องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) เป็นคำที่คนในองค์กรภาครัฐเริ่มคุ้นชินมาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง และมักจะปรากฏควบคู่กับคำว่า การจัดการความ (Knowledge Management: KM) องค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นองค์กรที่ทำงานผลิตผลงานไปพร้อม ๆ กับเกิดการสร้างความรู้ สั่งสมความรู้ เรียนรู้ สร้างความรู้ และยกระดับความรู้จากประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อพัฒนาวิธีทำงานและระบบงานขององค์กรไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นอาจพูดได้ว่าการที่องค์กรหนึ่ง ๆ จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ต้องอาศัยเครื่องมือหรือกระบวนการการจัดการความรู้
ผลลัพธ์ (Output) ขององค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ ผลงานตามภารกิจหรือยุทธศาสตร์ที่กำหนด การจัดการความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจขององค์กรนั้น รวมทั้งการสร้างและพัฒนาคน อันได้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับองค์กร จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านการปฏิบัติงาน
องค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต (Spiritual Learning Organization: SLO) จะเป็นองค์กรที่เน้นการสร้างคนหรือพัฒนาคนโดยเน้นมิติของจิตวิญญาณ (Spiritual focus) ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) และการเรียนรู้ร่วมกันจากการกระทำ (Interactive learning through action) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ (Competency) ซึ่งประกอบด้วยความรู้และทักษะอันเกี่ยวกับงานขององค์กร และมีพฤติกรรม เจตคติ โลกทัศน์ วิธีคิดในลักษณะของ "บุคคลเรียนรู้" (Learning Person) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นพลวัต (Dynamic) มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของพัฒนาการด้านต่าง ๆ คล้ายมีชีวิต มีการเจริญเติบโตและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ มีผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) รวมทั้งมีบุคลิกขององค์กรในลักษณะที่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่ผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในองค์กรภายนอกอย่างชาญฉลาด