การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ
วันที่เขียน 20/12/2567 11:38:09     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 17/1/2568 7:34:44
เปิดอ่าน: 155 ครั้ง

การเขียนหนังสือหรือตำรา จะเป็นส่วนประกอบของเกณฑ์ทางเลือกที่นำเสนอร่วมกับผลงานวิจัยควบคู่กันไป แทนที่จะใช้ผลงานวิจัยเพียงอย่างเดียวที่มีเกณฑ์ในการพิจารณาคุณภาพที่สูงมาก สำหรับการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ช่วยให้เข้าใจเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการระดับต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางการเขียนหนังสือหรือตำราเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าเคยเขียนและเรียบเรียงหนังสือมาแล้ว 2 เล่ม แต่ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองมีทักษะในการเขียนหนังสือทางวิชาการยังไม่เพียงพอที่จะก้าวต่อไป ดังนั้นข้าพเจ้าจึงสนใจที่จะเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ ซึ่งจัดโดยสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) เมื่อวันที่ 2-3 ธันวาคม 2567 ณ ห้องกุมาริกา โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร  

ในการอบรมวันแรก มีวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา  สัจจานันท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ สิริธรังศรี และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สิริวรรณ ศรีพหล ทั้ง 3 ท่านสังกัดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยเปิด นักศึกษาไม่ได้เรียนในห้องเรียนดังนั้นสื่อในการเรียนรู้ที่สำคัญคือตำรา โดยลักษณะของตำรา 1 เล่มประกอบวิชาหนึ่งจะใช้อาจารย์ผู้เขียนหลายท่าน ต้องเขียนให้นักศึกษาอ่านได้เข้าใจจนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และอาจารย์ทั้ง 3 ท่านนี้ ก็เป็นวิทยากรในการอบรม เรื่อง การเขียนตำราระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ที่จัดโดยสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประจำทุกปี แต่ใช้เวลาในการอบรม 3 วัน ในขณะที่การอบรมเชิงปฏิบัติการที่ข้าพเจ้าเข้าร่วม ใช้เวลา 2 วัน นอกจากข้าพเจ้าแล้วยังมีอาจารย์ในหลักสูตรที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการอีก 1 ราย  ในการอบรมวันแรก ช่วงเช้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา  สัจจานันท์ ได้ทบทวนเกณฑ์การขอกำหนดตำแหน่งวิชาการ พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะเกณฑ์ทางเลือกที่เป็นเอกสารในการขอกำหนดตำแหน่ง ทั้งระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ หลักการที่สำคัญคือ การใช้ตำราหรือหนังสือนั้นจะขอกำหนดตำแหน่งได้เฉพาะผู้เขียนที่เป็นชื่อแรก  ประกอบด้วยย่างน้อย 5 บท และไม่น้อยกว่า 80 หน้า เนื้อหาไม่ซ้ำซ้อนกัน อาจอยู่ในเล่มเดียวกันหรือหลายเล่มก็ได้ ในการเผยแพร่ สามารถเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-book  การพิมพ์ผ่านโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์โดยจะต้องผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องที่มาจากหลายหลายสถาบัน โดยปกติจะใช้ 3 ท่านและผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินหนังสือหรือตำราจะเป็นผู้ประเมินตำแหน่งวิชาการไม่ได้ กรณีที่ได้มีการพิจารณาประเมินคุณภาพของหนังสือหรือตำราแล้วไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดการนำหนังสือหรือตำรานั้นไปแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในหนังสือหรือตำราเพื่อนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการครั้งใหม่ สามารถกระทำได้ แต่ให้มีการประเมินคุณภาพหนังสือหรือตำราที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคุณภาพของหนังสือหรือตำราที่ผ่านเกณฑ์นั้นระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์คือ B สำหรับตำรา หมายถึง เป็นตำราที่มีเนื้อหาสาระทางวิชาการถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัย มีแนวคิดและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา สำหรับหนังสือ หมายถึง เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระทางวิชาการถูกต้องสมบูรณ์และทันสมัยมีแนวคิดและการนำเสนอที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ   และระดับศาสตราจารย์คือ A สำหรับตำราใช้เกณฑ์เดียวกับระดับ B และต้อง 1. มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ 2. มีการสอดแทรกความคิดริเริ่มและประสบการณ์หรือผลงานวิจัยของผู้เขียนที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน 3. สามารถนำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางต่อวงวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ มีความละเอียดและความลุ่มลึกทางวิชาการในระดับสูง  สำหรับหนังสือ ใช้เกณฑ์เดียวกับระดับ B และต้อง 1. มีการวิเคราะห์และเสนอความรู้หรือวิธีการที่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ 2. มีการสอดแทรกความคิดริเริ่มและประสบการณ์หรือผลงานวิจัยที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ 3. สามารถนำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางต่อวงวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติมีความละเอียดและความลุ่มลึกทางวิชาการในระดับสูง

ช่วงบ่าย วิทยากร 3 ท่าน ได้แนะนำการตั้งชื่อเรื่องและการจัดทำเค้าโครงตำราและหนังสือ ถ้าเป็นตำรา ต้องคำนึงถึง YLO CLO และ PLO ด้วย ตำราอาจใช้สอนทั้งรายวิชาหรือส่วนหนึ่งของรายวิชาก็ได้ ทั้งหนังสือและตำราต้องมีดัชนีค้นคำ การตั้งชื่อเรื่องไม่ควรซ้ำกับชื่อที่มีผู้เขียนเรียบเรียงไว้ก่อนหน้า เนื่องจากต้องมีความแตกต่างในเนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาเขียนในเชิงวิชาการ เช่น ไม่ควรใช้คำว่า “ปัง” กับหนังสือหรือตำราวิชาการ  นอกจากนี้ วิทยากรทั้ง 3 ท่านยังได้กล่าวถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ และสอดแทรกงานวิจัย ซึ่งควรจะเป็นงานวิจัยของตนเองเพื่อแสดงถึงความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ และในการอบรมวันที่ สอง ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ช่วงเช้า มีการแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมกลุ่ม จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยากรประจำกลุ่มคือ รองศาสตราจารย์ ดร.จินดา ขลิบทอง กลุ่มสังคมศาสตร์ วิทยากรประจำกลุ่มคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชุติมา  สัจจานันท์ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยากรประจำกลุ่มคือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. บุญทิพย์ สิริธรังศรี และกลุ่มศึกษาศาสตร์ วิทยากรประจำกลุ่มคือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สิริวรรณ ศรีพหล โดยข้าพเจ้าถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนจะต้องมีชื่อเรื่องตำราหรือหนังสือของตนเองพร้อมสารบัญ หรือเค้าโครงที่มีความละเอียดแตกต่างกันไป และนำเสนอให้วิทยากรรวมถึงสมาชิกในกลุ่มได้รับทราบ ทั้งนี้วิทยากรได้ให้ข้อเสนอแนะ และเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มให้ข้อเสนอแนะแก่กันและกัน สำหรับช่วงบ่าย วิทยากร ได้นำเสนอประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการเขียนตำราและหนังสือให้ผ่านการประเมิน เช่น แหล่งที่มาของเอกสารอ้างอิง ปีข้อมูลและเอกสาร ความก้าวหน้าทางวิชาการ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ที่การอ้างอิงเอกสาร เช่น แหล่งอ้างอิงไม่น่าเชื่อถือ อยู่ในวงจำกัดเฉพาะภาษาไทย สถาบันใดสถาบันหนึ่งหรือผู้เขียนคนใดคนหนึ่ง แหล่งอ้างอิงล้าสมัย อ้างอิงมากเกินไป อ้างอิงน้อยเกินไป อ้างอิงไม่ครบถ้วน อ้างอิงไม่ถูกรูปแบบ ไม่มีความสม่ำเสมอ และไม่อ้างอิง โดยมีข้อแนะนำในการอ้างอิงดังนี้ ควรมีการประเมินแหล่งอ้างอิง เช่น เชื่อถือได้หรือไม่ การอ้างอิงตามความเป็นจริง อ้างอิงตามความจำเป็น อ้างอิงตามสมควร และให้ครบถ้วน ควรมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อความ แนวคิด รูปภาพ และผลงานของผู้อื่นให้ชัดเจน และในตำแหน่งที่เหมาะสม

ข้าพเจ้าคาดว่าความรู้ได้จาการอบรมครั้งนี้  จะทำให้ข้าพเจ้า ได้พัฒนาตนเองตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๖ ในองค์ประกอบที่ 1 : องค์ความรู้ องค์ประกอบย่อยที่ 1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ ระดับ 1 วิธีการจัดการเรียนรู้และผลการจัดการเรียนรู้ และ องค์ประกอบที่ 3 : ค่านิยม องค์ประกอบย่อยที่ 3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  ระดับ 1 ในระดับหลักสูตร ข้าพเจ้าสามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สาขาวิชาสถิติและสารสนเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=1540
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
งานวิจัยปวีณา » การพัฒนาตนเองจากการเข้าร่วมอบรมโครงการ Train the Trainer ด้านการจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการ สำหรับมหาวิทยาลัยเครือข่ายห้องปฏิบัติการปลอดภัย ภาคเหนือ
บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ วิจัย และบริการ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีและสารอันตราย จำเป็นต้อง ทราบถึง การจัดการของเสียสารเคมีและของเสียอันตรายในห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ เพื่...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน ปวีณา ภูมิสุทธาผล  วันที่เขียน 14/1/2568 10:36:56  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 16/1/2568 19:25:22   เปิดอ่าน 19  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
การเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ » การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราและหนังสือ
การเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้วยตำราหรือหนังสือมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและผลงานเขียนเชิงวิช...
ตำรา  ตำแหน่งทางวิชาการ  หนังสือ     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน ทวีศักดิ์ จันทร์งาม  วันที่เขียน 25/12/2567 16:11:17  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 17/1/2568 7:31:27   เปิดอ่าน 41  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง