รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : หัวเรื่อง
บทความวารสาร » การทำดรรชนีวารสาร ประเด็นเครื่องมือช่วยงานคือ ฐานข้อมูลหัวเรื่อง [บันทึกสรุปจาก KM ห้องสมุด สายงานพัฒนาทรัพยากร ของผู้เขียน 5of5 / 2564]
ที่มา (1) การทำดรรชนีบทความวารสารของห้องสมุด เดิมมีการกระจายงานให้บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศในสายงานต่างๆ ร่วมกันดำเนินงาน แต่ปัจจุบันจัดแบ่งให้บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศในสายงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (หรืองานด้าน Cataloging) เท่านั้น ดังนั้นการนำเสนอรายละเอียดงานในกิจกรรม KM ของบุคลากรโดยรวมของห้องสมุดจึงอาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในที่นี้จึงจะนำเสนอเพียงบางประเด็นที่อาจช่วยเสริมความรู้และการนำไปประยุกต์ใช้คือ “ฐานข้อมูลหัวเรื่อง” (2) ประเด็นการนำเสนอในที่นี้ เฉพาะหัวข้อ “เครื่องช่วยงาน คือ ฐานข้อมูลหัวเรื่อง” ซึ่งบรรณารักษ์ที่ปฏิบัติงานวิเคราะห์รายการเอกสารสามารถทราบถึงเครื่องมือและเลือกใช้ได้ ส่วนบรรณารักษ์งานบริการอาจนำไปใช้ประโยชน์ในแง่การเลือกคำคำค้นหัวเรื่องเพื่อบริการผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่นำเสนอ (3) ฐานข้อมูลหัวเรื่องที่น่าสนใจมีดังนี้ (1) Red_demo on DOS (2) Red_demo on Winisis [ปัจจุบันทำงานบน Windows 2003 Server] (3) Thaiccweb ของคณะทำงานฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด (4) ฐานข้อมูลหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ในห้องสมุดบางแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อนึ่ง ในโอกาสนี้นำเสนอเพียงโปรแกรมหรือฐานข้อมูล ไม่ได้กล่าวถึงการจัดการด้านฮาร์ดแวร์ (เช่น การเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ HandyDrive ที่ใช้ boot OS) การเข้าถึง วิธีใช้งานเมนูต่างๆ เทคนิคการใช้งาน หลักการวิเคราะห์และกำหนดหัวเรื่อง ข้อดีข้อเสียของฐานข้อมูลหัวเรื่องแต่ละระบบ (4) ในการนี้นำเสนอเพียงแง่มุม “Know What” ว่ามีอะไรบ้าง นำเสนอด้วยรูปภาพและข้อมูลบอกเล่าโดยสังเขป ส่วนวิธีการใช้งาน “Know How” และการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของฐานข้อมูลแต่ละฐาน “Know Why” ไม่ได้นำเสนอ เนื่องจากข้อจำกัดของเวลา และกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรม KM ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานี้ ผลลัพธ์ (5) ได้เสนอเนื้อหาโดยสังเขปแก่ผู้สนใจในกิจกรรม KM การเลือกใช้งานหรือไม่ อย่างไร ควรติดตามผลในโอกาสต่อไป อื่นๆ (6) อนึ่ง หากมีการนำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ บรรณารักษ์สายงานวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร ทั้งหน่วยงานเอง หรือต่างห้องสมุดต่างมหาวิทยาลัย ด้วยเนื้อหาที่ละเอียดและลึกซึ้งขึ้น อาจมีประโยชน์เพิ่มมากขึ้น -- หมายเหตุ ภาพประกอบจำนวนหนึ่ง
คำสำคัญ : งานเทคนิค (ห้องสมุด)  ฐานข้อมูล  บทความ  วารสาร  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 1583  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 14/7/2564 10:10:09  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 22:50:58
บทความวารสาร » การทำรายการหัวเรื่องด้วยเครื่องมือบรรณารักษ์คือ ฐานข้อมูลหัวเรื่อง
[0] บทนำ เนื้อหาใน KM blog ครั้งนี้จะขยายความจากเนื้อหาที่ได้นำเสนอแก่บุคลากรห้องสมุดสายงานวิเคราะห์และทำรายการ (cataloging) เพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอในที่ประชุม/การพูดคุย โดยในวงพูดคุยได้แนะนำถึงการสร้างบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทยพอสังเขป และเน้นการใช้งานฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (Thaiccweb) ระดับพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ [1] จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 (มีนาคม-มิถุนายน 2563) และนโยบายให้ทำงานจากบ้าน (work from home) นั้น งานห้องสมุดเกี่ยวกับการวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร โดยเฉพาะการวิเคราะห์และให้หัวเรื่องแก่บทความวารสาร ซึ่งบรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ และบุคลากรห้องสมุดที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานลักษณะนี้จากบ้านได้ แต่อาจไม่สะดวกเพราะขาดเครื่องมือบรรณารักษ์คือคู่มือหัวเรื่องภาษาไทย ที่ใช้ในการตรวจสอบและกำหนดหัวเรื่องแก่เนื้อหาเอกสาร [2] เดิมคู่มือหัวเรื่องนี้จัดทำเป็นฉบับพิมพ์ 2 เล่ม (หนาประมาณเล่มละ 1,000 หน้า) และมีจำนวนตัวเล่มจำกัดเพียง 1-2 สำเนา (copies) จึงไม่เพียงพอกับบุคลากรทุกคน ประกอบกับคู่มือไม่อาจเพิ่มเติม/แก้ไขรายการคำหัวเรื่องใหม่ๆ ได้ จึงค่อนข้างล้าสมัย รวมทั้งเป็นเครื่องมือระบบมือที่การใช้งานค้นหาคำไม่สะดวกแบบระบบฐานข้อมูลหัวเรื่อง [3] คู่มือหัวเรื่องที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ใช้งานในปัจจุบัน จัดทำโดยผู้เขียน blog KM นี้ โดยใช้โปรแกรมจัดการศัพท์สัมพันธ์ (thesaurus management software) ชื่อ Thes_y.pas เป็นโปรแกรมภาษาปาสคาลบนโปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS for DOS ของ Unesco ซึ่งผู้เขียนได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นจากต้นแบบโปรแกรมตัวอย่าง Thes.pas ของ Unesco โปรแกรมนี้ช่วยในการสร้างคำหัวเรื่องภาษาไทยใหม่ๆ สะดวก สามารถสร้างหัวเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน 2 ทาง (two-way relationship) ได้อัตโนมัติ และมีการตรวจสอบความสัมพันธ์แบบศัพท์สัมพันธ์ (ความสัมพันธ์ NT/BT/RT/UF-Use) อัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบดรรชนีค้นหาคำที่หลากหลายและละเอียด ในการสร้างคำหัวเรื่องนั้นผู้เขียนจะเทียบเคียงศัพท์หัวเรื่องไทยจากฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาอังกฤษ Library of Congress Subject Headings (LCSH) ของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ที่เป็นฐานข้อมูลบน Classificationweb.net อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตามโปรแกรมนี้ทำงานบน DOS ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Windows 98 ซึ่งปัจจุบันไม่อาจติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ทำงานของบุคลากรแต่ละคนได้ จึงคงใช้งานเพียงผู้เขียน และการสร้างฐานข้อมูลหัวเรื่องเป็นหลัก ผู้เขียนประมาณการว่าหากจัดทำเป็นหนังสือคู่มือหัวเรื่อง (เล่มละ 1,000 หน้า) จะมีประมาณ 12 เล่ม [4] ผู้เขียนได้นำฐานข้อมูลให้บริการบนโปรแกรม CDS/ISIS for Windows ซึ่งโปรแกรมเมอร์ของห้องสมุดได้จัดทำเครื่องแม่ข่าย (server) ด้วยโปรแกรมลักษณะ virtual machine (ทำนอง VMware) ที่ทำงานระบบปฏิบัติการ Windows Server 200x เพื่อให้โปรแกรม CDS/ISIS for Windows ทำงานได้ แล้วบุคลากรห้องสมุดใช้งานโปรแกรมด้วยวิธีการ remote acess ใช้งาน แต่เนื่องจากเป็นการใช้ในเครือข่ายอินทราเน็ต (intranet) ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เท่านั้น จึงไม่เอื้อต่อการใช้งานลักษณะการทำงานจากบ้านของแต่ละบุคคลได้ [5] ผู้เขียนแนะนำฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (หรือ Thaiccweb) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหัวเรื่องของคณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา อันเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประมาณ 30 แห่ง และห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายดังกล่าวด้วย จึงได้รับ user name (account) ในการใช้งาน รวมทั้งสามารถสร้างและเสนอหัวเรื่องใหม่ได้ ปัจจุบันค่อนข้างมีหัวเรื่องพื้นฐานเพียงพอแล้ว และผู้เขียนประมาณการว่าหากจัดทำเป็นหนังสือคู่มือหัวเรื่อง (เล่มละ 1,000 หน้า) จะมีประมาณ 8 เล่ม [6] สถานภาพการใช้งานฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ มีหลายระดับ เช่น Visitor (ดูได้เพียงหัวเรื่องหลัก), Member (ดูรายละเอียดคำ การโยงคำต่างๆ และเสนอหัวเรื่องใหม่ได้), Editor (ปัจจุบันมี 2 คนคือ ผู้เขียน และบรรณารักษ์สำคัญอีกคนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), Administrator (ดูแลระบบทั้งหมด) ซึ่งในส่วนบุคลากรห้องสมุดสามารถใช้งานในระดับ Member ได้ โดย log in ด้วยบัญชีผู้ใช้ชื่อ mju1 และรหัสผ่านตามที่แจ้งในวง KM หลังจากนั้นสามารถใช้งานสืบค้นหัวเรื่องต่างๆ ได้สะดวก เนื่องจากฐานข้อมูลนี้เป็นระบบ web-based ใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรห้องสมุดสามารถใช้ฐานข้อมูลนี้จากบ้านพักของตนในช่วงการทำงานจากบ้านได้ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าหากมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในอนาคตและมีมาตรการให้บุคลากรทำงานจากบ้าน ฐานข้อมูลนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือบรรณารักษ์/นักเอกสารสนเทศ/ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ที่เกี่ยวข้องกับงานหัวเรื่องในภาระงานการวิเคราะห์และทำรายการเนื้อหาได้เป็นอย่างดี.
คำสำคัญ : การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร  ฐานข้อมูล  ดัชนี  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2272  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 20/7/2563 15:02:10  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/4/2567 11:48:58
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง » ฐานข้อมูลบรรณานุกรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: การพัฒนาฐานข้อมูล ระบบดรรชนี และการวิเคราะห์เนื้อหาข้อมูลบรรณานุกรม
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (2) เพื่อศึกษาระบบดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ประเภทหัวเรื่องย่อยประเภทชื่อบุคคล (พระนามพระมหากษัตริย์) และ/หรือกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร) ตามมาตรฐานบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทย และมาตรฐานสากล Library of Congress (3) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศด้านพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากข้อมูลรายการบรรณานุกรม ในแง่องค์ประกอบของข้อมูลที่รวบรวมได้ การผลิตและการแพร่กระจายสารสนเทศ ขอบเขตเนื้อหาสารสนเทศเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่พิจารณาจากหัวเรื่องย่อย รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ที่ศึกษาถึง (1) รายการบรรณานุกรมเอกสาร (2) ดรรชนีหัวเรื่องสำหรับเอกสารเนื้อหาพระมหากษัตริย์ โดยเน้นหัวเรื่องย่อยตามหลังกลุ่มชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) แหล่งประชากรที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการรวบรวมข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลได้แก่ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและแหล่งสหบรรณานุกรม รวม 8 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS โปรแกรมจัดการหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ (Red_demo) โปรแกรมระบบงานห้องสมุด Elib และแบบสอบถามบรรณารักษ์ผู้มีความเชี่ยวชาญงานหัวเรื่องเพื่อประเมินบัญชีคำหัวเรื่องย่อยที่สร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า (1) ฐานข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารที่สร้างขึ้นชื่อ King9 มีจำนวน 4,201 ระเบียน จัดทำในระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS สามารถถ่ายโอนข้อมูลตามมาตรฐานรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ISO-2709 ไปยังโปรแกรม Elib เพื่อบริการบนเว็บได้ (elib.library.mju.ac.th/elib) และอาจพัฒนาโปรแกรมสืบค้นให้สะดวกต่อการใช้งานจากต้นแบบโปรแกรมสืบค้นภาพยนตร์ดีเด่นได้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเอกสารในฐานข้อมูล King9 (เฉพาะช่วงปี 2489-2549) กับ สหบรรณานุกรมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่จัดทำปี 2549 จะมีสัดส่วน 100 : 33.21 หรือฐานข้อมูล King9 รวบรวมได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเฉพาะเอกสารรายงานผลการวิจัยจากการวิจัยและวิทยานิพนธ์ กับฐานข้อมูล TDC (Thai Digital Collection) ของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ Thailis จะมีสัดส่วน 100 : 19.01 หรือรวบรวมได้มากกว่า 5 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล NRCT ของห้องสมุด/ศูนย์ข้อมูลการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีสัดส่วน 100 : 80.28 หรือมากกว่า 0.2 เท่า ประเภทข้อมูลส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์หนังสือ (86.79%) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาไทย (95.47%) จัดทำในช่วงปีพิมพ์ 2540-2549 (30.83%) และ 2550-2559 (36.13%) รวม 2 ช่วงประมาณ 2 ใน 3 ของเอกสารทั้งหมด สถิติรายการบรรณานุกรมที่มีข้อมูลในเขตข้อมูล (MARC tag) ต่างๆ ในส่วนข้อมูล หัวเรื่อง (tag 6xx) มีเฉลี่ย 5.33 คำ/ชื่อเรื่อง ข้อมูลเพิ่มมูลค่าที่รวบรวมเพิ่ม คือ สารบาญ (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 505) เฉลี่ย 0.39/ชื่อเรื่อง สาระสังเขป (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 520) เฉลี่ย 0.16/ ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพปก JPG เฉลี่ย 0.61/ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพสารบาญ JPG, ภาพสาระสังเขป JPG, เอกสารเนื้อเรื่องฉบับเต็ม full text แบบ PDF file เฉลี่ย 0.09/ชื่อเรื่อง (2) ดรรชนีหัวเรื่องตามกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร--หัวเรื่องย่อยต่างๆ) เก็บ รวบรวมได้ 130 คำ แต่ไม่ได้สร้างศัพท์สัมพันธ์เพราะเป็นคำกว้างเกินไป สามารถใช้หัวเรื่องตาม ชื่อบุคคลแทนได้ ดรรชนีหัวเรื่องตามชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ (ภูมิพลอดุลยเดชฯ-- หัวเรื่องย่อยต่างๆ) รวบรวมได้ 250 คำ และสร้างชุดคำศัพท์สัมพันธ์แล้วเสร็จ จำนวน 54 หน้า ภายหลังการสร้างบัญชีคำศัพท์สัมพันธ์แล้ว ได้นำไปทดลองใช้วิเคราะห์หัวเรื่องใหม่ (re-cataloging) แก่เอกสาร 2,378 รายการ ประมวลผลจำนวนดรรชนีหัวเรื่องในระบบ พบว่า มีจำนวนเซตคำค้น (set of index terms or index forms) ว่า ภูมิพลฯ--[หัวเรื่องย่อยต่างๆ] เพิ่มมากขึ้น 3.18 เท่า และจำนวนเซตคำดรรชนีที่พบเอกสาร (set of index postings or found documents) เพิ่มมากขึ้น 2.62 เท่า สรุปคือฐานข้อมูลมีคุณภาพด้านการค้นคืนสูงขึ้น. [end]
คำสำคัญ : ฐานข้อมูล  ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ศัพท์สัมพันธ์  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2312  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 18/9/2562 15:39:37  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/4/2567 11:49:03
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง » การพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิเคราะห์องค์ความรู้งานวิจัยสาขา พืชศาสตร์ด้วยระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ : กรณีฐานข้อมูล งานวิจัยกล้วยไม้และลำไยของประเทศ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาลักษณะดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ด้าน พืชศาสตร์รายชนิด และพัฒนาบัญชีคำหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ของพืช กรณีกล้วยไม้ และลำไย (2) เพื่อพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์กล้วยไม้ และลำไย ในด้านดรรชนีหัวเรื่อง (3) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบและประยุกต์ใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบ ศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ (4) เพื่อศึกษาองค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจายสารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่องในผลงานนั้น ดำเนินการรวบรวมข้อมูลประชากรคือ (1) รายการคำดรรชนีหัวเรื่อง จากคู่มือและฐานข้อมูลหัวเรื่องฉบับมาตรฐาน และจากฐานข้อมูลห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (2) คำดรรชนีหัวเรื่องของเอกสารงานวิจัย จากฐานข้อมูลบรรณานุกรมงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยที่รวบรวมจากแหล่งสารสนเทศสำคัญๆ ของประเทศ เครื่องมือที่ใช้คือโปรแกรม CDS/ISIS, Elib สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. การพัฒนาบัญชีคำดรรชนีหัวเรื่องย่อยของพืชรายชนิด (กล้วยไม้ ลำไย) ตามแนวหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ได้ชุดคำประมาณ 300 คำ และการศึกษาลักษณะดรรชนีที่สร้างขึ้น พบว่าหัวเรื่องย่อยภาษาอังกฤษที่กำหนดเป็นภาษาไทยแล้วมีจำนวนน้อย บางกรณีมีรูปแบบทางภาษาของคำต่างกัน หัวเรื่องย่อยบางคำอาจไม่เหมาะสมกับพืชบางชนิด หัวเรื่องหลักที่มีหัวเรื่องย่อยประกอบมีข้อมูลโยงไปศัพท์สัมพันธ์อื่นน้อยกว่าหัวเรื่องหลักทั่วไป หัวเรื่องสำหรับพันธุ์พืชของกล้วยไม้มีปัญหากำหนดคำ 2. การใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ Elib ประยุกต์ใช้งานได้ ฐานข้อมูลงานวิจัยกล้วยไม้ 962 รายชื่อ และฐานข้อมูลงานวิจัยลำไย 844 รายชื่อ 3. การประเมินคุณภาพดรรชนีหัวเรื่องในฐานข้อมูลที่ทำดรรชนีใหม่ (re-cataloging) พบว่า (1) ฐานข้อมูลกล้วยไม้ : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.26 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.39 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.20 และจำนวนหัวเรื่องกล้วยไม้ที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.60 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 (2) ฐานข้อมูลลำไย : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.91 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.65 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.39 และจำนวนหัวเรื่องลำไยที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.32 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 4. องค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจาย สารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่อง พบว่า (1) หน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านกล้วยไม้ 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 76.03 ของผลงานทั้งหมด ส่วนหน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านลำไย 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 85.24 ของผลงานทั้งหมด (2) ผลงานวิจัยที่จัดพิมพ์ช่วงปี 2550-2556 และ 2540-2549 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 40 ของผลงานทั้งหมด รวม 2 ช่วงรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของผลงานทั้งหมด (3) การเผยแพร่สารสนเทศงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยในแหล่งสารสนเทศหรือห้องสมุดต่างๆ พบว่าหน่วยงานเฉพาะ เช่น ศูนย์วิทยาการกล้วยไม้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย และที่เป็นแหล่งกลางของการรวบรวมข้อมูล เช่น ฐานข้อมูล Thailand Digital Collection (TDC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีจำนวนงานวิจัย แห่งละประมาณร้อยละ 35-60 ของผลงานทั้งหมด (4) ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยกล้วยไม้และลำไย ที่มีการศึกษากันมาก โดยพิจารณาจากหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องย่อยที่จำแนกเนื้อหา พบว่ามีหัวข้อศึกษามากประมาณ 30 หัวข้อ จำนวนคำดรรชนีตามเนื้อหา 30 หัวข้อนี้มีรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของเนื้อหาทั้งหมด คำสำคัญ : ดรรชนี ; หัวเรื่อง ; ศัพท์สัมพันธ์ ; รายงานการวิจัย ; วิทยานิพนธ์ ; กล้วยไม้ ; ลำไย
คำสำคัญ : กล้วยไม้  ดรรชนี  รายงานการวิจัย  ลำไย  วิทยานิพนธ์  ศัพท์สัมพันธ์  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 3065  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 26/9/2561 9:30:02  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/4/2567 11:43:05
บริการสื่อโสตทัศน์ » ดรรชนีและหัวเรื่องสำหรับสารสนเทศภาพยนตร์ : กรณีศึกษา ฐานข้อมูลภาพยนตร์ดีเด่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาดรรชนีสืบค้นเนื้อหาสารสนเทศ ภาพยนตร์ (2) เพื่อทดลองนำดรรชนีสืบค้นเนื้อหาสารสนเทศภาพยนตร์ไปใช้ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศภาพยนตร์ดีเด่นของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (3) เพื่อสร้างบัญชีคำหัวเรื่องสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยการทำรายการและการสืบค้นสารสนเทศภาพยนตร์ การวิจัยหลักเป็นการวิจัยเอกสาร ทำการวิเคราะห์เนื้อหาสื่อภาพยนตร์ สร้างคำดรรชนีหัวเรื่อง รวบรวมหัวเรื่องซึ่งเป็นประชากรในการวิจัยมาวิเคราะห์ และสร้างบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทยสำหรับภาพยนตร์ขึ้น เครื่องมือวิจัยคือแบบบันทึกแนวทางการกำหนดคำดรรชนีสำหรับภาพยนตร์ แบบบันทึกรายการคำดรรชนีลักษณะควบคุมรายการหลักฐาน (authority control) และโปรแกรมจัดการด้านข้อมูลต่างๆ คือ CDS/ISIS, Elib, Film_opac, Microsoft Word สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า การใช้แบบบันทึกแนวทางการกำหนดคำดรรชนี ที่ศึกษาวิเคราะห์ดรรชนีภาพยนตร์ 6 ประเด็นคือ (1) องค์ประกอบสารสนเทศภาพยนตร์ (2) เขตข้อมูล MARC tag (3) รูปแบบคำดรรชนีที่ใช้ (4) ลักษณะดรรชนีในระบบจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ คือแฟ้มข้อมูลดรรชนีผกผันและระบบควบคุมรายการหลักฐาน (5) โปรแกรมสืบค้น OPAC กับการสืบค้นตามช่องทางเข้าถึง (6) โปรแกรมสืบค้น OPAC กับการสืบค้นด้วยคำสำคัญ สามารถกำหนดดรรชนีเพื่อเข้าถึงเนื้อหาภาพยนตร์ได้ 5 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นดรรชนีแบบหัวเรื่อง ได้แก่ (1) ดรรชนีเนื้อเรื่อง (2) ดรรชนีประเทศภาพยนตร์ (3) ดรรชนีประเภทหรือแนวภาพยนตร์ (4) ดรรชนีรางวัลภาพยนตร์ (5) ดรรชนีรายได้ภาพยนตร์ การทดลองนำไปใช้งานจริงกับฐานข้อมูลภาพยนตร์ดีเด่น ซึ่งให้บริการ ณ เว็บไซต์ https://library.mju.ac.th/film/ การวิจัยพบว่าเมื่อได้ปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมให้มี คุณสมบัติรองรับดรรชนีทั้ง 5 ชนิดดังกล่าวแล้ว สามารถใช้ประโยชน์ของดรรชนีสารสนเทศ ภาพยนตร์ได้ สำหรับหัวเรื่องที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์และทำรายการภาพยนตร์ดีเด่น พบว่านำมาสร้างบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทยสำหรับภาพยนตร์ได้ โดยมีหัวเรื่อง 2,604 คำ เป็นหัวเรื่องที่มีการใช้บ่อยครั้ง 757 คำ และมีรายการโยงแบบ “ดูที่” 570 คำ คำสำคัญ : ดัชนี ; หัวเรื่อง ; ภาพยนตร์ ; ฐานข้อมูล ; การทำรายการทางบรรณานุกรม ; การสืบค้นสารสนเทศ
คำสำคัญ : การทำรายการทางบรรณานุกรม  การสืบค้นสารสนเทศ  ฐานข้อมูล  ดัชนี  ภาพยนตร์  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 3084  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 21/9/2561 11:34:10  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 25/4/2567 11:25:05