ชื่อพฤกษศาสตร์นี้ ท่านได้แต่ใดมา: กรณีพันธุ์ไม้ในสกุล Lagerstroemia
วันที่เขียน 24/3/2555 9:49:02     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 11/11/2567 11:15:56
เปิดอ่าน: 53508 ครั้ง

ในบทความนี้้ ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูล ความเป็นมาเป็นไป กฎเกณฑ์ ระเบียบวิธี ในการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้มาเล่าสู่กันฟัง โดยตั้งใจว่าจะเริ่มต้นจากพันธุ์ไม้ใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้จัก นั่นก็คือ อินทนิล ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมไปถึงพันธุ์ไม้อื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

ชื่อพฤกษศาสตร์นี้ ท่านได้แต่ใดมา

กรณีพันธุ์ไม้ในสกุล Lagerstroemia

 


           การจดจำชื่อพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม นับว่าเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับภูมิสถาปนิกน้อยใหญ่ มาตั้งแต่สมัยเรียนในระดับอุดมศึกษาเลยก็ว่าได้ บางคน (เช่น ผู้เขียนเอง) เลือกที่จะไม่จำเอาดื้อๆ แล้วหันไปใช้บริการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ หรือไม่ก็หนังสือรวมพันธุ์ไม้ที่มีวางจำหน่ายกันอยู่ตามท้องตลาด ไม่ก็จากหนังสือในห้องสมุด ถ้าเรานั่งทำงานในสำนักงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับหนังสือพร้อมวางไว้ข้างกาย เรื่องแบบนี้ก็คงไม่มีปัญหา หากแต่ว่าเมื่อถึงคราวที่ต้องออกไปทำงานภาคสนาม ต้องสื่อสารกับผู้คุมงาน ลูกค้า หรือผู้จำหน่ายพันธุ์ไม้ การไม่รู้จักชื่อพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม สามารถสร้างปัญหาให้กับภูมิสถาปนิกได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อถึงเวลาที่ต้องการสื่อสารให้แน่ใจว่ากำลังพูดถึงพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการทำงานข้ามประเทศด้วยแล้ว เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที จะวิ่งหาสื่อสัญญาณออนไลน์ หรือพลิกตำราเล่มหนา 2 นิ้ว ในสถานการณ์อย่างนั้นย่อมไม่สะดวกและไม่ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าเราๆท่านๆจะเห็นเป็นยาขม ก็จำเป็นที่จะต้องรับประทานยานี้เข้าไปในที่สุด นั่นก็คือการหมั่นฝึกฝน เรียนรู้ จดจำ เพื่อการนำไปใช้เมื่อมาถึงเวลาปฏิบัติวิชาชีพ

           เมื่อผู้เขียนมีความเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จึงได้สืบค้นข้อมูล ความเป็นมาเป็นไป กฎเกณฑ์ ระเบียบวิธี ในการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้มาเล่าสู่กันฟัง โดยตั้งใจว่าจะเริ่มต้นจากพันธุ์ไม้ใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้จัก นั่นก็คือ อินทนิล ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมไปถึงพันธุ์ไม้อื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อยู่ในสกุลเดียวกัน และเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ในงานจัดแต่งภูมิทัศน์ ในที่สุดแล้วจึงเลือกพันธุ์ไม้ 5 ชนิด ในสกุล Lagertroemia ได้แก่ อินทนิลน้ำ อินทนิลบก ตะแบกนา เสลาใบใหญ่ และ ยี่เข่ง มาเป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ 

            ในใจของใครหลายๆคนคงมีคำถามถึงความยากต่อการทำความเข้าใจ และต่อการจดจำชื่อพฤกษศาสตร์ บางท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่า มีประโยชน์อะไรหรือที่เราจำเป็นต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ก็ในเมื่อพันธุ์ไม้เหล่านี้ ต่างก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อธรรมดาสามัญกันอยู่แล้ว เราจะต้องใช้ชื่อวิทยาศาสตร์กันไปทำไมอีกเล่า แท้จริงแล้วชื่อพฤกษศาสตร์สามารถบอกเกี่ยวกับพืชพันธุ์นั้นๆได้มากกว่าชื่อสามัญ หากเราเข้าใจความหมายที่ปรากฏอยู่ในชื่อเหล่านั้น ชื่อพฤกษศาสตร์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ชื่อสกุล (Genus) และชื่อชนิด (Species) ชื่อสกุลจะจำแนกกลุ่มต้นไม้ที่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันไว้ด้วยกัน เปรียบได้กับนามสกุลของคนเราที่จะบอกถึงความเป็นเครือญาติ และสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด การตั้งชื่อสกุลมีที่มาได้หลากหลายที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพันธุ์ไม้ในกลุ่มนั้นๆ เช่น จาก วรรณกรรม ชื่อคน สถานที่ เป็นต้น ส่วนชื่อชนิดเป็นการจำแนกชนิดของพันธุ์ไม้ที่ละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก โดยวิเคราะห์จากลักษณะของดอก เมล็ด และผล ของพันธุ์ไม้แต่ละประเภท เช่น นับจากจำนวนกลีบดอก ลักษณะการออกดอก ขนาดหรือลักษณะพิเศษอื่นๆของผล เป็นต้น ในการตั้งชื่อชนิด นักพฤกษศาสตร์อาจตั้งตามถิ่นกำเนิด หรือ รูปลักษณ์ ของพันธุ์ไม้นั้นๆ อีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม คือการตั้งชื่อตามชื่อของผู้ค้นพบ ระบบการตั้งชื่อที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนี้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยนักพฤกษศาสตร์ ชาวสวีเดนชื่อ    คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) หรือคาร์ล ฟอน ลินเนีย (Carl von Linné) ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2250-2321 (ดูภาพที่ 1)

ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของ  คาโรลัส ลินเนียส ค.ศ. 1775

ภาพที่ 1 ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของคาโรลัส ลินเนียส ค.ศ. 1775. 

 

           ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายความเป็นมาและความหมายที่ปรากฏอยู่ในชื่อพฤกษศาสตร์ของพันธุ์ไม้ในสกุล “Lagerstroemia” 5 ชนิด ได้แก่ อินทนิลน้ำ อินทนิลบก ตะแบกนา เสลาใบใหญ่ และ ยี่เข่ง โดยเริ่มตั้งแต่ ชื่อวงศ์ (Family) ชื่อสกุล (Genus) และชื่อชนิด (Species) ตามลำดับ

ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE

          พันธ์ไม้ที่ถูกเลือกมาศึกษา จัดอยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE ซึ่งเป็นวงศ์ที่มีพันธุ์ไม้ดอกจำนวนมากกว่า 620 ชนิด ที่มีความหลากหลายสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร นอกจากนั้นยังมีไม่พุ่มและไม้ยืนต้น อีกด้วย นักพฤกษศาสตร์จำแนกพืชวงศ์นี้โดยดูจากลักษณะของกลีบดอก ซึ่งเชื่อมต่อออกมาจากบริเวณริมของถ้วยกลีบเลี้ยง (hypanthium) โดยที่ส่วนใหญ่กลีบดอกจะมีลักษณะยับย่น  (ดูภาพที่ 2)  ชื่อวงศ์  LYTHRACEAE มีที่มาจาก ชื่อของพรรณไม้ ในสกุล Lythrum 1 ใน 32 สกุลของวงศ์นี้ ชื่อสามัญคือ  loosestrifes   ซึ่งเป็นพรรณไม้ล้มลุก  คำว่า Lythrum มีที่มาจากคำในภาษาละตินว่า Lythron ซึ่งแปลว่าเลือด อาจมีที่มาจากการที่พืชชนิดนี้มีคุณสมบัติในทางการแพทย์ที่สามารถห้ามเลือดได้ อย่างไรก็ดีในประเทศไทยกลับเรียกชื่อวงศ์นี้เป็นภาษาไทยว่า วงศ์ตะแบก  (แม้ว่าตะแบกจะจัดอยู่ในสกุล Lagerstroemia ไมใช่ Lythrum)  ทั้งนี้เนื่องจากตะแบกเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชีย  และพบได้ในประเทศไทย ในขณะที่ loosestrifes เป็นพันธุ์ไม้ที่มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ไม่พบในประเทศไทย

ลักษณะของกลีบดอกและก้านดอกยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.)

ภาพที่ 2 ลักษณของกลีบดอกและก้านดอกยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.)

ชื่อสกุล Lagerstroemia                                               

          คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) เป็นผู้ตั้งชื่อสกุล Lagerstroemia  นี้ใน ปี พ.ศ. 2302 หรือ เมือ 232 ปีมาแล้ว โดยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ แมคนัส ลาเกอสตรอม (Magnus Lagerström, พ.ศ. 2234–2312) ซึ่งป็นพ่อค้าและนักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน  ในปี พ.ศ.. 2286-2288  ขณะนั้นเขาทำงานในบริษัท อีสต์ อินเดีย (Swedish East India Company) ในตำแหน่งเลขานุการ เขาได้มีโอกาสร่วมการเดินทางกับบริษัทไปยังประเทศจีน ในตอนขากลับ เขาได้นำตัวอย่างพรรณไม้บางชนิด ที่เขาได้เก็บสะสมไว้ระหว่างการเดินทาง ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก กลับมาให้แก่ คาโรลัส ลินเนียส นักพฤษศาสตร์เพื่อนร่วมชาติ เพื่อทำการวิเคราะห์ ต่อมาในภายหลังพรรณไม้ชนิดนี้ได้ถูกตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Lagerstroemia indica Linn. (ซึ่งก็คือยี่เข่งของบ้านเรานี่เอง) โดยใช้ชื่อสกุลตามชื่อของผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้  และนี่จึงเป็นการใช้ชื่อวงศ์ Lagerstroemia เป็นครั้งแรก (ดูภาพที่ 3) พืชในสกุล Lagerstroemia มีอยู่ประมาณ 50 ชนิด มีความหลากหลายมาก คือมีทั้งไม้ประเภทผลัดใบ ไม่ผลัดใบ ไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และบางส่วนของหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิก ชื่อสามัญของพันธุ์ในสกุลได้แก่ “Crape myrtle” หรือ “Crepe myrtle”  มาจากคำว่า “crepe” (กระดาษย่น) เนื่องมาจากลักษณะของกลีบดอกที่ยับย่น กับคำว่า “myrtle” ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้ในการตั้งชื่อพันธุ์ไม้ที่มีดอกสวยงามดึงดูดใจมาแต่สมัยกรีก โรมันโบราณ  จึงมีรากศัพท์มาจากภาษาโบราณ ทั้ง ภาษาอังกฤษในยุคกลาง (myrtillus) และภาษาละติน (myrtose) ผู้คนในสมัยนั้นถือกันว่าดอกไม้เหล่านั้นเป็นตัวแทนของเทพีอโฟร์ไดท์ ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรัก ปัจจุบันนี้มีพันธุ์ไม้หลายหลายชนิดที่มีดอกสวยงามที่มีชื่อเรียกว่า “Myrtle” รวมทั้ง “Crepe Myrtle” นี้ด้วย

ลักษณะของกลีบดอกและก้านดอกยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.)

ภาพที่ 3 ภาพวาดของช่อดอกยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.) จากหนังสือ ไม้ดอกของฟิลิปปินส์ (Flora de Filipinas)

 

ชื่อชนิด 

1. ยี่เข่ง (Largerstroemia Indica L.) 

          คำว่า Indica มาจากภาษาละติน มีความหมายว่า “มาจากอินเดีย” เนื่องจากยี่เข่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกเก็บมาจากทวีปอินเดีย โดยแมคนัส ลาเกอสตรอม ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ในปี พ.ศ. 2288 ส่วน L. (บางครั้งใช้ Linn.)  เป็นอักษรย่อของ คาโรลัส ลินเนียส (พ.ศ. 2250-2321) นักพฤกษศาสตร์ ชาวสวีเดนผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นผู้จำแนกลักษณะ ตั้งชื่อ และเขียนหนังสือตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรก ยี่เข่งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีขนาด ตั้งแต่ 3 – 7 เมตร มีดอกสี ขาว ชมพู และม่วง (ภาพที่ 3-4)

ต้นยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.)  ออกดอกช่วงกลางเดือนสิงหาคม  ที่ Capbreton, Landes, France.

ภาพที่ 4 ต้นยี่เข่ง (Lagerstroemia Indica L.) ออกดอกช่วงกลางเดือนสิงหาคม ที่ Capbreton, Landes, France.

 

2. อินทนิลน้ำ (Lagerstroemia specioca L.)

          คำว่า Specioca เป็นคำในภาษาละติน แปลว่า “โอ้อวด” หรือ “น่าประทับใจ” เนื่องจากอินทนิลน้ำ ที่ออกดอกในช่วงฤดูร้อนที่โดดเด่น (ภาพที่ 5) จึงมีชื่อสามัญว่า “Queen’s Crepe Myrtle” หรือ “Pride of India” เป็นไม้ยืนต้นที่มีโครงสร้างใหญ่กว่า ยี่เข่ง ต้นสูงโดดเด่น อาจสูงได้ถึง 20 ม. ใบมีรูปไข่มีความยาว 8-15 กว้าง – 5 ซม. ผลมีขนาด 2-2.5 ซ.ม. มีดอกขนาดใหญ่ ช่อดอกตั้ง ยาว 20-40 ซ.ม. ขนาดดอกเมื่อบานจะมีขนาด 5 ซ.ม.สีโทนชมพูไปถึงม่วง ดอกดกสวยงามมาก สมชื่อ  Specioca ดังนั้นถ้าเห็นพืชพันธุ์ในสกุลนี้ที่มีลักษณะสง่างาม ออกดอกดกสวยงามจนต้องเหลียวมอง อาจเป็นอินทนิลน้ำก็ได้  ส่วน L.นั้นเป็นอักษรย่อของ คาโรลัส ลินเนียส (พ.ศ. 2250-2321) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

 ช่อดอกและใบของอินทนิลน้ำ (Lagerstroemia specioca L.)

ภาพที่ 5 ลักษณะของต้นอินทนิลน้ำ (Lagerstroemia specioca L.)
 

3. อินทนิลบก (Largerstroemia Macrocarpa Wall. ex Kurz)

          อินทนิลบกเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ทุกคนควรรู้จัดเป็นอย่างดี เนื่องจากถูกเลือกให้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย  ความสวยงามของช่อดอกที่เกาะกลุ่มกันแน่น เปรียบได้กับความรักสามัคคีในหมู่ชาวแม่โจ้ ชื่อ Macrocarpa เป็นคำนามเพศหญิงในภาษาละตินของ Macrocarpus แปลว่า “ให้ผลขนาดใหญ่”  ผลของอินทนิลบกมีรูปไข่ ขนาดใหญ่มากอย่างเห็นได้ชัด ยาวประมาณ 3-4  ซ.ม. (ใหญ่เท่าลูกชิ้นปิงปองเลย) และไม่ใช่เฉพาะผลเท่าที่ใหญ่ ไม่ว่า ใบ หรือดอก ก็มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษกว่าพืชชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกัน ใบของอินทนิลบก กว้าง 6 - 18 ซ.ม. ยาว 14 -40 ซ.ม.(ยาวกว่าไม้บรรทัดอีก) เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกบานประมาณ 7-12 ซม. ดอกออกเป็นช่อรวมกันยาวประมาณ 30 ซม. มีตั้งแต่สีชมพู ๆไล่โทนไปจนถึงสีม่วง  ต้นสูงใหญ่ขนาดประมาณ 8- 12 เมตรดังนั้นถ้าสังเกตดู ลำต้น ใบ ดอก ผล ของพันธุ์ไม้ในสกุลนี้แล้วพบว่า  ทุกอย่างมีขนาดใหญ่ไปหมด ก็ให้คาดเดาไว้ก่อนว่าน่าจะเป็น อินทนิลบก (ภาพที่ 6) Wall. ex Kurz ซึ่งต่อท้ายชื่อพฤกษศาสตร์ หมายถึงนักพฤกษศาสตร์ 2 ท่าน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นพบและจำแนกลักษณะของพืชชนิดนี้ คำ ex หมายถึง นักพฤกษศาสตร์ท่านที่ 2 ได้ตีพิมพ์ชื่อและอธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ชนิดนั้นอย่างเป็นทางการ แต่อ้างอิงตามข้อมูลในการอธิบายลักษณะของนักพฤษศาสตร์ท่านแรก Wall. เป็นอักษรย่อของชื่อ นาธาเนียล วอลลิช (Nathaniel Wallich) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2329-2397 (ภาพที่ 7) เขาเป็นศัลยแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งเคยทำงานด้านการแพทย์ที่ประเทศอินเดีย ต่อมาได้เขาร่วมงานกับบริษัท อีส อินเดีย และเริ่มทำงานด้านพฤกษศาสตร์ เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ที่ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย และได้สะสมตัวอย่างพรรณไม้ของทวีปอินเดียไว้มากมาย ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นช่วงที่เขามีผลงานตีพิมพ์ที่สำคัญๆหลายชิ้น เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ของอินเดียKurz หมายถึง วิลเฮล์ม ซัลพิซ เคิร์ช (Wilhelm Sulpiz Kurz) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2377-2421 เขาเป็นนักพฤกศาสตร์ชาวเยอรมันและเคยเป็น ผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ เวสต์จาวา ประเทศอินโดนีเซีย 

 

อินทนิลบก

ภาพที่ 6 ต้นอินทนิลบกบริเวณเกาะกลางถนน ที่ทางเข้าด้านหน้าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นาธาเนียล วอลลิช (Nathaniel Wallich)

ภาพที่ 7 นาธาเนียล วอลลิช (Nathaniel Wallich)

 

4. เสลาใบใหญ่ (Lagerstroemia Loudonii Teijsm.&Binn.) 

          เสลาเป็นไม้ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย โดย โจฮานเนส อิเลียส เทจส์มาน (Johannes Elias Teijsmann) (ภาพที่ 8) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. พ.ศ. 2352-2425 เป็นนักพฤกษศาสตร์ ที่เป็นผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์บูแดนซอกที่โบกอร์ ในปี 2375-2412 ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2405 พร้อมกับผู้แทนชาวดัทช์ ชื่อ เอ ลาวดอน และในวันที่ 31 มีนาคม ได้ค้นพบและเก็บตัวอย่าง เสลา ได้ที่จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังต้นไม้ชนิดนี้จึงถูกตั้งชื่อชนิดว่า Loudonii เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้แทนท่านนี้ เสลาใบใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงอยู่ระหว่า 10 – 20 เมตร ใบมีขนนุ่มๆกว้าง 4-6 ซม. ยาว 12-24 ซม. ขนาดดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 ซ.ม. (ขนาดใหญ่กว่าดอกของอินทนิลน้ำเล็กน้อย) แต่ผลกลับมีขนาดเล็กมาก เพียง 1.5-2 ซ.ม. (ภาพที่ 9) Teijsm. เป็นชื่อย่อของโจฮานเนส อีเลียส เทจสมาม (Johannes Elias Teijsmann) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2351-2425 เป็นนักพฤกษศาสตร์และนักสะสมพันธุ์ไม้ชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ ในปี พ.ศ. 2374-2412 เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการเก็บตัวอย่างและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์พรรณไม้ ไนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย (หรือสยามในสมัยนั้น) Binn. เป็นชื่อย่อของ ไซมอน บินเนนดิก (Simon Binnendyk) มีชีวิตอยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2364-2426 เป็นนักจัดสวนและนักพฤกษศาสตร์ ชาวดัชท์ เกิดที่ประเทศ ฮอลแลนด์ เริ่มปฎิบัติหน้าที่ที่สวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์ ต่อมาภายหลังจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ดูแลเอง ได้ร่วมตีพิมพ์ผลงานการค้นพบทางพฤกษศาสตร์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25

โจฮานเนส อิเลียส เทจส์มาน (Johannes Elias Teijsmann)

ภาพที่ 8 โจฮานเนส อิเลียส เทจส์มาน (Johannes Elias Teijsmann)

 

 

ผลและใบของต้นเสลาที่สวนสาธารณะ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ภาพที่ 9 ต้นเสลากำลังออกดอกเต็มต้น

 

5. ตะแบกนา (Lagerstroemia Floribunda Jack) 

          Floribunda เป็นคำในภาษาละตินที่เกิดจากการผสมกันของคำว่า Florri หมายถึง ดอกไม้ หรือการออกดอก (Flower, blossom) กับคำว่า abundans แปลว่า จำนวนมาก (many) แปลรวมๆแล้วก็แปลว่า “ออกดอกเยอะมาก”  เนื่องจากตะแบกเวลาออกดอกจะเห็นช่อดอกเยอะและแน่น เห็นเด่นชัด ดอกมีขนาดเล็กกว่าอินทนิล คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 2.5-3.5 ซ.ม. ไล่โทนสีตั้งแต่สีชมพูถึงม่วงอ่อนเช่นเดียวกัน แต่ขนาดช่อดอกยาวใกล้เคียงกันคือ 30-40 ซ.ม. ผลรูปทรงรีมีขนาดเล็กประมาณ 1.5-2 ซ.ม. ใบก็มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอินทนิล  คือกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร แต่ต้นสูงใหญ่มาก คือสูงประมาณ 15-30 เมตร นับได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  ดังนั้นในช่วงฤดูออกดอก คือช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม –กันยายน ต้นตะแบกนาจะออกดอกแลดู มีจำนวนหนาแน่น สะดุดตามาแต่ไกล (ภาพที่ 9)  Jack มาจากชื่อของนักพฤกษศาสตร์ชาวสก๊อต วิลเลี่ยม แจค (William Jack) มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2338 – 2465 เขาเกิดที่ประเทศอังกฤษ ได้ร่วมทำงานกับบริษัท อีสต์ อินเดีย ในฐานะของศัลยแพทย์ และได้เดินทางไปหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งได้ศึกษาค้นคว้าด้านพฤกษศาสตร์ที่นั่น

          ที่มาของชื่อทางพฤกษศาสตร์ในกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมานี้ ทั้งหมดเกิดจากการตั้งชื่อของนักพฤกษศาสตร์ชาวยุโรป ในยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม การตั้งชื่อพฤกษศาสตร์บ้างก็มีที่มาจากสถานที่ หรือบุคคล ที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเป็นครั้งแรก และมีที่ตั้งชื่อตามลักษณะเด่นของพันธุ์ไม่นั้นๆ แต่อย่างก็ดี ในการที่เราจะสามารถจำแนกพันธุ์ไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้ได้ จะต้องอาศัยการฝึกฝน และจดจำจากตัวอย่างของต้นจริง นอกจากสังเกต ลำต้น ดอก ใบ ของพันธุ์ไม้แล้ว ก็จะต้องหัดสังเกตและจำแนกลักษณะของเปลือกของมันด้วย เพื่อความแน่ใจ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่พยายามค้นคว้ามานี้จะมีประโยชน์ ที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านจดจำชื่อพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ ทั้ง 5 ชนิดนี้ได้ดียิ่งขึ้น 

 

ต้นคะแบกในฤดูออกดอก ช่วงเดือนกรกฎาคม –กันยายน

ภาพที่ 10 ต้นคะแบกในฤดูออกดอก ช่วงเดือนกรกฎาคม –กันยายน

 

*******************************************************************************

บรรณานุกรม

เอื้อมพร วีสมหมาย และคณะ. 2551. พรรณไม้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด. 

Khare, C.P. 2007. Indian Medicinal Plants: An Illustrated Dictionary. New York: Springer. 

Knapp, Sandra.  What's in a name? A history of taxonomy : Linnaeus and the birth of modern taxonomy. London: Natural History Museum.

McNeill, J.; Barrie, F.R.; Burdet, H.M. et al., eds. 2006. International code of botanical nomenclature (Vienna Code) adopted by the seventeenth International Botanical Congress, Vienna, Austria, July 2005.

Pooler, Margaret. 2006. Crapemyrtle: Flower Breeding and Genetics. Netherlands: Springer R. K.

Brummitt & C. E. Powell, ed. 1992. Authors of Plant Names: a List of Authors of Scientific Names of Plants, with Recommended Standard Forms of their Names, Including Abbreviations. Royal Botanic Gardens, Kew. 

บรรณานุกรมรูปภาพ

1. Roslin, Alexander. 1775.  “Carl von Linne”. [Online].  Source:     http://en.wikipedia.org/wiki/Carolus_Linnaeus (September,17th 2011).

2. Frederich, Eric. 2006.  “File:Crepe-myrtle-pink.jpg”. [Online].  Source: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Crepe-myrtle-pink.jpg. (September,17th 2011).

3.  Blanco, Francisco M. 1775.  “File:Lagerstroemia_indica_Blanco1.207.png”. [Online].  Source: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Lagerstroemia_indica_Blanco1.207.png (September,17th 2011).

4.   Tangopaso. 2010.  “File:Lagerstroemia_indica_Capbreton.jpg”. [Online].  Source: http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Lagerstroemia_indica_Capbreton.jpg (September,17th 2011).

5.   ผู้เขียนถ่ายภาพต้นอินทนิลน้ำต้นนี้ที่บริเวณสนามเทนนิส ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

6. ผู้เขียนถ่ายภาพต้นอินทนิลบกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้นี้ ที่บริเวณเกาะกลางถนนทางเข้าหลัง ด้านหน้าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

7.   Maguire, T. H. Pre 1854.  “File:NathanielWallich.jpg”. [Online].  Source: http://en.wikipedia.org/wiki/File:NathanielWallich.jpg (September,17th 2011).

8.  Haard, Eigen. 1882.  “File:Teijsmann, Johannes Elias.jpg”. [Online].  Source: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Teijsmann,_Johannes_Elias.jpg (September,17th 2011).

9.  ผู้เขียนถ่ายภาพต้นเสลาต้นนี้ บริเวณหน้าร้านข้าวซอยป้าศร้ บ้านแม่แก้ดน้อย บนถนนสายแม่โจ้-สันทราย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

10. Haard, Eigen. 2011.  “File:Flowers_at_canopy_I_IMG_8664.jpg”. [Online].  Source: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Flowers_at_canopy_I_IMG_8664.jpg (September,17th 2011).


ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
งานบริการวิชาการและวิจัย » มือใหม่หัดบินทำแผนที่ด้วยโดรน Ep.1
โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aviation Vehicle) แต่เดิมนั้น มีการใช้งานในหน่วยงานด้านความมั่นคง ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ใน หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางด้านการเกษตร การสำรวจ ตรวจ...
โดรน สถาปัตยกรรม ออกแบบ     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน ธวัชชัย มานิตย์  วันที่เขียน 13/9/2562 14:31:05  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 11/11/2567 10:35:18   เปิดอ่าน 16560  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : สรุปมุมมองจากปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ข้อความต่อไปนี้เป็นการสรุปความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์กับการพัฒนาเมืองในอนุภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสถาปั...
การดำเนินโครงการพัฒนาโดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 29/6/2559 21:25:48  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 10/11/2567 18:20:29   เปิดอ่าน 5532  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : น่าตื่นเต้นกับประชาชนเมืองขอนแก่น
การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยท้องถิ่นเป็นการประยุกต์ใช้แนวความคิดไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งต้องพึงพาการสนับสนุน(งบประมาณจากรัฐบาล)จึงเป็นข้อจำกัดในความสำเร็จของการดำเนินโครงการของท้องถิ่นมาโดยตลอด เมืองขอนแ...
การพัฒนาพื้นที่โดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 25/6/2559 22:12:17  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 11/11/2567 9:32:19   เปิดอ่าน 4558  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง