How To Pronounce Botanical Names
วันที่เขียน 10/7/2554 15:18:16     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 3/12/2567 23:50:29
เปิดอ่าน: 20272 ครั้ง

This article was translated from “ How To Pronounce Botanical Names ” written by J. L. Hudson, Seedsman, who I would like to thank for his selfless contributions to this work, and for a permission to translate it.

วิธีการออกเสียงชื่อทางพฤกษศาสตร์ 


Written By J. L. Hudson, Seedsman.

Translated to thai language by Charaspim Boonyanant

Images (latterly added by the translator) from wikipedia.org


 

          หลายคนรู้สึกสับสนเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงชื่อพฤกษศาสตร์ที่ "ถูกต้อง" ผู้คนมักจะไม่มั่นใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และวิตกกังวลว่าจะ "ดูโง่" ถ้าหากพวกเขาเรียกชื่อเหล่านั้น "ผิด"

          ใจเย็นไว้ก่อน ข่าวดีก็คือ ไม่มีวิธีใดๆที่กล่าวได้ว่า "ถูกต้อง" ในการออกเสียงชื่อวิทยาศาสตร์พวกนั้น คุณอาจออกเสียงเหล่านั้นอย่างไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ และคุณก็จะออกเสียงได้ "ถูกต้อง" เหมือนๆกับเหล่านักพฤกษศาสตร์ระดับดุษฎีบัณฑิตทั้งหลาย ดังนั้นขอให้มีความมั่นใจ  และเรียกชื่อเหล่านั้นอย่างไรก็ได้ตามที่คุณรู้สึกสบายใจที่จะเรียก ใครก็ตามที่คอยแก้ไขวิธีการออกเสียงที่คุณเรียก เขาเพียงแต่กำลังแสดงความเขลาของตัวเอง และการตอบโต้ที่ถูกต้อง คุณก็เพียงแค่ ยิ้มและพูดว่า “ใช่แล้ว นั่นแหละที่ฉันพึ่งพูดไป”  (และเอ่ยชื่อนั้นซ้ำอีกครั้ง ตามที่คุณได้ออกเสียงมาก่อนแต่แรก)  

          ชื่อทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ภาษาพูด บางครั้งเรียกว่า "ชื่อภาษาละติน" ซึ่งนี่ไม่ถูกต้อง ชื่อเรียกทางชีววิทยาจำนวนมากมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก หรือผสมผสานระหว่างภาษาละตินและภาษากรีก  หรือจากชื่อท้องถิ่นของพืชนั้นๆ ในภาษาใดๆก็ตามของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่พืชชนิดนั้นถูก "ค้นพบ" มันอาจจะมาจากชื่อของคน (เช่น Camegia, Jeffersonia, Kennedia เป็นต้น) มาจากชื่อของสถานที่ (เช่น chinensis, californica, syriaca เป็นต้น) การสับเปลี่ยนพยัญชนะของคำ (เช่น Podranea เป็นชื่อที่ได้มาจากการนำตัวอักษรของคำว่า Pandorea มาจัดเรียงใหม่)  ดังนั้นเราจึงมีชื่อ Lobelia tupa ซึ่งชื่อสกุล Lobelia ได้มาจากชื่อ Matthias de Lobel [1]ส่วนชื่อชนิด tupa เป็นชื่อภาษาพื้นเมืองของชาวอินเดียนเผ่ามาพูเช (Mapuche) ซึ่งใช้เรียกพืชพันธุ์ในแถบตอนใต้ของประเทศชิลี  ไม่มีอะไรซักอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาษาละติน ดังนั้นทำไมเราถึงต้องใช้กฎของการออกเสียงภาษาละตินกับการเรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ผมแน่ใจว่า มีชื่อบางชื่อที่มาจากการสลับอักษรชื่อของหญิงสาวที่นักอนุกรมวิธานหนุ่มกำลังใจลอยฝันถึง ในวันที่เขาจำเป็นต้องสรุปชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับชนิดของพันธุ์ไม้ที่เขากำลังศึกษาอยู่ จริงๆแล้วชื่อ Clitoria ถูกตั้งชื่อตามลักษณะของดอกไม้ที่คล้ายคลึงมากๆกับสรีระบางส่วนของสตรี[2] (พ่อนักอนุกรมวิธานคนนี้จำเป็นที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากกว่านี้จริงๆ) มีไม้พุ่มมีหนามแหลมที่ชื่อว่า Damnacanthus (แปลว่า"ไอ้หนามห่านี่[3]”) ไม่ต้องสงสัยว่าถูกตั้งชื่อ โดยนักอนุกรมวิธานที่ถูกหนามตำเข้าให้สักครั้งหรือหลายๆครั้งขณะที่ถือตัวอย่างพันธุ์ไม้  นักอนุกรมวิธานซึ่งเป็นคนตั้งชื่อเหล่านี้ เป็นคนมีอารมณ์ขัน  ดังนั้นพวกเราเองก็ควรจะทำตัวให้ร่าเริงขึ้นสักเล็กน้อย


Damnacanthus indicus subsp. major
ภาพที่ 1 Damnacanthus indicus subsp. major ที่มา: KENPEI. 2007.  “File:Damnacanthus indicus subsp major2.jpg”.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Damnacanthus_indicus_subsp_major2.jpg (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554).


          ไม่ต้องไปยุ่งยากในการพยายามบังคับให้การออกเสียงชื่อทางพฤกษศาสตร์ของเรา ให้เป็นไปตามกฎของการออกเสียงภาษาละติน  จริงๆแล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชาวโรมันพูดกันยังไง แน่นอน มีการคาดเดาที่ดีโดยเดาตามบทร้อยกรองพวกนั้น แต่เราไม่มีการบันทึกเทปหรือแม้แต่ผู้มีประสบการณ์ตรงในการพูดภาษาโรมัน และควรหรือที่เราต้องไปเลียนแบบกลุ่มคนที่ตายไปแล้วด้วย แม้แต่การพูดภาษาอังกฤษในยุคปัจจุบันของเราก็ไม่เหมือนภาษาของเชกสเปียร์[4] หรือภาษาสเปนในปัจจุบันก็ต่างไปจากภาษาของเซอแฟนตีซ[5] นอกจากนี้ผู้คนที่พูดภาษาอังกฤษจากบอสตัน ซานฟรานซิสโก แอตลานต้า ลอนดอน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และจาไมกา ทั้งหมดต่างก็มีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันไปทั้งสิ้น ดังนั้นทำไมการออกเสียงชื่อทางพฤกษศาสตร์ถึงจะต้องเหมือนกันเสมอไปด้วย 


          ผมขอย้ำอีกครั้ง —ไม่มีวิธีที่ถูกต้องอย่างแท้จริง อย่างแน่ๆ หรืออย่างเป็นทางการใดๆในการออกเสียงชื่อวิทยาศาสตร์
          หลายคนขอบคุณเรามาสำหรับคำแนะนำในการออกเสียงเล็ก ๆน้อยๆ ที่เราให้ไว้ในบัญชีรายชื่อสำหรับชื่อสกุล แต่ผมต้องบอกคุณว่านั่นเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ซึ่งย่อมไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง อย่างแน่ๆ หรืออย่างเป็นทางการในการออกเสียงพูด ในความเป็นจริงแล้วบางส่วนของมันยังไม่ใช่วิธีที่ผมออกเสียงเองด้วยซ้ำ เหตุที่ผมต้องใช้แนวทางพวกนี้ ก็เนื่องจากนี่เป็นวิธีที่คนจำนวนมากออกเสียง และเป็นวิธีที่คุณชอบฟังยังไงล่ะ


          เวลาที่ผมพูดกับคนอื่น เพื่อเป็นการรักษามารยาท ผมพยายามอนุโลมตามนักพฤกษศาสตร์อาวุโสในกลุ่ม หรือไม่ก็ตามนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในพืชชนิดที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่  ดังนั้นถ้ามีนักพฤษศาสตร์อาวุโสในวัย 60 ปีในกลุ่มเป็นผู้เอ่ยนามเฉพาะโดยวิธีที่เฉพาะ ผมก็จะใช้การออกเสียงตามแบบของเธอเมื่อพูดอยู่ต่อหน้าเธอ ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพันธ์ชนิดนั้นๆอยู่ด้วย ผมก็จะใช้วิธีการออกเสียงตามแบบของเขาเมื่อพูดคุยกับเขา ดังนั้น เมื่อผมคุยกับ แดน ออสติน เพื่อนผมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของต้นผักบุ้งฝรั่ง (Morning Glory) ซึ่งออกเสียงคำว่า Ipomoea ว่า อี-โป-มอย-อา ผมก็จะไม่เรียกมันว่า อิป-โอ-เมย์-อา เพียงเพื่อเป็นการรักษามารยาทเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

 Ipomoea carnea, Bush morning glory. Note the narrow leaves. In a garden in Tonga
ภาพที่ 2 Ipomoea carnea, Bush morning glory. Note the narrow leaves. In a garden in Tonga ที่มา: Tau’olunga. 2007.  “File:Ipomoea carnea.jpg”.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Ipomoea_carnea.jpg (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554).



          ดังที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำงานร่วมกับนักพฤกษศาสตร์มามากย่อมรู้ดีว่า ไม่มีข้อตกลงระหว่างพวกเขาในเรื่องการออกเสียงชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง และทุกคนต่างก็ออกเสียงตามที่ตนเองชอบ ผมเคยได้ฟังวิธีการออกเสียงชื่อวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันถึง 8 วิธี สำหรับต้นไธม์(Thyme) ชื่อสกุล Thymus ได้แก่ ที-มัส, ทายล์-มัส, ที-มูส, ทายล์มูส,  ดี-มัส, ดายล์-มัส, ดี-มูส, และ ดายล์-มูส


          สิ่งสำคัญก็เพื่อให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อที่พวกเราทุกคนจะได้รู้ว่าคนอื่นๆกำลังพูดถึงอะไรกันอยู่


           มีธรรมเนียมหลักหลายๆรูปแบบของการออกเสียง — มีหนึ่งวิธีที่ใช้กันในสหราชอาณาจักรและอีกหลายวิธีส่วนใหญ่เป็นของแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา และวิธีอื่นๆอีกบ้างที่ใช้ในของภูมิภาคส่วนที่เหลือเหลือของโลกเป็นส่วนใหญ่ผมซึ่งเติบโตขึ้นที่นี่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาเม็กซิกัน และอิทธิพลจากภาษากรีกภายในครอบครัว โดยธรรมชาติผมจึงออกเสียงแนวเดียวกับการออกเสียงในภาษากรีกและ ภาษาสเปน ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่นตอนปลาย ผมทรมานตัวเองด้วยการพยายามที่จะออกเสียงตามวิธีที่เขียนไว้ในหนังสือ เป็นหนังสือหลายเล่มที่เขียนโดยนักพฤกษศาสตร์ในภูมิภาคตะวันเฉียงเหนือ[6] ที่มักจะทำตามสไตล์อังกฤษ ส่วนเหลือของโลกมีแนวโน้มที่จะมองธรรมเนียมการออกเสียงแบบนี้เป็นการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องและน่าขำ ชั่งเป็นอะไรที่เสียเวลาและความพยายามโดยเปล่าประโยชน์ และในที่สุดผมก็เลยกลับไปใช้วิธีที่รู้สึกเป็นธรรมชาติของตัวเอง ทุกวันนี้บางเรื่องผมก็ยังคงไม่ได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงในสำเนียงอังกฤษพวกนั้น
           นี่คือบางส่วนของ "กฎ" ที่คุณจะต้องพบเจอซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดแบบชัดเจน


           "ออกเสียงแต่ละสระเป็นแต่ละพยางค์"

 
          เหลวไหล ลืมเรื่องนี้ไปเลย การทำแบบนี้นำไปสู่ความทรมานที่ไร้สาระ ดังเช่น การออกเสียง williamsii เป็น วิล-อี-แอม-ซี-อาย หรือ ออกเสียง douglasii เป็น ดัก-ลาส-อี-อาย คุณเคยได้ยิน ดักลาส วิลเลี่ยม (Douglas Williams) แนะนำตัวเองว่า "ผมคือ ดัก-ลาส-วิล-อี-แอมส” หรือเปล่า ไม่ต้อง จะออกเสียงว่า วิลเลียม-อี และดักลาส-อี ก็ถือว่าใช้ได้ และคำท้ายชื่อ "oides" ซึ่งหมายถึง "เหมือน" นั้น—ไม่ได้ออกเสียงว่า “โอ-อาย-ดีซ” แต่ออกเสียงว่า “ออย-เดซ” หรือไม่ก็ “อี*ดีซ”  แต่ "ออย-เดซ” นั้นใช้กันทั่วไปมากกว่า แต่สำหรับผมชอบออกเสียงว่า “อี-เดซ” เนื่องมันออกสำเนียงเหมือนภาษากรีกมากว่า แต่เดาว่า นี่เป็นเพียงแค่ความจู้จี้น่าเบื่อของผมเอง 


           "ออกเสียงตามสำเนียงที่คุณพบในหนังสือพฤกษศาสตร์"

 
          ย้ำอีกครั้ง การออกเสียงในหนังสือเหล่านี้มักออกเสียงตามสำเนียงแปลกๆของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่วนเหลือของโลกส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจคุณ ไม่ต้องไปใส่ใจกับกฎนี้  สิ่งที่ผมทำก็คือดูที่ชื่อนั้นและออกเสียงแต่ละรากศัพท์แยกจากกัน เหมือนเวลาที่เราออกเสียงชื่อ Rhododendron — แบ่งชื่อนั้นออกเป็น rhodo และ dendron และออกเสียงแต่ละคำเหมือนเช่นที่มันออกเสียงคำของตัวเอง เพราะถึงอย่างไร มันก็เป็นคำที่หมายถึง “ต้นกุหลาบ (rose-tree)” นั่นเอง ตอนนี้ผมกำลังเรียนรู้ใหม่กับคำว่า  Pittosporum ที่ซึ่งคนส่วนใหญ่เรียก "พี-ตอส-ปอร-อัม” ผมกำลังแบ่งมันตามรากศัพท์เดิม ออกเป็น “พิตโต (pitto) และ “สปอรัม (sporum)” หมายถึง "โยนเมล็ด" นอกจากนั้นผมยังกำลังเรียนรู้ใหม่กับต้น Acacia melanoxylon  ซึ่งส่วนใหญ่ออกเสียงว่า เมล-อาน-อ๊อกซ-อี-ลอน ซึ่งเป็นวิธีที่ผมออกเสียงมาแต่เดิมจนถึงปีนี้ จนค้นพบความจริงชัดเจน ในเมื่อมันเป็นกระถินไม้ดำ (Blackwood acacia) และชื่อนั้นอ้างอิงถึงสีของไม้ คือ melano (สีดำ) และ xylon (ไม้), หรือออกเสียงได้ว่า "เม-ลาน-โอ-ซาย-ลอน" หรือ "เม-ลา-โน-ซี-ลอน"   หรือถ้าคำว่า "oxy" ของชื่ออ้างอิงถึงบางสิ่งบางอย่างที่แหลมคม ใน oxyacantha (หนามแหลม), ดังนั้นเราจึงควรจะออกเสียงว่า “อ๊อกซ-อี” 


3 Growing as a street tree in San Francisco
ภาพที่ 3 Growing as a street tree in San Francisco ที่มา: Eric in SF. 2010.  “Acacia melanoxylon.jpg  ”.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/File:Acacia_melanoxylon.jpg (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554).



ต่อไปนี้เป็นข้อตกลงบางอย่างที่คุณอาจพบว่ามีประโยชน์ หรือคุณอาจจะเลือกที่จะไม่สนใจมันก็ได้
คำว่า"ii" ที่ส่วนท้ายของคำเหมือน douglasii ที่อ้างถึงไปแล้ว — ให้ออกเสียงเหมือนกับ "อี"
ออกเสียง "i" ว่า "อี" ไม่ใช่ "อาย"
ออกเสียง "a" ว่า "อา" ไม่ใช่ "เอ"
ออกเสียง "e" ว่า "เอ" ไม่ใช่ "อี"

โดยทั่วไป "ch" จะออกเสียงเหมือนกับ "ค" ไม่ใช่ “ช” เช่นในคำว่า Pachycereus จะออกเสียงว่า “ปา-คี-เซีย-อี-อัส” แต่ในบางครั้งก็ออก เป็น “ช” เช่นในคำว่า Lachenalia ออกเสียงว่า “ลา-เช-นาล-อี-อา”

และพวกคำท้ายชื่อวงศ์ที่ลงท้ายด้วย "aceae" และ "ae" — โอ้ ไม่..ผมออกเสียงมันยังไงนะหรือให้ออกเสียงตามที่คุณคิดว่ามันเป็นธรรมชาติสำหรับคุณเถิด ผู้เฃี่ยวชาญทั่วไปมักจะใช้วิธีการออกเสียงดังนี้ — "ae" ออกเสียงเป็น "อาย" "อี" หรือ "เอ" และ "aceae" จะออกเสียง "อา-เซ-เอ”หรือ “อา-ซี-อี” และอื่นๆอีกเยอะแยะมากมาย ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับมัน


โดยทั่วไปถ้าคุณเอ่ยชื่อเป็นครั้งแรกที่คุณพบและคุณเพียงแค่พูดมันออกมาในแบบที่คุณคิดว่าเป็นธรรมชาติสำหรับคุณ แค่นั้นคุณก็ทำได้ดีแล้ว และภาษาทางพฤกษศาสตร์ที่น่ากลัวเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องง่ายเหมือนกับขนมพายเลยทีเดียว

ดังนั้น ขอให้มีความมั่นใจ ไม่ต้องอายและพูดพึมพำๆ ให้เอ่ยชื่อเหล่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นและรอยยิ้ม
 


แปลจาก (Translated From)

 
J. L. Hudson, Seedman. 2000-2011. “How To Pronounce Botanical Names.”    [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.jlhudsonseeds.net/Pronunciation.htm   (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)



[1] Matthia de Lobel เป็นชื่อของแพทย์หลวงและนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งมีอายุระหว่าง ปี ค.ศ. 1358-1616----ผู้แปล
[2] ไม่หารูปให้นะ ลองไปหารูปภาพของดอกไม้ในสกุล Clitoria ดูก็แล้วก็จินตนาการเอาเองว่าเหมือนอะไร ---ผู้แปล
[3] มันแปลได้ประมาณนี้แหละ จะใช้คำอื่นก็ได้ แล้วแต่อารมณ์คนพูด---ผู้แปล
[4] วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เป็นกวีและนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ มีอายุระหว่างช่วงปี ค.ศ.   1564-1616  สร้างผลงานมากมาย เช่น โรมิโอกับจูเลียต เวนิสวาณิช เป็นต้น
[5] มิเกล เดอ เซอแฟนตีซ ซาอาเวดรา (Miguel de Cervantes Saavedra ) นักประพันธ์ชาวสเปน มีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ. 1547-1616 ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเอกเรื่อง ดอน กิโฮเต
[6] หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา---ผู้แปล

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
งานบริการวิชาการและวิจัย » มือใหม่หัดบินทำแผนที่ด้วยโดรน Ep.1
โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aviation Vehicle) แต่เดิมนั้น มีการใช้งานในหน่วยงานด้านความมั่นคง ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ใน หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางด้านการเกษตร การสำรวจ ตรวจ...
โดรน สถาปัตยกรรม ออกแบบ     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน ธวัชชัย มานิตย์  วันที่เขียน 13/9/2562 14:31:05  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 3/12/2567 21:01:30   เปิดอ่าน 16677  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : สรุปมุมมองจากปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ข้อความต่อไปนี้เป็นการสรุปความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์กับการพัฒนาเมืองในอนุภาคลุ่มน้ำโขง” โดย ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสถาปั...
การดำเนินโครงการพัฒนาโดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 29/6/2559 21:25:48  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 3/12/2567 13:07:30   เปิดอ่าน 5559  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
กลุ่มบทความแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป » แนวทางการพัฒนาเมือง : น่าตื่นเต้นกับประชาชนเมืองขอนแก่น
การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยท้องถิ่นเป็นการประยุกต์ใช้แนวความคิดไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งต้องพึงพาการสนับสนุน(งบประมาณจากรัฐบาล)จึงเป็นข้อจำกัดในความสำเร็จของการดำเนินโครงการของท้องถิ่นมาโดยตลอด เมืองขอนแ...
การพัฒนาพื้นที่โดยท้องถิ่น     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง
ผู้เขียน นิกร มหาวัน  วันที่เขียน 25/6/2559 22:12:17  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 2/12/2567 12:31:31   เปิดอ่าน 4572  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง