๑. สรุปรายงานการเข้าร่วมโครงการอบรม รายละเอียดดังนี้
ในการเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ แบ่งการดำเนินการออกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่
๑.๑ ช่วงเช้า รับฟังการบรรยายในหัวข้อ “หลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” โดยวิทยากร ๒ ท่านได้แก่ ผศ.ดร.วิรัช วงศ์ภินันท์วัฒนา และ ผศ.ดร.จักรพันธุ์ ขัดชุ่มแสง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีเนื้อหา สาระ สรุปสังเขปดังนี้ จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หมายถึงหลักหรือแนวทางดำเนินการวิจัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม และศีลธรรม เพื่อให้นักวิจัยได้ยึดถือและปฏิบัติตามหลักสากลที่การวิจัยนั้นมีการทดลองหรือเก็บข้อมูลจากคน โดยคำนึงถึงความสะดวก ปลอดภัย และประโยชน์ที่อาสาสมัครจะได้รับ และหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์นั้น สามารถพิจารณาจาก 3 หลัก ได้แก่ หลักความเคารพในบุคคล (Respect for Persons) หลักประโยชน์ (Beneficence) และหลักความยุติธรรม (Justice) โดยสรุปในประเด็นดังกล่าว คือ อาสาสมัครได้รับการบอกกล่าว เปิดโอกาสให้ซักถาม ให้เวลาในการตัดสินใจ นักวิจัยรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว และการปิดบังชื่อ/ข้อมูลของอาสาสมัคร การวิจัยต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทางร่างกายและจิตใจของอาสาสมัคร และได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ผลการวิจัยควรให้ดีต่ออาสาสมัคร ชุมชน หรือสังคม และวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และประเภทของงานวิจัยที่จะขอรับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัย หลังพักเบรกช่วงเช้า กลับมาฟังบรรยายในหัวข้อ กระบวนการขอความยินยอม (Process of Informed Consent) โดยได้อธิบายกระบวนการขอความยินยอมจากอาสาสมัครในทุกช่วงวัย ที่มีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของอาสาสมัคร
๑.๒ ช่วงบ่าย รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับเอกสารชี้แจงผู้เข้าร่วมการวิจัย และหนังสือแสดงความสมัครใจในการเข้าร่วมการวิจัย โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญ คือ ในการเก็บข้อมูลจากอาสาสมัครนั้น จำเป็นต้องทำเอกสารชี้แจงเพื่อเป็นการให้ข้อมูลอธิบายกระบวนการวิจัยเพื่อตัดสินใจ (Informed Consent) และมีหนังสือแสดงความสมัครใจในการเข้าร่วมการวิจัยโดยได้รับการบอกกล่าว แบบแสดงความยินยอมให้ทำการวิจัย (Informed Consent Form: ICF) ซึ่งเป็นหนังสือแสดงเจตนายินยอมเข้าร่วมการวิจัย โดยได้รับการบอกกล่าวและเต็มใจ โดยหนังสือแสดงเจตนายินยอมเข้าร่วมวิจัยนั้น จำแนกตามอายุของอาสาสมัคร ดังนี้
- อาสาสมัครอายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้ Consent Form เพียงอย่างเดียว
- อาสาสมัครอายุ 7 – 17 ปี ใช้ Assent Form และ Consent Form จากผู้ปกครอง
- อาสาสมัครอายุต่ำกว่า 7 ปี ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลโดยชอบด้วยกฎหมายให้ความยินยอมแทน โดยใช้ Consent Form
โดยเอกสารการขอความยินยอมในอาสาสมัครเด็ก (Assent of the Child) สามารถจำแนกเป็นรายละเอียดแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- สำหรับเด็กเล็ก (7 – 12 ปี) ให้มีเอกสารข้อมูลฉบับที่ง่ายสำหรับเด็กที่จะเข้าใจได้ โดยอาจมีรูปภาพประกอบคำอธิบาย
- สำหรับเด็กโต (13 – 17 ปี) ให้ใช้เอกสารที่มีข้อความเหมือนฉบับสำหรับผู้ปกครองได้ โดยปรับสรรพนามให้เหมาะสม
- สำหรับเด็กที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ใช้ Consent Form เหมือนผู้ใหญ่
และข้อแนะนำในการเขียนเอกสารฯ มีดังนี้ ใช้สรรพนามให้ถูกต้อง เขียนอธิบายให้เข้าใจง่าย ชัดเจน ใช้ภาษาระดับชาวบ้านที่เข้าใจได้โดยทั่วไป ประโยคสั้น ๆ กะทัดรัด ไม่ใช้ศัพท์วิชาการ หรือทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่ใช้ข้อความแสดงการบังคับ ลดสิทธิ์ ชักจูง หรือใช้ประโยชน์เกินไป และเป็นการสื่อสาร 2 ทางที่อาสาสมัครมีโอกาสซักถามรายละเอียดหรือข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิจัยได้
และหลังจากวิทยากรบรรยายเสร็จ มีการแบ่งกลุ่มย่อย ศึกษากรณีศึกษา พร้อมนำเสนอผลการจากการศึกษากรณีศึกษา โดยในกลุ่มที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรณีศึกษาที่ ๕ เรื่องระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ โดยทำการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่นักวิจัยต้องคำนึงถึงตามหลักเคารพในบุคคล หลักประโยชน์ และหลักยุติธรรม และเมื่อนำเสนอแล้วเสร็จ ได้มีการทำแบบทดสอบหลังการอบรม โดยผู้เข้ารับการอบรมจะต้องผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๘๐ จึงจะผ่านตามเกณฑ์ และได้รับใบประกาศนียบัตร
๒. ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่
๒.๑ ได้ความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัยในคน และการเสนอโครงการวิจัยสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์
๒.๒ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในด้านจริยธรรมการวิจัยในคน
๓. ประโยชน์ต่อหน่วยงาน (ระดับงาน/หลักสูตร/คณะ)
๓.๑ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอนอันเกี่ยวข้องกับนักศึกษา หรือหัวข้อที่ทำการเรียน การสอนในด้านการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยในคน เป็นต้น
๓.๒ พัฒนาองค์ความรู้ของผู้วิจัยให้มีความรู้ในด้านคุณธรรมการวิจัยในคน
๓.๓ เสริมสร้างองค์ความรู้ในประเด็นด้านการวิจัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในระดับหลักสูตร โดยเฉพาะด้านคุณธรรมการวิจัยในคน