การบริหารงานบุคคลระบบใหม่ (แท่ง)* (เกษม ใคร้มา ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่)
ระบบราชการไทย ได้นำระบบ P.C. มาใช้ตั้งแต่ปี 2518 เป็นการจำแนกตำแหน่ง (Position Clas- sification) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า P.C มุ่งเน้นตามหน้าที่ความรับผิดชอบตามความยากง่ายของงาน ภายใต้โครงสร้างมาตรฐานกลาง 11 ระดับ มีโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนเพียงบัญชีเดียวที่ใช้กันทุกตำแหน่งในระบบข้าราชการพลเรือน ซึ่งที่ผ่านมาส่งผลให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในการประเมินผลงานของข้าราชการแต่ละตำแหน่ง ดังนั้นการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนใหม่จึงเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดที่จะให้ระบบจำแนกตำแหน่งออกเป็นหลายประเภทตำแหน่ง หรือหลายแท่งเพื่อแยกบัญชีเงินเดือนแต่ละประเภทออกจากกัน มีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดและการบริหารผลงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถของข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งสะท้อนค่างานของตำแหน่งในแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง
การจัดระบบจำแนกตำแหน่งเป็นหลายแท่งดังกล่าว จึงเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภาครัฐอย่างหนึ่งโดยการปรับปรุง พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สำนักงาน ก.พ. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542-2543 ได้จัดเวทีหารือร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกลุ่มๆ ไป เช่น เรื่องระบบจำแนกตำแหน่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และยังดำเนินการศึกษาวิจัย พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2551 ประกาศใช้ 26 มกราคม. 2551 สำนักงาน ก.พ.และส่วนราชการดำเนินการจัดตำแหน่งและจัดคนลงระบบใน 1 ปี (ภายใน 25 มกราคม 2552) ก.พ.ได้ประกาศบัญชีตำแหน่งตามประเภทสายงาน ประเภทระดับตำแหน่ง มีผลให้ข้าราชการพลเรือนในสังกัด ก.พ. ได้เข้าสู่ระบบแท่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ได้มีการพิจารณาความดีความชอบเลื่อนขั้นเงินเดือนตามระบบใหม่ ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นมา ตามการจำแนกกลุ่มประเภทที่ ก.พ.กำหนด
สำหรับการบังคับใช้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับระบบบริหารงานบุคคล ได้จัดทำเป็น ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการจำแนกตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2552 ประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 และได้เสนอคณะรัฐมนตรีปรับปรุงบัญชีเงินเดือนและอัตราเงินประจำตำแหน่ง ตลอดจนการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยใช้แนวทางเทียบเคียงกับ ก.พ. และดำเนินการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.พ.,สำนักงบประมาณ ก.ง.ช., กรมบัญชีกลาง ฯ ซึ่งตามที่คาดจะนำเสนอ ครม.ประมาณ 27 ตค. 2552 ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป โดยให้มีการดำเนินการจัดการที่กระทบสิทธิประโยชน์ด้านบริหารงานบุคคลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31ตุลาคม 2552
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เวียนแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง หรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนั้นเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์และการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 จึงให้สถาบันอุดมศึกษารับเรื่องของข้าราชการที่เสนอขอกำหนตำแหน่งเพื่อสิทธิประโยชน์ที่สูงขึ้นไว้ก่อน และทาง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะแจ้งให้ทราบต่อไป
มติที่ประชุม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 เห็นชอบให้ดำเนินการบริหารงานบุคคลระบบใหม่ ดังนี้
- ให้สภาสถาบันอุดมศึกษา ดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.อ.กำหนดไว้เดิมไปพลางก่อน ในส่วนของการออกคำสั่งต่าง ๆ นั้น ให้ดำเนินการหลังจากวันที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้เรื่องการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีผลบังคับใช้แล้ว โดยให้มีผลย้อนหลังตามวันที่สภาสถาบันอุดมศึกษามีมติต่อไป
- กรณีการโอนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาด้วยกัน เนื่องจากจะต้องแจ้งการบุบเลิกตำแหน่งไปยัง คปร. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ดังนั้นการใช้อัตราว่างจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการออกคำสั่งให้และรับโอนได้ โดยให้มีการแก้ไขคำสั่งในเรื่องตำแหน่งให้ถูกต้องตามระบบจำแนกตำแหน่งใหม่ต่อไปหลังจากวันที่ ครม.มีมติปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว
และมติที่ประชุม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 พิจารณาเห็นว่าการปรับระบบบริหารงานบุคคลอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี และการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ระบบบริหารงานบุคคลใหม่ การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นร้อยละของฐานในการคำนาณ ดังนั้นเพื่อมิให้กระทบกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีมติให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการบริหารงานบุคคลที่ ก.พ.อ.กำหนดไว้เดิม และออกคำสั่งต่างๆ ตามปกติได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้เรื่องการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนในวันที่ 1 เมษายน 2553 ให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการเดิมไปก่อน
มาตรฐานการจำแนกตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2552
- ตำแหน่งประเภทวิชาการ
- (ก) ศาสตราจารย์
- (ข) รองศาสตราจารย์
- (ค) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
- (ง) อาจารย์
- ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร
- (ก) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี หรือเทียบเท่า
- (ข) ตำแหน่งผู้อำนวยการกอง หรือเที่ยบเท่า
- ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ
- (ก) เชี่ยวชาญพิเศษ
- (ข) เชี่ยวชาญ
- (ค) ชำนาญการพิเศษ
- (ง) ชำนาญการ
- (จ) ปฏิบัติการ
- ตำแหน่งประเภททั่วไป
- (ก) ชำนาญงานพิเศษ
- (ข) ชำนาญงาน
- (ค) ปฏิบัติงาน
- การบรรยายพิเศษ “บริบทด้านกฎหมายและหลักนิติธรรมที่มีผลกระทบต่อการบริหารสถาบันอุดมศึกษา วิทยากร: คุณโอภาส เขียววิชัย ที่ปรึกษาด้านระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารสถาบันอุดมศึกษาระดับกลาง โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19 เมษายน - มิถุนายน 2553 มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0509(2)/ว 1218 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2552
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0509(2)/ว 1372 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ศธ 0509(2)/ว1534 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ศธ 0509(2)/ว 363 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2553