ขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. ปรัชญาการวิจัยและจรรยาบรรณการวิจัย โดย รองศาสตราจารย์นงนุช กันธะชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
การวิจัย แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งจะอาศัยกระบวนการหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีระเบียบแบบแผน โดยจะเร่มต้นที่กฎหรือทฤษฎีก่อน จากนั้นข้อมูลเชิงประจักษ์จะถูกรวบรวมและนำมาศึกษาด้วยวิธีการอนุมาน และสรุปเป็นข้อค้นพบ
2. การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กระบวนการวิจัยจะเริ่มต้นด้วยข้อมูล สภาพการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ข้อมูลจะถูกนำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีอุปมาน แล้วสรุปตีความผลการวิเคราะห์ ตั้งเป็นองค์ความรู้ เป็นกฎ หรือทฤษฎี แล้วอาศัยวิธีการพรรณนาเป็นสำคัญ
3. การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) เป็นการวิจัยที่ผสมระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ
จรรยาบรรณการวิจัย มีดังนี้
1. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
2. นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
3. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย
4. นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
5. นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่าง
6. นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย
7. นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
8. นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
9. นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ
2. การกำหนดโจทย์การวิจัยแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับนโยบายการวิจัยของประเทศ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สิริโฉม พิเชษฐบุญเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
โจทย์การวิจัย สามารถหาได้จากหลายแหล่ง เช่น นโยบายการวิจัยของชาติ การค้นหาปัญหาโจทย์ร่วมกันกับพื้นที่ ปัญหาในหน่วยงาน การทบทวนทฤษฎี/งานวิจัย ประสบการณ์ของนักวิจัยเอง และแหล่งทุน เป็นต้น
หลักการเขียนโครงการวิจัย แบ่งตามองค์ประกอบดังนี้
1. ชื่อโครงการวิจัย ควรเขียนให้สั้น กะทัดรัด ชัดเจน เข้าใจง่าย น่าสนใจ ทันสมัย ความยาวไม่เกิน 2 บรรทัด
2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ควรระบุสภาพปัญหา ชี้ให้เห็นถึงประเด็นของปัญหาว่าเป็นอย่างไร ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องทำวิจัย ต้องอ้างอิงแหล่งเอกสารที่มาประกอบด้วยเสมอ ถ้านำผลงานวิจัย แนวคิด หรือทฤษฎีของผู้อื่นมากล่าวไว้ ต้องเขียนขมวดท้ายหรือสรุปให้เห็นถึงประโยชน์จาการทำวิจัยนี้
3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ควรเขียนเป็นประโยคบอกเล่าให้ชัดเจน และต้องตระหนักว่าทำได้
4. ขอบเขตการวิจัย ควรกำหนดขอบเขตตัวแปรที่เกี่ยวข้องจริงๆ
5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ควรเขียนเป็นข้อๆ เรียงลำดับตามความสำคัญ แสดงให้เห็นว่า ผลการศึกษานำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไป หรือใช้อย่างไร
3. การทบทวนวรรณกรรมและการสังเคราะห์วรรณกรรม โดย ว่าที่ ร.อ.ดร. ขจร ตรีโสภณากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักการคัดเลือกวรรณกรรม แบ่งตามแหล่งที่มาดังนี้
- Book & Text book เป็นพื้นฐานและทฤษฎี ไม่ทันสมัย
- Thesis เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียด เข้าถึงได้ยากและการยอมรับในวงวิชาการยังไม่มาก
- Intellectual Properties ทันสมัย เหมาะกับงานประยุกต์ ค้นหายาก และมีข้อจำกัด
- Proceedings เชื่อถือได้ระดับหนึ่งเพราะอาจยังไม่สมบูรณ์ เข้าถึงได้ยาก
- Periodic Publication เชื่อถือได้สูง มีฐานข้อมูลเยอะ เป็นปัจจุบัน ถูกนำมาใช้ในการทบทวนวรรณกรรมและอ้างอิงในงานวิจัยมากที่สุด
- Concerned Communities ข้อมูลตรง ต้องใช้วิจารณญาณและหลักฐานอื่นประกอบ