“การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย”
ตอน...การเก็บสารเคมีอันตราย
นางสาวรุ่งทิพย์ กาวารี
ตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์
สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป โรงเรียน หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา ล้วนต้องสัมผัสกับสารเคมีในทุกๆ วัน ยิ่งเป็นสารเคมีมีอันตรายด้วยแล้ว ทุกคนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องทำงานกับสารเคมีอันตรายจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย มีความสามารถในการควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตรายเหล่านี้ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารเคมีแต่ละชนิดมีอันตรายไม่เหมือนกัน การเก็บ การใช้ การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตรายเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันด้วย
การลงทะเบียนสารเคมีอันตราย
ก่อนที่จะจัดเก็บสารเคมีอันตราย เราจะต้องมีการลงทะเบียนสารเคมีอันตรายก่อน ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบฉลากสารเคมีว่ามีความชัดเจน ไม่ชำรุดฉีกขาด แล้วบันทึกข้อมูลลงในบัญชีรายชื่อสารเคมี เรียกว่า “การลงทะเบียนสารเคมีอันตราย” แล้วต้องจัดเก็บเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (MSDS หรือ SDS) ไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบจับใช้ได้อย่างสะดวก แต่มิใช่เก็บไว้ในตู้สารเคมีนั้นด้วย หลังจากมีการลงทะเบียนในบัญชีรายชื่อสารเคมีแล้ว เราก็จะสามารถสืบค้นได้ง่าย รวมถึงสามารถควบคุมคลังสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
โครงสร้างของบัญชี ควรมีองค์ประกอบดังนี้ ชื่อสารเคมี, Cas No., รหัสของภาชนะบรรจุ, ปริมาณของสารเคมี, Grade, ราคา, ห้องที่จัดเก็บสารเคมี, อาคารที่จัดเก็บสารเคมี, วันที่รับเข้ามาในห้องปฏิบัติการ, ผู้ขาย/ผู้จำหน่าย, ผู้ผลิต, ประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมี
ผู้ที่สนใจสามารถดู "ตัวอย่างตารางบันทึกบัญชีรายชื่อสารเคมี" ได้จาก คู่มือการประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ. โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory in Thailand “ESPReL”. พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2555. 179 หน้า.
สถานที่จัดเก็บสารเคมีอันตราย
สถานที่จัดเก็บสารเคมีจะต้องมีป้ายบอกที่ชัดเจน มีสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นพื้นที่สำหรับเก็บสารเคมีอันตราย จะต้องมีป้ายต่างๆ เช่น ป้ายห้ามสูบบุหรี่ ป้ายห้ามจุดไฟ ป้ายห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามากิน ต้องมีการจำกัดการเข้าออกเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และต้องมีทางออกที่มีป้ายชัดเจนอย่างน้อย 2 ทาง มีแสงสว่างเพียงพอ มีการถ่ายเทอากาศที่ดี มีระบบปรับอากาศและความชื้นตามความจำเป็น ดูแลไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางเดินในสถานที่เก็บสารเคมี สถานที่เก็บสารเคมีต้องมิดชิดไม่มีช่องทางให้เป็นที่อาศัยของสัตว์ และต้องไม่เป็นแหล่งที่น้ำท่วมถึง
การจัดเก็บสารเคมีแยกตามประเภท
การจัดเก็บสารเคมี ควรจัดเก็บในบริเวณที่มีความปลอดภัย มีการจัดเรียงอย่างเป็นระบบ จัดเก็บตามลำดับ การเข้ามาก่อน-หลัง และต้องมีตำแหน่งการเก็บที่แน่นอน สะดวกต่อการนำสารเคมีมาใช้งาน จัดเก็บสารเคมีโดยแยกตามประเภทของสารเคมี หรือ คำแนะนำใน SDS เช่น
- การแยกตามสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊สบรรจุท่ออัดความดัน ของแข็ง เช่น ของแข็ง ไวไฟ (Flammable solid) ของแข็งทำปฏิกิริยาว่องไวกับน้ำ (water reactive solids) ของเหลว เช่น ของเหลวออกซิไดส์ (oxidizing liquids) ของเหลวที่มีฤทธิ์เป็นกรด (acid liquids) แก๊สบรรจุท่ออัดความดัน เช่น แก๊สพิษ (toxic gases) แก๊สเฉื่อย (inert gases)
- การแยกตามความเป็นอันตราย เช่น สารที่ไม่เสถียร (unstable chemicals) สารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ (chemicals that react with water) สารกัดกร่อน (corrosive chemicals) สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ (organic peroxides)
- แยกตามความเข้ากันได้/ไม่ได้ ซึ่งสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ (incompatible chemicals) ต้องจัดเก็บให้ห่างกัน เพราะหากสารสัมผัสกันจะเกิดอันตรายจากการที่สารทำปฏิกิริยากันก่อให้เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้ หรือระเบิด หรือให้แก๊สพิษออกมาได้ ตัวอย่างสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ เช่น nitrate เข้าไม่ได้กับ sulfuric acid หรือ arsenic compounds เข้าไม่ได้กับ reducing agents
ตัวอย่างการจัดเก็บสารเคมี กรณีมีตู้เดียว
ผู้ที่สนใจสามารถดูตัวอย่างการจัดเรียงสารเคมีได้ที่ลิ้ง http://www.safety.vanderbilt.edu/chem/chemical-storage-groups.pdf
และท้ายนี้หวังว่าเอกสารนี้จะสามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้สนใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
กรมวิทยาศาสตร์บริการ. การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย : เอกสารประกอบการฝึกอบรม สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2558. กรุงเทพมหานคร : กรม, 2558.