รายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2566
วันที่เขียน 22/1/2567 14:49:36     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/11/2567 12:11:53
เปิดอ่าน: 256 ครั้ง

จากการได้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2566 เรื่อง นวัตกรรมเกษตรอาหาร และสุขภาพ ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2566 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นั้น ทำให้ได้รับประโยชน์ดังนี้ (1) รับทราบและเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ทางวิชาการ จากการเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์และนวัตกรรม ในรูปแบบของการเสวนาวิชาการ และการนำเสนอบทความ ซึ่งการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้สอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ (PLOs) ในเรื่องของการมีทักษะการปฏิบัติงาน และทักษะการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร รวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง (2) ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ ได้เรียนรู้กระบวนการทักษะการทำงานวิจัย เรียนรู้ทักษะการปฏิบัติงาน และทักษะการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ทางวิชาการ ได้นำองค์ความรู้มาบูรณาการกับรายวิชา ชว 412 หลักการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ชว 413 สรีรวิทยาประยุกต์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และ 20302200 หัวข้อสนใจทางเทคโนโลยีชีวภาพ (3) ประโยชน์ต่อหน่วยงาน (ระดับงาน/หลักสูตร/คณะ) มีความร่วมมือทางวิชาการ และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของหน่วยงาน

สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อที่สนใจ มีดังนี้

(1) หัวข้อวิจัยด้านเทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดิน ระบบไฮโดรโปนิกส์ เช่น

  • “ผลของวัสดุปลูกต่อการเจริญเติบโตของใบพายอัลบิดา (Cryptocoryne albida)” ใบพายอัลบิดาเป็นพรรณไม้น้ำสวยงามเฉพาะถิ่นของไทยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่การขยายพันธุ์ในธรรมชาติค่อนข้างช้า งานวิจัยนี้ใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดินแบบ Deep flow technique (DFT) พบว่าฟองน้ำสีดําเป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมที่สุด โดยส่งผลให้มีความยาวรากเพิ่มขึ้นสูงสุดอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ เนื่องจากฟองน้ำสีดํามีคุณสมบัติที่ดีต่อการปลูกพรรณไม้น้ำ เพราะมีรูพรุนไม่อัดแน่นรากสามารถชอนไชง่าย มีช่องว่างในการแลกเปลี่ยนอากาศกับราก จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ดี
  • “ผลการเพิ่มแอมโมเนียมไนเตรทในสารละลายธาตุอาหาร KMITL 2 ต่อการเจริญเติบโต และสารสำคัญของพรรณไม้น้ำพรมมิ (Bacopa monnieri) ในระบบปลูกพืชไร้ดิน” พรมมิเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรค บํารุงสมอง และต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยนี้ศึกษาผลของระดับความเข้มข้นแอมโมเนียมไนเตรทในสูตรสารละลายธาตุอาหาร KMITL 2 ต่อการเจริญเติบโตของพรมมิในระบบปลูกพืชไร้ดิน พบว่า ความเข้มข้นที่ 1 และ 2 mEq/L มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลำต้น จำนวนกิ่ง น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ความเข้มข้นที่ 5 mEq/L และถูกสกัดด้วยเอทานอล 95% มีปริมาณสาระสำคัญมากที่สุดทั้งฟีนอลทั้งหมด ฟลาโวนอยด์ทั้งหมด ซาโปนินทั้งหมด
  • “ผลของชนิดพลาสติกฟิล์มต่อการเจริญเติบโต คุณภาพและผลผลิตของผักกาดหอม” คุณภาพและผลผลิตของผักกาดหอมขึ้นอยู่กับพลาสติกคลุมหลังคาโรงเรือน งานวิจัยนี้ทดสอบผลของพลาสติกคลุมหลังคาที่มีสเปกตรัมแสงแตกต่างกันต่อการเจริญเติบโตของผักกาดหอมที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์แบบ Nutrient Film Technique (NFT) พบว่าการปลูกภายใต้พลาสติกสีเหลืองมีผลทําให้ผักกาดหอมทั้ง 2 พันธุ์ ได้แก่ เรดโอ๊คและกรีนโอ๊ค ให้ผลผลิตสูงที่สุด

(2) หัวข้อวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เช่น

  • “ผลของระยะเวลาการเตรียมอับละอองเกสรร่วมกับความเข้มข้นของ 2,4-D ต่อการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสรพริกลูกผสมชั่วที่ 1 พันธุ์ปากคลอง” การเพาะเลี้ยงอับละอองเกสรเป็นวิธีการสร้างสายพันธุ์ดับเบิลแฮพลอยด์ (double haploid) ซึ่งเป็นพืชสายพันธุ์แท้ งานวิจัยนี้ศึกษาผลของระยะเวลาการเตรียมอับละอองเกสรร่วมกับความเข้มข้นของ 2,4-D ต่อการเพาะเลี้ยงอับละอองเกสร พบว่า คือ อาหารสูตร C ที่เติม 2,4-D 0.1 มก/ล ร่วมกับไคเนติน 1 มก/ล เพาะเลี้ยงในที่มืดอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 6 วัน มีความเหมาะสมต่อการชักนําให้ไมโครสปอร์มีการพัฒนาเป็นเอ็มบริโอ
  • “การศึกษาชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาของเนื้อเยื่ออ้อยระบบเปิด” งานวิจัยนี้ศึกษาหาชนิดและความเข้มข้นของสารฆ่าเชื้อต่อการยับยังเชื้อจุลินทรีย์ในสภาพห้องปฏิบัติการ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่ออ้อย พบว่า Sodium hypochlorite 10, 15 และ 20 มก/ล สามารถควบคุมการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีและมีความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่ออ้อยต่ำที่สุด นอกจากนี้ทดสอบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออ้อยในอาหารสูตร MS ที่ไม่ได้นึ่งฆ่าเชื้อ ที่เติมไคเนติน 1 มก/ล กรดซิตริก 150 มก/ล ร่วมกับ Sodium hypochlorite 15 และ 20 มก/ล พบการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเนื้อเยื่ออ้อยที่ดีและไม่แตกต่างจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบดั้งเดิม

(3) หัวข้อวิจัยด้านสรีรวิทยาของพืช เช่น

  • “ผลของไคโตซานต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวภายใต้สภาพขาดน้ำ” ไคโตซานสามารถใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชที่อยู่ในสภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการขาดน้ำ งานวิจัยนี้ศึกษาผลของการฉีดพ่นไคโตซานต่อประสิทธิภาพการให้ผลผลิตของข้าวภายใต้สภาพขาดน้ำ พบว่า การฉีดพ่นไคโตซานแก่ข้าวที่ขาดน้ำในระยะออกรวงสามารถเพิ่มผลผลิตของข้าวได้สูงขึ้นกว่า 56% เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ฉีดพ่นไคโตซาน

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=1418
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 22/11/2567 23:59:49   เปิดอ่าน 107  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง