ข้าพเจ้าขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว ดังต่อไปนี้
การนำเสนอผลงานวิชาการ
การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นงานประชุมในระดับนานาชาติ มีหัวข้อการนำเสนอเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ เช่น การวิเคราะห์ไม่เชิงเส้น ทฤษฎีการหาค่าเหมาะที่สุด ขั้นตอนวิธีเชิงตัวเลข การประยุกต์เชิงวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ การเงิน การขนส่งและหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้นำเสนอผลงานในรูปแบบบรรยาย หัวข้อ Generalized Caristi's fixed point theorems in metric type spaces endowed with graphs ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาทฤษฎีบทจุดตรึงของคาริสตีซึ่งเป็นทฤษฎีบทที่สำคัญและมีการประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ไม่เชิงเส้น และเราได้ขยายไปในทางกราฟระบุทิศทาง และขยายปริภูมิเป็น Metric type spaces ให้เป็นการวางนัยทั่วไปมากขึ้น อีกทั้งมีการวัดระยะทางแบบ wt-distance ที่เป็นการวางนัยทั่วไปมากขึ้นอีกด้วยโดยขยายงานของ P. Sridarat and S. Suantai, Caristi fixed point theorem in metric spaces with a graph and its applications , Journal of Nonlinear and Convex Analysis 17(7) (2016), 1417-1428. ในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอประมาณ 20 นาที ซักถาม 5 นาที ผู้เข้ารับฟังในหัวข้อนี้ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยทางด้านคณิตศาสตร์ มีทั้งอาจารย์และนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติถูกเชิญให้เป็นประธานประจำห้องบรรยาย session Thu-C-5D ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เวลา 13.20 น. – 14.35 น. ห้อง 5D ซึ่งเป็นห้องเดียวกับห้องที่ข้าพเจ้านำเสนอผลงาน โดยข้าพเจ้าบรรยายเป็นคนสุดท้ายของ session นับเป็นประสบการณ์อันมีค่ายิ่ง
การเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานและการบรรยายทางคณิตศาสตร์
ข้าพเจ้าได้เข้ารับฟังการนำเสนอผลงานในรูปแบบบรรยายและการบรรยายทางคณิตศาสตร์หลาย ๆ หัวข้อ เช่น On the nonlinear matrix equation โดย Professor Dr. Hyun-Min Kim, Department of Mathematics, Pusan National University, South Korea มีการประยุกต์ไปในทางสมการเชิงอนุพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เหมาะแก่การทำวิจัยในอนาคต และหัวข้อ A parallel inertial S-iteration forward-backward algorithm for regression and classification problems โดย Professor Dr. Suthep Suantai, Data Science Research Center, Department of Mathematics, Faculty of Science, Chiang Mai University, Thailand เป็นการศึกษาขั้นตอนวิธีการทำซ้ำแบบใหม่โดยมีจุดเริ่มต้น สำหรับใช้แก้ปัญหาการจำแนกชนิดของดอกไม้บางสายพันธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้ทำความรู้จักกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ทั้งนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น Professor Dr. Hyun-Min Kim, Department of Mathematics, Pusan National University, South Korea และนักคณิตศาสตร์ที่เป็นคณะทำงานในวารสารทางคณิตศาสตร์หลายฉบับ นับเป็นโอกาสที่ดีเป็นอันมาก จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้พัฒนาทักษะด้านการวิจัย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัยให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาต่อไป
การเข้าร่วมการประชุมวิชาการครั้งนี้มีการนำไปใช้ประโยชน์คือ ได้แนวทางใหม่ๆ สำหรับการทำวิจัย อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักคณิตศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รู้จักกับ Editor-in-chief ของ Journal of Nonlinear and Convex Analysis (JNCA) และ reviewer หลายท่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์ต่อไป มีทักษะการทำวิจัยมากขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคตได้ ได้เครือข่ายการวิจัยกับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เห็นการจัดการเกี่ยวกับการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จะได้นำมาเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยทางคณิตศาสตร์ เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ อีกทั้งนำมาพัฒนาตนเองและนักศึกษาต่อไป