มากกว่าถ้อยคำ
วันที่เขียน 25/1/2554 9:42:15     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 19:20:49
เปิดอ่าน: 10565 ครั้ง

..มนุษยสื่อสารกันโดยใช้ "ถ้อยคำ" และสิ่งที่"มากกว่าถ้อยคำ" เสมอ..

 

            ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้กำหนดภาษาขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อความหมายระหว่างกัน ภาษาจึงเป็น       ตัวกลางในการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดความรู้สึก และแสดงความคิด ความต้องการของบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งโดยผ่านช่องทางทางการสื่อสารทั้ง 4 ซึ่งได้แก่ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสารนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ภาษาถ้อยคำหรือคำพูดและภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำ
 ภาษาถ้อยคำหรือคำพูด 
          ภาษาถ้อยคำหรือคำพูด (verbal) หมายถึง เสียงพูดของมนุษย์ที่มีการตกลงกันเพื่อให้ทำหน้าที่แทนมโนภาพของสิ่งต่าง ๆ     เช่น
คนไทยมีการตกลงกันว่าจะใช้เสียงพูดว่า “หมา” แทนมโนภาพของสิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสี่ขา มีขนปกคลุมทั่วตัว และเห่าเสียงดังโฮ่ง โฮ่ง ในขณะที่ชาวอังกฤษตกลงกันว่าจะใช้เสียงพูดว่า “ด็อก”  และคนจีนตกลงใช้เสียงพูดว่า “โก่ว”  แทนมโนภาพของสิ่งเดียวกันนี้ ทั้งนี้ภาษาถ้อยคำหรือคำพูดยังรวมถึงเครื่องหมายแทนเสียงพูดหรือภาษาเขียนของชนชาติต่าง ๆ ด้วย  

 

ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำ

           ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำ (non verbal) หมายถึงกริยาอาการ น้ำเสียง รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่  แวดล้อมตัวผู้ส่งสารหรือผู้พูด
เช่น สถานที่ และเวลา เป็นต้น ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำแบ่งออกเป็น 7 ประเภทได้แก่

 

1. ภาษาสถานที่

คือภาษาที่สื่อความหมายจากสถานที่ การจัดสถานที่และระยะห่าง เช่น
เมื่อเดินเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งที่ทางเข้ามีการตกแต่งด้วยซุ้มดอกไม้
ภายในห้องมีโต๊ะกลมที่จัดเป็นแถว โต๊ะทุกตัวปูด้วยผ้าปูโต๊ะสีอ่อน รอบ ๆ
โต๊ะแต่ละตัวมีเก้าอี้วางอยู่ประมาณ 10 ตัว
บนเวทีมีเจ้าหน้าที่กำลังติดตัวอักษรข้อความ “วันนี้ที่รอคอย”
และ “ชญาดา ♥ เกริกพล”
ตามลำดับ สถานที่และการจัดสถานที่ข้างต้นจะบอกให้เราทราบว่า
ที่นี่เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส เป็นต้น

 

2.  ภาษาเวลา

คือภาษาที่สื่อความหมายมาจากเรื่องของเวลา เช่น ประมาณตีสองของคืนหนึ่ง
เราได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง เมื่อยกหูโทรศัพท์ขึ้น
เราได้ยินเสียงของเพื่อนสนิทที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานหลายเดือน
เวลาที่เกิดเหตุการณ์จะสื่อความหมายถึงเราว่า อาจเกิดเรื่องร้าย
หรือมีเหตุด่วน (ที่ไม่น่าจะปรกตินัก)

 
หรือการนัดใครสักคนแล้วคนที่ถูกนัดไปตรงเวลานัดหมาย
ก็แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญ ให้เกียรติ และให้ความเคารพผู้นัด รวมทั้งยังแสดงถึงความมีวินัยของผู้ถูกนัดอีกด้วย

 

3. ภาษาตา

คือภาษาที่สื่อความหมายจากการใช้สายตาและแววตา เช่นเมื่ออาจารย์ถามคำถาม และมองไปรอบ ๆ ห้อง พบว่านักเรียนบางคนหลบสายตา ซึ่งอาจสื่อความหมายว่า “ตอบคำถามไม่ได้” หรือ “อย่าเรียกหนูนะคะ”


นอกจากนั้นบางครั้งเราสามารถสังเกตเห็นอารมณ์ของคู่สนทนาหรือบุคคลอื่นจากการแสดงออกทางแววตาด้วย
เช่น สื่อมวลชนและผู้ชมโทรทัศน์สังเกตเห็นความสุขจากใบหน้าและแววตาของหาญ หิมะทองคำ และปู มัณฑนา โห่ศิริ 
ตลอดเวลาที่ทั้งสองแถลงข่าวการหมั้นและการแต่งงาน

หรือเราสามารถรับรู้ถึงความรักและความห่วงใยของแม่จากสายตาและแววตาที่แม่มองดูลูก

 

4. ภาษาสัมผัส

คือภาษาที่เกิดจากการสัมผัสเพื่อสื่อสารความรู้สึก อารมณ์ และความปรารถนาที่อยู่ในใจของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร

เช่น การโอบกอดเมื่อต้องการปลอบโยน หรือการจับมือแล้วบีบเมื่อต้องการให้กำลังใจ


นอกจากนั้นเรายังสามารถคาดคะเนความสัมพันธ์ของบุคคลได้จากการใช้ภาษาสัมผัสด้วย
เช่น เมื่อเราเห็นชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่งเดินจูงมือกันอยู่ในสวนสาธารณะ
เราอาจคะเนได้ว่า   ทั้งสองเป็นคู่รักกัน

 

5.  ภาษาท่าทาง

คือภาษาที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้แก่ศีรษะ แขนขา และลำตัว

เช่น การไหว้แสดงความเคารพ การส่ายศีรษะแสดงการปฏิเสธ การกวักมือเรียกให้เข้ามาหา
การชี้บอกทิศทาง หรือการยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดูบ่อย ๆ แสดงว่าจะรีบไป เป็นต้น

 

6.  ภาษาวัตถุ

คือภาษาที่เกิดจากการใช้และการเลือกใช้วัตถุสิ่งของ

เช่น เครื่องแต่งกายเครื่องประดับ สามารถบอกสถานภาพทางสังคม รสนิยม และอุปนิสัยของบุคคลได้

นอกจากนั้นวัตถุหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งสถานที่ก็สามารถสื่อความหมายถึงราคาค่าเช่า
หรือราคาซื้อขายของสิ่งของหรือสถานที่นั้นด้วย

 

7.  ภาษาน้ำเสียง

คือการสื่อความหมายจากน้ำเสียงที่ประกอบอยู่ในถ้อยคำ

เช่น ปกติแล้วลลิตาเป็นคนพูดเบา น้ำเสียงไพเราะน่าฟัง อยู่มาวันหนึ่ง
มีคนมาพบลลิตาที่ห้องทำงาน เพื่อนร่วมงานของลลิตากลับได้ยินเสียงพูดของลลิตาที่ดังมาก
เสียงที่ดังนั้นอาจสื่อความหมายว่า ลลิตากำลังไม่พอใจ หรือกำลังโกรธ

หรือในกรณีของเด็กชายกร ที่วิ่งออกมาจากบ้านร้าง
และละล่ำละลักเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้พบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และพูดติด ๆ ขัด ๆในบางช่วง

สื่อความหมายว่าเด็กชายกรกำลังตื่นเต้นหรือตกใจ เป็นต้น 

 

ความสำคัญของภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำในกระบวนการสื่อสาร

       ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำมีบทบาทสำคัญเทียบเท่าภาษาถ้อยคำในกระบวนการสื่อสาร เพราะภาษาทั้ง 2 ประเภทนี้มักจะไม่แยกจากกัน    แต่จะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ  ความสัมพันธ์ของภาษาถ้อยคำและภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำแบ่งออกเป็น 6 ลักษณะ

ดังต่อไปนี้

 

1.  แสดงซ้ำ (repeating)

     คือการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำสื่อความหมายซ้ำกับถ้อยคำหรือคำพูดที่กล่าวออกไป
เช่น ใช้มือชี้ที่หน้าต่าง ขณะที่พูดว่า “ตรงนี้มีตุ๊กแก”
หรือ การพยักหน้าในขณะที่พูดว่า “ใช่” และการส่ายหน้าในขณะที่พูดว่า “ไม่ใช่”

 

2.  ขัดแย้ง (contradicting)

     คือการสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำในลักษณะที่ไม่คล้อยตามคำพูด
เช่น ครูถามนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังนั่งตาปรือว่า”ง่วงหรือ” แต่นักเรียนตอบว่า “ไม่ค่ะ”

หรือในกรณีผู้บังคับบัญชาของณิชภัทร์พูดกับณิชภัทร์ในเช้าวันหนึ่งว่า “วันนี้แต่งตัวทันสมัยนะคะ” ด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึมและสีหน้าเคร่งเครียด
น้ำเสียงและสีหน้าของผู้พูดสื่อความหมายในเชิงตำหนิมากกว่าชื่นชม เป็นต้น

3. ทดแทน (substituting)

    คือการสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำในลักษณะแทนคำพูด ซึ่งอาจเกิดในกรณีที่ผู้ส่งสารไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้ถ้อยคำได้หรืออาจใช้ถ้อยคำได้แต่เลือกที่จะใช้การสื่อสารที่ไม่ใช้ถ้อยคำเนื่องจากเหตุผลบางประการ

เช่นอรชุมาต้องการจะบอกให้ปารวีมองไปที่ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังเดินผ่านหน้าเธอทั้งสองไป
แต่ไม่กล้าบอกตรง ๆ เพราะเกรงจะเป็นการเสียมารยาท อรชุมาจึงใช้วิธี ดึงแขนของปารวี
แล้วเมื่อปารวีมองมาที่เธอ เธอก็ใช้สายตามองไปที่ชายหนุ่มคนนั้น เพื่อให้ปารวีมองตาม เป็นต้น

4. ขยายความ (complementing)

     คือ การใช้ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำบางอย่าง ทำหน้าที่ขยายความหรือเสริมให้ถ้อยคำที่พูดมีความสมบูรณ์หรือชัดเจนขึ้น

เช่น นักศึกษาทำท่าอายหรืออึกอัก เมื่อถูกอาจารย์ถามถึงผลการเรียน
ท่าทางของนักศึกษาสื่อความหมายให้อาจารย์คาดคะเนได้ว่า “ผลการเรียนคงไม่ดีนัก”
หรือ กรณีอาจารย์มองไปยังนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังคุยกันอยู่
และพูดว่า “คนที่ไม่พร้อมจะเรียนก็ขอเชิญให้ออกไปนอกห้อง”
การมองของอาจารย์จะสื่อความหมายถึงนักศึกษากลุ่มที่ถูกมองว่า “อาจารย์หมายถึงพวกตน”

5. เน้น (accenting)

   คือการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำบางอย่างทำหน้าที่ย้ำหรือเน้นภาษาถ้อยคำ
เช่น อาจารย์เน้นเสียงดังเพื่อย้ำข้อความขณะที่พูดสั่งสอนนักศึกษา
หรือการเขย่าตัวลูกเพื่อย้ำให้ลูกปฏิบัติตามสิ่งที่พูด เป็นต้น


นอกจากนั้นการเน้นเพื่อย้ำข้อความยังนิยมใช้ในภาษาเขียนอีกด้วย เช่น
การเน้นตัวอักษรทึบ การใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ การใช้ตัวอักษรเอน หรือการขีดเส้นใต้ เป็นต้น

6.  ดำเนินการสนทนา (regulating)

     คือการใช้ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำบางอย่างเพื่อทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย
เช่น การแสดงความสนใจโดยการทอดสายตามองผู้พูด การพยักหน้าแสดงการเห็นด้วย
การยกมือขอพูดหรือแสดงความคิดเห็น  เป็นต้น

สรุป

      จากความสัมพันธ์ของภาษาถ้อยคำและภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำข้างต้น ทำให้เราเห็นว่า การใช้ภาษาของมนุษย์มีความซับซ้อน น่าสนใจ และ   น่าติดตาม บางครั้งเป็นการใช้ในลักษณะคล้อยตามกัน แต่บางครั้งกลับใช้ในลักษณะขัดแย้งกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจหรือเจตนาของผู้ส่งสาร ฉะนั้นเมื่อเราได้รับสารจากบุคคลอื่น เราจำเป็นต้องตีความหมายสิ่งอื่นนอกเหนือจากคำพูดที่ได้ยินด้วย เพื่อจะได้รู้ความหมายที่แท้จริงของสารที่ส่งมา ลองสังเกตการใช้ภาษาของตัวท่านและคนรอบข้างดู แล้วท่านจะพบว่าคนเราใช้ภาษาที่มากกว่าถ้อยคำจริง ๆ 



                                      ******************************************* 

 

บรรณานุกรม

คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.(2541). ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร.   

       กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

สวนิต ยมาภัย.(2540). เอกสารการสอนชุดวิชาการใช้ภาษาไทย หน่วยที่ 1.นนทบุรี :สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.



 



 

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=72
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:53:39   เปิดอ่าน 3241  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 18:30:45   เปิดอ่าน 117155  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง