จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการสถิติประยุกต์และเทคโนโลยีสารสนเทศระดับชาติ ประจำปี 2560 จัดโดย คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งจัดในหัวข้อ "SMART DATA & SMART ANALYTICS FOR SMART DECISION" ทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับข้อมูล การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ดังนี้
Digital Thailand 4.0 คือ ภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digital Landscape) โดยเชื่อมโยงความสำคัญของข้อมูล (Data 4.0) ที่จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคการสร้างนวัตกรรม ร่วมทั้งนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง การพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจทั้งภาคการเกษตร การผลิต และการบริการ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านรายได้ การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ การบริหารจัดการการเข้าสู่สังคมสูงวัย การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยี บุคลากรในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ เป็นต้น ซึ่งล้วนต้องใช้ข้อมูลสารสนเทศมาช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีนักสถิติเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง เป็นต้น
Transfer Learning and Its Application to Shadow Removal from Videos เป็นวิธีการที่ประยุกต์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการจัดการข้อมูลรูปภาพหรือภาพเคลื่อนไหว โดยการตัดเงา (Shadow) ออก โดยพบว่าวิธีการนี้สามารถนำเงาออกจากรูปภาพได้ถึง 97%
Estimating Data Envelopment Analysis Efficiency Using Uniform Distribution เป็นวิธีการทางสถิติที่นำการแจกแจงเอกรูป (Uniform Distribution) ไปประยุกต์ใช้ในการประมาณการวัดประสิทธิภาพของหน่วยผลิตด้วยวิธี Data Envelopment Analysis ซึ่งเป็นวิธีการประมาณค่าที่ไม่อิงพารามิเตอร์ ซึ่งจะไม่มีการกำหนดรูปแบบของฟังก์ชันที่แน่นอนสำหรับขอบเขตประสิทธิภาพ (Efficient Frontier) แต่ขอบเขตประสิทธิภาพจะถูกคำนวณขึ้นโดยใช้ระเบียบวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่าโปรแกรมเชิงเส้น ด้วยการวัดประสิทธิภาพเมื่อสถานการณ์มีลักษณะไม่เอื้ออำนวยด้วยการสร้างช่วงประสิทธิภาพภายใต้การแจกแจงเอกรูป
ผลของการละหมาดที่มีต่อคลื่นไฟฟ้าสมอง ความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง ความดันโลหิตและชีพจร งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้วิธีการทางสถิติในการศึกษาความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalograph: EEG) ความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง (Galvanic Skin Response: GSR) ความดันโลหิต (Blood pressure: BP) และชีพจร (Pulse) ระหว่างก่อนและหลังการละหมาด โดยพบว่าค่าเฉลี่ยคลื่นไฟฟ้าสมองระดับเบต้า (Beta) และระดับแกมมา (Gamma) ก่อนและหลังการละหมาดมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ผู้วิจัยใช้สถิติไม่อิงพารามิเตอร์ในทดสอบค่าความแตกต่างกันดังกล่าว เนื่องจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก
การพยากรณ์จำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยการพยากรณ์การใช้ตัวแบบวินเตอร์และการพยากรณ์โดยอนุกรมเวลา บ๊อกซ์-เจนกินส์ งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้วิธีการพยากรณ์เชิงสถิติไปสร้างตัวแบบพยากรณ์เกี่ยวกับจำนวนักท่องเที่ยวประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ใช้ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยพบว่าตัวแบบที่ได้จากวิธีอนุกรมเวลาบ๊อกซ์-เจนกินส์ คือ SARIMA(0,1,0)(0,1,1) ให้ค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ (Mean Absolute Percent Error: MAPE) ต่ำที่สุด
การจัดสรรการขนส่งน้ำมันดีเซล: กรณีศึกษา บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้วิธีการดำเนินการวิจัย (Operation research: OR) ในการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกช่องทางในการขนส่งน้ำมันไปยังสถานีน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือ 5 สถานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ผู้วิจัยใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า ตัวแบบการเฟ้นสุ่มเชิงเส้นแบบสองชั้น (Two-stage Stochastic Linear Program Model) ในการเปรียบเทียบนโยบาย 2 แบบคือ นโยบายเดิมที่เลือกการขนส่งทางรถบรรทุก และนโยบายใหม่ที่เลือกการขนส่งทางรถไฟ พบว่านโยบายใหม่สามารถลดต้นทุนได้ถึง 15.43% เมื่อเทียบจากนโยบายเดิม
หัวข้อ วิธีจำแนกกลุ่มระยะการเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วยกระบวนการทางสถิติ โดย นายเกรียง กิจบำรุงรัตน์ ได้นำเสนองานวิจัยที่เปรียบเทียบวิธีการทางสถิติ 2 วิธีในการจำแนกกลุ่มระยะการเป็นโรคมะเร็งเต้านม คือ วิธีการถดถอยลอจิสติกเชิงอันดับ (Ordinal Logistic Regression Model) และวิธีการจำแนกประเภท (Discriminant Analysis Model) ผู้วิจัยได้กำหนดตัวแปรตาม คือ ระยะการเป็นมะเร็งของผู้ป่วย และตัวแปรอิสระ คือ เซลล์เนื้อร้ายที่เจริญเติมโตผิดปรกติ ได้แก่ ความหนาของก้อนเนื้อ ความสม่ำเสมอของขนาดเซลล์ ความสม่ำเสมอของรูปร่างเซลล์ การเกาะติดขอบของเซลล์ ขนาดเซลลเดียว นิวเคลียสไม่ถูกห้อหุ้ม โครมาตินเฉพาะ นิวคลีโอไลในภาวะปกติและการแบ่งตัวของเซลล์ ผู้วิจัยพบว่าตัวแบบที่ได้จากวิธีการถดถอยลอจิสติกเชิงอันดับมีอำนาจจำแนกระยะการเป็นมะเร็งของผู้ป่วยได้ถูกต้องร้อยละ 55.50 ส่วนตัวแบบที่ได้จากวิธีวิธีการจำแนกประเภทมีอำนาจจำแนกได้ถูกต้องร้อยละ 54.10 เป็นต้น
Estimating Infectious Disease in Thailand Based on Verbal Autopsy งานวิจัยที่ประยุกต์ใช้วิธีการทางสถิติที่เรียกว่า การถดถอยลอจิสติก (logistic regression) ในการประมาณการเกิดโรคติดเชื้อ (ไม่นับรวมโรควัณโรคและ HIV/AIDS) ในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลจาก Verbal Autospy (VA) ในปี 2005 ซึ่งเป็นเครื่องมือการสอบสวนสาเหตุการตายแบบหนึ่งที่พัฒนาโดย WHO ผู้วิจัยกำหนดตัวแปรอิสระ คือ จังหวัด เพศ กลุ่มอายุ และสาเหตุการตายตามพื้นที่ เพื่อการปรับค่าการเกิดโรคดังกล่าว ผลการวิจัยพบว่าตัวแบบดังกล่าวเข้ากับข้อมูลได้ดี และสามารถนำไปประมาณอัตราการตายโรคติดเชื้อในประเทศไทยได้
Bivariate Copula on the Hotelling’s T2 Control Chart of Contaminated data งานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์การนำ Copula จำนวน 5 แบบ ได้แก่ Normal, Clayton, Gumbel, FGM และ Joe copula ไปประยุกต์ใช้ในแผนภาพควบคุมคุณภาพของ Hotelling’s T2 เมื่อข้อมูลมีลักษณะการแจกแจงแบบแกมมาที่มีพารามิเตอร์กำหนดรูปร่างเท่ากับ 1 และพารามิเตอร์อัตราเท่ากับ 4 ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้วิจัยกำหนดให้ข้อมูลมีการแจกแจงแบบเลขชี้กำลังที่มีพารามิเตอร์เท่ากับ 1 เป็นข้อมูลเจือปน ผลการวิจัยพบว่า Joe copula ที่กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 1 และกำหนดข้อมูลเจือป่นที่ร้อยละ 1, 5 และ 10 ให้ค่า ARL1 ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ Copula ตัวอื่น ๆ
ซึ่งจากการเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเสวนาและการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ สถิติ และคณิตศาสตร์ศึกษา ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างงานวิจัยที่สนใจได้ เช่น การนำระเบียบวิธีการใหม่ ๆ ไปประยุกต์ใช้ การนำข้อดีหรือข้อเสียที่ค้นพบจากงานวิจัยไปเป็นข้ออ้างอิงในการทำงานวิจัย ต่อไป เป็นต้น