มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการภาคเหนือตอนบน ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่การตรวจประเมินและรองรับห้องปฏิบัติการปลอดภัยเพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation)
วันที่เขียน 21/12/2564 12:37:47     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/9/2567 23:08:20
เปิดอ่าน: 2383 ครั้ง

การพัฒนาความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ หน่วยงาน/องค์กร ต้องมีการกระตุ้นในทุกระดับทั้งระดับองค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงาน คณะ/ภาควิชาและห้องปฏิบัติการ มีแผนยุทธศาสตร์เพื่อใช้ขับเคลื่อนและดำเนินงานด้านความปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานและการอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ซึ่งห้องปฏิบัติการสามารถการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการด้วยการใช้ ESPReL Checklist ในการตรวจประเมินและสำรวจเพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำแผนการพัฒนายกระดับด้านมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และสามารถขอตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วม (peer evaluation) ต่อไปได้

มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการภาคเหนือตอนบน ประจำปี 2564

ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่การตรวจประเมินและรองรับห้องปฏิบัติการปลอดภัย

เพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation)

 

ยุทธศาสตร์และความท้าทายในการขับเคลื่อนความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี พ.ศ.2559 และดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ซึ่งแผนปี พ.ศ. 2565-2569 มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบอย่างและยั่งยืน ศูนย์ความปลอดภัยฯ ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบ : การจัดทำแนวปฏิบัติการและการตรวจติดตาม การบริการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระบบการจัดการสารเคมีและของเสีย ระบบรายงานอุบัติการณ์ที่หน่วยงานในมหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการประเมินความเสี่ยง

ยุทธศาสต์ที่ 2 พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพกับบุคลากร : การพัฒนาหลักสูตรอบรมความปลอดภัยต่างๆ ทั้งทางด้านเคมี ด้านรังสี ด้านชีวภาพ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรมีการผ่านการอบรมความปลอดภัยในด้านต่างๆ และเหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพบริหารจัดการ : การนำข้อกำนดแนวปฏิบัติเข้ามาบริหารจัดการห้องปฏิบัติการให้มีความปลอดภัย ทั้งในระดับอาคาร และระดับสถานที่ทำงาน โดยใช้ ESPReL และสร้างแรงจูงใจด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้กับห้องปฏิบัติการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการสื่อสาร : ส่งเสริมให้มีการตระหนักรู้ถึงบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ผ่านช่องทางการสื่อสาร Facebook, Line, Twitter และช่อง YouTube ของศูนย์

 

แนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสนับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการจัดตั้ง “โครงการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU SH&E)” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบและเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีของบุคลากร นักศึกษา บุคคลผู้เกี่ยวข้องและชุมชน รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัย การดำเนินตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานการวิจัยและความปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขการรับทุนวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การขับเคลื่อนพันธกิจมาตรฐานการวิจัยในฐานะแม่ข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือและมหาวิทยาลัยแห่งชาติ และยกระดับมาตรฐานการวิจัยและความปลอดภัยให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศและในระดับสากล ศูนย์ CMU SH&E อยู่ภายใต้สำนักบริหารวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคณะกรรมการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการและการจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความรู้ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาศักยภาพวิทยากร ผู้ตรวจประเมิน และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างหลักสูตรอบรมและการจัดกิจกรรมอบรมด้านความปลอดภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตรวจติดตามและประเมินการยกระดับความด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

  • การวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  • การยกระดับความปลอดภัยและการตรวจติดตามประเมินผล
  • การประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการจัดทำแนวทางตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง
  • การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการเป็นเครือข่ายด้านความปลอดภัยฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนานวัตกรรม ระบบสารสนเทศและบูรณาการร่วมกับส่วนงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและระบบสารสนเทศ  การบริหารจัดการด้านของเสียสารเคมี (Chemical Waste)  การสร้างฐานข้อมุลด้านลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ  การพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และการเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านความปลอดภัย

 

การพัฒนาความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการด้วยระบบประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (ESPReL Checklist)

ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  1. บริหารระบบจัดการความปลอดภัย : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติพัฒนาหน่วยบริหารจัดการระบบความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของ วช. มีโครงสร้างคณะกรรมการ นโยบายและแผนดำเนินงานระดับมหาวิทยาลัย และเข้าร่วมโครงการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค (Network) ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการและโครงการมหาวิทยาลยแม่ข่าย (Node)
  2. ระบบจัดการสารเคมี : นำระบบติดตามการครอบครองสารเคมี (Chem Invent) ของ วช. มาใช้งาน มีการใช้ระบบการครอบครองสารเคมีในห้องปฏิบัติการต้นแบบตามโครงการของ วช. และมีห้องปฏิบัติการตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางสำหรับห้องปฏิบัติการอื่นด้านการจัดการสารเคมี
  3. ระบบการจัดการของเสียสารเคมี : มีการสร้างระบบติดตามของเสียเคมี (CMU Waste Track) มีการเก็บของเสียอันตรายเคมีและส่งกำจัดผ่านบริษัท มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการของเสียบำบัดและลดปริมาณของเสีย และการขยายผลการใช้ CMU Waste Track ไปยังมหาวิทยาลัยเครือข่าย
  4. ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการอุปกรณ์และเครื่องมือ : มีการสำรวจ จำนวนข้อมูลพื้นฐาน ที่ตั้ง ลักษณะงานของห้องปฏิบัติการทั้งหมดของ มช. และมีเกณฑ์การประเมินลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการอุปกรณ์และเครื่องมือตามเกณฑ์ ESPReL
  5. ระบบการป้องกันและแก้ไขอันตราย : มีการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับต่างๆ มีการอบรมให้ความรู้พื้นฐานด้านการตอบโต้อัคคีภัยและภาวะฉุกเฉิน และมีเกณฑ์และแนวทางการประเมินความเสี่ยงในห้องปฏิบัติการพร้อมวิทยากรอบรม
  6. การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ : การให้ความรู้พื้นฐานแก่หัวหน้าห้องปฏิบัติการนำร่องและผู้บริหาร จัดอบรมหลักสูตร จป.หัวหน้างาน ชีวนิรภัย และการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย สร้างคณะวิทยากร และระบบการวัดสอบความรู้ด้านความปลอดภัยด้วยระบบออนไลน์สำหรับบางหน่วยงาน
  7. การจัดการข้อมูลและเอกสาร : มีระบบการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์สำหรับการจัดการสารเคมี (CMU Chem Invent) และการจัดการของเสียอันตราย (CMU Waste Track) และมีห้องปฏิบัติการตัวอย่างที่ผ่านเกณฑ์ มอก. 5677-2558

 

มาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฎิบัติการด้วยระบบประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (ESPReL Checklist)

     มีกรอบแนวคิดที่ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบหลัก คือ

  1. การบริหารจัดการความปลอดภัย ต้องมีการกระตุ้นในทุกระดับทั้งระดับองค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงานคณะ/ภาควิชา และระดับห้องปฏิบัติการ     ในการบริหารจัดการจะเกี่ยวข้องในด้านต่อไปนี้
  • นโยบายและแผน ที่จะกลยุทธ์ในการบริหารจัดการรวมถึงการมีระบบรายงานและระบบการตรวจติดตาม มีแผนปฏิบัติการที่ประกอบด้วยกิจกรรมด้าน ความปลอดภัยต่างๆ มีการสื่อสารให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบ และการเพิ่มพูนความรู้และการฝึกทักษะด้วยการอบรมอย่างสม่ำเสมอ
  • โครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย ส่วนอำนวยการ ส่วนบริหารจัดการและส่วนปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ
  • ผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ มีการแต่งตั้ง ระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนและมีรายงานการปฎิบัติการเพื่อการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
  1. ระบบการจัดการสารเคมี ประกอบด้วย การจัดการข้อมูลสารเคมี การมีระบบบันทึกข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ และการติดตามการเคลื่อนไหวของสารเคมี
  • การจัดเก็บสารเคมี สิ่งสำคัญในการจัดเก็บสารเคมีคือความเป็นอันตรายของสารเคมีและความเข้ากันไม่ได้ของการจัดเก็บสารเคมี ซึ่งควรให้เป็นไปตามข้อกำหนดในการจัดเก็บสารเคมี
  • การเคลื่อนย้ายสารเคมี ควรทำให้ถูกวิธีทั้งการเคลื่อนย้ายภายในและภายนอกห้องปฏิบัติการ เช่น มีรถเข็น มีภาชนะรองขวดสารเคมีเพื่อป้องกัน       การตกแตก และตัวดูดซับเพื่อป้องกันการประแทกกันระหว่างขนส่ง
  1. ระบบการจัดการของเสีย ห้องปฏิบัติการจะต้องทราบลักษณะงานที่ปฏิบัติและสารเคมีที่ใช้งานเพื่อจะได้ทราบวิธีการจัดการและกำจัดอย่างถูกต้อง
  • การจัดการข้อมูลของเสีย มีระบบบันทึกข้อมูลของเสียสารเคมีและการรายงานข้อมูลควรมีการจัดการข้อมูล
  • การจัดเก็บของเสีย จัดเก็บของเสียให้ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยและเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการของเสีย
  • การกำจัดของเสีย คือ การบำบัดของเสียก่อนทิ้ง การบัดบัดของเสียก่อนส่งกำจัด และการส่งกำจัด
  • การลดการเกิดของเสีย โดยใช้หลักการ Reuse, Recovery และ Recycle เพื่อลดปริมาณก่อนทิ้งและกำจัดได้ เพื่อเป็นการลดการใช้สารตั้งต้น (Reduce) และการใช้สารทดแทน (Replace)
  1. ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ประกอบด้วย
  • งานสถาปัตยกรรมและงานสถาปัตยกรรมภายใน : มีสภาพภายนอกและภายในที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย
  • งานวิศวกรรมโครงสร้าง : สภาพดีและมีการตรวจสอบสภาพอาคารอยู่ประจำ
  • งานวิศวกรรมไฟฟ้า : มีแสงสว่างเพียงพอต่อการทำงาน มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน มีระบบควบคุม ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ
  • งานวิศวกรรมสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม : มีระบบน้ำที่ใช้งานได้ดี มีการแยกระบบน้ำทิ้งทั่วไปและระบบน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีออกจากการ มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนออกสู่รางระบายน้ำ
  • งานวิศวกรรมระบบปรับอากาศและระบายอากาศ : มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมกับการทำงาน ตรวจสอบดูแลระบบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • งานระบบฉุกเฉินและระบบติดต่อสื่อสาร : มีระบบติดต่อสื่อสารของห้องปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน มีการตรวจสอบและดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น     มีระบบแจ้งเหตุไฟไหม้ด้วยมือ อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ ทางหนีไฟ ป้ายบอกทางหนีไฟ ถังดับเพลิง ระบบดับเพลิงด้วยน้ำ
  1. ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย มี Checklist 19 ข้อ ได้แก่ การบริหารความเสี่ยง 9 ข้อ การเตรียมความพร้อมและโต้ตอบภาวะฉุกเฉิน 6 ข้อ และข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยโดยทั่วไป 4 ข้อ (PPE และระเบียบปฏิบัติของห้องปฏิบัติการ)
  2. การใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ มี Checklist 19 การอบรมเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงแก่บุคลากรทุกระดับ จะช่วยให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและลดเกิดความเสี่ยงของอุบัติภัยได้
  3. การจัดการข้อมูลและเอกสาร มี Checklist 2 ข้อ ในด้านระบบการจัดการเอกสาร คู่มือข้อนำแนะความปลอดภัย/SOP การทบทวนและปรับปรุงเอกสารให้ทันสมัยซึ่งอาจมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ เช่น Smart lab

 

การเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่การตรวจประเมินและรองรับห้องปฏิบัติการปลอดภัย

เพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation)

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำกระบวนการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการและให้มีมาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดการยอมรับระหว่างกลุ่มห้องปฎิบัติการด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติ ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองเพื่อการยอมรับร่วม (peer evaluation) จำนวน 240 ห้องปฏิบัติการจากห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยแม่ข่าย 12 แห่ง โดยมีเกณฑ์การตรวจประเมินและขั้นตอนการขอตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการ ดังนี้

 

เกณฑ์การตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการใน peer evaluation

ห้องปฎิบัติการที่ประสงค์ขอรับการตรวจประเมินจะต้องทำการประเมินข้อกำหนดพื้นฐาน ESPReL Checklist 137 ข้อ จากนั้นยื่นคำขอตรวจประเมินและรับรองอย่างน้อย 1 องค์ประกอบ 

  • ผลการตรวจประเมินตามข้อกำหนด ESPReL Checklist 137 ข้อ จะต้องมีผลคะแนนรวมทั้ง 7 องค์ประกอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และแต่ละด้านเดี่ยวๆ ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
  • องค์ประกอบด้านที่ยื่นขอการรับรองต้องได้ร้อยละ 100
  • ห้องปฏิบัติการที่ผ่านการขอการรับรองในองค์ประกอบใด จะได้รับตราสัญลักษณ์เฉพาะองค์ประกอบนั้น โดยตราสัญลักษณ์มีอายุ 3 ปี และต้องประเมิน ESPReL Checklist ด้วยตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หากต้องการต่ออายุตราสัญลักษณ์หรือขอยื่นขอรับรององค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมต้องแจ้ง วช. ล่วงหน้า 180 วันก่อนสิ้นอายุ

 

ขั้นตอนการขอตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการใน peer evaluation

  • ห้องปฎิบัติการทำการตรวจภายในผ่าน ESPReL Checklist 137 ข้อ
  • เลือกคณะผู้ตรวจประเมิน และจัดเตรียมเอกสารตามแบบรายการเอกสารแล้วยื่นคำขอการรับการตรวจประเมินไปยังหน่วยงานกลางของ วช. จากนั้นเลขานุการของหน่วยงานกลางของ วช. รับเรื่องแล้วจะแจ้งไปยังคณะผู้ตรวจประเมินและส่งเอกสารให้ทำการทบทวนเอกสาร
  • คณะผู้ตรวจประเมินวางแผนการตรวจประเมิน และจะดำเนินการเข้าตรวจประเมินห้องปฏิบัติการ
  • คณะผู้ตรวจประประเมินจัดทำรายงานผลการตรวจประเมินส่งให้ห้องปฏิบัติการ หากพบว่าห้องปฏิบัติการมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข คณะกรรมการจะให้ระยะเวลาดำเนินการแก้ไขและให้ส่งรายงานการแก้ไขกลับมา หากการแก้ไขนั้นผู้ตรวจประเมินยอมรับได้แล้วนั้น หัวหน้าผู้ตรวจประเมินจะจัดทำรายงานสรุป แล้วส่งรายงานไปยังเลขานุการของ peer evaluation เพื่อจัดทำรายงานส่งไปให้คณะกรรมการ peer evaluation เพื่อพิจารณาให้การรับรอง
  • หากผ่านการรับรองก็จะได้รับใบรับรองพร้อมประกาศชื่อห้องปฏิบัติการได้รับการรับรองผ่านเว็บไซต์ของ วช. หากไม่ผ่านการรับรองหัวหน้าผู้ตรวจประเมินจะแจ้งผลไปยังห้องปฏิบัติการ
  • มีการติดตามผลการดำเนินงานโดยห้องปฏิบัติการต้องทำ ESPReL Checklist อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และถ้าหากจะต่อสามารถ Re-evaluation ทุก 3 ปี

 

ขั้นตอนการยกระดับด้านมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

  • สำรวจความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้วย ESPReL Checklist โดยลงทะเบียนห้องปฏิบัติการที่  http://esprel.labsafety.nrct.go.th สร้าง Checklist
  • สมาชิกในห้องปฏิบัติการทุกระดับต้องประชุมทำความเข้าใจและลงความเห็นร่วมกันในการตอบคำถามแต่ละข้อในกระดาษแล้วจึงบันทึกผลข้อมูลลง Checklist ในเว็บไซต์
  • ดูรายงานเพื่อนำมาวิเคราะห์คำตอบผลจากการสำรวจ ESPReL Checklist /จัดลำดับความสำคัญของปัญหา/ วิเคราะห์ Gap Analysis
  • จัดทำแผนการพัฒนายกระดับด้านมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
  • ดำเนินการพัฒนาห้องปฏิบัติการตามแผนที่ได้กำหนดไว้

 

การประเมินความเสี่ยง และกระบวนการ PCDA เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

อันตรายเป็นเหตุที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ ความเสี่ยงเป็นผลลัพธ์ของความน่าจะเกิดอันตรายและผลจากอันตรายนั้น การมีระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยจึงเป็นการบริหารความเป็นอันตรายและการบริหารความเสี่ยง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงเป็นการประสานกิจกรรมเพื่อสั่งการและควบคุมองค์กรเกี่ยวกับความเสี่ยง ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง การติดตาม/ทบทวนความเสี่ยง และการสื่อสารความเสี่ยง

  • การประเมินความเสี่ยง : คือการระบุอันตรายที่มีอยู่ การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการประเมินความเสี่ยง ซึ่งในการระบุอันตรายสามารถใช้ ESPReL checklist หรือ JSA (Job safety analysis) เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ การวิเคราะห์ความเสี่ยงสามารถออกแบบตามลำดับขั้นของอันตราย ความถี่จากการได้รับสัมผัส และโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากน้อยไปมาก ผลจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงจะนำไปประเมินผลความเสี่ยง และผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยง คือ “ระดับความเสี่ยง” ที่มักจะเรียงจากต่ำไปสูง
  • การจัดการความเสี่ยง : เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยง รูปแบบของการจัดการความเสี่ยงคือ

          - การกำจัดทิ้ง (Elimination)

          - การแทนที่ของเดิม (Substitution)

          - การแยกออก การสร้าง/ก่อสร้าง/ต่อเติม/ดัดแปลง (Isolation)

          - Administrative controls เช่น การประชาสัมพันธ์ การอบรมให้ความรู้ การเฝ้าดูแลติดตาม และ

         - การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม (PPE)

  • การทบทวนความเสี่ยง : เป็นกิจกรรมที่ใช้ตัดสินความเหมาะสม ความพอเพียงและประสิทธิผลเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยใช้หลัก Plan-Do-Check-Act โดยมีการติดตาม ตรวจสอบและทบทวนแผนการดำเนินการรวมทั้งผลผลิต/ผลลัพธ์ที่ได้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
  • การสื่อสารความเสี่ยง : การเลือกใช้เครื่องมือในการสื่อสารขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเรื่องนั้นๆ โดยรูปแบบ/เครื่องมือในการสื่อสารความเสี่ยง เช่น การบรรยาย การแนะนำ พูดคุย ปรึกษาหารือ การทำป้าย สัญลักษณ์ เอกสารแนะนำ แผ่นพับคู่มือ การใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆ เป้าหมายของการสื่อสารความเสี่ยง คือ การสร้างความเชื่อใจและความมั่นใจในการจัดการความเสี่ยง

 

 

 

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานช่วยวิชาการ
เบญญาภา หลวงจินา » ความปลอดภัยในห้องปฏฺิบัติการเคมี
ปัจจุบันกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องนำสารเคมีหลากหลายชนิดเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านการเกษตร ด้านการศึกษา ด้านอุตสาหกรรมและด้นอื่น ๆ รวมทั้งสารเคมีเป็นส่วนประกอบที่ส...
ความปลอดภัย     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน เบญญาภา หลวงจินา  วันที่เขียน 29/8/2567 15:42:12  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19/9/2567 10:42:47   เปิดอ่าน 60  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
รุ่งทิพย์ กาวารี » #การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
นโยบายการขับเคลื่อนความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการแบบยั่งยืนในประเทศไทย โดย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึง การลงทะเบียนเพื่อขอรับเ...
Peer Evaluation  การขอทุนวิจัยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ  ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน รุ่งทิพย์ กาวารี  วันที่เขียน 29/8/2567 13:43:45  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19/9/2567 17:06:29   เปิดอ่าน 103  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง