การเคลื่อนไหวสูตรการคำนวณบำนาญใหม่
เกษม ใคร้มา
กองการเจ้าหน้าที่
-------------
การเคลื่อนไหวของข้าราชการครูในการผลักดันสูตรการคำนวณบำนาญใหม่ จากแหล่งข้อมูลข่าวสารการศึกษา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไทย มีความน่าสนใจสรุปเพื่อให้ดังนี้
คลังหักดิบสมาชิก กบข. เมินคำนวณสูตรบำนาญใหม่ หลังพิจารณาแล้ว กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 500,000 ล้านบาท กลายเป็นภาระเงินงบประมาณ แต่เพื่อรักษาสัญญาพร้อมที่จะจ่ายอัตราผลตอบแทนให้แก่สมาชิก จากเฉลี่ย 7.31% เป็น 9% เพื่อปลอบขวัญข้าราชการ ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ผลการหารือภายในระหว่างกระทรวงการคลังกับกรมบัญชีกลาง เพื่อปรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณบำนาญข้าราชการ สมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 1.5 ล้านคนนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า กระทรวงการคลังจะยังคงยืนหลักเกณฑ์ เดิมในการคำนวณเงินบำนาญสมาชิก กบข.ไว้เท่าเดิมเพื่อไม่ให้การจ่ายเงินบำนาญเป็นภาระงบประมาณในอนาคต
ทั้งนี้ การพิจารณาเพื่อปรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณบำนาญสมาชิก กบข. เกิดจากการเรียกร้องของข้าราชการ ที่ต้องการให้กรมบัญชีกลางเพิ่มเงินบำนาญให้แก่สมาชิกในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันสูตรในการคำนวณเงินบำนาญของสมาชิก กบข. กำหนดไว้ว่า เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ผลที่ได้ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ได้รับจำนวนวันทำงานทวีคูณ มีรายได้หลังจากเกษียณลดลง เพราะสูตรในการคำนวณที่กำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
การกำหนดเพดานคำนวณบำนาญไม่เกิน 70% ทำให้ข้าราชการวิตกกังวลว่า ชีวิตหลังการเกษียณของพวกเขา จะมีความยากลำบากมากขึ้นและไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะสูตรในการคำนวณบำนาญเดิมก่อนที่จะมีการจัด ตั้ง กบข.กำหนดว่า เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 ทำให้ข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.ได้รับเงินบำนาญในอัตราที่สูงมาก บางคนอาจจะได้รับเงินบำนาญ 80-85% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายก็มีโดยเฉพาะข้าราชการทหารและครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่มีอายุในการรับราชการนานถึง 40 ปี เพราะได้รับจำนวนวันทำงานทวีคูณมาก เช่น รับราชการ 1 ปี จะได้ทวีคูณเท่ากับ 2 ปี รับราชการ 2 ปี จะได้รับทวีคูณเท่ากับ 4 ปี เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือ เมื่อข้าราชการท่านใดสมัครเป็นสมาชิก กบข.แล้วจะไม่มีสิทธิ์ขอลาออกจาก กบข. จึงทำให้มีข้าราชการเรียกร้องมายังกระทรวงการคลังขอปรับสูตรในการคำนวณให้กลับไปใช้สูตรเดิมก่อนที่จะมีการจัดตั้งกบข.
การที่กระทรวงการคลังกำหนดสูตรการจ่ายเงินบำนาญสมาชิก กบข. โดยมี การกำหนดไว้ว่าไม่เกิน 70% เนื่องจากสมาชิก กบข. นอกจากจะได้รับเงินบำนาญในการดำรงชีวิตหลังเกษียณแล้ว กบข.จะมีเงินพิเศษมอบให้อีกก้อนหนึ่ง ซึ่งเงินดังกล่าวมาจากเงินสะสมของสมาชิกในแต่ละเดือนที่รับจากหน่วยงาน เงินสมทบที่รัฐสะสมให้ทุกเดือน เงินประเดิมในการจัดตั้งกองทุน กบข. และเงินชดเชยที่ติดตัวข้าราชการมาตั้งแต่เริ่มรับราชการจนสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งทั้งหมดนี้ กบข.จะนำไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการลงทุนให้อีกด้วย โดยในช่วงที่มีการเชิญชวนเพื่อจัดตั้ง กบข. เมื่อปี 2540 กระทรวงการคลังระบุว่า สมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 9% ต่อปี หากคำนวณอายุการรับราชการตลอด 30 ปี จะได้รับเงินก้อนประมาณ 2 ล้านบาท บวกเงินบำนาญที่ได้รับรายเดือน ทำให้มีข้าราชการถึง 1 ล้านคน เข้าเป็นสมาชิก กบข.ในปีแรกที่มีการจัดตั้ง จากจำนวนข้าราชการทั้งหมด 2 ล้านคน ซึ่งในช่วงนั้น อัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินออมทรัพย์อยู่ที่ 5% และเงินฝากประจำสูงถึง 12-13% กระทรวงการคลัง จึงมั่นใจว่า ผลตอบแทนจากการลงทุน กบข.น่าจะอยู่ที่ระดับ 9% ได้ แต่เมื่อฟองสบู่แตกในเมื่อปี 2540 ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนลดลง โดยผลตอบแทนของ กบข.ตั้งแต่ จัดตั้งเมื่อเดือน มี.ค.40 จนถึงเดือน ธ.ค.53 อยู่ที่ 7.31% และมีสมาชิกทั้งหมด 1.15 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังพยายามหาทางแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อให้สมาชิก กบข.พึงพอใจ เพราะหากมีการกลับไปใช้สูตรเดิมในการคำนวณเงินบำนาญคาดว่ากระทรวงการคลังจะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมอีก 500,000 ล้านบาท สำหรับสมาชิก กบข. ที่เกษียณไปแล้ว และที่กำลังจะเกษียณในอนาคต ซึ่งถือเป็นภาระเงินงบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นกระทรวงการคลังจะเสนอเพิ่มอัตราผลตอบแทนแก่สมาชิกที่สมัครเป็น กบข.จาก 7.31% ขึ้นเป็น 9% เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกในการจัดตั้ง กบข.
รายงานข่าวเพิ่มเติม การก่อตั้ง กบข.มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระเงินงบประมาณของรัฐ และสร้างความมั่นคงให้แก่ข้าราชการในวัยเกษียณ โดยนำรูปแบบของกองทุนเทมาเสก สิงคโปร์ มาเป็นต้นแบบในการจัดตั้ง มีการบริหารงานแบบองค์กรอิสระขึ้นกับกระทรวงการคลัง มีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุน 485,000 ล้านบาท ระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการ ที่รับราชการก่อนปี 2540 สมัครเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ ส่วนข้าราชการใหม่ที่รับราชการตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นไป ทุกคนต้องสมัครเป็นสมาชิก กบข.
ที่มา -http://www.thairath.co.th
ไทยรัฐ Posted : 2011/01/18