ประสบการณ์การรับเชิญเป็น Visiting Professor
วันที่เขียน 3/12/2559 17:01:49     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 17:46:14
เปิดอ่าน: 8249 ครั้ง

ณ ภาควิชา Agro-industrial Technology คณะ Agricultural Technology มหาวิทยาลัย Universitas Gadjah Mada (UGM) ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 26-30 พฤศจิกายน 2559

ประสบการณ์การรับเชิญเป็น Visiting Professor

Universitas Gadjah Mada (UGM) ประเทศอินโดนีเซีย

ระหว่าง 26-30 พฤศจิกายน 2559

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร สืบค้า

หลักสูตรวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษา (2557) ระบุว่าการจัดให้มีศาสตราจารย์อาคันตุกะหรือศาสตราจารย์รับเชิญ (Visiting professor) เป็นการให้ประสบการณ์แก่นักศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เสริมสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ของคณาจารย์และหรือนักวิจัย และสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันภายในประเทศกับต่างประเทศ ในตัวบ่งชี้ที่ 2.1 เรื่อง ระบบและกลไกการบริหารและพัฒนางานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ ตัวบ่งชี้ที่ 3.2 เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา และตัวบ่งชี้ที่ 5.2 เรื่อง การวางระบบผู้สอนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนสำหรับบัณฑิตศึกษา แต่หากมองในอีกมิติหนึ่ง สำหรับตัวบุคคลที่ได้รับเชิญเป็น Visiting Professor แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นการเผยแพร่เกียรติยศของมหาวิทยาลัย และสามารถนำวิธีปฏิบัติที่ดีที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับหน่วยงานของตนเอง รายละเอียดต่อไปนี้เป็นข้อมูลแนวทางการเตรียมตัวสำหรับบุคคลที่จะได้รับเชิญเป็น Visiting Professor ในระดับนานาชาติ

การเลือกหน่วยงานรับเชิญเป็น Visiting Professor

การรับเชิญเป็น Visiting Professor ครั้งแรกผู้เขียน คือที่ Universitas Gadjah Mada (UGM) ประเทศอินโดนีเซีย UGM เป็นมหาวิทยาลัย Ranking อันดับ 3 ในประเทศอินโดนีเซีย (อันดับ 105 ในเอเชีย) ในขณะที่ Ranking อันดับ 1 ของประเทศได้แก่ Universitas Indonesia (อันดับ 67 ในเอเชีย) และอันดับ 2 ได้แก่ Bandung Institute of Technology (ITB) (อันดับ 86 ในเอเชีย) (QS Top Universities, 2016) โดยภาควิชาที่ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายคือ ภาควิชา Agro-industrial Technology คณะ Agricultural Technology ทั้งนี้หลักสูตร Agro-industrial Technology เพิ่งได้รับการรับรองคุณภาพหลักสูตรจาก AUN-QA ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าผู้บริหารภาควิชา รวมทั้งคณาจารย์และบุคลากรทุกตำแหน่งเห็นตรงกันว่าน่าจะมุ่งสู้เป้าหมายที่สูงกว่านั่นคือ “ABET Accreditation” ในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปนั้น หัวหน้าภาควิชา Agro-industrial Technology รองศาสตราจารย์ ดร. Adi Djoko Guritno ได่ผานการอบรม “ABET Accreditation” ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว

AUN-QA

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การเตรียมตัว

  1. เมื่อได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ (Invitation letter) (ผู้เขียนได้รับทางอีเมล) ก็ทำบันทึกข้อความเสนออธิการบดีเพื่อขออนุมัติเดินทางไปราชการ ณ ต่างประเทศ แนบ

1.1 ส่วนลงนามการขออนุมัติเดินทางไปราชการ ณ ต่างประเทศ

1.2 แบบรายงานการฝึกอบรม /เสนอผลงาน/ดูงาน ณ ต่างประเทศ (ครั้งล่าสุด)

    2. ซื้อตั๋วเครื่องบิน (หากมหาวิทยาลัยเจ้าภาพยินดีให้เราซื้อตั๋วเครื่องบินเอง) ในกรณีของผู้เขียน UGM ให้ผู้เขียนซื้อตั๋วเอง สายการบินใดก็ได้ แต่ต้องเป็น Economy Class

    3. จัดเตรียมของที่ระลึกเพราะต้องไปพบกับคณบดี หัวหน้าภาควิชา คณาจารย์ในสังกัด และบุคคลากรที่ภาควิชากำหนดให้ดูแล Visiting Professor ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบติภาระกิจในมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ ในส่วนของที่พักส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยเจ้าภาพจะจัดหาให้

    4. ตรวจสอบอายุของหนังสือเดินทาง (Passport) สภาพอากาศ และเก็บกระเป๋า เตรียมตัวออกเดินทาง

หนังสือเดินทางราชการ (Official passport)

การถือหนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) (เล่มน้ำเงิน) จะได้รับสิทธิ์พิเศษมากมาย อาทิ ผ่านด่วนตรวจคนเข้าเมืองช่องทางพิเศษ (สำหรับประเทศไทยสามารถของของบัตรสิทธิพิเศษให้ผู้ติดตามที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (เล่มแดง) เข้าด่วนตรวจคนเข้าเมืองช่องทางพิเศษพร้อมกับคนที่ถือหนังสือเดินทางราชการได้ด้วย แต่ต้องของบัตรผ่านพิเศษกับสายการบินตอนที่ทำการโหลดกระเป๋าบริเวณ เคาน์เตอร์เช็คอิน) และเมื่อไปถึงประเทศอินโดนีเซียก็มีช่องทางพิเศษสำหรับคนถือหนังสือเดินทางราชการด้วย ทั้งนี้ในประเทศอินโดนีเซียจะใช้ภาษาอังกฤษว่า “Service passport” ข้อดีของการถือหนังสือเดินทางราชการคือ ประชาชนที่รอต่อแถวมีจำนวนน้อย ทำให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว

บรรยากาศการบรรยายในห้องเรียน

โดยปกติมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ (Host institutions) จะมีกำหนดให้ Visiting Professor บรรยายทั้ง 2 ระดับคือ ระดับปริญญาตรี (Undergrad) กับระดับบัณฑิตศึกษา (Postgrad) การเลือกหัวข้อบรรยายสำหรับระดับปริญญาตรีนั้นควรเป็นการให้ความรู้ทั่วไป อย่าเน้นข้อมูลวิชาการเชิงลึกมากนัก และหากเป็นไปได้เลือกหัวข้อที่กำลังเป็นกระแส (Hot issue) เพื่อจูงใจให้นักศึกษาเข้าฟังเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้เขียนเลือกบรรยายหัวข้อ “University Student Life and Recent Agro-industry in Thailand” ผู้เขียนถูกกำหนดให้เลคเชอร์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09:00-11:00 น. จำนวน 2 ชั่วโมง มีมีนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าฟังการบรรยายประมาณ 60 คน หลังจากบรรยายเสร็จก็มีนักศึกษาที่เข้าฟังถามคำถาม (เท่าที่จำได้) ดังนี้

1) อุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางภาครัฐอย่างไร

2) มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีส่วนช่วย SMEs ในประเทศอย่างไรบ้าง

3) ทำไมอุตสาหกรรมทูน่าในประเทศไทยจึงเข้มแข็ง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

4) การแข่งขันด้านการหางานทำสำหรับบัณฑิตจบใหม่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติเป็นอย่างไรบ้าง

5) โครงการที่พัฒนาโดยในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ และจะยังคงมีความต่อเนื่องหรือไม่หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต

ในส่วนระดับบัณฑิตศึกษา ควรเลือกหัวข้อที่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทุกคนจำเป็นต้องรู้ ต้องใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มจำนวนผู้เข้าฟัง สำหรับผู้เขียนเลือกบรรยายหัวข้อ “Improving the Quality of the Master Thesis Using Statistical Package” ผู้เขียนถูกกำหนดให้บรรยายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09:00-12:00 น. จำนวน 3 ชั่วโมง มีนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าฟังการบรรยายประมาณ 20 คน หลังจากบรรยายเสร็จก็มีคำถามดังนี้

1) การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติในการวิเคราะห์แบบพรรณาสามารถทำได้หรือไม่

2) การแก้ปัญหาหากผู้เขียนบทความ (Authors) เพื่อตีพิมพ์ในระดับนานาชาติไม่มี License โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ

3) ทิศทางของประเทศจะเป็นอย่างไรหลังจากในหลวงรัฐกาลที่ 9 สวรรคต ถึงตอนนี้ผู้เขียนก็ยากที่จะระงับความเศร้าโศกและเสียใจไว้ได้ จึงได้เล่าให้ฟังว่าทำไมคนไทยถึงมีความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการเสียชีวิตของมารดาผู้เขียนเอง

ในขณะบรรยายผู้เขียนได้พยายามจัดชั้นเรียนให้ผ่อนคลายเพื่อทำให้นักศึกษากล้าตั้งคำถาม ด้วยการใช้รูปภาพ อาทิ รูปการเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาไทย รูปการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ร่วมกับการแชร์ประสบการณ์จริงของผู้เขียนในขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ณ ประเทศญี่ปุ่น จากการใช้เวลา 2 วัน บรรยาย 2 หัวข้อ พบว่านักศึกษาอินโดนีเซียมีทักษะการฟังและพูดภาษาอังกฤษค่อนข้างดีถึงดีมาก คิดว่าทักษะนี้น่าจะเกี่ยวกับ ranking ของมหาวิทยาลัยและจำนวนประชากรของประเทศที่มีเป็นจำนวนมากทำให้มีการแข่งขันสูง นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษามีความกล้าในการตั้งคำถาม ในระดับอุดมศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย นักศึกษาทุกระดับไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษา (Uniform) แต่ต้องแต่งกายเรียบร้อย ห้ามใส่รองเท้าแตะและเสื้อยืด และสิ่งที่เหมือนกันกับนักศึกษาไทยคือที่นั่งแถวหน้าๆ จะไม่ค่อยมีคนนั่ง คนที่มาทีหลังก็จะไปนั่งแออัดกันอยู่ด้านหลังห้อง และมีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในระหว่างฟังการบรรยาย

 

 Postgrad

กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการอื่น ๆ 

  หลังจากการบรรยายเสร็จสิ้นในแต่ละวันก็จะมีกิจกรรมหารือความร่วมมือทางวิชาการ (Collaborative activities) ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 มีการหารือเรื่อง Student Mobility กับ Student Exchange ส่วนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง International Association for Agro-industry ข้อสรุปที่ได้จากการการหารือเรื่อง Student mobility กับ student exchange มีดังนี้

1. ที่พัก มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งเป็นฝ่ายจัดหาให้ฟรี ซึ่งหากมหาวิทยาลัยผู้มาเยือน (Guest  Institutions) ต้องการที่พักที่อื่น ต้องจ่ายเองเพิ่มเติมจากอัตราที่มหาวิทยาลัยเจ้าภาพเตรียมไว้ให้

2. ค่าขนส่งในประเทศ (Local transportation) ซึ่งไม่ใช่ค่าเครื่องบินภายในประเทศ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจัดหาให้ฟรี

3. ค่าลงทะเบียนและ/หรือค่าทำวิจัย มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจัดหาให้ฟรี

4. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวประจำวัน นักศึกษารับผิดชอบเอง

5. ค่าประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ นักศึกษารับผิดชอบเอง

6. ค่าตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ นักศึกษารับผิดชอบเอง

7. ค่าคำขอจัดทำวีซ่าและหนังสือเดินทาง นักศึกษารับผิดชอบเอง

ในส่วนการหารือกิจกรรมสำหรับ International Association for Agro-industry นั้นทาง UGM อยากให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามาเป็นสมาชิก ในปัจจุบันมีสมาชิก 13 มหาวิทยาลัย/สถาบันจาก 8 ประเทศ สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกแล้วได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกิจกรรมในแต่ละปีที่จัดได้แก่ การจัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference of Agro-industry, ICoA) ซึ่งบทความที่นำเสนอในที่ประชุมนี้จะถูกคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสารของประเทศเจ้าภาพ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษา โดยกิจกรรมในอนาคตที่คาดว่าจะดำเนินการได้แก่ การอภิปรายแบบซิมโพเซียม (Symposium) ในประเด็นที่กำลังเป็นที่กล่าวถึง ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Agro-industrial Exhibition ในระหว่างการจัดการประชุมเชิงวิชาการ รวมทั้งการตีพิมพ์ Proceedings ในวารสารที่ index โดยฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ เพื่อที่จะดึงดูดนักวิชาการให้นำผลงานมานำเสนอในที่ประชุม

บทเรียนแห่งการเรียนรู้ (Lessons Learned)

  1. นักศึกษาของ UGM สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งๆ ที่มีวิชาบังคับเรียนทางด้านภาษาอังกฤษเพียง 4 หน่วยกิตในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์ของ UGM ให้ข้อมูลว่า นักศึกษาที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนใหญ่เรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม
  2. การจัดให้มี Visiting professor ใช้ระยะเวลา 1-2 วันเท่านั้นก็สามารถนับเป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator, KPI) ได้ ในขณะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะนับเป็น KPI ได้ก็ต่อเมื่อได้รับเชิญอย่างต่ำ 3 เดือน ซึ่งปฏิบัติได้ยากมาก เนื่องจากอาจารย์แต่ละท่านต้องมีภาระการสอนประจำรอบการขึ้นขั้นเงินเดือน อีกทั้งในอนาคตข้างหน้าช่วงเวลาการเปิด-ปิดเทอมก็จะไม่ตรงกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียน ทำให้ภาระกิจด้านการเป็น Visiting Professor แทบจะปฏิบัติไม่ได้เลย นอกจากนี้การได้รับเชิญเป็น Visiting Professor ที่มหาวิทยาลัยเจ้าภาพต้องจ่ายค่าเบื้ยเลี้ยงต่อวันเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร อย่างในกรณีของผู้เขียนได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงวันละประมาณ 4,000 บาท (เฉพาะวันที่บรรยาย) ดังนั้นจึงไม่มีมหาวิทยาลัยเจ้าภาพใดยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนมากขนาดนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากมหาวิทยาลัยผู้มาเยือนจะจ่ายให้กับบุคลากรของตนเองเพื่อให้ได้รับเชิญไปเป็น Visiting professor จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างส่วนงานกับส่วนงาน/มหาวิทยาลัย/สถาบันอื่น โดยได้รับความเห็นชอบ/แต่งตั้งจากผู้บริหารส่วนงานอย่างเป็นทางการต้องมีระยะเวลาการปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป หรือมาสอนเป็น Module หรือ Topic ในเนื้อหาของกระบวนวิชานั้นๆ อย่างต่อเนื่องหรือจนจบ Module หรือ Topic นั้นๆ” ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะทบทวนระยะเวลาการได้รับเชิญเป็น Visiting Professor ให้สามารถปฏิบัติได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานอย่างยิ่ง
  3. อาคารหอพัก ห้องพัก และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ที่จัดเตรียมไว้ให้นักศึกษาต่างชาติ มีการจัดการที่ดีทั้งระบบความปลอดภัย การใส่ใจในความเป็นส่วนตัว (1 ห้องพักแค่ 2 คนพร้อมห้องน้ำในตัว) ความใส่ใจในรายละเอียดสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การจัดให้มีร้านสะดวกซื้อ การจัดให้มีบริการซักรีดเสื้อผ้า การจัดให้มี canteen ใต้หอพัก หรือการจัดให้มี Internet ทั้งระบบ Lan ในห้องพัก และระบบ Wifi รอบ ๆ อาคารที่พัก ได้รับการดูแลและบริหารอย่างมืออาชีพ


บทสรุป 

การได้รับเชิญเป็น Visiting Professor เป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิตการเป็นอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการอื่น ๆ อีกต่อไป ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตัวนักศึกษา ตัวอาจารย์ และหน่วยงาน ทั้งนี้มีข้อแนะนำสำหรับ Visiting Professor มือใหม่ควรเลือกประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการก่อน และควรมีการประเมินผลความพึงพอใจต่อการบรรยายของผู้ฟังเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสำหรับการเป็น Visiting Professor ในคราวต่อไป

คำขอบคุณ 

ผู้เขียนใคร่ขอบคุณ Assoc. Prof. Dr.Adi Djoko Guritno หัวหน้าภาควิชา Agro-industrial Technology คณะ Agricultural Technology, UGM ประเทศอินโดนีเซียที่ไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวผู้เขียน ขอขอบคุณภาควิชา Agro-industrial Technology คณะ Agricultural Technology, UGM ประเทศอินโดนีเซีย ที่สนับสนุนงบประมาณในการเดินทาง ขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร เปรมจิต มหาวิทยาลัยนเรศวรที่แนะนำให้ UGM เลือกผู้เขียนเป็น Visiting Professor และขอขอบคุณ รองศาสตราจารย์เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร ข้าราชการเกษียณอายุมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่แนะนำการใช้ QS University Rankings รวมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนบทความนี้ และสุดท้ายขอขอบคุณอาจารย์สุวรรณ เลียงหิรัญถาวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ให้คำแนะนำในการเขียนบทความนี้

เอกสารอ้างอิง 

สำนักมาตรฐานและคุณภาพอุดมศึกษา. 2557. คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา ฉบับปีการศึกษา 2557. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

QS Top Universities. 2016. The QS World University Rankings® 2016-2017 - Asia Region (online). Available at http://www.topuniversities.com/university-rankings/asian-university-rankings/2016 (December 03, 2016).

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:53:39   เปิดอ่าน 3241  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:50:49   เปิดอ่าน 117145  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง