Active Learning Workshop ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
วันที่เขียน 26/11/2562 15:27:15     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 19:05:11
เปิดอ่าน: 3818 ครั้ง

Active Learning ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในชั้นเรียน อีกทั้งสร้างบทสนทนาระหว่างกันและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ต่อเนื่องและยาวนาน ส่งเสริมการ พัฒนาศักยภาพผู้สอนให้ตอบสนองกับโลกยุคใหม่และผู้เรียน Generation ใหม่ได้เป็นอย่างดี

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “Active Learning Workshop” ซึ่งจัดโดย สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2562  ณ ห้องข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ทำหน้าที่วิทยากรหลักในการฝึกอบรม

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร กล่าวแนะนำหลักสูตรการอบรมรมเชิงปฏิบัติการ Active Learning ว่าเป็นหลักสูตรที่สนับสนุนให้คณาจารย์เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีจัดการเรียนการสอน จากการสอนหน้าชั้นเรียนที่มีลักษณะเน้นการบรรยาย (Lecture) เป็นการเรียนการสอนเชิงรุก เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนที่ในปัจจุบัน เรียกว่า Active Learning ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วย สร้างบทสนทนาระหว่างกันและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ต่อเนื่องและยาวนาน ส่งเสริมการ พัฒนาศักยภาพผู้สอนให้ตอบสนองกับโลกยุคใหม่และผู้เรียน Generation ใหม่ได้เป็นอย่างดี เมื่อจบหลักสูตรผู้อบรมสามารถ 1. กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเน้นให้คณาจารย์กำหนดวัตถุประสงค์ของรายวิชาที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นที่สูงขึ้น เช่น การสร้างสรรค์การออกแบบ การวิเคราะห์ประเมินผล มากกว่าการจำหรือเข้าใจ 2. ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ด้วย Active Learning Techniques ให้ ความสำคัญกับกิจกรรมทั้งก่อนเข้าชั้นเรียน ในชั้นเรียน และหลังจบชั้นเรียนไปแล้ว มีการแนะนำเทคนิคการสอนแบบ Active Learning แบบต่าง ๆ 3. ออกแบบการวัดและประเมินผลว่าผู้เรียนสามารถแสดงให้เห็นว่าบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังไว้หรือไม่ โดย มุ่งเน้นการใช้ Formative Assessment เช่น การเขียนสะท้อนกลับการเรียนรู้ (Reflection Journal) การสัมภาษณ์ และนำเสนอปากเปล่า (Interview and Presentation) เพื่อนประเมินเพื่อน (Peer Assessment) การติดตามเพื่อพัฒนาผู้เรียนตลอดทั้งภาคการศึกษามากกว่าการสอบกลางภาคและการสอบปลายภาคเท่านั้น

สำหรับเทคนิคการเรียนการสอนที่วิทยากรแนะนำมีหลายรูปแบบ ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างบางรูปแบบที่ข้าพเจ้าสนใจ ดังนี้

  1. Collaborative team learning ใช้ในกรณีการทำงานนอกห้องเรียน หรือที่ไหนก็ได้ ที่พ้นสายตาผู้สอน หมายถึงผู้สอนไม่ต้องมานั่งสอนการทำงานกลุ่มให้กับผู้เรียน ดังนั้น การสอนทำงานกลุ่ม ที่จะเรียกว่า collaborative learning จึงใช้กรณีที่ผู้เรียนทำงานกลุ่มกันเป็นแล้ว
  2. Cooperative learning เป็นเทคนิค ที่มุ่งเน้นสอนการทำงานกลุ่มโดยตรง จึงใช้กรณีให้ผู้เรียนทำงานกันในห้อง ที่ครูมีโอกาสที่จะจัดการ สอน แนะ การทำงานกลุ่มได้ จะเห็นได้ว่า เทคนิคของ coop learning ล้วนเป็นเทคนิคที่มองเห็นขั้นตอนการสอน ในทุกเทคนิคเลย ในขณะที่ collaborative learning จะไม่มี
  3. Debate การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดจาซักถามปัญหา หรือช่วยกันแก้ปัญหาให้ผู้อื่นฟัง การเรียนการสอนในปัจจุบันได้นำเอาวิธีการสอนแบบอภิปรายมาใช้สอน เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักแก้ปัญหาและรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน การใช้วิธีการสอนแบบอภิปรายเป็นการฝึกอบรมผู้เรียน ฉะนั้นควรจะต้องตระหนักถึงกระบวนการทั้งหมดของกาอภิปราย การเป็นผู้พูดที่ดี ผู้ฟังที่ดี และบทบาทที่แสดงต่อกันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่สังคมยอมรับ
  4. Flipped classroom เป็นการจัดการเรียนการสอนที่สวนทางกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยให้นักเรียนศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตนอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนในห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรม นำการบ้านมาทำในห้องเรียนแทน
  5. Fishbowl discussion การจัดกลุ่มอภิปรายแบบกลุ่มซ้อน กลุ่มแบบนี้มีลักษณะเป็นกลุ่ม ซ้อนกันเป็น 2 วง กลุ่มวงในและกลุ่มวงนอก มีสมาชิกจำนวนเท่า ๆ กัน ประมาณ 4 – 8 คน ในขณะที่ สมาชิกกลุ่มวงในประชุมอภิปรายกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สมาชิกกลุ่มวงนอกจะทำหน้าที่สังเกตการณ์ จุดประสงค์เพื่อให้ผู้สังเกตการณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อภิปราย แต่ไม่มีความจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการ อภิปราย ได้เรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อภิปรายวงในอย่างใกล้ชิด ในบางกรณีอาจมีการสับเปลี่ยนบทบาทให้ผู้ที่อยู่วงนอกเป็นผู้สังเกตการณ์สับเปลี่ยนกัน
  6. Jigsaw classroom เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ช่วยผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กัน การเรียนการสอนตามเทคนิคนี้จะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม และให้นักเรียนแต่ละคนของกลุ่มศึกษาเนื้อหาสาระของแต่ละส่วน เพื่อให้นำเนื้อหาสาระที่ศึกษามาประกอบกันเป็นความรู้เรื่องหนึ่ง ๆ ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการต่อจิกซอว์
  7. Problem-based learning การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือ มีความหมายกับผู้เรียนที่สามารถนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้โดยปัญหา
  8. Concept question คำถามเชิงสังกัป มีประโยชน์ในการช่วยให้เราตระหนักรู้ในการรวมกัน (association) และการมีความหมายโดยนัย (connotation) และยังช่วยให้เรารู้ถึงคำปรากฏร่วมกัน (collocation) และสำนวนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (fixed expression) คำถามเชิงสังกัปนั้นยังเป็นการฝึกการฟังที่ดีสำหรับผู้เรียน และยังสามารถนำไปสู่กิจกรรมในห้องเรียน
  9. Demonstrate วิธีสอนที่ครูมีหน้าที่ในการวางแผนการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกตการฟัง การกระทำหรือการแสดง
  10. Laboratory วิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลอง เป็นวิธีสอนที่ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือปฏิบัติหรือทำการทดลองค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง วิธีสอนแบบปฏิบัติหรือการทดลองแตกต่างจากวิธีสอนแบบสาธิต คือ วิธีสอนแบบปฏิบัติการหรือการทดลองผู้เรียนเป็นผู้กระทำเพื่อพิสูจน์หรือค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ส่วนวิธีสอนแบบสาธิตนั้นครูหรือนักเรียนเป็นผู้สาธิตกระบวนการและผลที่ได้รับจากการสาธิต เมื่อจบการสาธิตแล้วผู้เรียนต้องทำตามกระบวนการและวิธีการสาธิตนั้น
  11. Online, mobile, blended learning เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ผสมผสานโมดูล (Module) การเรียนการสอนหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน เป็นลักษณะของการผสมผสานการเรียนทางไกล (Distance Learning) ผ่านระบบเครือข่าย Online ร่วมกับการเรียนแบบเผชิญหน้า

(Face to Face) ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งฟังการบรรยายในชั้นเรียนปกติ

  1. Think-pair-share เป็นวิธีการอภิปรายร่วมกันของ ผู้เรียน วิธีแบ่งปันความคิดเป็นการทำ กิจกรรม 3 ขั้นตอนคือ คิด จับคู่ และแบ่งปัน ขั้นตอนแต่ละขั้นของวิธี แบ่งปันความคิดเน้นย้ำให้ผู้เรียนรับรู้ว่าในแต่ละขั้นตอนกำลังทำอะไรอยู่

สำหรับเทคนิคการประเมินผลที่วิทยากรแนะนำมีหลายรูปแบบ ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างบางรูปแบบที่ข้าพเจ้าสนใจ ดังนี้

  1. Portfolio เป็นการประเมินจากหลักฐานการปฏิบัติงานของผู้เรียนที่เกิดจากการประเมินสภาพจริง โดยครูและผู้เรียนร่วมกันวางแผนจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน
  2. Practical exercises เป็นการประเมินประเมินโดยใช้แบบฝึกปฏิบัติ
  3. Logbook/Journal เป็นการประเมินประเมินโดยใช้คู่มือบันทึกประวัติการปฏิบัติงาน
  4. Assignments เป็นการประเมินประเมินโดยใช้การมอบหมายงานให้ทำ
  5. Dissertations เป็นการประเมินประเมินโดยใช้การทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์
  6. Extended response questions เป็นการประเมินโดยใช้แบบทดสอบที่ผู้ตอบมีสิทธิในการตอบอย่างเสรี
  7. Oral Presentation เป็นการประเมินโดยการนำเสนอปากเปล่า
  8. Oral questions เป็นการประเมินโดยคำถามปากเปล่า
  9. Personal interviews เป็นการประเมินโดยการสัมภาษณ์
  10. Exam/Tests (Open book) เป็นการประเมินโดยการสอบแบบเปิดหนังสือ
  11. Exam/Tests (Closed book) เป็นการประเมินโดยการสอบแบบปิดหนังสือ

จากเทคนิคการประเมินผลสามารถออกแบบประเมินผลที่ทำให้ประเมินได้ว่าผู้เรียนบรรลุ

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ สอดคล้องกับเทคนิคการเรียนการสอนที่วางแผนไว้ และต้องระบุได้ว่าเป็นการประเมินแบบ formative และ summative คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของการประเมินทั้งหมด   นอกจากนี้วิทยากรยังได้แนะนำเว็บไซต์ที่ช่วยในการเรียนการสอน เช่น Kahoot Socrative Flinga

จากความรู้ที่ได้รับในการเข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าว ข้าพเจ้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนได้ทุกรายวิชา โดยในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ปรับสัดส่วนการประเมินผลในรายวิชา สต300 สถิติทั่วไป ให้มีสัดส่วนของคะแนนสอบกลางภาคและปลายภาคน้อยลงและไปเพิ่มในส่วนของงานที่มอบหมาย และการสอบย่อยระหว่างภาคการศึกษา  อีกทั้งมีการทดสอบก่อนเรียนในบทแรกของรายวิชา สต161 สต316 และ สต300 ที่เน้นการบรรยายด้วยการใช้เว็บไซต์ Kahoot ในการสร้างคำถามและคำตอบ

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=1078
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 13:36:43   เปิดอ่าน 106  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง