การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ (Method Validation) เป็นกระบวนการหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบสมรรถนะของวิธีทดสอบ ว่าเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งานหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า วิธีการทดสอบที่เลือกใช้รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์เหมาะสมต่อการทดสอบ ส่งผลให้การทดสอบมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ ทำให้เกิดความมั่นใจของผู้รับบริการหรือลูกค้า โดยมีหลักการดังนี้
- ความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี เมื่อวิธีทดสอบเป็นดังนี้
1.1. วิธีทดสอบที่ใช้ไม่เป็นวิธีมาตรฐาน ไม่มีการยอมรับในระดับนานาชาติ ห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องทำการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าวิธีทดสอบนั้นสามารถให้ผลที่ถูกต้องแม่นยำตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
1.2. เป็นวิธีทดสอบที่ห้องปฏิบัติการพัฒนาหรือออกแบบขึ้นเองโดยห้องปฏิบัติการไม่อ้างอิงตามวิธีที่เป็นวิธีมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
1.3. เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้นอกขอบข่ายที่กำหนด
1.4. มีการขยายและดัดแปลงวิธีมาตรฐาน เช่น ห้องปฏิบัติการอาจอ้างอิงตามวิธีมาตรฐานแต่อาจมีบางขั้นตอนในวิธีทดสอบที่ไม่ปฏิบัติตามวิธีมาตรฐานทุกประการ ซึ่งวิธีทดสอบนี้จะต้องมีการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีก่อนนำมาใช้งานเพื่อให้แน่ใจว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีทดสอบจากวิธีมาตรฐานไปบางส่วนผลการทดสอบที่ได้จะยังคงความน่าเชื่อถือ
- หลักการสำหรับทำการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี
2.1. ครอบคลุมการประยุกต์ใช้ เช่น ห้องปฏิบัติการต้องการวิเคราะห์ปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดในขนมปังอยู่ในช่วง 1.0 x 102 ถึง 1.0 x 103 โคโลนีต่อกรัม การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบจะต้องครอบคลุมอยู่ในช่วงดังกล่าวนี้ด้วย
2.2. มีบันทึกวิธีการและผลที่ได้จากการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี
2.3. มีข้อสรุปบ่งชี้ว่าวิธีนั้นเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน
โดยเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบซึ่งต้องมีการเปรียบเทียบ หรือแสดงให้เห็นว่าสามารถนำไปใช้ทดสอบได้ โดยสามารถดำเนินการตามวิธีต่าง ๆ วิธีหนึ่งหรือหลายวิธีต่อไปนี้
- การเปรียบเทียบผลที่ได้กับวิธีอื่น
- การประเมินโดยใช้มาตรฐานอ้างอิงหรือวัสดุอ้างอิง
- การเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ
- การประเมินอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อผลที่ได้
- การประเมินค่าความไม่แน่นอนของผลที่ได้ตามหลักวิชาการของวิธีและประสบการณ์
ทั้งนี้การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบทางจุลชีววิทยาและทางเคมี มีความแตกต่างกับ ประกอบกับในคู่มือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา ดังนั้นในหัวข้อนี้จะได้อธิบายแนวทางการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีการทดสอบเฉพาะด้านจุลชีววิทยา เพื่อให้แต่ละห้องปฏิบัติการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อไป
แนวทางการวางแผนการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ
การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบมีแนวทางกว้าง ๆ ดังนี้
- เลือกวิธีการทดสอบ โดยผู้ทดสอบต้องเลือกวิธีการทดสอบที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากกฎหมาย หรือระเบียบราชการที่กำหนด เลือกวิธีการที่เป็นมาตรฐานฉบับล่าสุด และพิจารณาการดัดแปลงหรือใช้นอกขอบข่ายที่กำหนดในวิธีมาตรฐาน หากเป็นวิธีที่ไม่เป็นมาตรฐาน และวิธีที่ห้องปฏิบัติการพัฒนาต้องมีการวางแผนและดำเนินการโดยผู้ที่มีความสามารถและต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำมาใช้
- ผู้ทดสอบต้องจัดทำต้นร่างวิธีการทดสอบเบื้องต้น หรือพิจารณาความเหมาะสมกับเครื่องมือ/อุปกรณ์ หากมีแนวโน้มว่าสะดวกต่อการปฏิบัติและให้ผลการทดสอบเบื้องต้นว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมตามหลักวิชาการจึงทำการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ หากพบว่า ยากต่อการปฏิบัติ หรือไม่เหมาะสมกับเครื่องมือ/อุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการหรือผลการทดสอบเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าไม่เหมาะสม จะได้ทำการเลือกวิธีการทดสอบใหม่ หากเป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ในระบบ ISO/IEC 17025: 2005 เครื่องมือที่ใช้ต้องผ่านการสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ในวิธีการทดสอบก่อน
- ดำเนินการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีที่กำหนด โดยกำหนด Parameter ที่ต้องตรวจสอบเกณฑ์การยอมรับและประเภทของ sample matrix
- รายงานสรุปผลการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี โดยต้องมีข้อมูลจากการตรวจสอบ Parameter ที่กำหนด สรุปความเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์การใช้งานและขอบข่ายการนำไปใช้ และกำหนดเกณฑ์การทำ Revalidation โดยทั่วไปจะไม่กำหนดเป็นระยะเวลาแต่จะกระทำก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีที่แตกต่างไปจากวิธีมาตรฐาน
สิ่งที่ต้องตรวจสอบ
1. ความถูกต้อง (Accuracy)
ความถูกต้อง เป็นการวิเคราะห์ที่ได้ค่าถูกต้องตรงกับค่าที่แท้จริง (True value) ซึ่งในการประเมินความถูกต้องนั้น สามารถทำได้ ดังนี้
1.1. เปรียบเทียบกับวิธีที่เป็น Definitive method หรือ reference method วิธีนี้ไม่สะดวก สำหรับห้องปฏิบัติการทั่วไป
1.2. วิเคราะห์ Certified reference material (CRM) ที่ได้มีการวิเคราะห์ และกำหนดค่าโดย definitive หรือ reference method นำค่าที่วิเคราะห์ได้เปรียบเทียบกับ target value โดยในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาของสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เลือกใช้เชื้อจุลินทรีย์อ้างอิงแทน CRM ในทางเคมี ซึ่งใช้วิธีการ Spike ลงในตัวอย่าง หรือเลือกใช้ตัวอย่างที่ทราบค่าพารามิเตอร์ที่ต้องการทดสอบแล้ว
2. ความแม่นยำ (Precision)
ความถูกต้อง เป็นการวิเคราะห์ซ้ำๆกันแล้วได้ค่าที่ใกล้เคียงกัน หรือมีความแปรปรวนน้อย สามารถทำได้ โดยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างซ้ำ ในรอบเดียวกัน แล้วนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย (Mean) SD, %coefficient of variation (%CV) จากนั้นเปรียบเทียบเกณฑ์ที่กำหนดว่าค่าที่ได้มีความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่