วิศวกรรมเกษตร….ต้องเปลี่ยนแค่ไหนถึงจะอยู่รอด
วันที่เขียน 31/8/2561 17:07:36     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:53:40
เปิดอ่าน: 5561 ครั้ง

Thailand 4.0 การเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming แล้วแก่นของสาขาวิศวกรรมเกษตรซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์กับการผลิตทางการเกษตร เช่น การเตรียมพื้นที่ การปลูก การอารักขาพืช และการเก็บเกี่ยว รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้หลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเบื้องต้น ตลอดจนการออกแบบอาคารในฟาร์ม การออกแบบระบบชลประทานบนผิวดิน เหนือผิวดิน และระบบการชลประทานแบบน้ำหยด ตลอดจนระบบการระบายน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการออกแบบโครงสร้างอาคารฟาร์ม และระบบสาธารณูปโภคในอาคารฟาร์ม จะเดินทางไปทางไหน?

วิศวกรรมเกษตร….ต้องเปลี่ยนแค่ไหนถึงจะอยู่รอด

โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร สืบค้า

สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

วันที่ 20-25 มิถุนายน 2561 ผู้เขียนได้นำนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเกษตร 5 คน เดินทางไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อศึกษาดูงานด้านเครื่องจักรกลเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตร รวมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ ที่ภาควิชา Bio-industrial Mechatronics Engineering, National Chung Hsing University (NCHU) เมืองไทจง และภาควิชา Mechatronics Engineering, College of Engineering, National Pingtung University of Science and Technology (NPUST) เมืองผิงตง

การเยี่ยมชมภาควิชา Bio-industrial Mechatronics Engineering, NCHU เมืองไทจง พวกเราพบว่า ห้องปฏิบัติการพื้นฐานของสาขาวิศวกรรมเกษตร เช่น ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการ PLC ห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ ห้องปฏิบัติการฝึกฝีมือช่าง (การเชื่อม การกลึง การไส เครื่อง CNC) ห้องปฏิบัติการด้านเครื่องจักรกลเกษตร ได้แก่ เครื่องเก็บเกี่ยวเมล็ดละหุ่ง เครื่องเก็บกวาดปุ๋ยคอก เครื่องบดย่อย เครื่องอบแห้ง ก็ยังคงมีอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับสาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2545 ภาควิชา Agricultural Machinery Engineering, NCHU ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2524 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Bio-industrial Mechatronics Engineering และปรับเปลี่ยนศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นแบบใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้ไบโอเซนเซอร์ (biosensor) หรือตัวตรวจวัดทางชีวภาพซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวัดที่อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนแปลงสัญญาณ (transducer) และสารชีวภาพ (biological component) (Sarapuk, 2018) เพื่อประโยชน์ด้านการเกษตร การแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น  นอกจากนี้ยังพบความร่วมมือระหว่างภาควิชากับภาคเอกชนในการพัฒนาและผลิตเซนเซอร์ร่วมกัน เนื่องจากภาคเอกชนจะมีเทคโนโลยีในการผลิต จึงทำให้งานวิจัยทางด้านการประยุกต์ใช้ไบโอเซนเซอร์เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันงานวิจัยทางด้านวิศวกรรมเกษตรแบบดั้งเดิมลดลง

ในส่วนการเยี่ยมชมภาควิชา Mechatronics Engineering, College of Engineering, NPUST ผู้เขียนได้เข้าร่วมฟังการสัมมนาภายใต้ธีม “2018 Taiwan-Thailand Smart Agricultural Innovation Workshop” โดยสาขาวิชาได้เชิญอาจารย์ในสังกัดจำนวน 5 คน และจากภาควิชา Civil Engineering จำนวน 1 คนมาบรรยายงานวิจัยในแลปของตนเองซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เซนเซอร์หรือชิปวัดค่าทางกายภาพเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร อุตสาหกรรม หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการใช้โดรนเพื่อการอารักขาพืช รวมถึงระบบการปลูกพืชใน greenhouse และ plant factory แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเกษตรก็เป็นเช่นเดียวกันกับ NCHU แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงอาจจะน้อยกว่า

ในประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนสาขาวิศวกรรมเกษตรซึ่งได้รับมอบหมายจากสภาวิศวกรให้กลั่นกรองคุณสมบัติและขอบข่ายงานสาขาวิศวกรรมเกษตรเพื่อเป็นข้อมูลให้สภาวิศวกรร่างกฎกระทรวงเพิ่มสาขาวิชาชีพวิศวกรรมอีก 17 สาขา สมาคมฯ จึงได้จัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณายกร่างคุณสมบัติวิชาชีพวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมเกษตร โดยอาศัยการแบ่งประเภทงานในสาขาวิศวกรรมเกษตรตาม International Commission of Agricultural and Biological Engineering (CIGR, http://www.cigr.org) ซึ่งเป็นองค์กรสากลระดับโลกของสาขาวิศวกรรมเกษตร จากรายละเอียดของร่างคุณสมบัติที่ยกขึ้นดังแสดงในตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นว่า งานวิศวกรรมเกษตรทั้ง 6 ประเภทก็ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานแขนงย่อยของวิศวกรรมเกษตร 6 ประเภทงาน และยังมีข้อแนะนำว่าแต่ละสถาบันควรจัดหลักสูตรวิศวกรรมเกษตรให้บัณฑิตมีความรู้กว้างครอบคลุมทั้ง 6 งานเพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาความเข็มแข็งทางวิศวกรรมเกษตร แต่ความรู้เชิงลึกอาจต้องพึงสาขาวิชา
อื่น ๆ เช่นสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ไฟ้ฟ้า หรือการควบคุม

ตารางที่ 1 งานและประเภทงานวิศวกรรมเกษตรที่ผ่านการยกร่างครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561

6 งาน

6 ประเภทงาน

1.   งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อแนะนำ การตรวจวินิจฉัย หรือการตรวจรับรองผลงาน

2.   งานวางโครงการ หมายถึง การศึกษา การวิเคราะห์หาทางเลือกที่เหมาะสม หรือการวางแผนของโครงการ

3.   งานออกแบบและคำนวณ หมายถึง การใช้หลักวิชาและความชำนาญเพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดในการก่อสร้าง การสร้างการผลิต หรือการวางผังโรงงานและเครื่องจักร โดยมีรายการคำนวณ แสดงเป็นรูป แบบ ข้อกำหนด หรือประมาณการ

4.   งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต หมายถึง การอำนวยการควบคุม หรือการควบคุมเกี่ยวกับการก่อสร้าง การสร้าง การผลิต การติดตั้ง การซ่อมแซม การดัดแปลง การรื้อถอนงาน หรือการเคลื่อนย้ายงานให้เป็นไปโดยถูกต้องตามรูปแบบและข้อกำหนดของหลักวิชาชีพวิศวกรรม

5.   งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์การทดสอบ การหาข้อมูล และสถิติต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัย หรือในการสอบทาน

6.   งานอำนวยการใช้ หมายถึง การอำนวยการดูแลการใช้ การบำรุงรักษางาน ทั้งที่เป็นชิ้นงานหรือระบบ ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามรูปแบบ และข้อกำหนดของหลักวิชาชีพวิศวกรรม

1.  การอนุรักษ์ดินและพื้นที่ทางการเกษตร การให้น้ำและระบายน้ำ (Land and Soil Conservation Irrigation and Drainage)

2.  วิศวกรรมเพื่อการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำ (Animal Production and Aquaculture Engineering)

3.  วิศวกรรมเพื่อการผลิตพืช (Plant Production Engineering) เน้น Equipment, tool และ Machinery

4.  วิศวกรรมด้านแปรสภาพผลิตผลการเกษตร (Agricultural Processing Engineering)

5.  พลังงานและชีวมวล (Energy and Biomass Engineering)

6.  การจัดการและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร (Information Technology and Management for Agriculture)

ที่มา: ร่างความสามารถด้านวิศวกรรมเกษตร โดยสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย

เมื่อพิจารณาร่างความสามารถด้านวิศวกรรมเกษตร ของสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ผนวกเข้ากับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทิศทางการวิจัยด้านวิศวกรรมเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การประยุกต์ใช้เซนเซอร์หรือชิปในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ผู้เขียนคิดว่าการปรับเปลี่ยน/รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นสิ่งดีที่ต้องทำ แต่ต้องคิดถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ รวมไปถึงลักษณะนิสัยของคนไทยด้วย ของใหม่บางอย่างอาจจะแค่ศึกษาเรียนรู้ไว้ แต่ยังไม่ควรหรือยังไม่เหมาะต่อการนำมาใช้ ยกตัวอย่างในอดีตที่มีการนำแทรกเตอร์ขนาดใหญ่หรือเครื่องเกี่ยวนวดแบบตะวันตกเข้ามาใช้งานในประเทศ แล้วก็ต้องปล่อยทิ้งร้างหรือจอดตายเพราะไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ขนาดพื้นที่ และลักษณะการทำการเกษตรของคนไทย นอกจากนี้ยังมีราคาแพง อะไหล่และอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายง่ายบางอย่างหาได้ยากและมีราคาแพง ดังนั้นการรับเทคโนโลยีแบบไม่ลืมหูลืมตา เอามันทุกเรื่อง อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ของใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและเอามาประยุกต์ใช้ในระดับที่เหมาะสมจะปลอดภัยกว่า ความรู้พื้นฐานเดิมที่เป็นแก่นแท้ของสาขาควรจะต้องเรียนรู้เพื่อปรับรากฐานให้แน่น ให้มั่นคงเพียงพอที่จะรับของใหม่ ๆ ได้ เรื่องบางอย่างอาจไม่ต้องลงลึกมากเพราะจะเป็นการแย่งงานสาขาอื่นทำ ผู้จ้างงานอาจจะสงสัยได้ว่าวิศวกรเกษตรจะทำได้หรือ พาลอาจถึงกับไม่จ้างวิศวกรเกษตรเลยก็ได้เพราะไม่ใช่สายตรง ดังนั้นเอาสายงานตัวเองให้เข้มแข็งมั่นคงไว้ก่อนจะดีกว่าไหม? ดังสุภาษิตที่ว่า “ทำงานที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้”

บทส่งท้าย วิศวกรรมเกษตรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย แต่ควรอยู่บนพื้นฐานความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์และความเหมาะสมกับสภาพการเกษตรของประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

Sarapuk. 2018. Biosensor คืออะไร. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.biomed.in.th/biosensor/ (29 มิถุนายน 2561).

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:53:39   เปิดอ่าน 3241  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:35:29   เปิดอ่าน 117144  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง