ข้าพเจ้า นางสาวเจนจิรา ทิพย์ชะ ตำแหน่ง อาจารย์ สังกัด สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 11 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 10 The 11th Rajamangala University of Technology National Conference and The 10th Rajamangala University of Technology International Conference ในหัวข้อวิถีราชมงคลขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลงานแบบ oral presentation ในหัวข้อเรื่อง การมีเสถียรภาพแบบเลขชี้กำลังของเครือข่ายควบคุมการแสดงออกของยีนที่มีตัวหน่วงแปรผันตามเวลา ได้มีการนำเสนอประมาณ 20 นาที ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับฟังพอสมควร พร้อมทั้งมีการซักถามจากผู้สนใจถึงแนวความคิดของงานวิจัยชิ้นนี้ และการประยุกต์ใช้และการต่อยอดงานวิจัยอีกต่อไป และข้าพเจ้าได้เข้าฟังการบรรยายบทความเรื่อง การออกแบบและพัฒนาระบบควบคุมแบบไร้สายของการเคลื่อนที่หุ่นยนต์ต่อสู้ โดย ดำรง เซ้งมณี ได้ทราบถึงวิธีการออกแบบโดยใช้บอร์ดขับดีซีมอเตอร์ในการควบคุมมอเตอร์ และใช้รีโมทคอนโทรลไร้สายส่งคำสั่งในการควบคุมหุ่นยนต์ที่เข้ารหัสแล้วรวมกับคลื่นความถี่วิทยุ แล้วส่งสัญญาณข้อมูลผ่านไปยังภาครับสัญญาณที่เชื่อมต่อบอร์ด Arduino จากนั้นทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับแล้วทำการส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์เพื่อให้ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวเหมาะสำหรับในการควบคุมหุ่นยนต์ต่อสู้ และเข้าฟังการนำเสนอบทความเรื่อง การใช้ประโยชน์จากการทำงานของพัดลมคอยล์เย็นของเครื่องปรับอากาศเพื่อผลิตไฟฟ้า โดย นพรัตน์ อมัติรัตน์ ได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์จากการทำงานของพัดลมคอยล์เย็นทำให้ความเร็วลมลดลงและใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศเพื่อผลิตไฟฟ้า และผลกระทบหลังการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า และพบว่าสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ แต่ส่งผลเสียต่ออายุการใช้งานของคอยล์เย็นลดลง นอกจากนี้ยังเข้าฟังการนำเสนอบทความเรื่อง การทำงานพร้อมกันแบบผสมระหว่าง H-infinity และการนิ่งเฉยของโครงข่ายประสาทเทียมที่มีตัวหน่วงแปรผันตามเวลา โดย ณรงค์ศักดิ์ โยธา ได้นำเสนอถึงการศึกษาปัญหาของการทำงานพร้อมกันแบบผสมระหว่าง H-infinity และการนิ่งเฉยของโครงข่ายประสาทเทียมที่มีตัวหน่วงแปรผันตามเวลา โดยการใช้ทฤษฎีของฟังก์ชันไลปูนอฟ-คาลอฟสกี้ เพื่อให้ได้เงื่อนไขเพียงพอสำหรับระบบความผิดพลาดในการทำงานพร้อมกัน
จากการที่ข้าพเจ้าได้เข้าฟังการบรรยายในหลายเรื่องดังที่กล่าวมาในครั้งนี้ ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลงานทางวิชาการด้านการวิจัยในเชิงประยุกต์ โดยการนำความรู้จากข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้จากการประชุม มาประยุกต์ใช้ในการผลิตผลงานวิชาการ และการเผยแพร่งานวิจัย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตนเองในการผลิตผลงานทางวิชาการ