การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง The International Conference on Applied Statistics 2015 ภายใต้หัวข้อ "Statistics for Global Evolution Vission in the 21st Century" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2015 ณ โรงแรมสยามเบย์ซอร์พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมสถิติแห่งประเทศไทย และเครือข่ายการวิจัยสถิติศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้จากผู้เชียวชาญ อาทิ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มากมายทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยได้นำเสนอถึงการนำสถิติศาสตร์ในแง่ทฤษฎีสถิติ วิธีการทางสถิติ สถิติประยุกต์ ไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาและการวิวัฒนาการของโลก อาทิ วิธีการทางสถิติเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นจำนวนนับ (count data) การแจกแจงทางสถิติ (statistical distribution) ตัวแบบและวิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์ของตัวแบบใหม่ ๆ การประยุกต์ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวการเกิดโรค เป็นต้น
จากการได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและประชุมวิชาการในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีการทางสถิติใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยด้านตัวแบบเชิงเส้นวางนัยทั่วไปสำหรับข้อมูลที่เป็นจำนวนนับที่ผู้เขียนให้ความสนใจในขณะนี้ รวมทั้งงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
1. การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนวันนอนของผู้ป่วยโรค HIV/AIDS ด้วยวิธีการ Mixture Model โดยการแปลงข้อมูลจำนวนวันนอนซึ่งเป็นจำนวนนับให้เป็นข้อมูลค่าต่อเนื่องด้วยวิธีการลอการึทึม ซึ่งค้นพบว่าข้อมูลดังกล่าวมีการแจกแจงแบบผสม จากนั้นนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาตัวแบบจำนวนวันนอนดังกล่าวด้วย Guassian Mixture Model
2. การพัฒนาตัวแบบและวิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์แบบใหม่ของข้อมูลมาตราอันดับที่มีการวัดซ้ำ โดยได้มีการเสนอวิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์ตัวใหม่ที่ชื่อว่า Guassian copula with probit และ Guassian copula with logit
3. การประมาณความเสี่ยงของการอุบัติเหตุกรณีไม่ทราบจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด จากปัญหาที่พบว่า เราไม่สามารถทราบจำนวนประชากรทั้งหมดของข้อมูลที่เราสนใจว่ามีจำนวนเท่าใด เช่น จำนวนผู้ที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งทราบเพียงแต่จำนวนผู้เกิดอุบัติเหตุที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ทราบจำนวนผู้ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล จึงทำให้ไม่ทราบจำนวนผู้ที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด เป็นต้น จึงทำให้ต้องพัฒนาวิธีการประมาณค่าจำนวนประชากรทั้งหมดขึ้นมาเพื่อใช้ในการคำนวณหาความเสี่ยงที่ต้องการทราบ อาทิวิธีการ Capture-Recapture เป็นต้น
4. การประมาณหรือพยากรณ์จำนวนคนไร้บ้าน (Homeless population) ด้วยวิธีการทางสถิติที่เรียกว่า Capture-Recapture เป็นต้น จากปัญหาทีพบ เราไม่สามารถทราบจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด เนื่องจากบางคนไม่ได้ลงทะเบียนการกับหน่วยงานของรัฐไว้ ซึ่งจำเป็นต้องทำการประมาณจำนวนนี้ขึ้นมาด้วยวิธีการทางสถิติ ซึ่งพบว่าวิธีการสถิติที่มีความเหมาะสมในการประมาณค่านี้คือ วิธีการ Capture-Recapture เป็นต้น
นอกจากการได้ประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวด้านการวิจัยแล้ว ยังสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชา สต222 ทฤษฎีสถิติ1 ได้ เช่น การค้นพบข้อแตกต่างบางประการของการแจกแจงแบบเลขชี้กำลังวางนัยทั่วไป (Generalized Exponential Distribution) กับการแจกแจงแกมมา (Gamma Distribution) วิธีการประมาณค่าพารามิเตอร์ของการแจกแจงแบบ Crack เป็นต้น