าว จากการศึกษาเชื้อราโรคไหม้จำนวน 60 สายพันธุ์จากทั่วประเทศ พบว่าเชื้อราโรคไหม้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนก่อโรคสูงมาก โดยพบอัลลีลของยีนก่อโรคใหม่ที่ไม่เคยรายงานมาก่อน และพบว่าเชื้อจำนวนมากมียีนก่อโรคถึง 2 ชุด โดยเป็นอัลลีล AVR-PikD ซึ่งเป็นอัลลีลดั้งเดิม และอัลลีลใหม่ AVR-PikF ซึ่งอัลลีลใหม่นี้ไม่สามารถถูกจดจำด้วยยีนต้านทานโรคไหม้ ข้อมูลจากงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่าเชื้อราโรคไหม้ใช้กลไกการเปลี่ยนแปลงลำดับเบสและการเพิ่มจำนวนชุดของยีนก่อโรคเพื่อสามารถเอาชนะการจดจำของยีนต้านทานโรคไหม้ ซึ่งอัลลีลที่พบใหม่นี้มีความรุนแรงสูงมาก ดังนั้นนักปรับปรุงพันธุ์จึงจำเป็นต้องเตรียมหาแหล่งพันธุกรรมของยีนต้านทานโรคไหม้ใหม่ๆ เพื่อใช้ในอนาคต

 

9. การนำเสนอปากเปล่ากลุ่มสาขาโอมิกส์ และอื่น ๆ เรื่อง ทัศนคติของผู้เรียนต่อการสอนวิชาพันธุศาสตร์ด้วยวิทยภาษาบูรณาการ โดย สรวิศ แก้วงาม สรุปความได้ว่า ผู้บรรยายได้ทดลองสอนวิชาพันธุศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนเอกชนใน จ.ชลบุรี โดยการจัดกิจกรรมการเรียนเป็น 6 ขั้นตอน คือ ขั้นทักทาย ขั้นทบทวนความรู้เดิม ขั้นชี้แจงและมอบหมายงาน ขั้นทำกิจกรรม ขั้นการประเมิน และขั้นสรุปเนื้อหา โดยใช้ภาษาอังกฤษในการจัดกิจกรรม พบว่า ผู้เรียนชื่นชอบกิจกรรมการสอนแบบวิทยภาษาบูรณาการ และเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น และมีส่วนส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนได้ แต่ผู้เรียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษน้อย หรือไม่ทัดเทียมเพื่อนร่วมชั้นจะมีความชื่นชอบในการกิจกรรมการเรียนการสอนลดลง

 

10. ความรู้จากการอ่านโปสเตอร์ เรื่อง การใช้ยาสีม่วง Gentian Violet ทดแทนสีย้อม Carbon Fuchsin ในการย้อมโครโมโซมพืช โดย รัตนา หิรัญพันธุ์ สรุปความได้ว่า ในการทดลองใช้สี Gentian Violet ซึ่งเป็นยาป้ายในปากมาผสมกับน้ำส้มสายชูกลั่น 5% ในอัตราส่วนต่าง ๆ พบว่า การผสมสี Gentian Violet ต่อ น้ำส้มสายชูกลั่น 5% ในอัตราส่วน 0.5 ต่อ 1 สามารถย้อมเซลล์รากหอมได้ดีที่สุด และให้ผลไม่แตกต่างจากใช้สีย้อม Carbon Fuchsin ดังนั้น การใช้สีย้อม Gentian Violet จึงเป็นการใช้สารที่หาง่าย ราคาถูก วิธีการเตรียมไม่ยุ่งยาก

 

          นอกจากฟังบรรยายการนำเสนอในข้างต้นแล้วยังได้ฟังการนำเสนอทั้งรูปปากเปล่าและโปสเตอร์ในหัวข้อต่อไปนี้

          - ความแปรปรวนและพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมสำหรับการสูญเสียลูกแรกคลอดในประชากรสุกรพันธุ์แลนด์เรซ

          - ผลกระทบของสารดีดีทีต่อหอยนางรม และดัชนีชี้วัดทางชีวภาพสำหรับการปนเปื้อนของสารดีดีที

          - อนุกรมวิธานของกลุ่มเชื้อ Shewanella sp. TH 2012 แบคทีเรียสปีชีส์ใหม่ที่ก่อโรคกุ้ง

          - การประเมินความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของกล้วยหอมจีโนม AAA ด้วยเทคนิคแฮตอาร์เอพีดี

          - การประเมินความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของครามด้วยเทคนิคสก็อต

          - การประเมินความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของแพงพวยด้วยเครื่องหมายสก็อต

          - การประเมินความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของโมกด้วยเครื่องหมายสก็อต

          - การระบุยีนทนแล้งโดยใช้สายพันธุ์ที่มีการแทนที่โครโมโซมบางส่วนในข้าว

 

การเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้กว้างขึ้นทั้งในศาสตร์ของสาขาวิชาพันธุศาสตร์และนอกสาขาวิชา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัยและการสอนในอนาคต

 

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=976
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 13:36:43   เปิดอ่าน 106  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง