ได้ร่วมสัมมนา หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และชีวนิรภัย ในวันที่ 21 มกราคม 2559 เวลา
8.30-12.00 น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านชีวภาพ และการจัดการกับความเสี่ยงทางชีวภาพ โดย ศ.ดร. ศรีสิน คูสมิทธิ์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety level) คือ ระดับการควบคุมทางชีวภาพเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อก่อโรคภายในห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งระดับความปลอดภัยออกเป็น 4 ระดับ
ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 1 (Biosafety-Level 1) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานและชุมชนระดับต่ำ เชื้อที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์หรือให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เช่น Bacillus subtilis , E.coli –K12 ชนิดที่ไม่ก่อโรค การป้องกันในระดับนี้ไม่ซับซ้อนมากนัก โดยผู้ปฏิบัติงานมีการสวมเสื้อสำหรับห้องปฏิบัติการ สวมถุงมือยาง บริเวณที่ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องแยกส่วน
ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 2 (Biosafety-Level 2) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับกลางและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับต่ำ เชื้อในกลุ่มนี้ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในมนุษย์ หรือ ติดต่อทางอากาศได้ยาก เช่น Bacillus cereus, Pseudomonas aeruginosa การป้องกันระดับนี้ ต้องมีการจำกัดบุคคลเข้าออกห้องปฏิบัติการ มีการป้องกันอันตรายที่เกิดจากของมีคมที่มีการปนเปื้อน ผู้ปฏิบัติงานมีการสวมเสื้อสำหรับห้องปฏิบัติการ สวมถุงมือยาง และแว่นตาเพื่อป้องกัน
ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับต่ำ เชื้อในกลุ่มนี้ เป็นเชื้อก่อโรคที่รุนแรงต่อมนุษย์และสัตว์ แต่เป็นโรคที่มีสามารถรักษาให้หายได้ เช่น Mycobacterium tuberculosis, Bacillus anthrasis การป้องกันในระดับนี้ มีความเข้มงวดกับบุคคลเข้าออกห้องปฏิบัติการ บุคคลที่ทำงานในห้องปฏิบัติการนี้ต้องผ่านการฝึก และมีใบรับรองผ่านการฝึกอบรมการใช้ห้องปฏิบัติการระดับนี้ ผู้ปฏิบัติงานมีการสวมเสื้อสำหรับห้องปฏิบัติการ สวมหน้ากาก สวมถุงมือยาง สวมรองเท้าเฉพาะ และแว่นตาเพื่อป้องกัน ห้องปฏิบัติการต้องแยกออกมาจากห้องอื่น มีประตู 2 ชั้น จำกัดการเข้าถึงของบุคคล มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในห้องปฏิบัติการ
ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 4 (Biosafety-Level 4) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับสูง เชื้อในกลุ่มนี้เป็นเชื้อก่อโรคที่รุนแรงหรือทำให้คนหรือสัตว์ให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อติดเชื้อเหล่านี้ยังไม่มีวิธีการรักษา เช่น Ebola virus บุคคลที่ทำงานในห้องปฏิบัติการนี้ต้องผ่านการฝึกพิเศษเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายจากการติดเชื้อในกลุ่มนี้มาเป็นอย่างดี เสื้อสำหรับห้องปฏิบัติการ หน้ากาก ถุงมือยาง รองเท้า และแว่นตาที่ใช้ในห้องปฏิบัติงานระดับนี้ต้องใช้แบบพิเศษ ห้องปฏิบัติการต้องแยกออกมาจากตัวอาคารอื่น มีประตู 2 ชั้น มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในห้องปฏิบัติการ มีห้องอาบน้ำแยกต่างหาก
จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านชีวภาพ และการจัดการกับความเสี่ยงด้านชีวภาพ เพื่อนำมาปรับปรุงการจัดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในห้องปฏิบัติการ ต่อไป