จากการท่องจำเพื่อสอบ....สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
วันที่เขียน 14/7/2559 11:27:18     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 22:49:58
เปิดอ่าน: 10054 ครั้ง

เราอาจเกิดและเติบโตในศตวรรษที่ 20 แต่ตอนนี้ต้องมาสอนลูกศิษย์ในศตวรรษที่ 21 หากเรายังเอาวิธีการคิด หรือวิธีการสอนแบบท่องจำมาใช้ ลูกศิษย์จะเหลืออะไรติดตัวไปใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยโลกดิจิทัล โลกที่มีการเชื่อมต่อกันด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค โลกไร้พรมแดนเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ในเวลาเดียวกัน หรือรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกพร้อม ๆ กับที่คนในพื้นที่นั้น

จากการท่องจำเพื่อสอบ....สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

สุเนตร สืบค้า[1]

สุวรรณ เลียงหิรัญถาวร[2]

 

ความนำ 

          เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2559 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษของอาจารย์วิริยะ      ฤาชัยพาณิชย์ เรื่อง การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วยแนวทางการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity Based Learning) ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพอาจารย์สู่ศตวรรษที่ 21 "Future Classroom" ซึ่งจัดโดยสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้บรรยายได้กล่าวถึงการสอนแบบดั้งเดิมในประเทศไทยที่เน้นการสอนแบบท่องจำมากกว่าการคิดด้วยสมอง ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ หรือสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ได้ในภายหลัง จนกระทั่งมีเสียงสะท้อนกลับมาจากผู้ใช้บัณฑิตว่า บัณฑิตสามารถทำตามคำสั่งได้ทุกประเภท แต่ไม่สามารถคิดสร้างสรรค์หรือพัฒนางานใหม่ได้ด้วยตนเอง ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างวิธีการสอนแบบดั้งเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นการสอนให้ผู้เรียนจดจำ เช่น การจดจำรายละเอียดของพืชใบเลี้ยงคู่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยว หรือคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงบัณฑิตไทยว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และปัญหาเรื่องการไม่จัดลำดับความสำคัญของงาน เป็นต้น สถานการณ์โลกปัจจุบันมีความแตกต่างจากอดีต ระบบการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นไปในปัจจุบัน ดังนั้นทั่วโลกจึงตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบสัมมาชีพได้ตามศักยภาพ

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill)

          โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกไร้พรมแดนเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ในเวลาเดียวกัน หรือรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกพร้อม ๆ กับที่คนในพื้นที่นั้นได้รับรู้ รูปแบบการเรียนรู้  รูปแบบการใช้ชีวิต และสังคมก็เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดเทรนด์การทำงานหรือการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สังเกตได้จากปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบการศึกษาและออกไปประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น เพราะต้องการทำในสิ่งที่สนองตอบต่อความสนใจของตนเอง เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นนาย หรือเป็น CEO ของบริษัทแม้ว่าจะมีสมาชิกเพียงคนเดียวในบริษัทก็ตาม ส่งผลให้สังคมในปัจจุบันเริ่มมีกระแสตื่นตัวกับการจัดการศึกษาที่เน้น “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skill) ซึ่งคำว่า “ทักษะหรือ skill” ไม่ใช่ความรู้ หรือ knowledge ไม่ใช่เนื้อหา หรือ content แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนจากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ความยั่งยืนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ความถี่ในการปฏิบัติของบุคคลนั้นเอง” ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย 4 ทักษะคือ การค้น การคิด การทำงาน และการใช้ชีวิต ดังรายละเอียดต่อไปนี้

    1. การค้น 

ครูหรืออาจารย์ในศตวรรษที่ 21 จะปรับบทบาทจากคนสอนหนังสือ เป็นคนสอนคน  หน้าที่ของการเป็นครูคือ การสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เด็กสนใจ อยากค้นคว้า เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (Learning skill) เมื่อเด็กใฝ่รู้ รักการค้นคว้า มีการค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า สิ่งใดน่าเชื่อถือ สิ่งใดไม่น่าเชื่อถือ  ซึ่งตัวครูหรือาจารย์ก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้และพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน เพราะ Learning skill การเรียนรู้ด้วยตนเองคือสุดยอดแห่งการเรียนรู้ เรียนเพราะอยากเรียนอยากรู้ เมื่อรู้ก็ต้องรู้ให้กระจ่าง  ปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองที่จัดทำโดยหน่วยงานและองค์กรด้านการศึกษามากมาย แหล่งเรียนรู้จำนวนมากเป็นแหล่งเรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา อาทิ Khan Academy แหล่งเรียนรู้ที่เปิดการติวฟรีทั่วโลก ทุกวิชา โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนกวดวิชา และมีผู้เข้าเรียนมากที่สุดในโลก หรือ www.coursera.org แหล่งเรียนรู้ที่รวบรวม online course จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Princeton University, Stanford University, University of California เป็นต้น ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงต้องเตรียมพร้อมสิ่งสนับสนุน เช่น  Wifi เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็ว

นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่วิชา แต่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่แหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก การฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมือถือหรือแท็บเล็ตค่ายต่าง ๆ ก็มีแอพพลิเคชั่นการฝึกภาษาอังกฤษติดมากับตัวเครื่องหรือให้ดาวน์โหลดฟรีจำนวนมาก เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถฝึกฝนและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจากการฟังการบรรยายของรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ในวันที่ 19 มกราคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ท่านกล่าวไว้ว่า “การเรียนภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาแม่ ผู้เรียนต้องรู้คำศัพท์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คำ จึงจะสามารถพูด อ่าน และเขียนได้ดี

  2. การคิด 

          ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่มี “ความต้านทานต่อข้อมูลค่อนข้างต่ำ” กล่าวคือ มัก “เชื่อ” “ไลค์” และ “แชร์” ต่อกันไปโดยปราศจากการการคิดไตร่ตรองหรือการตรวจสอบความถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างมาก ในโลกที่แคบลงเพราะมวลข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้ต้องให้เวลากับการคิด วิเคราะห์ ก่อนการสื่อสาร แต่ในอีกด้านหนึ่ง พลังของมวลข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตก็อาจสร้างความบรรเจิด ให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับการบรรยายของรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ในวันที่ 19 มกราคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้           ที่กล่าวว่า….

อาชีพในปัจจุบันนี้จะเกี่ยวกับสังคมดิจิทัลเกือบตลอดเวลา ในยุคนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่สามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างไร้ขอบเขตและสามารถสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ทั่วโลก ในอนาคตคนที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จนกระทั่งได้องค์ความรู้ใหม่ จะกลายเป็นอาชีพใหม่ที่มีราคาแพงมาก เรียกว่า Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลดิบ)

  3. การทำงาน

การสอนแบบแก้ปัญหา (Problem-solving method) เป็นวิธีสอนที่ให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) กล่าวคือ เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ลงมือกระทำกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะการแสวงหาความรู้ การค้นพบ การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะความร่วมมือ การมีส่วนรวม ทักษะการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม โดยลักษณะการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ควรมีการสื่อสารด้วยข้อมูลดิจิทัล (Digital) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบ่มเพาะทักษะทางด้านเทคโนโลยี

4. การใช้ชีวิต

ความรับผิดชอบ (Intrinsic) และความซื่อสัตย์ (Integrity) เป็นทักษะที่ควรบ่มเพาะให้กับผู้เรียน ความรับผิดชอบที่ได้รับบ่มเพาะตั้งแต่ในชั้นเรียนจะยั่งยืนและยาวนานจนกระทั่งผู้เรียนจบและออกไปประกอบอาชีพ ความซื่อสัตย์เป็นคุณลักษณะที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร ยิ่งคนเราสื่อสารกันด้วยข้อมูลดิจิทัลมากเท่าไร ความซื่อสัตย์ยิ่งเป็นคุณลักษณะที่ต้องมีมากเท่านั้น ในการจัดการเรียนการสอนผู้สอนอาจมีการเสริมแรงเมื่อมีผู้เรียนแสดงออกถึงความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ และถ้าเด็กมีความรับผิดขอบและความซื่อสัตย์ ผู้สอนสามารถออกข้อสอบแบบ open-book หรือ look-around ได้โดยมีเงื่อนไขของการให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ ผู้เรียนก็จะเกิดความพยายาม ศึกษา เรียนรู้ และทำงานของตนเองให้มีลักษณะเฉพาะ

 

การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity Based Learning, CBL)

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในภาวะ “21st Century Learners vs 19th Century Lecturers” คือ ยุคที่ผู้เรียนของเราสามารถเชื่อมโลกด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คในขณะที่ครูบางส่วนยังพร่ำสอนให้เด็กนั่งจำลักษณะพืชใบเลี้ยงคู่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยว หรือคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการสอนแบบ Passive learning ซึ่งเป็นเทคนิคการสอนสมัยศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่เน้นการส่งถ่ายข้อมูล แล้วไปวัดผลว่าข้อมูลนั้นเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นการเรียนแบบเน้นความรู้ความจำ ครูในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนมาสอนแบบ Active learning ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนมากขึ้น โดยเน้นที่ “วิธีการเรียนรู้” ครูต้องกระตุ้นให้เด็กสนใจใคร่รู้ เพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์ปัญหา บรรยากาศการเรียนการสอน มีการถาม มีการตอบ มีการแสดงความคิดเห็น ทำให้สมองทำงานประสานประสาทสัมผัสทั้ง 5  ควรเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการหาความรู้เพิ่มเติม และมีผลสะท้อนกลับ (Feedbacks) ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไปได้ ทั้งนี้การส่งผลสะท้อนกลับทั้งปริมาณและคุณภาพจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด ดังนั้นผู้สอนจึงควร

- ตรวจการบ้านพร้อมเฉลย

- ตรวจรายงานบทปฏิบัติการ พร้อมชี้แนะการปรับปรุง

- ตรวจข้อสอบ พร้อมเฉลยในห้อง (หากต้องการเก็บเป็นคลังข้อสอบ และอื่นๆ

เทคนิคการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เริ่มมีการนำมาใช้ อาทิ

  1. PBL (Problem-based learning)
  2. Flipped classroom
  3. STEM Education (Science, Technology, Engineering, and Mathematics (STEM) Education)
  4. Work-based Learning ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนแบบนี้คือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  5. การออกแบบการสอนแบบเน้นความคิดสร้างสรรค์ (Creativity-based learning, CBL) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) อธิบายได้ง่าย ๆ คือ การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมที่แตกต่างจากที่คนทั่วไปเห็น จึงมีคำกล่าวที่ว่า “Creativity is the opposite of routine” เกิดจากความคล่องแคล่ว (Fluency) แสดงออกเชิงพฤติกรรมจากการที่สามารถตอบคำถามได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่อ้อมค้อม ตอบได้ตรงประเด็น มีความยืดหยุ่น (Flexibility) มีความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร หรือเป็นความคิดต่าง (Originality) และมีความละเอียดลออ (Elaboration) เช่น มีคนถามว่าคุณเจอเส้นผมที่ไหน คนแรกตอบว่า ในห้องนอน คนที่สองตอบว่า ในห้องนอนสีชมพู คนที่สามตอบว่า ในห้องนอนสีชมพูคืนวันศุกร์ แสดงว่าคนที่ 3 และ 2 มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ตามลำดับ การสอนแบบเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย       การกระตุ้น การตั้งปัญหา การค้นและคิด การนำเสนอ และการประเมินผล

หากแบ่งย่อยลงไปอีกจะเห็นได้ว่า CBL ประกอบด้วยกระบวนการ 8 ข้อและบรรยากาศ 9 ข้อดังนี้

บทส่งท้าย 

สูตรสำเร็จของมนุษย์ในยุคนี้คือ ต้องมีความฝัน และต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 การสอนแบบให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระพื้นฐานสำคัญ ผู้เขียนคิดว่ายังมีความสำคัญอยู่เพราะสาระสำคัญบางอย่างเป็นรากฐานสำหรับการประยุกต์ใช้ความรู้ในระดับที่สูงขึ้น เช่น กฎเกณฑ์และทฤษฎีต่าง ๆ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (กฎข้อที่ 1, 2, 3 ของนิวตัน กฎข้อที่ 1, 2, 3 ของเทอร์โมไดนามิกส์ และอื่น ๆ) หรือการใช้คำอุปสรรค  การจดจำ Tense ต่าง ๆ หรือคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ควรให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงควรมีทั้งเนื้อหาหรือบทเรียนในส่วนความรู้ความจำและการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการค้นคว้าเพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ควบคู่กัน

โลกในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.. แม้ว่าเราจะเป็นบุคคลผู้เกิดและมีชีวิตอยู่ในระหว่างยุคสมัย แม้การยอมรับและการปรับเปลี่ยนจะเป็นสิ่งท้าทาย แต่เราเชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนจะนำเราไปสู่โลกที่กว้างไกล ทันสมัย เท่าทัน และทำประโยชน์ได้มากกว่าเดิม

วันนี้..พวกเราพร้อมแล้ว ..ท่านล่ะ พร้อมหรือยัง

 

************************

เอกสารอ้างอิง 

บัณฑิต ทิพากร. (2559). การบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวคิด/การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21. 19 มกราคม 2559, คาวบอยเธียร์เตอร์ อาคารพัฒนาวิสัยทัศน์นักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์. (2559). การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วยแนวทางการสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity Based Learning). เอกสารประกอบการบรรยายภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพอาจารย์สู่ศตวรรษที่ 21 "Future Classroom". 15 มิถุนายน 2559, ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 57 หน้า.

สมชาย จันทร์ชาวนา. (2559). การบรรยายพิเศษ เรื่อง แนวคิด/การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21. 19 มกราคม 2559, คาวบอยเธียร์เตอร์ อาคารพัฒนาวิสัยทัศน์นักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้.



[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่.

[2] อาจารย์. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่.

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานสายวิชาการ
การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ » การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการอย่างไร ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การบริหารจัดการงบประมาณคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้ระเบียบใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อเอื้อต่อการทำงาน และเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแนวปฏิ...
  กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานสายวิชาการ
ผู้เขียน นลิน วงศ์ขัตติยะ  วันที่เขียน 28/9/2567 16:33:52  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 13:36:43   เปิดอ่าน 106  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง