สรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมฝึกอบรมดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
1. มาตรฐานสำหรับคณาจารย์นิเทศ
มาตรฐานสำหรับคณาจารย์นิเทศในหลักสูตรสำหรับสหกิจศึกษาที่กำหนดโดยสถานศึกษาและอนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัยของสถานศึกษาต้องมีมาตรฐานดังนี้
มาตรฐานขั้นต่ำ
1) คณาจารย์นิเทศต้องมีประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษาและผ่านการอบรมการนิเทศงานโดยหน่วยงานที่ได้รับรองจาก สกอ.
2) คณาจารย์นิเทศต้องเป็นคณาจารย์ประจำสาขาวิชาที่นักศึกษาสังกัดอยู่
3) คณาจารย์นิเทศต้องได้รับเอกสารประกอบการนิเทศ อาทิ ลักษณะงาน ประวัตินักศึกษา ฯลฯ ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนกำหนดการนิเทศ
4) คณาจารย์นิเทศต้องมีแผนการนิเทศนักศึกษา
5) ในการนิเทศงานต้องจัดให้มีการประชุม (พบปะ-หารือ) ระหว่างผู้นิเทศงานกับคณาจารย์นิเทศ นักศึกษากับคณาจารย์นิเทศและประชุมร่วมทั้งสามฝ่าย
6) คณาจารย์นิเทศต้องใช้เวลาในการนิเทศไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อการนิเทศงานหนึ่งครั้ง
7) คณาจารย์นิเทศต้องติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษา ประเมินผล และให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษาตามความจำเป็นของสาขาวิชา
มาตรฐานส่งเสริม
1) คณาจารย์นิเทศควรตรวจรูปแบบการนำเสนอผลงาน และให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษา
2) ในช่วงระยะกึ่งกลางของสหกิจศึกษา คณาจารย์นิเทศควรเข้ารับฟังการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงงานหรืองานที่ปฏิบัติของนักศึกษาร่วมกับผู้นิเทศงานและให้ข้อเสนอแนะ
3) ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของสหกิจศึกษา คณาจารย์นิเทศควรเข้ารับฟังการนำเสนอผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาร่วมกับผู้นิเทศงานและผู้บริหารองค์กรและประเมินผลงานพร้อมให้ข้อเสนอแนะ
2. การนิเทศงานสหกิจศึกษา
การนิเทศงานสหกิจศึกษา หมายถึง การที่คณาจารย์ประจำสาขาวิชาเดินทางไปเยี่ยม ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำงานแก่นักศึกษาทั้งทางด้านวิชาการและทักษะการทำงาน ณ สภานประกอบการ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการทำงานและการเขียนรายงานวิชาการของนักศึกษา ช่วงเวลานิเทศที่เหมาะสม ควรเป็นช่วงสัปดาห์ที่ 5-12 สำหรับการปฏิบัติงาน 16 สัปดาห์ คณาจารย์นิเทศที่ดีต้องเข้าใจปรัชญา วัตถุประสงค์ มาตรฐานการดำเนินงานสหกิจศึกษา กระบวนการสหกิจศึกษาและเห็นความสำคัญของสหกิจศึกษาที่มีต่อนักศึกษา สถานประกอบการและสถานศึกษา ตลอดจนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองและยึดมั่นในจริยธรรมของคณาจารย์นิเทศ นอกจากนี้คณาจารย์นิเทศอาจมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทักษะบางด้าน อาทิ การเจรจาต่อรอง การประชาสัมพันธ์และการตลาด ทักษะการสื่อสาร การให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น เพื่อเป็นส่วนช่วยให้การดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถานศึกษาประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น บทบาทและหน้าที่ของคณาจารย์นิเทศแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้
ก่อนการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
1) การจัดหางานสหกิจศึกษาและการรับรองคุณภาพงานสหกิจศึกษา
คณาจารย์นิเทศควรมีส่วนร่วมในการจัดหางานและรับรองคุณภาพงานสหกิจศึกษาโดยพิจารณาจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาและสถานประกอบการเป็นสำคัญและคำนึงถึงความเหมาะสมต่างๆ ด้วย และยึดหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานการดำเนินงานสหกิจศึกษา ดังนี้
- ลักษณะงานต้องตรงตามสาขาวิชา และ/หรือวิชาชีพ
- ลักษณะงานต้องเป็นโครงงานหรืองานประจำที่ตรงกับสาขาวิชาชีพและเน้นประสบการณ์การทำงาน โดยงานดังกล่าวต้องสามารถปฏิบัติให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่นักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
- ลักษณะงานต้องเหมาะสมกับคุณสมบัติและความสามารถของนักศึกษาตลอดจนมีความปลอดภัย
- คุณค่าทางวิชาการของตำแหน่งงานต้องไม่ต่ำ โดยอาจพิจารณาจากการประยุกต์ทฤษฎี ความยากง่าย และทักษะของนักศึกษาสหกิจศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากตำแหน่งงานนั้น
- ตำแหน่งงานต้องมีค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆตามความเหมาะสมและจำเป็น
2) การพิจารณาคุณสมบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษา
เพื่อป้องกันปัญหาการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมของนักศึกษา คณาจารย์นิเทศในสาขาวิชานั้นๆ ควรร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาสหกิจศึกษา อาทิ เกรดเฉลี่ยสะสม รายวิชาเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนไปสหกิจศึกษาหรือการอบรมเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนไปสหกิจศึกษา เงื่อนไขทางวิชาการของนักศึกษาที่สามารถไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการและข้อจำกัดด้านสุขภาพ เป็นต้น
3) การจับคู่ระหว่างนักศึกษากับสถานประกอบการ
ก่อนที่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยจะจัดส่งใบสมัครงานของนักศึกษาเพื่อให้สถานประกอบการพิจารณา คณาจารย์นิเทศในสาขาวิชาที่นักศึกษาสังกัดควรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของการจับคู่ระหว่างนักศึกษากับสถานประกอบการโดยคำนึงถึงความถนัดด้านวิชาการ ความปลอดภัย สุขภาพ รวมถึงศักยภาพของนักศึกษาและโครงงาน
4) การชี้แจงนักศึกษาก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
คณาจารย์นิเทศต้องชี้แจงนักศึกษาสหกิจศึกษาถึงข้อควรปฏิบัติ ข้อพึงหลีกเลี่ยง ตลอดจนช่องทางการติดต่อสื่อสารเมื่อมีเหตุจำเป็น ก่อนที่นักศึกษาสหกิจศึกษาจะเริ่มปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ณ สถานประกอบการ ทั้งนี้ คณาจารย์นิเทศอาจบรรยายกรณีศึกษาในอดีตและให้ข้อคิดที่เกี่ยวข้อง
ระหว่างการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
1) การนิเทศนักศึกษา ณ สถานประกอบการ
วัตถุประสงค์ของการนิเทศนักศึกษา ณ สถานประกอบการ คือ
- เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้นักศึกษา
- เพื่อติดตามและประเมินความก้าวหน้าของโครงงาน ตลอดจนปรับการทำโครงงานให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ของนักศึกษา ความต้องการของสถานประกอบการ และความถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นสำคัญ
- เพื่อดูแล ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาลุล่วงตามวัตถุประสงค์
- เพื่อขอรับทราบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานสหกิจศึกษากับสถานประกอบการ
- เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานประกอบการและนำมาประเมินผลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถานศึกษา
เพื่อให้การนิเทศสหกิจศึกษามีประสิทธิภาพ คณาจารย์นิเทศต้องเตรียมตัวศึกษาข้อมูลของนักศึกษา สถานประกอบการ และโครงงานหรืองานประจำที่เน้นประสบการณ์ก่อนไปนิเทศนักศึกษา ณ สถานประกอบการ โดยมีเอกสารประกอบการนิเทศ ได้แก่ ข้อมูลนักศึกษาสหกิจศึกษา ข้อมูลรายละเอียดงาน ข้อมูลบุคคลที่คณาจารย์นิเทศต้องไปพบ แผนปฏิบัติงานของนักศึกษา สถานที่นัดพบ แผนที่สถานประกอบการ ข้อมูลของสถานประกอบการอย่างย่อ แบบประเมินศักยภาพของนักศึกษา ผู้นิเทศงานและแบบประเมินคุณภาพสถานประกอบการ
2) การติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา
เพื่อให้การปฏิบัติงานสหกิจศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิผล คณาจารย์นิเทศต้องกำหนดมาตรการที่ใช้ในการติดตามและแจ้งให้นักศึกษาและผู้นิเทศงานทราบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ อีเมลล์ เว็บบอร์ด หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ
หลังการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
1) การประเมินผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาสหกิจศึกษา
คณาจารย์นิเทศต้องประเมินผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาสหกิจศึกษาอย่างยุติธรรมโดยใช้เกณฑ์การวัดผลที่ได้ประกาศให้นักศึกษาสหกิจศึกษาทราบก่อนการปฏิบัติสหกิจศึกษา ทั้งนี้การประเมินอาจพิจารณาจากการนิเทศสหกิจศึกษา การติดตามความก้าวหน้า การนำเสนอผลงานในการสัมมนาหลังกลับจากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา และรายงานฉบับสมบูรณ์
2) การประเมินผลการดำเนินงานสหกิจศึกษาและให้ข้อมูลสะท้อนกลับ
คณาจารย์นิเทศต้องประเมินความเข้าใจและความพร้อมในการดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถานประกอบการตลอดจนผลกระทบและศักยภาพของโครงงานของนักศึกษาสหกิจศึกษาเพื่อให้ข้อมูลสะท้อนกลับในการปรับปรุงการดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถานศึกษาและสถานประกอบการโดยอาจพิจารณาประเมินหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- ความรู้ ความเข้าใจในวัตถุประสงค์และกระบวนการสหกิจศึกษา
- ลักษณะงานของนักศึกษาสหกิจศึกษาตรงตามสาขาวิชาชีพของนักศึกษา
- ผลกระทบของโครงงานหรืองานที่ปฏิบัติต่อสถานประกอบการ
- คุณสมบัติของผู้นิเทศงานเป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานสหกิจศึกษา
- ศักยภาพการดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถานประกอบการในอนาคต
- ความเป็นไปได้ในการต่อยอดโครงงานและงานที่ปฏิบัติสู่งานวิจัยและการบริการวิชาการ