สรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 15
วันที่เขียน 13/3/2560 15:52:09     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 22/11/2567 0:47:31
เปิดอ่าน: 4300 ครั้ง

จากการเข้าร่วมและนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ความรู้ที่ได้รับสามารถนำมาตั้งโจทย์วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการผลิตพืชสวนต่าง ๆ ให้สอดคล้องในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน และควรเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างที่เกี่ยวข้อง ๆ เช่น ชว 310 สรีรวิทยาของพืชประยุกต์ ชว 411 หลักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ชว 412 หลักการด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช และ ทช 511 การพัฒนาของพืช เป็นต้น

จากการที่ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “พืชสวนไทย ปลอดภัย มั่งคั่ง และยั่งยืน วันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้ 

1. การพัฒนาด้านการวิจัย
จากการเข้าฟังเสวนาวิชาการ เรื่อง “กลยุทธ์การพัฒนาพืชสวนสำหรับประเทศไทย” นั้นทำให้ทราบถึงสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทย ดังนี้
- ข้อเท็จจริงของการเกษตรไทยที่ยังทำการเกษตรแบบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสิทธิภาพการผลิตต่ำและไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ 
- ปัญหาของพืชสวนไทย ได้แก่ มุ่งปริมาณมากกว่าคุณภาพ ผลผลิตมากเกินความต้องการ ได้ผลผลิตเกรดส่งออกน้อย และราคาผลิตตกต่ำ
- แนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพืชสวนไทย เช่น ลดพื้นที่การผลิตสำหรับพืชที่มีโอกาสในการแข่งขันน้อยไปสู่พืชที่มีโอกาสในการแข่งขันสูง 
- นโยบายการจัดการผลิต เช่น ไม้ผลเน้นการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และอุตสาหกรรมการแปรรูป ปาล์มน้ำมันเน้นการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์ไปสู่ high end และนโยบายด้านพลังงานทดแทนที่ชัดเจน ยางพาราเน้นการส่งออกวัตถุดิบ การพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
- โอกาสของพืชสวนสำหรับอนาคต ได้แก่ กลุ่มไม้ผลโดยเฉพาะไม้ผลเมืองร้อนและไม้ล้มลุก เช่น เมล่อน แตงโม ฯลฯ กลุ่มพืชผักโดยเฉพาะผักสลัดและผักที่ปลูกได้ในโรงเรือน เช่น มะเขือเทศ หรือนอกโรงเรือน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักอ่อน ฯลฯ กลุ่มสมุนไพรซึ่งมีการใช้มากขึ้นในปัจจุบันทั้งในรูปอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยารักษาโรค กลุ่มไม้ยืนต้นอุตสาหกรรม เช่น มะพร้าวน้ำหอม กาแฟ ฯลฯ
- ประเด็นการวิจัยที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงพันธ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การใช้น้ำและความต้องการน้ำ การตัดแต่งและการจัดการทรงพุ่มสำหรับไม้ยืนต้น การพัฒนาปุ๋ยและฮอร์โมน การยืดอายผลผลิต การปรับปรุงคุณภาพดิน การวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและสภาวะโลกร้อน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตรวจสอบประเมินคุณภาพผลผลิตและการบริหารจัดการ
ความรู้ที่ได้รับในส่วนนี้ สามารถนำมาตั้งโจทย์วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการผลิตพืชสวนต่าง ๆ ให้สอดคล้องในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน และควรเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การพัฒนาด้านการเรียนการสอน
ได้นำเสนอผลงานวิจัยในภาคโปสเตอร์ 2 เรื่อง ดังนี้
- งานวิจัยเรื่อง “การขยายพันธุ์งาขี้ม้อนในสภาพปลอดเชื้อ” โดยงาขี้ม้อนเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณสำคัญ คือ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง โดยเฉพาะน้ำมันงาขี้ม้อนมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาแซลมอนหลายเท่า เนื่องจากงาขี้ม้อนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย จึงเป็นที่สนใจและมีความต้องการมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน งานวิจัยนี้ศึกษาการขยายพันธุ์งาขี้ม้อนในสภาพปลอดเชื้อในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การหาสภาวะที่เหมาะสมของการฟอกฆ่าเชื้อเพื่อกระตุ้นให้เมล็ดงอก ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารเคมีฟอกฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ ในการเพิ่มปริมาณยอดเปรียบเทียบผลของชนิดไซโตไคนินที่แตกต่างกัน และการกระตุ้นให้ยอดออกรากเปรียบเทียบผลของ NAA ความเข้มข้นต่าง ๆ เพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์งาขี้ม้อนในสภาพปลอดเชื้อ สำหรับการผลิตต้นพันธุ์และผลิตแหล่งเนื้อเยื่อสำหรับรองรับการศึกษาด้านการผลิตสารทุติยภูมิจากเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงต่อไป
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของออกซินต่อการเกิดแคลลัสของงาขี้ม้อนในสภาพปลอดเชื้อ”งานวิจัยนี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการชักนำให้งาขึ้ม้อนเกิดแคลลัสในสภาพปลอดเชื้อ โดยนำชิ้นส่วนใบและปล้องมาเพาะเลี้ยงบนอาหารที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตออกซินชนิดและความเข้มข้นต่าง ๆ เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการชักนำให้เกิดแคลลัส ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงแคลลัสงาขี้ม้อนเพื่อรองรับการผลิตสารทุติยภูมิต่อไป
นอกจากนี้ได้เข้าฟังและชมการนำเสนอผลงานวิชาการภาคบรรยายและโปสเตอร์ตามความสนใจ เช่น
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของแสงสีจากหลอด LED ต่อการเพาะเลี้ยงกลีบดอกเบญจมาศพันธุ์แคนเทอร์” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ สภาวะที่เหมาะสมของแสงสีในการชักนำให้เกิดแคลลัส คือ แสงสีขาวจากหลอด cool white แคลลัสมีน้ำหนักสดมากที่สุดและจำนวนยอดเกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อได้รับแสงสีแดงจากหลอด LED ปริมาณคลอโรฟิลล์มากที่สุดเมื่องได้รับแสงสีน้ำเงิน : สีแดง อัตราส่วน 1 : 3 จากหลอด LED
- งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการชักนำรากในหลอดทดลองและการออกปลูกของต้นกล็อก         ซีเนีย” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ สภาวะที่เหมาะสมในการชักนำรากของต้นกล็อกซีเนีย คือ การใช้ออกซิน NAA 0.4 มิลลิกรัมต่อลิตร เติมลงในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของเทคนิคการผ่าหน่อต่อการเพิ่มจำนวนต้นสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีในสภาพปลอดเชื้อ” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ การเพิ่มจำนวนต้นสับปะรดให้มากขึ้นด้วยเทคนิคการผ่าหน่อ 2 ส่วน และ 4 ส่วน ซึ่งการผ่าลำต้นออกเป็น 4 ส่วน ให้ประสิทธิภาพการเพิ่มจำนวนยอดรวมได้มากที่สุด
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของสารควบคุมการเจริญเติบโตต่อการชักนำยอดของฮาโวเทียในหลอดทดลอง” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ สภาวะที่เหมาะสมต่อการเพิ่มปริมาณแคลลัสและการเกิดจุดเขียวบนแคลลัส คือ การเติม BA 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเมื่อย้ายแคลลัสที่เกิดจุดเขียวมาเลี้ยงอาหารที่ปราศจากสารควบคุมการเจริญเติบโตสามารถเกิดยอดได้ดีที่สุด
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ต่อการฟอกฆ่าเชื้อที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์เมล็ดมะแขว่นในสภาพปลอดเชื้อ” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ สภาวะฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดมะแขว่นที่เหมาะสม คือ การแช่เมล็ดในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5% นาท 5 นาที แล้วนำไปเพาะเลี้ยงต่อไป 
- งานวิจัยเรื่อง “ผลของสารควบคุมการเจริญเติบโตและปริมาณสารทุติยภูมิของแคลลัสกระเจี๊ยบแดง” ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับ สภาวะที่เหมาะสมในการชักนำให้ชิ้นส่วนใบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงเกิดแคลลัสและเจริญเติบโตดี คือ การเติม 2,4-D 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ BA 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ลงในอาหารเพาะเลี้ยง โดยปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดในแคลลัสสูงที่สุดเมื่อเติม 2,4-D 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ kinetin 2 มิลลิกรัมต่อลิตร
ความรู้ที่ได้รับข้างต้นสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างที่เกี่ยวข้อง ๆ เช่น ชว 310 สรีรวิทยาของพืชประยุกต์  ชว 411 หลักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ชว 412 หลักการด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืช และ ทช 511 การพัฒนาของพืช เป็นต้น 

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=638
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 13:36:43   เปิดอ่าน 106  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง