|
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง
»
KM ฐานข้อมูลภาพยนตร์ ครั้งที่ 1 : สรุปประเด็นการนำเสนอ
|
จากสรุปผล KM ครั้งก่อนที่นำเสนอข้อมูลแบบทดสอบ Pre-test Post-test ซึ่ง
เป็นข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรม
สรุปประเด็นที่ได้นำเสนอในกิจกรรม KM ครั้งที่ 1 มีดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย : การจัดกิจกรรมครั้งแรก มุ่งถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย คือ
เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรห้องสมุด ที่ทำหน้าที่ให้บริการยืมคืน CD ภาพยนตร์ และ
บรรณารักษ์ที่อาจทำหน้าที่บริการและช่วยการค้นคว้าสื่อ CD ภาพยนตร์ หรือ
การประยุกต์แนวคิดการวิเคราะห์และทำรายการสื่อ ดรรชนีสื่อภาพยนตร์ ไปใช้ประโยชน์
2. การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร : โดยที่การสืบค้นสารสนเทศภาพยนตร์
ที่มีประสิทธิภาพ ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ในการนี้กล่าวถึงเพึยง 2 ประการ
คือ (1) โปรแกรมระบบงานห้องสมุด เช่น ALIST, Film_OPAC, Innopac (ตัวอย่าง
จากห้องสมุดอื่น) และ (2) ข้อมูลการวิเคราะห์และทำรายการของบรรณารักษ์ ว่ามีความละเอียด
ลึกซึ้งเพียงใด มีการออกแบบระบบข้อมูลบรรณานุกรมและดรรชนีที่เอื้อต่อการสืบค้นด้วยช่องทาง
ต่างๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งบรรณารักษ์งานวิเคราะห์ฯ ไม่ว่าจะดูแลสื่อหรือทรัพยากรสารสนเทศของ
ห้องสมุดประเภทใด สามารถศึกษาและนำไปพัฒนางานตนเองได้ โดยที่โปรแกรมห้องสมุดอาจ
เป็นเงื่อนไขที่บรรณารักษ์ปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่งานวิเคราะห์และทำรายการเอกสารของ
บรรณารักษ์เองอยู่ในเงื่อนไขที่บรรณารักษ์สามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับ
โปรแกรม Film_OPAC ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้พัฒนาขึ้นนี้ เป็นเครื่องมือช่วยการ
บริการผู้ใช้ได้สอดคล้องกับสารสนเทศสื่อภาพยนตร์มากกว่าระบบโปรแกรม ALIST ที่ห้องสมุด
ใช้งานอยู่ หรือโปรแกรมระบบงานห้องสมุดต่างๆ ที่ออกแบบมาโดยเน้นหนังสือเป็นหลัก (เช่น Innopac)
3. การพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด : กรณีสื่อ CD ภาพยนตร์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย
แม่โจ้ สามารถพัฒนาขนาดคอลเลคชัน (size or scope) จำนวนประมาณ 3,200 ชื่อเรื่อง
จัดอยู่ในลำดับ 6 (โดยประมาณ) ของประเทศ ส่วนการพัฒนาสารสนเทศภาพยนตร์ หรือข้อมูล
บรรณานุกรมสื่อ มีความละเอียดมากกว่าห้องสมุดแห่งอื่น จัดอยู่ในลำดับ 1 ของประเทศ โดยใน
ส่วนฐานข้อมูล Film_OPAC เอง เมื่อสืบค้นจาก Search engine คือ Google ด้วยคำค้น
เกี่ยวกับ ฐานข้อมูลภาพยนตร์ พบว่าฐานข้อมูลของห้องสมุดคือ Film_OPAC นำเสนอในลำดับ
ต้นๆ ในผลลัพธ์การค้นของ Google
4. ฐานข้อมูลภาพยนตร์ดีเด่น หรือ Film_OPAC เป็นผลลัพธ์จากงานพัฒนาคอลเลคชัน และ
งานวิเคราะห์และทำรายการสื่อภาพยนตร์ ซึ่งประสิทธิภาพการสืบค้นและนำเสนอสารสนเทศภาพยนตร์
ด้วยช่องทางสืบค้นและดรรชนีต่างๆ นั้น ได้มีการนำเสนอความรู้ระดับพื้นฐาน และได้แลกเปลี่ยน
เรียนรู้กันในระดับเบื้องต้น เช่น ดรรชนีแบบจัดเตรียมรายการไว้ให้ (directory search) ดรรชนี
ระบุคำค้น (word search) ของสารสนเทศภาพยนตร์ต่างๆ เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อนักแสดง ชื่อผู้กำกับ
ประเทศ ประเภทภาพยนตร์ (genre) รางวัลภาพยนตร์ รายได้ภาพยนตร์ เนื้อหาภาพยนตร์
ที่ค้นได้จากคำ keywords และหัวเรื่อง โดยเทียบเคียงระบบ Film_OPAC กับ ALIST ด้วย
5. ตามหลักการ KM 4 ระดับคือ (1) Know what (2) Know how (3) Know why
(4) Care why นั้น กิจกรรม KM ครั้งนี้มุ่งเพียง Know what ว่าข้อมูลภาพยนตร์ในระบบ
โปรแกรม ALIST และ Film_OPAC คืออะไร ให้ข้อมูลอะไร และ Know how ในส่วนวิธี
การสืบค้นด้วยดรรชนีต่างๆ ระดับเบื้องต้น (basic) อย่างสังเขปเท่านั้น ส่วนความรู้
ที่เป็น Know how ที่ลึกซึ้งขึ้น เช่น วิธีการพัฒนาคอลเลคชันภาพยนตร์ วิธีการจัดซื้อจัดหาสื่อ
วิธีการวิเคราะห์และทำรายการ หรือการจัดทำดรรชนีเป็นอย่างไร และความรู้
ระดับ Know why ว่าสาเหตุใดจึงทำดรรชนีเช่นนั้น ตลอดจนความรู้ระดับ Care why ว่า
ระบบดรรชนีและโปรแกรมมีข้อจำกัดอย่างไร และจะพัฒนาระบบดรรชนีต่อไปเช่นไรนั้น จะมี
การนำเสนอในกิจกรรม KM ในอนาคต.
---end
|
คำสำคัญ :
การบริหารองค์ความรู้ ฐานข้อมูล บริการสื่อโสตทัศน์ ภาพยนตร์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้
|
กลุ่มบทความ :
กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
|
หมวดหมู่ :
กลุ่มงานห้องสมุด
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
1995
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
สุธรรม อุมาแสงทองกุล
วันที่เขียน
13/4/2563 15:39:51
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
20/11/2567 15:32:37
|
|
|
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง
»
ฐานข้อมูลบรรณานุกรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: การพัฒนาฐานข้อมูล ระบบดรรชนี และการวิเคราะห์เนื้อหาข้อมูลบรรณานุกรม
|
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (2) เพื่อศึกษาระบบดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ประเภทหัวเรื่องย่อยประเภทชื่อบุคคล (พระนามพระมหากษัตริย์) และ/หรือกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร) ตามมาตรฐานบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทย และมาตรฐานสากล Library of Congress (3) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศด้านพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากข้อมูลรายการบรรณานุกรม ในแง่องค์ประกอบของข้อมูลที่รวบรวมได้ การผลิตและการแพร่กระจายสารสนเทศ ขอบเขตเนื้อหาสารสนเทศเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่พิจารณาจากหัวเรื่องย่อย รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ที่ศึกษาถึง (1) รายการบรรณานุกรมเอกสาร (2) ดรรชนีหัวเรื่องสำหรับเอกสารเนื้อหาพระมหากษัตริย์ โดยเน้นหัวเรื่องย่อยตามหลังกลุ่มชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) แหล่งประชากรที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการรวบรวมข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลได้แก่ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและแหล่งสหบรรณานุกรม รวม 8 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS โปรแกรมจัดการหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ (Red_demo) โปรแกรมระบบงานห้องสมุด Elib และแบบสอบถามบรรณารักษ์ผู้มีความเชี่ยวชาญงานหัวเรื่องเพื่อประเมินบัญชีคำหัวเรื่องย่อยที่สร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า
(1) ฐานข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารที่สร้างขึ้นชื่อ King9 มีจำนวน 4,201 ระเบียน จัดทำในระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS สามารถถ่ายโอนข้อมูลตามมาตรฐานรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ISO-2709 ไปยังโปรแกรม Elib เพื่อบริการบนเว็บได้ (elib.library.mju.ac.th/elib) และอาจพัฒนาโปรแกรมสืบค้นให้สะดวกต่อการใช้งานจากต้นแบบโปรแกรมสืบค้นภาพยนตร์ดีเด่นได้
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเอกสารในฐานข้อมูล King9 (เฉพาะช่วงปี 2489-2549) กับ
สหบรรณานุกรมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ที่จัดทำปี 2549 จะมีสัดส่วน 100 : 33.21 หรือฐานข้อมูล King9 รวบรวมได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเฉพาะเอกสารรายงานผลการวิจัยจากการวิจัยและวิทยานิพนธ์ กับฐานข้อมูล TDC (Thai Digital Collection) ของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ Thailis จะมีสัดส่วน 100 : 19.01 หรือรวบรวมได้มากกว่า 5 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล NRCT ของห้องสมุด/ศูนย์ข้อมูลการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีสัดส่วน 100 : 80.28 หรือมากกว่า 0.2 เท่า
ประเภทข้อมูลส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์หนังสือ (86.79%) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาไทย (95.47%) จัดทำในช่วงปีพิมพ์ 2540-2549 (30.83%) และ 2550-2559 (36.13%) รวม 2 ช่วงประมาณ 2 ใน 3 ของเอกสารทั้งหมด
สถิติรายการบรรณานุกรมที่มีข้อมูลในเขตข้อมูล (MARC tag) ต่างๆ ในส่วนข้อมูล
หัวเรื่อง (tag 6xx) มีเฉลี่ย 5.33 คำ/ชื่อเรื่อง ข้อมูลเพิ่มมูลค่าที่รวบรวมเพิ่ม คือ สารบาญ (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 505) เฉลี่ย 0.39/ชื่อเรื่อง สาระสังเขป (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 520) เฉลี่ย 0.16/
ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพปก JPG เฉลี่ย 0.61/ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพสารบาญ JPG, ภาพสาระสังเขป JPG, เอกสารเนื้อเรื่องฉบับเต็ม full text แบบ PDF file เฉลี่ย 0.09/ชื่อเรื่อง
(2) ดรรชนีหัวเรื่องตามกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร--หัวเรื่องย่อยต่างๆ) เก็บ
รวบรวมได้ 130 คำ แต่ไม่ได้สร้างศัพท์สัมพันธ์เพราะเป็นคำกว้างเกินไป สามารถใช้หัวเรื่องตาม
ชื่อบุคคลแทนได้ ดรรชนีหัวเรื่องตามชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ (ภูมิพลอดุลยเดชฯ--
หัวเรื่องย่อยต่างๆ) รวบรวมได้ 250 คำ และสร้างชุดคำศัพท์สัมพันธ์แล้วเสร็จ จำนวน 54 หน้า
ภายหลังการสร้างบัญชีคำศัพท์สัมพันธ์แล้ว ได้นำไปทดลองใช้วิเคราะห์หัวเรื่องใหม่ (re-cataloging) แก่เอกสาร 2,378 รายการ ประมวลผลจำนวนดรรชนีหัวเรื่องในระบบ พบว่า มีจำนวนเซตคำค้น (set of index terms or index forms) ว่า ภูมิพลฯ--[หัวเรื่องย่อยต่างๆ] เพิ่มมากขึ้น 3.18 เท่า และจำนวนเซตคำดรรชนีที่พบเอกสาร (set of index postings or found documents) เพิ่มมากขึ้น 2.62 เท่า สรุปคือฐานข้อมูลมีคุณภาพด้านการค้นคืนสูงขึ้น. [end]
|
คำสำคัญ :
ฐานข้อมูล ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ศัพท์สัมพันธ์ หัวเรื่อง
|
กลุ่มบทความ :
กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
|
หมวดหมู่ :
กลุ่มงานห้องสมุด
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
2400
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
สุธรรม อุมาแสงทองกุล
วันที่เขียน
18/9/2562 15:39:37
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
20/11/2567 18:09:31
|
|
|
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง
»
การพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิเคราะห์องค์ความรู้งานวิจัยสาขา พืชศาสตร์ด้วยระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ : กรณีฐานข้อมูล งานวิจัยกล้วยไม้และลำไยของประเทศ
|
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาลักษณะดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ด้าน
พืชศาสตร์รายชนิด และพัฒนาบัญชีคำหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ของพืช กรณีกล้วยไม้ และลำไย (2) เพื่อพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์กล้วยไม้ และลำไย ในด้านดรรชนีหัวเรื่อง (3) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบและประยุกต์ใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบ
ศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ (4) เพื่อศึกษาองค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจายสารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่องในผลงานนั้น ดำเนินการรวบรวมข้อมูลประชากรคือ (1) รายการคำดรรชนีหัวเรื่อง จากคู่มือและฐานข้อมูลหัวเรื่องฉบับมาตรฐาน และจากฐานข้อมูลห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (2) คำดรรชนีหัวเรื่องของเอกสารงานวิจัย จากฐานข้อมูลบรรณานุกรมงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยที่รวบรวมจากแหล่งสารสนเทศสำคัญๆ ของประเทศ เครื่องมือที่ใช้คือโปรแกรม CDS/ISIS, Elib สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยมีดังนี้
1. การพัฒนาบัญชีคำดรรชนีหัวเรื่องย่อยของพืชรายชนิด (กล้วยไม้ ลำไย) ตามแนวหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ได้ชุดคำประมาณ 300 คำ และการศึกษาลักษณะดรรชนีที่สร้างขึ้น พบว่าหัวเรื่องย่อยภาษาอังกฤษที่กำหนดเป็นภาษาไทยแล้วมีจำนวนน้อย บางกรณีมีรูปแบบทางภาษาของคำต่างกัน หัวเรื่องย่อยบางคำอาจไม่เหมาะสมกับพืชบางชนิด หัวเรื่องหลักที่มีหัวเรื่องย่อยประกอบมีข้อมูลโยงไปศัพท์สัมพันธ์อื่นน้อยกว่าหัวเรื่องหลักทั่วไป หัวเรื่องสำหรับพันธุ์พืชของกล้วยไม้มีปัญหากำหนดคำ
2. การใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ Elib ประยุกต์ใช้งานได้ ฐานข้อมูลงานวิจัยกล้วยไม้ 962 รายชื่อ และฐานข้อมูลงานวิจัยลำไย 844 รายชื่อ
3. การประเมินคุณภาพดรรชนีหัวเรื่องในฐานข้อมูลที่ทำดรรชนีใหม่ (re-cataloging) พบว่า
(1) ฐานข้อมูลกล้วยไม้ : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.26 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.39 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.20 และจำนวนหัวเรื่องกล้วยไม้ที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.60 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00
(2) ฐานข้อมูลลำไย : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.91 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.65 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.39 และจำนวนหัวเรื่องลำไยที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.32 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00
4. องค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจาย
สารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่อง พบว่า
(1) หน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านกล้วยไม้ 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 76.03 ของผลงานทั้งหมด ส่วนหน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านลำไย 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 85.24 ของผลงานทั้งหมด
(2) ผลงานวิจัยที่จัดพิมพ์ช่วงปี 2550-2556 และ 2540-2549 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 40 ของผลงานทั้งหมด รวม 2 ช่วงรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของผลงานทั้งหมด
(3) การเผยแพร่สารสนเทศงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยในแหล่งสารสนเทศหรือห้องสมุดต่างๆ พบว่าหน่วยงานเฉพาะ เช่น ศูนย์วิทยาการกล้วยไม้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย และที่เป็นแหล่งกลางของการรวบรวมข้อมูล เช่น ฐานข้อมูล Thailand Digital Collection (TDC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีจำนวนงานวิจัย แห่งละประมาณร้อยละ 35-60 ของผลงานทั้งหมด
(4) ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยกล้วยไม้และลำไย ที่มีการศึกษากันมาก โดยพิจารณาจากหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องย่อยที่จำแนกเนื้อหา พบว่ามีหัวข้อศึกษามากประมาณ 30 หัวข้อ จำนวนคำดรรชนีตามเนื้อหา 30 หัวข้อนี้มีรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของเนื้อหาทั้งหมด
คำสำคัญ : ดรรชนี ; หัวเรื่อง ; ศัพท์สัมพันธ์ ; รายงานการวิจัย ; วิทยานิพนธ์ ; กล้วยไม้ ; ลำไย
|
คำสำคัญ :
กล้วยไม้ ดรรชนี รายงานการวิจัย ลำไย วิทยานิพนธ์ ศัพท์สัมพันธ์ หัวเรื่อง
|
กลุ่มบทความ :
กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
|
หมวดหมู่ :
กลุ่มงานห้องสมุด
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
3180
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
สุธรรม อุมาแสงทองกุล
วันที่เขียน
26/9/2561 9:30:02
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
21/11/2567 12:48:45
|
|
|