รายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี ๒๕๕๘
วันที่ ๘-๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ข้าพเจ้า นางปิยะนุช เนียมทรัพย์ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัด หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ขอนำเสนอรายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๘-๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ตามหนังสือขออนุญาตเดินทางไปราชการ เลขที่ ศธ.๐๕๒๓.๔.๔/๕๑๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ซึ่งการเข้าร่วมประชุมวิชาการดังกล่าวข้าพเจ้าได้เลือกใช้งบประมาณการพัฒนาบุคลากรตามกรณีที่ ๒ ดังนั้นจึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของ ประชุมวิชาการ ดังต่อไปนี้
๑. การพัฒนาเกี่ยวกับงานวิจัย
ได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาทางวิชาการจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับชาติ อาทิเช่น รองศาสตราจารย์สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ดร.อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย ที่ได้มาเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: วิกฤตหรือโอกาสเกษตรไทย ซึ่งทำให้ได้รับฟังความรู้ ความคิดเห็นทางวิชาการที่จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเกี่ยวกับงานวิจัยต่อไปได้
ได้เข้าร่วมรับฟังและทำหน้าที่เป็นเลขานุการของการนำเสนอผลงานทางวิชาการภาคบรรยายแบบปากเปล่า ในกลุ่มผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ได้เห็นความก้าวหน้าของงานวิจัยในแขนงต่างๆ และสามารถนำมาปรับใช้กับงานวิจัยของตนเองได้
๒. การพัฒนาการเรียนการสอน
สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้มาพัฒนาการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของจุลชีววิทยาได้หลายวิชาให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น
- วิชาในระดับปริญญาตรี ได้แก่ วิชา ชว ๓๓๐ วิชาจุลชีววิทยา ชว ๓๕๐ วิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
และ ชว ๔๓๓ วิชาวิชาการจำแนกแบคทีเรีย
- วิชาในระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่ วิชา ทช ๕๓๐ วิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านจุลินทรีย์ ทช ๕๓๑ วิชาการจำแนกจุลินทรีย์ ทช ๕๓๓ วิชาความหลากหลายของจุลินทรีย์ และ ทช ๗๓๐ อนุกรมวิธานของจุลินทรีย์ขั้นสูง
รวมทั้งนำมาพัฒนางานปัญหาพิเศษ งานวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ ให้มีความทันสมัยและทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้