การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ จัดโดย สมาคมนักประชากรไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานครในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ฟังปาฐกถา หัวข้อ สังคมวิทยา-ประชากรในละครไทย โดยอาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งท่านจบการศึกษาจากสถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นแรก โดยในปัจจุบันคือ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ ท่านได้นำองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาที่เกี่ยวกับประชากรมาใช้ในการเขียนบทละคร เช่น ความสัมพันธ์ภายในสถาบันครอบครัว ที่เป็นสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคมแต่เป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุด การหล่อหลอมภายในสถาบันครอบครัวเป้นเครื่องมือชี้วัดอย่างหนึ่งที่จะส่งผลถึงอนาคตและนิสัยของเด็ก
นอกจากนี้ ยังได้เข้าฟังการเสวนาวิชาการในหัวข้อ มองคุณภาพชีวิตประชากรไทยจากปัจจุบันสู่อนาคต โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย เลขานุการและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ ศาสตราจารย์ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.สีลาภรณ์ ได้กล่าวถึงการทดแทนกำลังคนด้วยเทคโนโลยีส่งผลให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ผู้สูงอายุที่ไม่มีวินัยในการออมจะกลายเป็นคนจนกลุ่มใหม่ ภัยพิบัติจากธรรมชาติส่งผลรุนแรงต่อภาคเกษตรและความเป็นเมือง การที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย เช่น โรคอุบัติใหม่
ดร.ประกาศิต ได้กล่าวถึง พฤติกรรมของประชากรไทยว่ามีความเป็นตะวันตกมากขึ้น และการบริการภาครัฐ โดยเฉพาะการให้บริการทางสังคม ควรให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานในการบริการ ศาสตราจารย์ ดร. ชื่นฤทัย กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมจะมีผลกระทบต่อสังคม มีการใช้เทคดนโลยีในการดูแลสุขภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ได้กล่าวถึงประชากรไทยว่า เด็กที่เกิดมาใหม่มีน้อยและด้อยคุณภาพ และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยจะขึ้นอยู่กับเทคโนดลยีสารสนเทศ ความเป็นเมือง คนสูงวัย และสิ่งแวดล้อม ประชากรจะอยู่คนเดียวมากขึ้นแต่ชีวิตไม่เดียวดายเนื่องจากอิทธิพลของอินเตอร์เน็ต
ในช่วงบ่ายเข้าฟังการนำเสนอบทความหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น แรงสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิงในจังหวัดจันทบุรี โดย คุณจิรนันท์ ปุริมาตย์ และคณะ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความรุ้สึกมีคุณค่าในตนเอง การเข้าถึงบริการทางสุขภาพ ภาวะสุขภาพของผู้ดูแล และ อื่น ๆ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างทางเลือกทางสังคมของผู้สุงอายุรุ่นใหม่ โดยคุณมนตรี ประเสริฐรุ่งเรือง และดุษฎี อายุวัฒน์ ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยลักษณะส่วนบุคคลได้แก่จำนวนปีในการศึกษา จำนวนบุคลต้องอุปการะ จำนวนบุคคลผู้ให้การเกื้อกูล เขตที่อยู่อาศัย จำนวนปีที่อาศัยอยุ่ในชุมชน สถานะแรงงาน รายได้ต่อเดือน และจำนวนโรคประจำตัว ปัจจัยการใช้โครงสร้างที่เอื้ออำนวย ได้แก่ การได้รับโอกาสทางสังคม การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ การได้รับอิสรภาพทางการเมือง การได้รับการปกป้องความมั่นคง
จากความรุ้ที่ได้รับในการเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว ข้าพเจ้าสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนวิชา สต 316 ประชากรศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาเอกเลือกสำหรับนักศึกษาสาขาวิชาสถิติ