การจัดการและดูแลรักษางานภูมิทัศน์นครซานฟรานซิสโก
วันที่เขียน 13/1/2554 17:50:27     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 17:38:11
เปิดอ่าน: 13740 ครั้ง

ความสวยงามเป็นระเบียบของภูมิทัศน์นครซานฟรานซิสโกนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพรรณไม้ และองค์ประกอบทางภูมิทัศน์อื่นๆ ในพื้นที่ถนนสาธารณะ เห็นได้จากการรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครที่ไม่หวังผลกำไร

การจัดการและดูแลรักษางานภูมิทัศน์นครซานฟรานซิสโก

เรื่องและภาพโดย  อาจารย์จรัสพิมพ์  บุญญานันต์


ตีพิมพ์ลงในวารสารแม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 5 (ก.ย.-ต.ค.  2549)  หน้า  34-38

 


 

If  you’re  going  to  San  Francisco. Be  sure  to  wear  some  flowers  in  your  hair 

If  you’re  going  to  San  Francisco. You ‘re  gonna  meet  some  gentle  people  there

Scott  Mc  Kenzie  

      เสียงครวญเพลง  “San  Francisco”  อันทรงเสน่ห์ของนักร้องสาวผู้นั้น  สะกดใจผู้ฟังแทบทุกคนที่นั่งอยู่ในร้านอาหารเชิงดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ให้หันไปมอง  เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผู้เขียนได้ฟังเพลงเก่าเพลงนี้อีกครั้งหนึ่ง  และรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำเป็นพิเศษ  ด้วยหวนระลึกถึงความเก๋ไก๋น่ารักของผู้คนและบรรยากาศของเมืองซานฟรานซิสโก  ที่พึ่งจากมาได้ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ 


     เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม  พ.ศ.  2548  เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการเดินทางไปร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ  ณ  มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา  สเตท  ยูนิเวอร์ซิตี  (Oklahoma  State  University)  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  ระหว่างวันที่  27  มีนาคม-30  เมษายน  พ.ศ.  2548  ที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปแล้วในบทความในวารสารแม่โจ้ปริทัศน์  นับว่าเป็นภารกิจที่เป็นทางการและค่อนข้างเคร่งเครียด  โดยเฉพาะสำหรับอาจารย์ชาวไทยซึ่งไม่เคยไปสอนที่ต่างประเทศอย่างผู้เขียน  ดังนั้นเมื่องานดังกล่าวได้สำเร็จลงด้วยดี  ผู้เขียนจึงได้เดินทางต่อไปยังเมืองซานฟรานซิสโก  เพื่อแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าแก่  ณ  นครซานฟรานซิสโก  (University  of  California  at  San  Francisco)  ผู้เขียนจึงได้ถือโอกาสนี้ในการพักผ่อน  ท่องเที่ยว  และชมงานด้านภูมิทัศน์ไปพร้อมกัน  นับว่าเป็นแผนยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง  4  ตัวเลยทีเดียว  ดังนั้นเวลา  4 วันสุดท้ายของการเดินทางของผู้เขียน  ระหว่างวันที่  31  เมษายน – 3  พฤษภาคม  2548  จึงหมดไปอย่างสนุกสนานที่นครซานฟรานซิสโก  หนึ่งในบรรดาเมืองที่สวยงามที่สุดของสหรัฐอเมริกา  ก็ด้วยเหตุนี้แล

     ภาพของนครซานฟรานซิสโกในความคิดคำนึงของผู้เขียน  ก่อนที่จะได้มาเยือนสถานที่จริงนั้น  เป็นภาพที่ลางเลือนและไม่ประติดประต่อ  แน่นอนว่าต้องเป็นภาพของสะพานโกลเด้นเกทอันเลื่องชื่อ  (ภาพที่  1)  ถนนคดเคี้ยวบนเนินเขาที่ลาดชัน (ภาพที่  2)   รถรางที่วิ่งขึ้นลงเนินเขา  (ภาพที่  3)  และขบวนพาเรดอันยิ่งใหญ่อลังการของกลุ่มนิยมรักร่วมเพศ  ก็เพียงเท่านั้น  พอได้มาเห็นเข้าจริงๆก็รู้สึกทึ่งในความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี  จำได้ว่าเคยเป็นฉากของภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูด  เรื่อง  “The  Rock”  (ภาพที่  4)  นำแสดงโดยพระเอกหล่ออมตะนิรันดร์กาล  ชอน  คอนเนอรี  (Sean  Connery)  เห็นทีจะต้องลองกลับไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้อีกสักรอบ  เพื่อดูฉากของเมือง  คราวที่แล้วมัวแต่สนใจคนแสดงมากกว่า

 

 

     ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนแหลมที่กั้นระหว่างอ่าวซานฟรานซิสโกกับมหาสมุทรแปซิฟิก  (ภาพที่  5)  ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นเนินเขา  และเนื่องด้วยพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด  ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่สร้างบ้านเรือนอยู่บนเนินเขา  เกิดเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่โดดเด่นน่าประทับใจ  (ภาพที่  6)   น่าตกใจที่เมืองอันสวยงามแห่งนี้  เคยได้รับความเสียหายยับเยินจากแผ่นดินไหว  หลายครั้งในประวัติศาสตร์  เช่นในเดือนเมษายนของปี  ค.ศ.  1906  เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง  วัดได้  8.25  ริคเตอร์  เป็นเวลานาน  49  วินาที  ทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายรุนแรงกว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหวเองเสียอีก  (ภาพที่  7)  มีอาคารได้รับความเสียหายถึง  28,000  หลัง  มีผู้เสียเสียชีวิตกว่า  3,000  หลัง  และอีกประมาณ  225,000  คน  ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย  สภาพบ้านเรือนที่สวยงามที่ปรากฏให้เห็นทุกวันนี้  ส่วนมากได้รับการปลูกสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ  100  ปี  ที่ผ่านมานี้เอง  จึงได้รับการวางผังเมือง  รวมไปถึงวางระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ทันสมัย  ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร

 

 ภาพที่  5 แผนที่ตั้งของเมืองซานฟรานซิสโก

 

ภาพที่  6 ลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง

ภาพที่  7 สภาพไฟไหม้ครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหว

 

     หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลงานภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่ถนนสาธารณะของเมืองได้แก่  กองงานสาธารณะ  (Department  of  Public  Works)  ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการดูแลรักษาและเพิ่มจำนวนพรรณไม้ริมถนนหลากหลายชนิด  เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง  ซึ่งมีประโยชน์หลายประการ  ดังนี้

  1. ช่วยเพิ่มมูลค่าของที่ดิน
  2. ช่วยปรับปรุงคุณภาพของอากาศ
  3. ช่วยในการควบคุมระดับของเสียงในเมือง
  4. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆในธรรมชาติ
  5. ช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตของคนในชุมชน  (ภาพที่  8) 
  6. ช่วยเพิ่มคุณภาพและความงามของสภาพแวดล้อม  (ภาพที่  9)

 

ภาพที่  8 สวนสาธารณะซานฟรานซิสโกมาริทาม  

ภาพที่  9 ความสวยงามของไม้ดอกในสวนสาธารณะมาริทาม

 

      กองงานสาธารณะปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการ  และการดูแลรักษาพื้นที่ถนนสาธารณะตลอดจนพื้นที่ว่างสาธารณะประโยชน์อื่นๆ  ภายใต้ระเบียบเทศบัญญัติของเมือง  (City  Code)  ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน  (ภาพที่  10)  ยกตัวอย่างเช่น  งานเกี่ยวกับถนนและทางเท้า  ต้นไม้ริมถนน (ภาพที่  11)  การทำความสะอาดถนน  การขออนุญาตตั้งโต๊ะกาแฟบนทางเท้า  (ภาพที่  12)  การซ่อมแซมช่องท่อบนถนน  การเข้าถึงของผู้พิการและทุพพลภาพ  ตู้ขายหนังสือพิมพ์บนทางเท้า  ห้องน้ำสาธารณะ  การขุดรื้อระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน  เป็นต้น  เรียกได้ว่าวางกฎระเบียบไว้ละเอียดยิบไร้ช่องโหว่  ความสวยงามของภูมิทัศน์เมืองนี้   จึงเป็นความสวยงามอย่างเป็นระเบียบ  (ภาพที่  13-15)ต้นไม้ทุกต้นถูกตัดแต่งเข้ารูปทรงคล้ายๆกันไป  บนถนนแต่ละเส้น  แทบจะไม่มีใบไหนกระดิกออกนอกลู่นอกทางเลย  แน่นอนว่าการตัดแต่งพรรณไม้ที่นี่ต้องปฏิบัติตามเทศบัญญัติของเมืองอย่างเคร่งครัด  เป็นต้นว่า  หากใครต้องการที่จะปลูกต้นไม้ภายในชุมชน  จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการขออนุญาตจากกองงานสาธารณะ  เสียก่อน  เพื่อให้แน่ใจว่าการปลูกต้นไม้เหล่านั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด  สร้างความปลอดภัยภายในพื้นที่สาธารณะ  และไม่เกิดความขัดแย้งกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่อยู่ใกล้เคียง  (ภาพที่  16)  กองงานสาธารณะได้กำหนดแนวทางในการปลูกต้นไม้ไว้อย่างชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดของต้นไม้ที่จะปลูก  ขนาดและลักษณะของกระบะต้นไม้บนทางเท้าสาธารณะ  ระยะห่างระหว่างต้นไม้ที่ต้องการปลูกกับองค์ประกอบทางภูมิทัศน์อื่นๆ  เช่น  ป้าย  สัญญานจราจร  มิเตอร์จอดรถ  เสาไฟฟ้า  แนวท่อก๊าซ  ท่อน้ำ  ท่อไฟฟ้า  ท่อระบายน้ำ  ท่อดับเพลิง  ที่จอดรถประจำทาง  และต้นไม้เดิม  เป็นต้น  แม้แต่การถอนย้ายหรือการตัดต้นไม้ก็ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตเช่นเดียวกัน

 

ภาพที่  10   ขอบข่ายงานของกองงานสาธารณะ

ภาพที่  11 ต้นไม้บนทางเท้าริมถนน

ภาพที่  12  การตั้งโต๊ะกาแฟบนทางเท้าจะต้องขออนุญาตจากกองสาธารณะของเมือง

 

ภาพที่  13 สภาพภูมิทัศน์ริมถนนและเส้นทางรถรางในเมือง  

 

ภาพที่  14 สภาพภูมิทัศน์บริเวณลานหน้าอาคารรัฐสภา

ภาพที่  15  บริเวณสถานีรถรางบริเวณท่าเรือริมทะเล  

ภาพที่  16  การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้บนทางเท้าที่คับแคบ

 

     ความสวยงามเป็นระเบียบของภูมิทัศน์นครซานฟรานซิสโกนั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว  หากแต่ยังอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน  ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพรรณไม้  และองค์ประกอบทางภูมิทัศน์อื่นๆ  ในพื้นที่ถนนสาธารณะ  เห็นได้จากการรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครที่ไม่หวังผลกำไร  ที่มีชื่อว่า  “เพื่อนไม้เมือง”  (Friend  of  the  Urban  Forest)  ได้รับการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่  ปี  ค.ศ.  1981  เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านการเงิน  ด้านเทคนิค  และให้ความช่วยเหลือในทางปฏิบัติแก่ชาวเมืองซานฟรานซิสโกในเรื่องต่างๆ  ดังต่อไปนี้

 

การปลูกต้นไม้


 

     ในแต่ละปี องค์กรเพื่อนไม้เมือง  ได้ช่วยสนับสนุนชุมชน  ในการดำเนินการปลูกต้นไม้  โดยที่ทางชุมชนเป็นฝ่ายดำเนินการปลูก  ในขณะที่ทางองค์กรจะเป็นฝ่ายดำเนินการขออนุญาตปลูกต้นไม้  ทุบรื้อถอนทางเท้าคอนกรีต  จัดหาวัสดุอุปกรณ์  ทำการเลือกซื้อและจัดส่งต้นไม้  เมื่อถึงวันปลูกต้นไม้  ทั้งอาสาสมัครและสมาชิกในชุมชนจะทำงานร่วมกัน  รับประทานอาหารร่วมกัน  ได้พบปะพูดคุย  ก่อให้เกิดความสมานฉันท์จากการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน

การดูแลต้นไม้


     ที่เมืองซานฟรานซิสโกนี้  ในกรณีส่วนใหญ่เจ้าของที่ดิน  มีความรับผิดชอบในการดูแลพันธุ์ไม้ริมถนน  และรักษาทางเท้าโดยรอบให้อยู่ในสภาพที่ดี  (ภาพที่  17)  ถึงแม้ว่าพันธุ์ไม้และทางเท้าเหล่านั้นจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ  และอยู่ภายใต้การจัดการและการดูแลรักษาของกองงานสาธารณะ  แต่ทางองค์กรเพื่อนไม้เมือง  จะเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ชาวเมืองตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนในการร่วมมือกันดูแลสมบัติสาธารณะ  บริการให้ข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่องต้นไม้และทางเท้า  รวมถึงการให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการปฏิบัติจริง  ทั้งในด้านการตัดแต่งกิ่ง  การค้ำยัน  การใส่ปุ๋ย  ให้น้ำ  และการบำรุงรักษาอื่นๆ (ภาพที่  18)

ภาพที่  17 สภาพภูมิทัศน์บริเวณทางเท้าในชุมชน

ภาพที่  18 การตัดแต่งกิ่งไม้ (Hard Pruning) 

การส่งเสริมความร่วมมือภายในชุมชนและการให้ความรู้แก่เยาวชน


     องค์กรเพื่อนไม้เมือง  มีเป้าหมายในการสร้างเสริมจิตสำนึกในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวสาธารณะในชุมชน  และการตระหนักในความสำคัญของต้นไม้ที่มีต่อเมือง  โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย  เป็นต้นว่า  จดหมายข่าว  การจัดประชุมสัมมนากึ่งปฏิบัติการด้านการตัดแต่งกิ่งไม้  และการจัดอบรมผู้นำชุมชน  นอกจากนี้ยังจัดโครงการพิเศษสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะ  ในการอบรมการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้  สนับสนุนให้คนรุ่นหนุ่มสาวได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน

      จากกรณีศึกษาด้านการจัดการและดูแลรักษาต้นไม้ในนครซานฟรานซิสโกนี้  ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับมาคิดถึงสภาพภูมิทัศน์เมืองใหญ่ๆในประเทศไทย  จึงได้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าเหตุใดจึงมีปัญหามากมายไว้ให้รอแก้ไข  ทั้งเรื่องความชำรุดทรุดโทรม  ความไม่สม่ำเสมอของทางเท้า  สภาพต้นไม้ที่ขาดการดูแลรักษา  และได้รับการตัดแต่งที่ไม่ถูกวิธี  การปลูกต้นไม้และการจัดวางองค์ประกอบทางภูมิทัศน์ของถนนที่กีดขวางการเดิน  เนื่องจากเทศบัญญัติที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้ในบ้านเรา  มีเนื้อหาที่ไม่ละเอียดและครอบคลุมอย่างเพียงพอ  นอกจากนี้ยังขาดความร่วมมือประสานงานกันอย่างมีระบบระหว่างหน่วยงานของรัฐ  ของเอกชน  และคนในชุมชนเอง  ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เกิดพลังที่แข็งแกร่ง  ที่สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองให้น่าอยู่อาศัยได้  การเสียสละและอุทิศตนเองของเหล่าเจ้าหน้าที่  อาสาสมัคร  รวมทั้งคนในชุมชนภายในนครซานฟรานซิสโก  มีบทบาทอย่างมาก  ในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่แต่เดิมเป็นพื้นผิวคอนกรีตอันหยาบกระด้าง  ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมไปด้วยพรรณไม้อันงดงาม
ผู้เขียนอำลาเพื่อนที่น่ารักและนครแห่งสีสันนี้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่  4  พฤษภาคม  พ.ศ.  2548  เวลารอบตัวหมุนเวียนเปลี่ยนผัน  พาผู้เขียนกลับมาสู่นครเชียงใหม่ จนกระทั่งได้ฟังเพลง  “San  Francisco”  ในร้านอาหารนี้เอง  ชั่วขณะนั้นเวลาในห้วงคิดคำนึงจึงได้หยุดนิ่งอีกครั้ง  ตราบจนกระทั่งเสียงดนตรีได้สิ้นสุดลง

 

 

For those who come to San Francisco. Be sure to wear some flowers in your hair

If you come to San Francisco. Summertime will be a love-in there

Scott Mc Kenzie

บรรณานุกรม


 

  1. San  Francisco  Bay  Area  Map  แหล่งที่มา http://www.sfgate.com/maps/
  2. History  (of  San  Francisco)  แหล่งที่มา  http://www.sfgov.org/site/  visitor_index.asp?id =8091
  3. Street  Tree  Planting  Permitting  Process  แหล่งที่มา  http://www.sfdpw.org/ sfdpw

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
งานบริการวิชาการและวิจัย » มือใหม่หัดบินทำแผนที่ด้วยโดรน Ep.1
โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aviation Vehicle) แต่เดิมนั้น มีการใช้งานในหน่วยงานด้านความมั่นคง ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ใน หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางด้านการเกษตร การสำรวจ ตรวจ...
โดรน สถาปัตยกรรม ออกแบบ     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน ธวัชชัย มานิตย์  วันที่เขียน 13/9/2562 14:31:05  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:16:04   เปิดอ่าน 16617  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : สรุปมุมมองจากปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ข้อความต่อไปนี้เป็นการสรุปความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์กับการพัฒนาเมืองในอนุภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสถาปั...
การดำเนินโครงการพัฒนาโดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 29/6/2559 21:25:48  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:42:44   เปิดอ่าน 5542  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : น่าตื่นเต้นกับประชาชนเมืองขอนแก่น
การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยท้องถิ่นเป็นการประยุกต์ใช้แนวความคิดไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งต้องพึงพาการสนับสนุน(งบประมาณจากรัฐบาล)จึงเป็นข้อจำกัดในความสำเร็จของการดำเนินโครงการของท้องถิ่นมาโดยตลอด เมืองขอนแ...
การพัฒนาพื้นที่โดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 25/6/2559 22:12:17  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:01:43   เปิดอ่าน 4567  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง