ในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Active Learning Workshop” ในวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับฟังการบรรยายเรื่อง Active Learning โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ทำหน้าที่วิทยากรหลัก และมี ผศ.ดร.สานิตย์ดา เตียวต๋อย และ ดร.ฐิตาภา สินธุรัตน์ เป็นวิทยากรร่วม ซึ่งวิทยากรได้แจ้งความคาดหวังในการสัมมนาครั้งนี้ว่า หลังจากการเข้าอบรมแล้ว ผู้เข้าอบรมจะสามารถ
- มีความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
- เข้าใจทฤษฎี เทคนิค เครื่องมือ สำหรับการเรียนการสอนยุคใหม่
- ประยุกต์ใช้ Constructive Alignment ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้
- เขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ (ILOs) ที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ได้
- เลือกวิธีการประเมินผลที่เหมาะสมกับ ILOs ได้
- ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุ ILOs ได้
- จำลองสถานการณ์ห้องเรียนแบบ Active Learning
โดยในการอบรมครั้งนี้วิทยากรได้ใช้วิธี Active Learning ในการดำเนินการให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมอบรม ทั้งการใช้เทคนิคการสอนต่าง ๆ เช่น ในความคาดหวังข้อที่ 1 การตระหนักตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีมวิทยากรก็ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนั่งตามกลุ่มแล้วใช้เทคนิค Think-Pair-Share โดยให้หัวข้อว่า What is Active Learning แล้วให้ค้นหาข้อมูลเองก่อน จากนั้นให้ปรึกษากับเพื่อนข้าง ๆ สุดท้ายให้คุยกันในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปของคำตอบ แล้วให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมท่านอื่น ๆ ได้รับฟัง ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจวิธีการจัดการเรียนการสอน Active Learning ที่ง่ายและสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือในการแนะนำวิธีการสอนโดยใช้วิธี Active Learning ทีมวิทยาก็ได้ใช้เทคนิค Jigsaw classroom ในการให้ข้อมูล ซึ่งทำโดยการใช้การ์ด ซึ่งมีข้อมูลวิธีการสอนโดยใช้วิธี Active Learning แบบต่าง ๆ วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละคนหยิบการ์ด 1 ใบ แล้วศึกษาเพิ่มเติมว่าวิธี Active Learning แบบนั้น ๆ มีลักษณะอย่าไร จากนั้นให้ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนกลุ่มอื่นซึ่งหยิบได้การ์ดเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะเรียกว่า Expert Group แล้วอภิปราย/สรุปร่วมกันถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนวิธีนั้น จากนั้นกลับไปยังกลุ่มเดิม ซึ่งจะเรียกว่า Home Group เพื่ออธิบายให้เพื่อนในกลุ่มเดิมเข้าใจวิธี Active Learning ที่แต่ละคนจับได้ ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมทราบและเข้าใจเทคนิคการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ดีและใช้เวลาน้อย รวมทั้งสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนได้ เช่น Case studies, Debate, Flipped classroom, Jigsaw classroom, Problem-based learning, Concept question, Online/mobile/blended learning, Think-pair-share
ในส่วนของการออกแบบวิธีประเมินผลให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ ทีมวิทยากรได้ให้จุดประสงค์ของการประเมินผล คือ
- เพื่อสะท้อนผลการสอน (Formative feedback) ระหว่างการเรียนการสอน เพื่อวัดความก้าวหน้าและช่วยพัฒนาการเรียนรู้ เป็นการปรับปรุงทั้งผู้เรียนและผู้สอน
- เพื่อตัดสินนักศึกษา (Summative grading) เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน เพื่อตัดสินคุณภาพว่าสมควรผ่านหรือไม่
วิทยากรได้แนะนำวิธีการประเมินผลหลายวิธี เช่น Portfolio Role Plays Assignments Projects Case Studies Oral Presentation Oral Questions Exam/Test เป็นต้น ซึ่งแนะนำว่าควรมีการประเมินผลทั้ง Formative feedback และ Summative grading และใช้วิธีที่กลากหลายร่วมกันเนื่องจากนักศึกษาจะมีความชอบ และความถนัดในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ควรนำเทคโนโลยีกมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งวิทยากรได้แนะนำสื่อการสอนหลายวิธี แต่ที่ข้าพเจ้าชอบและได้นำไปใช้ได้จริง คือ Kahoot นอกจากนั้นควรวัดผลโดยใช้วิธีการสอบ ไม่เกิน 40% ที่เหลือให้ประเมินโดยใช้วิธีอื่น
วิทยากรยังมีการมอบหมายงานเดี่ยว และงานกลุ่มให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ปฏิบัติ โดยในงานเดี่ยว จะให้ผู้เข้าร่วมอบรม เขียน ILOs รายวิชาที่ผู้เข้าร่วมอบรมสอน รวมทั้งให้เขียนเทคนิคที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอน และ วิธีการประเมินผลที่จะใช้ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในภาคเรียนที่ 2/2562 ส่วนงานกลุ่มวิทยากรให้ตั้งรายวิชาขึ้นมาใหม่ ให้เขียน ILOs รายวิชา เทคนิคที่จะใช้จัดการเรียนการสอน รวมทั้งเกณฑ์ในการประเมินผล แล้วให้ตัวแทนกลุ่มทดลองสอนจริงในช่วงท้ายของการอบรม เพื่อให้ข้อแนะนำ หากนำไปสอนจริง
จากการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องการเขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ (ILOs) ที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ รวมทั้งได้รับทราบแนวทางในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น และข้าพเจ้าได้ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา สต301 หลักสถิติ ในภาคเรียนที่ 2/2562 นี้แล้ว โดยได้นำเทคนิค Think-Pair-Share ไปใช้โดยกำหนดหัวข้อว่า “สถิติคืออะไร ?” ซึ่งนักศึกษาตั้งใจค้นหาคำตอบเป็นอย่างดี มีการค้นหาคำตอบจาก google และจากหนังสือเรียน และมีการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม ทำให้บรรยากาศในการเรียนสนุกสนานเป็นอย่างมาก นักศึกษายังบอกอีกว่าต้องการให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบนี้อีก นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการสอนโดยใช้ Kahoot ในการทำแบบทดสอบเรื่องข้อมูล จำนวน 10 ข้อ ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีความตื่นเต้นและสนุกสนานเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งให้ความเห็นว่าต้องการให้มีการทำแบบทดสอบแบบนี้อีกในหัวข้ออื่น ๆ อีก เนื่องจากสนุกสนานและทำให้เข้าใจเรื่องของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น