Blog : เผยแพร่อบรม สัมมนา
รหัสอ้างอิง : 1628
ชื่อสมาชิก : จุฑามาศ มณีวงศ์
เพศ : หญิง
อีเมล์ : chutamas@mju.ac.th
ประเภทสมาชิก : บุคลากรภายใน [สังกัด]
ลงทะเบียนเมื่อ : 14/8/2557 19:45:09
แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 14/8/2557 19:45:09

รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมดของ Blog : เผยแพร่อบรม สัมมนา
สรุปการเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา
เผยแพร่อบรม สัมมนา » กระแสของผู้บริโภคด้านอาหารในปัจจุบัน
ข้าพเจ้า นางสาวจุฑามาศ มณีวงศ์ ตำแหน่ง อาจารย์ สังกัด สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ขอนำเสนอรายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในการเข้าร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงาน ในงานประชุม “2019 International Joint Conference on JSAM and SASJ, and CIGR VI Technical Symposium Joining FWFNWG and FSWG Workshop” ณ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เมืองซับโปโร ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2562 ตามหนังสือขออนุญาตเข้าร่วมประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์ เลขที่ อว 69.4.4/54 ลงวันที่ 17 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2562 นั้น จึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมประชุม ดังต่อไปนี้ ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความรู้จากการบรรยาย เรื่อง แนวทางการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย และ เรื่องการยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์โดยใช้วิธี high hydrostatic pressure โดยสรุปเนื้อหาของงานดังนี้ หัวข้อ แนวทางการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย โดย Dongxiao Sun-Waterhouse ได้บรรยายเกี่ยวกับ การวิจัยค้นคว้าและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพของอาหารและอาหารปลอดภัย ผู้บริโภคในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อให้อาหารนั้นยังคงมีคุณค่าหรือมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ทำให้อาหารนั้นสะดวกต่อการบริโภคมากขึ้น กระแสความต้องการของผู้บริโภคอาหาร ได้แก่ 1) อาหารต้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยหรือการอักเสบ 2) อาหารต้องส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร 3) อาหารมีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาล 4) เครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลต่ำและแคลอรีต่ำ 5) ความชอบส่วนบุคคลของผู้บริโภค เช่น ผู้ที่บริโภคมังสวิรัติ, ผู้ที่ชอบบริโภคเนื้อ หรือวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแต่แหล่ง 6) วัตถุดิบหรือส่วนผสมจากพืช 7) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดี 8) ชนิดและปริมาณโปรตีนในอาหาร 9) ชนิดและปริมาณไขมันในอาหาร 10) ของกินเล่นทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ถั่ว หรือ ผลไม้ เป็นต้น จากกระแสความต้องการของผู้บริโภค ดังที่กล่าวมาแล้ว การติดฉลากเพื่อบ่งบอกส่วนประกอบและคุณค่าทางโภชนาการบนผลิตภัณฑ์นั้นมาความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดย Dongxiao Sun-Waterhouse ได้ทำการวิจัยสำรวจ พบว่าการติดฉลากที่บ่งบอกคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยของอาหารบนผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจบริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างมาก และได้รับฟังการบรรยาย เรื่องการยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์โดยใช้วิธี high hydrostatic pressure โดย Amauri Rosenthal จากการบริโภคปลาซาดีนและหอยเซลล์ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จึงมีการหาวิธีในการยืดอายุเก็บรักษาให้ได้ยาวนานขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ ในงานวิจัยนี้ใช้ High hydrostatic pressure (HHP) ช่วยในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร โดยใช้ HHP ที่ความดัน 300-400 MPa กับปลาซาดีนและหอยเซลล์ นาน 0-15 นาที วิเคราะห์หาปริมาณจุลินทรีย์ที่เหลือรอดและเจริญระหว่างการเก็บรักษาในตู้เย็น (4-5 องศาเซลเซียส) จากผลการทดลองพบว่าการใช้ความดันสูงและเวลานานสามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญที่อุณหภูมิทั่วไปและจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญในที่อุณหภูมิต่ำในปลาซาดีนและหอยเซลล์ได้ เมื่อเก็บไว้นาน 21 วัน จากการวิเคราะห์โปรตีนพบว่าเนื้อสัมผัสของโปรตีนเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบ ส่วนกรดนิวคลีอิกบางส่วนถูกทำลาย นอกจากนี้ยังพบการเกิดการเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันในหอยเซลล์อีกด้วย จึงสรุปได้ว่า HHP สามารถยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์ได้นานขึ้น ลดการเจริญของจุลินทรีย์ในระหว่างการเก็บรักษาในตู้เย็น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การสูญเสียกรดนิวคลีอิกในอาหาร อีกทั้งยังมีการเกิดสารชนิดอื่นขึ้นอีกด้วย ซึ่งสารดังกล่าวควรมีการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคหรือไม่ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้นำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ เรื่อง Effect of Sucrose and Glucose on Coffee Kombucha Carbonation จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ทราบแนวโน้มและกระแสของการบริโภคอาหารของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อจะได้นำมาประยุกต์ใช้การเรียนการสอนรายวิชา ชว 453 เทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ต่อไป
คำสำคัญ : คุณค่าทางโภชนาการ  อาหารปลอดภัย  อาหารสุขภาพ  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 1462  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน จุฑามาศ มณีวงศ์  วันที่เขียน 27/9/2562 12:09:02  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 13:40:46
เผยแพร่อบรม สัมมนา » การใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งและการคัดเลือกยีสต์ทนแรงดันออสโมติก
รายงานสรุปการเข้าร่วมประชุมวิชาการของ นางสาวจุฑามาศ มณีวงศ์ ตำแหน่ง อาจารย์ สังกัดสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2561 วันที่ 11-13 ธันวาคม 2561 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความรู้จากงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำจากการแช่อิ่มแห้ว และงานวิจัยเรื่องการแยกและคัดเลือกยีสต์ชอบแรงดันออสโมติกสูงจากน้ำผึ้งท้องถิ่นเพื่อผลิตเอทานอล โดยสรุปเนื้อหาของงานวิจัยได้ดังนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำจากการแช่อิ่มแห้ว โดย จันทร์เพ็ญ บุตรใส และ เสน่ห์ บัวสนิท ในกระบวนการการผลิตแห้วแช่อิ่ม มีของเหลือทิ้งจากกระบวนการดังกล่าวที่สำคัญได้แก่ น้ำแช่อิ่มแห้ว ทางผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการนำน้ำแช่อิ่มแห้วซึ่งมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก มาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการนำมาผลิตน้ำส้มสายชู โดยกระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูนี้เริ่มจาก นำน้ำแช่อิ่มแห้วมาปรับค่าความหวานด้วยน้ำตาลให้มีค่าเท่ากับ 20 องศาบริกซ์ เพื่อนำไปหมักให้ได้แอลกอฮอล์ด้วยเชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae var. Bugundy โดยทำการหมักที่พีเอช 4.5 หมักนาน 4 สัปดาห์ ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ร้อยละ 9.33 หลังจากนั้นนำแอลกอฮอล์ที่ได้มาหมักให้เป็นน้ำส้มสายชู โดยนำแอลกอฮอล์ที่ได้มาปรับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้นเริ่มต้นคือ ร้อยละ 5 แล้วหมักน้ำส้มสายชูด้วยเชื้อ Acetobacter aceti TISTR 102 นาน 7 วัน พบว่าได้น้ำส้มสายชูจากน้ำแช่อิ่มแห้วที่มีปริมาณกรดอะซิติกเท่ากับ 2.75 กรัม/100 มิลลิลิตร จากการวิจัยครั้งนี้สามารถนำของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมทางอาหารมาแปรรูป เป็นการลดปริมาณของเหลือทิ้งและเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งดังกล่าว การแยกและคัดเลือกยีสต์ชอบแรงดันออสโมติกสูงจากน้ำผึ้งท้องถิ่นเพื่อผลิตเอทานอล โดยโซเดีย มาหะมะ และคณะ ที่มาของงานวิจัยนี้คือ ในการผลิตเอทานอลในระดับอุตสาหกรรม ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการผลิตคือความเข้มข้นของสารตั้งต้น คือ น้ำตาล เมื่อใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงก็จะส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ก็คือเอทานอลในปริมาณที่สูงด้วย แต่การใช้สารตั้งต้นที่ความเข้มข้นสูงจะส่งผลต่อยีสต์ที่ใช้ในกระบวนการหมัก เนื่องจากไม่สามารถทนต่อแรงดันออสโมติกสูงๆ ได้ งานวิจัยนี้จึงคัดเลือกยีสต์ที่สามารถทนแรงดันออสโมติกสูงจากน้ำผึ้ง 3 แหล่ง ได้แก่ อำเภอบาเจาะ, อำเภอศรีสาคร และ อำเภอรือเสาะ พบว่ายีสต์ 2 ไอโซเลท ได้แก่ BD1-1 และ SC3-3 สามารถหมักอาหาร Yeast Malt Broth ที่มีน้ำตาลกลูโคสเข้มข้นร้อยละ 10 ได้ปริมาณเอทานอลร้อยละ 3.95 เมื่อเปรียบเทียบกับยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งสามารถผลิตเอทานอลได้ร้อยละ 4.6 จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความรู้และแนวทางในการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้ง และการคัดเลือกยีสต์จากน้ำผึ้ง เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้งและปรับปรุงกระบวนการผลิตเอทานอล ตามลำดับ
คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2239  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน จุฑามาศ มณีวงศ์  วันที่เขียน 11/1/2562 15:33:42  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 9:51:50
เผยแพร่อบรม สัมมนา » การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ: การผลิตแก๊สชีวภาพ
ในเดินทางไปร่วมประชุมวิชาการนานาชาติและนำเสนอผลงานวิจัย The 2nd Environment and Natural Resources International Conference (ENRIC 2016): Interdisciplinary Approaches to Save Future Earth Environment ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2559 นั้น โดยได้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ เรื่อง Biogas Production from Fermenting Pangola Grass (Digitaria eriantha) with Vinasse from Distillery Plant ในการสัมมนา มีการจัดการสัมมนาออกเป็น 3 ส่วน คือ การวิจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental research) การจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental management) และ การพัฒนาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม (Environmental development) การวิจัยทางสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การหาสาเหตุและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาการดูดซับตะกั่วในดิน โดยใช้ใบสับปะรดและยางพารา การจัดการสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับ การวางแผนเพื่อจัดการพื้นที่เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาการคัดแยกขยะในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เป็นการหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหาวิธีการในการลดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตแก๊สชีวภาพจากของเหลือทิ้งหรือน้ำทิ้งจากแหล่งต่างๆ จากการไปสัมมนาครั้งนี้ ได้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายในหัวข้อ การผลิตแก๊สชีวภาพจากการหมักร่วมกันระหว่างกากไขมัน กับมูลสุกร และน้ำทิ้ง (Biogas Production from Anaerobic Co-Digestion of Grease Waste with Swine Manure and Wastewater) ในงานวิจัยได้ทำการศึกษาการใช้ร่วมกันระหว่าง กากไขมัน: มูลสุกร :น้ำทิ้ง โดยใช้ในสัดส่วน ต่างๆ ดังนี้ 0.3 : 2.1 : 0.6, 0.5 : 2 : 2.5, 0.5 : 2.5 : 2, 0.5 : 3.5 : 1, 0.5 :3.5 :10, 1 : 2 : 2, 1 : 2.5 : 1.5, 1 : 5 : 10, 1 : 6 : 10, 1.5 : 1.5 : 2, และ 2 : 1 : 2 (w/w/v) ในการศึกษาทำการเลี้ยงในถังหมักขนาด 200 ลิตร ในสภาวะไร้อากาศ พบว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 0.5 : 3.5 :10 ให้ปริมาณแก๊สมีเทนสูง 2,184 ลิตร หรือร้อยละ 56.5 ในวันที่ 31 ของการเลี้ยง ซึ่งแก๊สดังกล่าวสามารถผลิตได้ 28.06 ลิตร ต่อวัน และให้พลังงาน 68 กิโลแคลอรี ในงานสัมมนาครั้งนี้ได้มีการส่งเสริมให้ตระหนักถึงการลดการใช้พลังงานจากแหล่งธรรมชาติ การหาแหล่งพลังงานอื่นใช้ทดแทน เช่น พลังงานจากแก๊สชีวภาพ ไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม จากการฟังบรรยายเรื่องการผลิตแก๊สชีวภาพในครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์และปรับปรุงงานวิจัยของตนเองที่เกี่ยวกับการผลิตแก๊สชีวภาพ ต่อไป
คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2431  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน จุฑามาศ มณีวงศ์  วันที่เขียน 15/3/2560 15:25:25  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 9:51:59
เผยแพร่อบรม สัมมนา » หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety)
ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety level) คือ ระดับการควบคุมทางชีวภาพเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อก่อโรคภายในห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งระดับความปลอดภัยออกเป็น 4 ระดับ คือ ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 1 (Biosafety-Level 1) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานและชุมชนระดับต่ำ เชื้อที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์หรือให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 2 (Biosafety-Level 2) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับกลางและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับต่ำ เชื้อในกลุ่มนี้ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในมนุษย์ หรือ ติดต่อทางอากาศได้ยาก ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับต่ำ เชื้อในกลุ่มนี้ เป็นเชื้อก่อโรคที่รุนแรงต่อมนุษย์และสัตว์ แต่เป็นโรคที่มีสามารถรักษาให้หายได้ ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 4 (Biosafety-Level 4) เป็นการทำงานกับเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานระดับสูงและระดับความเสี่ยงต่อชุมชนระดับสูง เชื้อในกลุ่มนี้เป็นเชื้อก่อโรคที่รุนแรงหรือทำให้คนหรือสัตว์ให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อติดเชื้อเหล่านี้ยังไม่มีวิธีการรักษา
คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 22385  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน จุฑามาศ มณีวงศ์  วันที่เขียน 12/3/2559 17:27:34  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 9:51:48

URL สำหรับอ้างอิงถึงหน้านี้