ปัจจุบันแนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความสนใจ ซึ่งมีแนวโน้มว่ามีมูลค่าตลาดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพืชในกลุ่มหัวหอม และกระเทียม จะมีส่วนประกอบของสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ อยู่มากมาย ซึ่งตัวอย่างของพืชในกลุ่มหัวหอมและกระเทียม ได้แก่ หอมแดง (Allium ascalonicum) หอมใหญ่ (Allium cepa var. aggregatum) หอมแขก (Allium cepa var. viviparum) หอมต้น (Allium fistulosum) กระเทียมโทน (Allium ampeloprasum) กระเทียมกลีบใหญ่ (Allium sativum) (large cloves) และกระเทียมกลีบเล็ก (Allium sativum) (small cloves) (Rangsiruji et al., 2004) และพบว่าพืชตระกูลหัวหอม (Allium cepa) เป็นพืชที่มีการสะสมน้ำตาลกลุ่ม fructooligosaccharides, FOSs ในปริมาณสูง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น prebiotics ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญของแบคทีเรีย probiotics เช่น Lactobacillus sp. และ Bifidobacterium sp. ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ได้ ส่งผลทำให้สามารถควบคุมการเจริญของเชื้อก่อโรคและเกิดสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ และในพืชตระกูลหัวหอมยังมีสารยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ของหัวหอมเนื่องจากมีสารพวก sulfur และ phenolic ได้แก่ สาร diallyl sulfide, diallyl disulfile, thiosulfinate และ ajoene เป็นต้น (Marta et al., 2007) ซึ่ง กิติพงศ์ และ นฤมล (2560) ได้ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียของสารสกัดจากหัวหอม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หัวหอมใหญ่ (Allium cepa Linn.) หอมแดง (Allium ascalonicum Linn.) และหอมแขก (Murraya koenigii) ด้วยเอทานอล สารสกัดจากหัวหอมทั้ง 3 ชนิดสามารถยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้มากกว่าแบคทีเรียแกรมลบ โดยสามารถยับยั้ง B. cereus และ E. coli O157: H7 ได้มากที่สุดและน้อยที่สุด ตามลำดับ โดยมีค่า MIC ในช่วง 0.125-1.75 g/mL ในขณะที่สารสกัดจากหัวหอมทั้ง 3 สายพันธุ์ไม่สามารถยับยั้ง Salmonella Enteritidis ได้ นอกจากนี้ พืชพวกหัวหอมและกระเทียมยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีก ซึ่งสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารในกลุ่มของสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมด ที่พบมากในหัวหอม (Hodzic et al., 2009) มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูง โดยประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญแบคทีเรียก่อโรคของสารจากหอมแดงเนื่องจากมีสารพวก sulfur และสาร phenolic (Charoenchai et al., 2017) และสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Parvu et al. (2014) ต้านเซลล์มะเร็ง ซึ่ง Lin Ye et al. (2013) ได้ประยุกต์ใช้น้ำมันหอมระเหยจากหัวหอมเพื่อช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียและจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร โดยสามารถยับยั้งและฆ่าแบคทีเรียได้มีค่า MIC และ MBC ระหว่าง 0.18-1.80 และ 0.54-3.6 mg/mL ตามลำดับ
ซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัย และเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในรูปแบบประชุมออนไลน์ ในวันที่ 18 มีนาคม 2564 เรื่อง ผลของวิธีการสกัดต่อฤทธิ์การต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากหัวหอมแขก Allium cepa var. viviparum ซึ่งมีเนื้อหาโดยย่อของงานวิจัยดังนี้
หัวหอมแขก (Allium cepa var. viviparum) มีน้ำตาลกลุ่มฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ในปริมาณสูง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ที่ช่วยปรับปรุงและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ได้ งานวิจัยนี้ มุ่งศึกษาฤทธิ์การต้านแบคทีเรียของ น้ำหัวหอมแขกสด (F) สารสกัดน้ำหัวหอมแขกสดที่อยู่ใน 80% Methanol (FM) และใน 10% DMSO (FD) และสารสกัดผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่อยู่ใน 80% Methanol (HM) และ 10% DMSO (HD) โดยวิธี disc agar diffusion พบว่า ไม่เกิดบริเวณยับยั้งบนอาหารเลี้ยงเชื้อ Brain heart infusion (BHI) agar และหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งแบคทีเรีย (Minimum inhibitory concentration, MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าแบคทีเรีย (Minimum bactericidal concentration, MBC) พบว่า สารสกัดน้ำหัวหอมแขกสดที่อยู่ใน 10% DMSO (FD) สามารถยับยั้ง และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Bacillus cereus ได้ดีที่สุด โดยมีค่า MIC/MBC เท่ากับ 4.18/3.15 mg/mL ตามลำดับ รองลงมาคือ สารสกัดผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่อยู่ใน 80% Methanol (FM) และน้ำหัวหอมแขกสด (F) โดยมีค่า MIC/MBC เท่ากับ 5.22/3.15 และ 7.03/12.5 mg/mL ตามลำดับ ดังนั้น จึงน่าจะประยุกต์ใช้วิธีการสกัดที่เหมาะสมในการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากหัวหอมแขกเพื่อช่วยยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกที่เป็นพวกแบคทีเรียก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ รวมทั้งแบคทีเรียก่อโรคปนเปื้อนในอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้
และในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 The 1st International Conference on Science Technology & Innovation-Maejo University (1st ICSTI-MJU) ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ และได้รับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง The mechanism of action of the garlic defence substance allicin บรรยายโดย Alan Slusareno Department of Plant Physiology, RWTH Aachen University ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ในกระเทียมจะมีสาร Allicin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่า Allicin สามารถยับยั้งการ
เจริญของจุลินทร์ต่าง ๆ ได้แก่ มีฤทธิ์ในการต้านการเจริญของแบคทีเรีย Escherichia coli ยับยั้งไวรัส Haemophilus influenzae สามารถต้านเชื้อราก่อโรคทั้งในมนุษย์และเชื้อราก่อโรคในพืช นอกจากนี้ Allicin ยังมีผลต่อการเสริมภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย ซึ่งสารสกัดจากกระเทียมเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ของการสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้มากมาย