จากการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร "เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารในประเทศและวารสารนานาชาติ" ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2567 ในการอบรมครั้งนี้ วิทยากรคือ รองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสวงดี ท่านได้สอนวิธีการใช้ ChatGPT ให้เป็นผู้ช่วยคิดในการทำงานวิจัย การเขียนบทความวิจัย การทำPowerPoint เพื่อนำเสนองาน โดย ChatGPTที่ใช้เป็นเวอร์ชั่น 3.5 สามารถดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ https://chat.openai.com ซึ่ง Chat GPT สามารถสร้างประเด็นคำถามได้ทั้งภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษจะทำงานได้สะดวกกว่า วิทยากรสาธิตการใช้งาน ChatGPT โดยใช้โจทย์คำถามจากผู้เข้าร่วมอบรมและให้ผู้เข้าร่วมอบรมฝึกปฏิบัติตาม แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องคำแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย รวมทั้ง ผู้ใช้งานควรใช้งานโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมด้วย ผู้ใช้ ChatGPT ต้องไม่ลืมให้การอ้างอิงที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะข้อความที่สร้างโดย ChatGPT จะถูกดึงมาจากหลากหลายแหล่ง อาจเข้าข่ายการคัดลอกหรือขโมยผลงานวิชาการ (plagiarism) หากใช้ไม่ถูกวิธี ควรกลั่นกรองภาษา และการอ้างอิง ก่อนการส่งวารสารเพื่อการตีพิมพ์ รวมทั้งรูปแบบต้องพิมพ์ตามรูปแบบที่วารสารกำหนด ป้องกันการปฎิเสธจากวารสารที่ส่งไป ในการเตรียมตัวเขียนบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ควรหาวารสารที่ต้องการเผยแพร่ก่อน ว่าวารสารที่ต้องการเผยแพร่เป็นระดับใด ระดับชาติ หรือ ระดับนานาชาติ 3-4 วารสาร วิทยากรกล่าวว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นปัญหาในการส่งบทความวิจัยเผยแพร่ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ต้องหาวารสารที่ตรงกับสาขาวิชาที่ขอตำแหน่งทางวิชาการ เบื้องต้นไปค้นในกูเกิ้ลเสิร์ช โดยใช้คำค้นเช่น Journal suggester, Journal finder, SCIMACO Journal Rank วารสารที่มีระดับ Quartile1 จะมีค่าธรรมเนียมในการเผยแพร่สูงมากประมาณ 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา วิทยากรได้บรรยายการเขียนแผนที่บทความว่าในการเตรียมต้นฉบับ โดยปกติหากบทความวิจัยกำหนดไว้ 12 หน้า หน้าที่ 12 จะเป็นหน้าของเอกสารอ้างอิง หน้า 11 เขียนสรุปผล หน้าที่ 10 จะเป็นการอภิปรายผล หน้าที่ 5- 9 เขียนผลการวิเคราะห์ข้อมูล หน้า3- 4 เขียนข้อมูลและวิธีดำเนินการวิจัย และหน้า1-2 เขียนบทนำ โดยแนวคิดทฤษฎีไปรวมไว้ในบทนำ การใช้คำศัพท์เฉพาะทางควรใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ในปัจจุบันการเขียนบทความวิจัยจะให้ความสำคัญกับผลการวิเคราะห์ สรุปและอภิปรายผล มากกว่าแนวคิดทฤษฎี สำหรับเอกสารอ้างอิง ในวารสารที่มีระดับ Quartile มักจะไม่ยอมรับเอกสารอ้างอิงที่มาจากเว็บไซต์ เนื่องจากเมื่อย้อนกลับไปดูแล้วไม่พบ เมื่อเขียนบทความวิจัยเรียบร้อยแล้วควรนำไปตรวจความซ้ำซ้อนของเนื้อหาด้วยเช่น Turnitin หรือ อักขราวิสุทธิ์ แต่หากไปตรวจความซ้ำซ้อนแล้วเป็น 0% ก็ไม่ดีเพราะไม่มีความเป็นวิชาการ เนื่องจากต้องมีการอ้างอิงแนวคิดทฤษฎีที่สำคัญ ในการอ้างอิงเอกสาร 1 เอกสารควรใช้อ้างอิงเพียงครั้งเดียว หากมีคำย่อต้องใช้คำย่อตามหลักวิชาการ สำหรับบทความภาษาอังกฤษการใช้ Tense นั้นเป็นลักษณะ 1 ย่อหน้า 1 ประเด็น 1 Tense ในการเลือกเอกสารอ้างอิงควรเลือกเอกสารที่ทันสมัยและมีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขานั้น ๆ นอกเหนือจากประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว วิทยากรยังได้กล่าวถึงสิ่งที่วงวิชาการควรตระหนัก อาทิ การเป็นต้นฉบับที่ถูกต้อง การเป็นผลงานวิจัยที่ใหม่ รวมถึงการละเมิดจริยธรรมงานวิจัย และงานวิชาการ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อควรระวังในการใช้ ChatGPT ได้จาก https://www.thailibrary.in.th/2023/08/09/chatgpt-is-it-plagiarism/