สามเหลี่ยมรัฐสภาแห่งแคนเบอร์รา
(The Parliamentary Triangle of Canberra)
โดย อาจารย์จรัสพิมพ์ บุญญานันต์
ตีพิมพ์ลงวารสารแม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2547
บทความของผู้เขียนยังคงวนเวียนอยู่แถวๆออสเตรเลียเช่นเดียวกับในฉบับที่แล้ว ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าความรู้ที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้มีมากมาย ล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น คงน่าเสียหากมิได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ในฉบับนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมงานสร้างสรรค์ที่น่าทึ่งแห่งศตวรรษที่ 20 ที่เมืองแคนเบอร์รา อันเป็นเมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย นั่นก็คืองานออกแบบวางผังศูนย์ราชการใจกลางเมือง เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “สามเหลี่ยมรัฐสภา” (Parliamentary Triangle) เป็นการผสมผสานงานออกแบบวางผังเมือง เข้ากับงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมอย่างกลมกลืน
นับว่าเป็นโชคของผู้เขียนและคณะเดินทางที่ได้มาเยือนเมืองแคนเบอร์รา ในระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันเปิดรัฐสภาประจำปี (Parliament House Open Day) ทำให้พวกเราและนักท่องเที่ยวคนอื่นๆได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมภายในอาคารอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้นำเสนอมุมมองที่มีต่องานออกแบบวางผังสามเหลี่ยมรัฐสภา ทั้งจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคารรัฐสภา และจากภายในอาคารออกสู่ภายนอก เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพอย่างชัดเจน
สามเหลี่ยมรัฐสภาแห่งแคนเบอร์รา
มาถึงตอนนี้คงต้องอธิบายถึงที่มาที่ไปของงานออกแบบพื้นที่สามเหลี่ยมรัฐสภา (Parliamentary Triangle) ก่อนที่จะนำเข้าสู่เรื่องการออกแบบในรายละเอียดต่อไป เรื่องนี้มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคการก่อตั้งสหพันธรัฐออสเตรเลียเลยทีเดียว
หลังจากประเทศออสเตรเลียได้รับสถาปนาให้เป็นสหพันธรัฐออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1901 ทางรัฐบาลเริ่มมองหาสถานที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ โดยจะย้ายส่วนราชการเดิมมาจากเมืองเมลเบิร์น หลังจากผ่านการประชุมถกเถียงกันในหมู่ผู้บริหารประเทศหลายครั้ง ในที่สุดก็ตกลงเลือกพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างมหานครซิดนีย์และเมลเบิร์น เพื่อเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่
รัฐบาลแห่งมลรัฐนิวเซาท์เวลล์จึงได้ส่ง ชาร์ลส ชริฟเวนเนอร์ นักสำรวจของรัฐมาทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียด ด้วยมุมมองที่ชาญฉลาดของเขา ชริฟเวนเนอร์เลือกสถานที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่ โดยเจาะจงเลือกที่ราบลุ่มแม่น้ำโมลองโล (Molonglo River Basin) บริเวณที่อยู่ท่ามกลางเนินเขา 3 ลูก ซึ่งช่วยป้องกันกระแสลมที่พัดมาจากทางทิศใต้และทิศตะวันตกได้เป็นอย่างดี และมีมุมมองเปิดกว้างไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในที่สุดอาณาเขตของเมืองหลวงแห่งใหม่ ได้ถูกวางผังเป็นรูปเป็นร่างสำเร็จในปี ค. ศ. 19111 และเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนต้องกล่าวอ้างถึงการเลือกที่ตั้งเมืองของชริฟเวนเนอร์ ก็เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศในลักษณะดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่อการออกแบบสามเหลี่ยมรัฐสภา ในการประกวดออกแบบวางผังเมืองใหม่ ซึ่งจัดโดยรัฐบาลในปีเดียวกันนั้นเอง
มีผู้เข้าร่วมการประกวดออกแบบวางผังเมืองหลวงของประเทศออสเตรเลียถึง 137 ทีม จากทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป และแอฟริกาใต้ ในยุคนั้นการคมนาคมและการสื่อสารยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน นักออกแบบเหล่านั้นจึงไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาสถานที่จริง เพียงอาศัยข้อมูลจากเอกสาร ภาพถ่าย และหุ่นจำลองของสถานที่ ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงให้ดูเท่านั้น อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านการคัดเลือกจนได้เป็นหนึ่งใน 3 ทีมสุดท้าย งานออกแบบของสถาปนิกชาวชิคาโกวัย 36 ปี วอลเตอร์ เบอร์เลย์ กริฟฟิน (Walter Burley Griffin) ก็ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลชนะเลิศ ถึงกระนั้นก็ดี แบบที่ได้รับรางวัลกลับต้องเผชิญกับกระแสวิพากวิจารณ์ของบรรดาผู้ที่ไม่เห็นชอบ อันเป็นเรื่องที่ประสบพบเห็นอยู่เป็นประจำในการประกวดแบบ งานออกแบบของกริฟฟินถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานที่ฟุ่มเฟือยมากเกินควร1 และแม้ว่าเขาจะได้รับเชิญจากรัฐบาลของประเทศออสเตรเลียให้เป็นผู้อำนวยการออกแบบก่อสร้างเมืองแคนเบอร์รา ตามแผนผังที่เขาได้วางเอาไว้ ความขัดแย้งก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดเงินทุนในการก่อสร้าง ในที่สุดกริฟฟินก็ไม่ได้รับการต่อสัญญาว่าจ้าง และหลุดพ้นจากการมีส่วนร่วมในงานดังกล่าว แผนผังของกริฟฟินถูกแก้ไขและบิดเบือนอย่างมาก ตามความจำเป็นทางด้านงบประมาณของรัฐ แต่อย่างไรก็ดีแนวความคิดอันเป็นหัวใจสำคัญของงานออกแบบ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดแบบนั้น ยังคงปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือการออกแบบวางผังศูนย์ราชการของเมือง ซึ่งเรียกกันว่าสามเหลี่ยมรัฐสภานั่นเอง (Parliamentary Triangle)2
แนวคิดอันชาญฉลาด
กริฟฟินอธิบายว่า3 งานออกแบบของเขาเป็นการแสดงออกของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอย่างมีเหตุมีผล ผ่านการพิจารณาองค์ประกอบหลักๆสำคัญ 2 ประการคือ พื้นที่ตั้งของเมือง และหน้าที่ใช้สอยของเมือง กริฟฟินคิดว่าพื้นที่เมืองแคนเบอร์ราสามารถแบ่งออกตามลักษณะสำคัญทางภูมิศาสตร์ได้ 5 ส่วน ส่วนแรกคือภูเขา 3 ลูก ประกอบด้วยภูเขาไอนส์ลีย์ (Ainlie) มักกา มักกา (Mugga Mugga) และแบล็ค เมาท์เทนท์ (Black Mountain) ส่วนที่ 2 คือเนินเขาขนาดย่อมหลายเนินกระจายอยู่ในที่ราบหุบเขา ส่วนที่ 3 คือที่ราบลุ่มแม่น้ำโมลองโล ส่วนที่ 4 คือพื้นที่มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นอยู่ทางทิศเหนือของเมือง และส่วนสุดท้ายคือผืนป่าซึ่งอยู่ไกลออกไป หลังจากพิจารณาสภาพพื้นที่แล้ว กริฟฟินเริ่มออกแบบวางผังเมืองโดยวางแนวแกนหลักในการออกแบบ 2 แนว แกนแรกเรียกว่า “แกนน้ำ (Water Axis)” มีทิศทางจากภูเขาแบล็ค เมาท์เทนท์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวของทะเลสาบหลักของเมือง ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโมลองโล แกนที่ 2 เรียกว่าแกนผืนดิน (Land Axis) เริ่มต้นจากภูเขาไอนส์ลีย์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นแนวตรงตั้งฉากกับแนวแกนน้ำ ผ่านทะเลสาบ และเนินเขาแคมป์ (Camp Hill) และ เคอร์ราจอง (Kurrajong) ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า “เนินหลวง (Capital Hill)” แนวแกนดินนี้จะชี้ไปทางยอดเขาบิมเบอร์ (Bimberi Peak) อยู่ห่างออกไปอีกราว 30 ไมล์ส ณ ที่จุดตัดของทั้ง 2 แกนที่ตั้งฉากกันดังกล่าว กริฟฟินวางตำแหน่งจุดศูนย์กลางของส่วนราชการของเมืองแคนเบอร์รา โดยเชื่อมโยงแนวถนนสำคัญ 3 สาย เป็นรูปสามเหลี่ยม มีจุดใจกลางอยู่ในตำแหน่งตรงกับจุดตัดของแนวแกนผืนดิน และแกนน้ำพอดี ฐานของรูปสามเหลี่ยมนั้น หันไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีแนวขนานกับแนวแกนน้ำ มุมทั้ง 3 ของสามเหลี่ยมกำหนดให้วางอยู่บนเนินขนาดย่อม 3 เนิน เพื่อให้เกิดเป็นจุดหมายตา (Landmark) ที่สำคัญของเมือง โดยที่มุมยอดของสามเหลี่ยมซึ่งสำคัญที่สุด เป็นที่ตั้งของอาคารรัฐสภา เนินนี้ในภายหลังมีชื่อเรียกว่า เนินหลวง (Capital Hill) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนมุมที่เหลืออีก 2 มุมของสามเหลี่ยมวางอยู่บนเนินเขารัสเซล (Russell Hill) และเนินเขาเวอร์นอน (Vernon Hill) ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “เนินพระนคร (City Hill)” การจัดพื้นที่ของส่วนราชการ ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนหัวใจและจิตวิญญาณของชาติ ให้อยู่ในขอบเขตที่ชัดเจนบริเวณใจกลางเมืองเช่นนี้ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนนี้ได้โดยสะดวก แต่ในขณะเดียวกันยังสามารถรักษาบรรยากาศที่สงบเงียบเอาไว้ได้ดี จากการออกแบบวางผังโดยใช้รูปแบบแนวแกนสมดุล และวางพื้นที่ทะเลสาบหลักให้พาดผ่านพื้นที่ส่วนฐานของสามเหลี่ยมรัฐสภา
แนวความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกริฟฟินคือการวางตำแหน่งอาคารส่วนราชการ ในบริเวณสามเหลี่ยมรัฐสภา บนแนวแกนดินซึ่งวิ่งผ่านกลางฐานและจุดยอดของสามเหลี่ยม อาคารเหล่านี้ถูกจัดเรียงเป็นลำดับไปยังจุดรวมสายตาที่เนินหลวง (Capital Hill) ขนาดและสัดส่วนของอาคารควรมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่เรียบง่ายเป็นรูปแบบเดียวกัน เป็นที่น่าเสียดายที่แนวคิดเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นเด่นชัดในการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน เนื่องจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ ให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และความต้องการของผู้บริหารและนักออกแบบในยุคต่อๆมา ยังคงหลงเหลือแต่แนวคิดหลักของการหันทิศทางอาคารของกริฟฟิน ตามแนวแกนผืนดินและแกนน้ำเพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึงอาคารต่างๆอย่างเต็มที่เท่านั้น ที่ยังคงปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน
ปัจจุบันกาล
อาคารราชการที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณสามเหลี่ยมรัฐสภาในปัจจุบันประกอบด้วย อาคารฝ่ายบริหาร กระทรวงการคลังและการเงิน ห้องสมุดแห่งชาติ หอศิลปะแห่งชาติออสเตรเลีย ศาลสูง สำหรับพื้นที่ริมทะเลสาบขนาดใหญ่ ซึ่งถูกขนานนามตามชื่อของผู้ออกแบบในภายหลังว่า ทะเลสาบเบอร์เลย์ กริฟฟิน (Burley Griffin Lake) นั้นได้รับการออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและกิจกรรมนันทนาการของเมือง โดยมีจุดเด่นที่น้ำพุกับตันคุก (Captain Cook Water jet) พ่นลำน้ำสีขาว พุ่งสูงถึง 135 เมตรเหนือทะเลสาบ ก่อนที่จะกระจายหล่นเป็นละอองฝอยกระเซ็นถูกแขกที่มาเยือน เป็นการต้อนรับอย่างสดชื่น ในวันที่มีลมพัดแรงเป็นพิเศษ
สำหรับอาคารรัฐสภา (Parliament House) ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมนั้น ตั้งอยู่บริเวณจุดยอดของสามเหลี่ยมรัฐสภา ศูนย์กลางของเมือง และเป็นจุดเด่นของเมืองอีกด้วยอาคารหลังนี้เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แทนอาคารหลังเดิม ในปี ค.ศ. 1988 จากผลงานชนะเลิศการประกวดแบบของบริษัทสถาปัตยกรรม มิตเชลล์ กิเออร์โกลา และโทรป3 (Mitchell/Giurgola and Thorp Architecture)
เนื่องจากอาคารรัฐสภาหลังใหม่ เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่มหึมา ประกอบไปด้วยห้องต่างๆถึง 5000 ห้อง จึงเป็นการยากที่จะสร้างอาคารดังกล่าว โดยที่ยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของสภาพภูมิประเทศของเนินหลวง มิให้ถูกทำลายลดความสำคัญลง สถาปนิกได้แก้ปัญหานี้ โดยการออกแบบอาคารที่ผสมผสานรูปแบบของสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศดั้งเดิม รวมทั้งแนวความคิดหลักของผังเมืองเดิมอีกด้วย พวกเขาจำเป็นต้องขนย้ายดินออกเพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว จากนั้นจึงถมกลับเข้าไปใหม่เมื่อการก่อสร้างสำเร็จลง ให้กลายเป็นเนินดินปูด้วยผืนหญ้าสีเขียวเอียงลาดเป็นส่วนหนึ่งของหลังคารของอาคารรัฐสภา สู่พื้นดินเบื้องล่าง เป็นที่น่าเสียดายที่หากมองจากทางเข้าด้านหน้า ผู้มาเยือนจะไม่สามารถรับรู้ถึงความเชื่อมโยงของงานสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมดังกล่าวได้ เนื่องจากถูกบดบังด้วยกำแพงสูง เพื่อเปิดเป็นทางเข้าหลักที่โอ่อ่าสง่างาม แต่หากมีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่บนสุดของอาคาร แล้วมองออกไปโดยรอบ จะรู้สึกราวกับว่าได้ยืนอยู่บนส่วนหนึ่งของเนินดินจริงๆ นอกจากนี้ยังจะได้มีโอกาสมองเห็นแกนต่างๆ ที่กริฟฟินบรรจงสร้างสรรค์ไว้อย่างชัดเจน
องค์ประกอบที่เด่นเป็นสง่าอยู่เหนืออาคารรัฐสภา คือเสาธงขนาดยักษ์ มีรูปร่างและสัดส่วนที่ดูไม่ค่อยเข้ากับตัวอาคารเท่าไรนัก แต่ก็ประสบผลในแง่ของการเป็นจุดหมายตา (Landmark) ที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลหลายไมล์ สถาปนิกออกแบบเปิดช่องแสดงที่ห้องโถงพักผ่อนขนาดใหญ่ ในบริเวณใจกลางของรัฐสภา ตั้งอยู่ในตำแหน่งเบื้องล่างของเสาธงนี้พอดี เมื่อมองจากห้องโถงด้านล่าง จะเห็นภาพของธงชาติออสเตรเลีย โบกสะบัดอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีเข้ม ตัดกับเหล่าปุยเมฆละเอียดสีขาวที่พากันลอยละลิ่วตามกระแสลมแรง เกิดภาพที่เคลื่อนไหวอันทรงพลัง สะกดอารมณ์และความรู้สึกต่อผู้ที่แหงนมอง
จากผลงานการออกแบบที่ถือได้ว่าเป็นเลิศในประวัติศาสตร์ งานออกแบบสามเหลี่ยมรัฐสภาและอาคารรัฐสภา ได้ผ่านยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยาวนาน กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีเอกภาพของชาติ และความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยของรัฐ องค์ประกอบทั้งหมดของงานออกแบบ ทั้งแกนน้ำ แกนผืนดิน ทะเลสาบ การประยุกต์ลักษณะเด่นของสภาพภูมิประเทศมาใช้ในการพัฒนาเมือง เหล่านี้ล้วนซึมแทรกเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจและจิตวิญญาณแห่งแคนเบอร์รา ตลอดเวลาที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปสู่อนาคต
เอกสารอ้างอิง
- “A Short history of Canberra” แหล่งที่มา. http://www.canberrahouse.com.au/shorthistory.html
- “Reflections of Canberra” แหล่งที่มา. http://www.library.act.gov.au/heritagelibrary/reflectionscd/reflect/actv/info3.htm
- “ Griffin’s Winning Design” แหล่งที่มา. http://rubens.anu.edu.au/student.projects/canberra/working_htm/winner.html
- “First prize – Walter Burley griffin” แหล่งที่มา. http://rubens.anu.edu.au/student.projects/canberra/working_htm/griffin.html