การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาลักษณะดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ด้าน พืชศาสตร์รายชนิด และพัฒนาบัญชีคำหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ของพืช กรณีกล้วยไม้ และลำไย (2) เพื่อพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์กล้วยไม้ และลำไย ในด้านดรรชนีหัวเรื่อง (3) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบและประยุกต์ใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบ ศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ (4) เพื่อศึกษาองค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจายสารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่องในผลงานนั้น ดำเนินการรวบรวมข้อมูลประชากรคือ (1) รายการคำดรรชนีหัวเรื่อง จากคู่มือและฐานข้อมูลหัวเรื่องฉบับมาตรฐาน และจากฐานข้อมูลห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (2) คำดรรชนีหัวเรื่องของเอกสารงานวิจัย จากฐานข้อมูลบรรณานุกรมงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยที่รวบรวมจากแหล่งสารสนเทศสำคัญๆ ของประเทศ เครื่องมือที่ใช้คือโปรแกรม CDS/ISIS, Elib สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. การพัฒนาบัญชีคำดรรชนีหัวเรื่องย่อยของพืชรายชนิด (กล้วยไม้ ลำไย) ตามแนวหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ได้ชุดคำประมาณ 300 คำ และการศึกษาลักษณะดรรชนีที่สร้างขึ้น พบว่าหัวเรื่องย่อยภาษาอังกฤษที่กำหนดเป็นภาษาไทยแล้วมีจำนวนน้อย บางกรณีมีรูปแบบทางภาษาของคำต่างกัน หัวเรื่องย่อยบางคำอาจไม่เหมาะสมกับพืชบางชนิด หัวเรื่องหลักที่มีหัวเรื่องย่อยประกอบมีข้อมูลโยงไปศัพท์สัมพันธ์อื่นน้อยกว่าหัวเรื่องหลักทั่วไป หัวเรื่องสำหรับพันธุ์พืชของกล้วยไม้มีปัญหากำหนดคำ 2. การใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ Elib ประยุกต์ใช้งานได้ ฐานข้อมูลงานวิจัยกล้วยไม้ 962 รายชื่อ และฐานข้อมูลงานวิจัยลำไย 844 รายชื่อ 3. การประเมินคุณภาพดรรชนีหัวเรื่องในฐานข้อมูลที่ทำดรรชนีใหม่ (re-cataloging) พบว่า (1) ฐานข้อมูลกล้วยไม้ : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.26 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.39 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.20 และจำนวนหัวเรื่องกล้วยไม้ที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.60 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 (2) ฐานข้อมูลลำไย : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.91 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.65 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.39 และจำนวนหัวเรื่องลำไยที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.32 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 4. องค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจาย สารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่อง พบว่า (1) หน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านกล้วยไม้ 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 76.03 ของผลงานทั้งหมด ส่วนหน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านลำไย 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 85.24 ของผลงานทั้งหมด (2) ผลงานวิจัยที่จัดพิมพ์ช่วงปี 2550-2556 และ 2540-2549 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 40 ของผลงานทั้งหมด รวม 2 ช่วงรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของผลงานทั้งหมด (3) การเผยแพร่สารสนเทศงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยในแหล่งสารสนเทศหรือห้องสมุดต่างๆ พบว่าหน่วยงานเฉพาะ เช่น ศูนย์วิทยาการกล้วยไม้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย และที่เป็นแหล่งกลางของการรวบรวมข้อมูล เช่น ฐานข้อมูล Thailand Digital Collection (TDC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีจำนวนงานวิจัย แห่งละประมาณร้อยละ 35-60 ของผลงานทั้งหมด (4) ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยกล้วยไม้และลำไย ที่มีการศึกษากันมาก โดยพิจารณาจากหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องย่อยที่จำแนกเนื้อหา พบว่ามีหัวข้อศึกษามากประมาณ 30 หัวข้อ จำนวนคำดรรชนีตามเนื้อหา 30 หัวข้อนี้มีรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของเนื้อหาทั้งหมด คำสำคัญ : ดรรชนี ; หัวเรื่อง ; ศัพท์สัมพันธ์ ; รายงานการวิจัย ; วิทยานิพนธ์ ; กล้วยไม้ ; ลำไย
[ดูรายงานผลงานวิจัยได้จากห้องสมุด]