บัณฑิตที่แท้...หรือเพียงแค่เปลือกนอก
วันที่เขียน 14/2/2554 10:49:00     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 17:52:11
เปิดอ่าน: 26032 ครั้ง

วิชาความรู้เป็นสิ่งสำคัญ...หากแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม

 

 

 



 

 

    เมื่อก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป้าหมายหลักของนักศึกษาส่วนใหญ่ คือ วิชาความรู้ที่จะนำติดตัวไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต และใบเบิกทางที่เรียกว่า “ใบปริญญา” หรือ “ปริญญาบัตร”  วันรับพระราชทานปริญญาบัตรจึงถือเป็นวันแห่งเกียรติยศ
ที่ประกาศความสำเร็จของเหล่านักศึกษา ซึ่งได้รับการขนานนามใหม่ว่า “บัณฑิต”

ความหมายของบัณฑิต

      คำว่า ”บัณฑิต” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕ (๒๕๔๖, หน้า๖๑๕) ให้ความหมายว่าคือ ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญา ซึ่งมี ๓ ขั้นคือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกำเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี

    ส่วนความหมายของคำว่า “บัณฑิต” ตามสารานุกรมพระพุทธศาสนา ฉบับประมวลจากพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (๒๕๓๙, หน้า๒๕๕) ได้กล่าวว่า “บัณฑิต” นั้นโดยความก็คือ สัตบุรุษ,บุรุษดีงาม บุรุษสงบระงับด้วยกาย วาจา ใจ. ว่าโดยลักษณะ มีความประพฤติชอบเป็นเครื่องกำหนดหมาย เมื่อจะคิดการใดก็คิดแต่การที่ชอบ ด้วยอำนาจ    อนภิชฌา คือไม่เพ่งสิ่งของผู้อื่นด้วยความโลภ ด้วยอำนาจความไม่พยาบาทปองร้าย ด้วยอำนาจความเห็นชอบถูกต้องตามคลองธรรม เห็นผิดว่าผิด เห็นชอบว่าชอบ, แม้เมื่อพูดคำใด ก็พูดแต่คำที่ชอบ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดคำไม่เป็นประโยชน์, แม้เมื่อทำการใด ก็ทำแต่การที่ชอบ ไม่ฆ่าเขาตีเขา ไม่ลักขโมยสิ่งของเขา ไม่ผิดในภริยาเขา, เมื่อจะคิดจะพูดจะทำการใด ก็ล้วนคิดล้วนพูดล้วนทำแต่การที่เป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น.

    ดังนั้น “บัณฑิต” จึงควรเป็นทั้งผู้มีความรู้ความสามารถและมีความประพฤติดี

บัณฑิตที่แท้หรือเพียงแค่เปลือกนอก

        กว่าจะมาถึงวันนี้ เบื้องหลังความสำเร็จของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนมีพ่อแม่ผู้ปกครองให้การสนับสนุน ในขณะที่อีกหลายคนต้องหาเงินส่งเสียตนเองเรียนจนจบ “ว่าที่บัณฑิตใหม่” คนหนึ่งบอกว่า “วันรับปริญญา” เป็นวันที่เขาภูมิใจที่สุดในชีวิต เพราะตลอดระยะเวลาสี่ปี นับตั้งแต่เขาก้าวย่างเข้ามาในมหาวิทยาลัย เขาไม่เคยใช้จ่ายเงินทองของพ่อแม่เลยแม้สักบาทเดียว เพราะที่บ้านเขายังมีน้องอีกสามคน เขาเข้าใจดีถึงเหตุผลที่พ่อบอกให้เขาหยุดเรียนเพื่อมาช่วยที่บ้านขายของ แต่เขาบอกกับพ่อว่า เขามีความฝันที่มากไปกว่าการเป็นคนขายของธรรมดา เขาจึงขอทำตามความฝันของตัวเอง และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อโกรธและแทบจะไม่พูดกับเขา ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเขา ไม่เคยมีเวลาสำหรับการเที่ยวเตร่ ดูหนัง ฟังเพลงเช่นเดียวกับเพื่อนหลาย ๆ คน  แต่เขาก็ไม่เคยนึกท้อใจ พยายามใช้ทุกเวลานาทีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด วันหนึ่ง ๆ ของเขาจึงผ่านไปกับการเข้าชั้นเรียน ทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนและทำงานพิเศษ บ่อยครั้งที่เขาพบกับเพื่อนหรือคนรู้จักในร้านที่เขาไปทำงานพิเศษ แรก ๆ เขาก็รู้สึกอาย แต่เขาบอกตัวเองเสมอว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่ได้เบียดเบียนใคร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องอาย

     ในส่วนของการเรียนนั้น หลายครั้งที่เขาพบปัญหา เช่น ไม่เข้าใจในบทเรียน ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนไม่ได้ หรืออ่านหนังสือสอบไม่ทัน เขาได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยการเอาใจใส่มากขึ้น เมื่อสงสัยก็สอบถามอาจารย์ผู้สอนทันที ที่สำคัญคือเขาไม่เคยลอกการบ้าน หรือทุจริตในการสอบ และนที่สุดเขาก็เดินมาจนสุดทางของการศึกษาระดับปริญญาตรี ผลการเรียนของเขาไม่ได้ดีเด่น แต่เขาก็พอใจ เพราะเขาได้ทุกอย่างมาด้วยความสุจริตและตั้งใจจริง …..

       นี่คือตัวอย่างของบัณฑิต ที่เป็นบัณฑิตที่แท้และสมภาคภูมิ คือ เป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในขั้นปริญญา มีความรู้ความสามารถและเป็นบัณฑิตที่มีความประพฤติชอบ คิดดี พูดดี และทำดี

     ในหมู่ชนมีคนดีปะปนกับคนชั่วฉันใด ในหมู่บัณฑิตก็มีทั้งบัณฑิตที่แท้และบัณฑิตเพียงเปลือกนอกฉันนั้น ดังจะเห็นได้จากสังคมทุกวันนี้ที่คนเก่งหลายคนจบการศึกษาระดับสูง แต่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ผิด หาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น และบางคนถึงกับทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมหาศาล เหมือนคำกล่าวที่ว่า “คนที่มีความรู้น้อย ถ้าโกงก็โกงได้น้อย ส่วนคนที่มีความรู้มาก เมื่อคิดโกงก็จะโกงได้อย่างพิสดาร”

     การประเมินว่าใครเป็นบัณฑิตที่แท้ หรือแค่เพียงเปลือกนอกนั้น ผู้ที่จะประเมินได้ดีที่สุดก็คงเป็นตัวของบัณฑิตเอง ว่าในส่วนของวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตนเองสามารถเรียนรู้และเก็บเกี่ยวความรู้นั้นมาได้มากน้อยเพียงไร และในส่วนของคุณธรรมจริยธรรมนั้นเล่า ก็คงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าตนเองนั้นเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัย ขยัน อดทนและรู้จักผิดชอบชั่วดีเพียงใด เพราะปัจจุบันเราได้พบเห็นพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของนักศึกษา ผู้ที่จะกลายเป็น “บัณฑิต” ในอนาคตมากมาย เช่น ลอกผลงานของผู้อื่นมาส่ง หรือทุจริตในการสอบ ซึ่งแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต พูดจาและแสดงออกอย่างหยาบคายต่อหน้าผู้ใหญ่ หรือในที่สาธารณะ แสดงถึงความไม่รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน และไม่รู้กาลเทศะ ไม่เคารพกฎจราจร ขับขี่รถสวนทางจราจร จอดรถซ้อนคันกันจนเต็ม ไม่เว้นแม้แต่ทางเข้าออก ซึ่งแสดงถึงความขาดวินัยและมักง่าย หรือแม้แต่เรื่องการแซงคิวผู้อื่นที่มารอใช้ลิฟต์อยู่ก่อน ซึ่งแสดงถึงการไม่รู้จักและไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น

     วิชาความรู้เป็นสิ่งสำคัญ หากแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ข้างต้น เป็นพฤติกรรมที่นับวันจะยิ่งมากขึ้น หากทุกคนไม่ตระหนักและปรับเปลี่ยน ก็คงไม่สามารถเป็นความหวังให้สังคมและประเทศชาติได้
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต” ที่มีความรู้ความสามารถ เรียนจบด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมก็ตาม เพราะสุดท้ายคงเป็นได้เพียง “บัณฑิตแค่เปลือก” เท่านั้นเอง

*******************

บรรณานุกรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์. ๒๕๔๖.

สารานุกรมพระพุทธศาสนา ฉบับประมวลจากพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. พิมพ์ครั้งที่ ๒.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๙.



 







 



สัตบุรุษ น. คนที่มีสัมมาทิฐิ, คนดีน่านับถือ มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม. (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕)





คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=80
ความคิดเห็นทั้งหมด (1)
สุวรรณ เลียงหิรัญถาวร     วันที่เขียน : 14/2/2554 0:00:00

ปรับปรุงจาก บทความพิเศษ "บัณฑิตที่แท้ หรือเพียงแค่เปลือกนอก" วารสารแม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ (มราคม - กุมภาพันธ์  ๒๕๔๕)

 

รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 14:35:34   เปิดอ่าน 3050  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 15:53:21   เปิดอ่าน 94763  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง