การจัดแยกประเภทของเสียสารเคมีและของเสียอันตราย
ใช้หลักการจัดแยกประเภทของของเสียตาม วิธีบำบัด/กำจัด เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากของเสียบางชนิดในรูปแบบของการ Reuse Recycle หรือ Recovery ได้ และเพื่อประโยชน์ในการบำบัดของเสียแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน โดยมีการจัดแบ่ง ประเภทของเสียสารเคมีและของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มของเสียอันตรายประเภทของแข็ง จัดแยกออกเป็น 5 ชนิด ประกอบด้วย
(1) ขวดสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว (ขวดเปล่า)
(2) เครื่องแก้วแตก ชำรุด หรือขวดสารเคมีแตก
(3) สารเคมีหมดอายุ เสื่อมสภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
(4) ขยะปนเปื้อนเชื้อโรค (และเชื้อตัดแต่งพันธุกรรม)
(5) ขยะปนเปื้อนสารเคมี
กลุ่มของเสียอันตรายพิเศษ จัดแยกออกเป็น 6 ชนิด ประกอบด้วย
(1) วัสดุกัมมันตรังสี
(2) เชื้อโรค (และเชื้อตัดแต่งพันธุกรรม)
(3) ของเสียจากโรงงานต้นแบบ
(4) ของเสียปนเปื้อน Ethidium bromide
(5) ยาเสื่อมสภาพ
(6) ยาอันตรายสูง
ทั้งของเสียอันตรายชนิดของแข็ง 5 ประเภท และของเสียอันตรายพิเศษ 6 ประเภท ดังข้างต้น ให้ดำเนินการจัดแยกจัดเก็บของเสียโดยใช้แผนผังการจัดแยกของเสียสารเคมีและของเสียอันตราย และเกณฑ์ข้อกำหนดในการจัดแยกประเภทของเสียสารเคมีและของเสียอันตรายที่ชัดเจน
กลุ่มของเสียอันตรายชนิดของเหลว จัดแยกออกเป็น 18 ชนิด ประกอบด้วย
(1) ของเสียที่เป็นกรด (L01)
(2) ของเสียที่เป็นเบส (L02)
(3) ของเสียที่เป็นเกลือ (L03)
(4) ของเสียที่ประกอบด้วยฟอสฟอรัส/ฟลูออไรด์ (L04)
(5) ของเสียที่ประกอบด้วยไซยาไนด์อนินทรีย์/อินทรีย์ (L05)
(6) ของเสียที่ประกอบด้วยโครเมียม (L07)
(7) ของเสียที่เป็นสารปรอท (L08)
(8) ของเสียที่เป็นสารอาร์เซนิก (L10)
(9) ของเสียที่เป็นไอออนของโลหะหนักอื่น ๆ (L11)
(10) ของเสียประเภทออกซิไดซ์ซิงเอเจนต์ (L12)
(11) ของเสียประเภทรีดิวซ์ซิงเอเจนต์ (L13)
(12) ของเสียที่สามารถเผาไหม้ได้ (L14)
(13) ของเสียที่เป็นน้ำมัน (L15)
(14) ของเสียที่เป็นสารฮาโลเจน (L16)
(15) ของเสียที่เป็นของเหลวอินทรีย์ที่ประกอบด้วยน้ำ (L17)
(16) ของเสียที่เป็นสารไวไฟ (18)
(17) ของเสียที่มีสารที่ทำให้ภาพคงตัว (L19)
(18) ของเสียที่เป็นสารระเบิดได้ (L20)
เนื่องจากของเหลวที่เป็นของเสียมีความซับซ้อน เพราะอาจเป็นสารเชิงซ้อนและของผสม ซึ่งต้องมีการจัดการที่เป็นขั้นตอน โดยเรียงตามลำดับขั้นของอันตราย ต้องยึดหลักตามแผนผังการจัดแยกของเสียสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างเคร่งครัด ได้แก่ บันทึกชนิด ปริมาณ และความเข้มข้นสารเคมี พิจารณากลุ่มสารเคมีตามแผนผังการจัดแยกประเภท ตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณากลุ่มสารไวไฟและระเบิดได้ ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ได้แก่ รหัส L12, L13, L18, L19 และ L20 (เรียงลำดับขั้นของอันตราย จากมากไปหาน้อย)
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณากลุ่มโลหะหนักและสารพิษ ได้แก่ รหัส L04, L05, L07, L08, L10 และ L11 (เรียงลำดับขั้นของอันตราย จากมากไปหาน้อย) ร่วมกับการคำนวณความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้และความเข้มข้นของสารประกอบที่เป็นของเสียจากการวิเคราะห์ทดสอบ (แบบฟอร์ม HW01) เปรียบเทียบความเข้มข้นของโลหะหนักและสารพิษ ตามมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรม
ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณากลุ่มสารประกอบเชิงซ้อนอนินทรีย์/อินทรีย์ ได้แก่ รหัส L14, L15, L16 และ L17 (เรียงลำดับขั้นของอันตราย จากมากไปหาน้อย)
ขั้นตอนที่ 4 การพิจารณากลุ่มสารที่เป็นกรด ด่าง และเกลือ ได้แก่ รหัส L01, L02 และ L03 (เรียงลำดับขั้นของอันตราย จากมากไปหาน้อย)
ขั้นตอนการจัดเก็บของเสียในห้องปฏิบัติการ
- สวมใส่ PPE (ถุงมือ แว่นตา เสื้อกาวน์)
- บรรจุของเสียลงในภาชนะตวงเพื่อวัดปริมาณ
- บันทึกปริมาณของเสียลงในแบบฟอร์ม HZW02, HZW03 และ HZW04
- บรรจุของเสียลงในภาชนะใส่ของเสียไม่เกิน 80% ของความจุภาชนะ
- ย้ายถังเก็บของเสียไปเก็บไว้ ณ จุดวางของเสียในห้องปฏิบัติการ
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในจัดเก็บของเสียอันตราย มี 3 ปัจจัยดังนี้
1. ภาชนะบรรจุของเสีย
- ถังเก็บของเสียชนิดของเหลว ทำจากวัสดุ Polyethylene (PE) ทนต่อการกัดกร่อน มีช่องบรรจุขนาดใหญ่ มีฝาปิด มีที่หิ้ว ขนาดบรรจุ 30 ลิตร (สามารถบรรจุของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวไม่เกิน 21 ลิตร หรือ 70% ของปริมาตรถัง)
- ถังเก็บของเสียชนิดของแข็ง ทำจากวัสดุ Polyethylene (PE) ทนต่อการกัดกร่อน มีช่องบรรจุขนาดใหญ่ มีฝาเปิด และฝาปิดที่สามารถล็อคปิดถังได้ มีที่หิ้ว ขนาดบรรจุ 100 ลิตร (สามารถบรรจุของเสียอันตรายที่เป็นของแข็งไม่เกิน 70% ของปริมาตรถัง) และควรมีถุงพลาสติกรองด้านในถัง
- ถาดรองถังเก็บของเสีย ทำจากวัสดุ Polypropylene (PP) สามารถรองรับถังเก็บของเสียขนาด 30 ลิตร (สามารถรองรับการรั่วไหลของของเสียได้ไม่น้อยกว่า 60%)
2. ฉลากของเสีย
การติดฉลากของเสียสารเคมีและของเสียอันตราย เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่บรรจุอยู่นั้นเป็นของเสียประเภทใด และมีส่วนประกอบอะไร จำนวนเท่าไหร่ ส่วนประกอบของฉลาก ได้แก่ วันที่เริ่มบรรจุ วันที่สิ้นสุดการบรรจุ ชื่อหน่วยงานที่ผลิตของเสีย ประเภทของเสีย ส่วนประกอบและปริมาณของเสีย การทำฉลากควรทำ 2 ใบ เพื่อติดด้านบนและด้านข้างภาชนะบรรจุของเสีย
3. สถานที่จัดเก็บของเสีย
สถานที่จัดเก็บของเสียสารเคมีและของเสียอันตราย ต้องมีป้ายบ่งบอกสถานที่เก็บของเสียอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
(1) สถานที่จัดเก็บของเสียภายในห้องปฏิบัติการ
ควรแยกออกจากส่วนปฏิบัติการ ไม่โดนแดด ไม่ร้อน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แยกของเสียที่อยู่รวมกับของเสียชนิดอื่นไม่ได้ (Incompatibility) ไม่วางของเสียใกล้แหล่งจุดติดไฟ เก็บของเสียไม่เกิน 200 ลิตร หากเป็นสารไวไฟต้องไม่เกิน 38 ลิตร ควรกำหนดระยะเวลาการเก็บในห้องปฏิบัติการ ควรย้ายไปเก็บที่สถานที่เก็บประจำอาคารทุกเดือน
(2) สถานที่จัดเก็บของเสียประจำอาคาร
ควรอยู่ชั้นล่างสุดของอาคาร ไม่โดนแดดไม่ร้อน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แยกของเสียที่อยู่รวมกับของเสียชนิดอื่นไม่ได้ (Incompatibility) ไม่วางของเสียใกล้แหล่งจุดติดไฟ เก็บของเสียไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้นให้ย้ายไปสถานที่เก็บของเสียส่วนกลาง
(3) สถานที่จัดเก็บของเสียส่วนกลางของหน่วยงาน
ควรเป็นโรงเรือนหรือพื้นที่บริเวณกว้าง ไม่โดนแดดไม่ร้อน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แยกของเสียที่อยู่รวมกับของเสียชนิดอื่นไม่ได้ (Incompatibility) ไม่วางของเสียใกล้แหล่งจุดติดไฟ ห้องจัดเก็บมีประตูปิดมิดชิด ส่งกำจัดของเสียที่โรงบำบัดของเสียของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต