นักบินอวกาศคนแรกของไทย
วันที่เขียน 28/2/2557 12:07:19     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 8:02:06
เปิดอ่าน: 16749 ครั้ง

ความฝันอันแรงกล้าก่อเกิดเป็นพลังที่เข้มแข็ง นำพาหญิงสาวที่มีหัวใจแกร่งเกินร้อยผู้นี้ยืนหยัดเป็น 1 ใน 23 คนที่จะได้ไปท่องอวกาศจากโครงการที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก

 

“นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย”

                                              ...เมื่อมีความฝันก็จะมีแรงดลบันดาลใจ  อยู่ที่ใจว่าจะสู้หรือไม่.....                                                                 

                                                                                     โดย   ปาณิศา    คงสมจิตต์                                                 

                                                                      นักเอกสารสนเทศ : ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร

 

เห็นสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โปรยหัวข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงไทยคนแรกที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย  ในฐานะที่จะได้ขึ้นไปท่องอวกาศโดยผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่า  “พิรดา  เตชะวิจิตร์” เป็น 1 ในจำนวน 23 คนที่ถูกคัดแล้วคัดอีกจากผู้คนนับล้านทั่วโลกที่สมัครเข้าร่วมในโครงการนี้  ซึ่งแต่ละคนก็มีความใฝ่ฝันอยากจะได้ขึ้นไปท่องบนอวกาศกัน

สำหรับ พิรดา เตชะวิจิตร์  มีชื่อเล่นว่ามิ้งค์  วัย 29 ปีเศษ เป็นชาวจังหวัดลำปาง  ปัจจุบันเป็นวิศวกรดาวเทียม ประจำสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศหรือที่รู้จักกันดีในนามจิสด้า(Gistda)  ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมไทยโซตหรือดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ธรรมชาติของประเทศไทยโดยดูทั้งภาคพื้นดินและบนดาวเทียม  สำหรับใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนบริหารประเทศในอนาคต

 

จากการที่ทำงานด้านดาวเทียมและมีความชอบด้านเทคโนโลยี  พัฒนาไปเป็นความคลั่งไคล้เรื่องอวกาศจนเกิดความฝันแรงกล้าว่าสักวันจะต้องเป็นมนุษย์อวกาศให้ได้  ทำให้พิรดาเกิดแรงบันดาลใจและพร้อมที่จะผลักดันความฝันของเธอให้เป็นจริงเมื่อ “แอ๊กซ์  อพอลโล่” ได้จัดกิจกรรมโครงการที่มีไปทั่วโลกกว่า 62 ประเทศ เพื่อทำการคัดเลือกคนไปอวกาศ  มีผู้คนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่าล้านคน ผ่านกิจกรรม 3 ช่องทาง คือ

1.ส่งรหัสผลิตภัณฑ์แอ๊กซ์เข้าร่วมชิงโชค

2.ทำคลิปเพื่อส่งเข้าประกวด

3.สมัครเข้าร่วมแข่งขันแฟนพันธุ์แท้อพอลโล่

ซึ่งพิรดากลัวว่าจะพลาดจึงเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 ช่องทาง จนเมื่อเข้าแข่งขันและชนะได้เป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วก็จะต้องไปแค้มป์ที่รัฐฟลอริด้าเพื่อเข้าคัดเลือกอีกในระดับหนึ่ง  ก่อนไปแคมป์ก็ได้มีโอกาสฝึกซ้อมเตรียมตัวกับทางกองทัพอากาศของไทยด้วยการไปฝึกเหมือนที่นักบินต้องฝึก เช่น เข้าห้องปรับความดันหรือเก้าอี้ดีดตัวที่ใช้กับนักบิน  มีการเรียนรู้เกี่ยวกับสรีระทางด้านร่างกายที่มีผลกระทบเกี่ยวกับความสูง  แรงดันอากาศของเครื่องบินที่นักบินจะต้องรู้  มีการเตรียมพร้อมทั้งด้านจิตใจและร่างกาย  โดยด้านจิตใจก็มีการฝึกบินกับนักบินเพื่อทดสอบสภาพจิตใจว่าดีหรือไม่เพราะเวลาขึ้นไปในอวกาศจะมีความกดดันหลายอย่าง  รวมทั้งมีสภาวะไม่ได้เหมือนอยู่บนโลกซึ่งต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง  ส่วนทางด้านร่างกายจะต้องเตรียมตัวให้ร่างกายแข็งแรงเนื่องจากการขึ้นไปอวกาศจะต้องมีการเกร็งตัว  ฝึกให้ทนแรงจีซึ่งจะทำให้เลือดตกลงมาที่เท้ามาก ฉะนั้นร่างกายต้องแข็งแรงต้องมีการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อที่จะไม่ให้เลือดไหลตกลงไปที่เท้ามากเกินไป

สำหรับการฝึกนักบิน  จะฝึกให้นักบินทนต่อแรงจี ( G = gravity หมายถึง แรงโน้มถ่วงของโลกขณะจรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเร่งความเร็วให้ถึงความเร็วหลุดพ้นนั้น  นักบินอวกาศจะถูกกดลงกับพื้นด้วยแรงอันเกิดจากการที่จรวดเร่งความเร็วทำให้รู้สึกว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 4 ถึง 5 เท่า ถ้าจะยืนอยู่คงทนไม่ได้  นักบินอวกาศจึงต้องครึ่งนั่งครึ่งนอนหันหน้าสู่ทิศที่จรวดพุ่งขึ้นไป  ทั้งนี้นักบินอวกาศต้องได้รับการฝึกเพื่อให้ทนต่อแรงจีนี้โดยมีอุปกรณ์การฝึกเป็นโครงเหล็กเหวี่ยงห้องฝึกหมุนไปอย่างเร็ว ให้นักบินอวกาศอยู่ในห้องฝึกนั้น  ฝึกให้ทนต่อสภาพไร้น้ำหนัก  เมื่อยานอวกาศโคจรรอบโลกจะเกิดสภาพไร้น้ำหนักในอวกาศเป็นสภาพที่ไม่เหมือนบนพื้นโลก  สภาพนี้คือสภาพที่เหมือนไม่มีแรงโน้มถ่วงกระทำต่อทุกสิ่งในยานอวกาศ  เมื่ออยู่ในสภาพไร้น้ำหนักของใช้ที่จับมาวางตรงหน้าจะลอยอยู่ได้แม้แต่ตัวนักบินอวกาศเองก็ลอยไปมาได้  การบังคับตัวเองไม่ให้หมุนคว้างไปชนอะไรจึงต้องมีการฝึกหัดโดยมีการฝึกบนเครื่องบินที่บินโค้งเป็นครึ่งวงกลมอย่างหนึ่งและฝึกในอ่างน้ำขนาดใหญ่อีกอย่างหนึ่งซึ่งนักบินอวกาศจะสวมชุดพิเศษลงไปอยู่ในน้ำ  ชุดนี้จะพยุงให้ตัวนักบินอวกาศมีความหนาแน่นเท่ากับน้ำพอดีจึงสามารถล่องลอยไปในน้ำได้เหมือนกับสภาพไร้น้ำหนักที่จะเกิดในอวกาศนั้น  


                                      

 

พิรดาบอกว่าตอนไปแค้มป์ที่รัฐฟลอริด้า ก็มีคณะกรรมการ 3 ท่าน คือ บัซ  อัลดริน  นักบินอวกาศตัวจริงผู้ลงเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2 ต่อจากนีล  อาร์มสตรอง , วิศวกรฝ่ายเทคนิคด้านยานอวกาศ , ตัวแทนจากบริษัทสเปซเอ็กซ์เพอดิชั่น คอร์เปอเรชั่น บริษัทผู้จัดจำหน่ายไฟลต์ที่นั่งขึ้นไปสู่อวกาศ

การคัดเลือกก็ใช้ 3 ปัจจัยหลักในการตัดสิน นั่นคือ ความกล้าหาญ  ความกระตือรือร้น  และการทำงานเป็นทีมเวิร์กโดยใช้ 3 ภารกิจหลักในการทดสอบ ได้แก่

ภารกิจแรก  - Hero  Mission ( G Force Centrifuge ) เป็นการทดสอบแรงจีด้วยเครื่องเหวี่ยงเพื่อทดสอบว่าทนแรงเหวี่ยงได้หรือไม่  เพราะว่าเมื่อมีแรงจีเลือดจากสมองจะตกลงไปที่เท้ามาก  จึงต้องมีการเกร็งตัวเพื่อไม่ให้เลือดตกลงไปที่เท้ามาก

ภารกิจที่สอง  - Air  combat  เป็นการนั่งเครื่องบินตัวต่อตัวกับนักบินแล้วนักบินจะขับเครื่องบินแบบตีลังกาเพื่อจะดูว่ากลัวความสูงหรือไม่และทนแรงจีได้หรือไม่

ภารกิจที่สาม  - Zero  G  Flight เป็นการสร้างสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงโดยการนำเครื่องบินขึ้นไปแล้วทำเสมือนกับว่าเครื่องบินตกโดยที่เราจะตกลงมาพร้อมกับเครื่องบิน  ทำให้เราไม่มีแรงโน้มถ่วงเป็นสภาวะที่ทดสอบว่าสามารถปรับตัวได้หรือไม่รวมทั้งมีความกลัวหรือไม่เพราะว่าในอวกาศจะมีช่วงที่อยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก  ไม่มีแรงโน้มถ่วง

นอกจากนั้นยังต้องฝ่าฟันภารกิจอื่นๆ ที่อยู่ในกระบวนการทดสอบมีทั้งการปีนเขาจำลอง  ฝึกข้ามรั้ว  ซิทอัพ 50 ครั้ง  วิดพื้น 50 ครั้ง ลอดอุโมงค์ ฯลฯในหลายภารกิจที่เธอเหนื่อยมากจนรู้สึกท้อ  แต่ด้วยจิตใจที่มีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมทำให้เธอพยายามอดทนจนสามารถทำภารกิจทุกอย่างได้สำเร็จในที่สุด  หญิงสาวไทยที่ชื่อพิรดากลายเป็น 1 ในจำนวน 23คน ที่ได้ถูกคัดเลือกให้ไปท่องอวกาศ จากจำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขันในรอบท้ายนี้ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาอีกจำนวน 107 คนจากทั่วโลก


                                

 

  “พิรดา  เตชะวิจิตร์” จะได้เดินทางไปยังอวกาศด้วยเครื่องบิน ลิงค์ มาร์ค ทู ซึ่งเป็นเครื่องบินเจ๊ตลำเล็กที่ถูกออกแบบเพื่อนำคนไปท่องอวกาศของบริษัทเอ็กซ์คอร์ ซึ่งเป็นบริษัทนำนักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินไปทัวร์อวกาศโดยจะขึ้นเครื่องบินไปกับนักบินอวกาศตัวต่อตัวด้วยความเร็ว 3,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้เวลาเพียง 3 นาที่ครึ่งเท่านั้นเครื่องบินก็จะทะยานสู่ชั้นบรรยากาศที่ความสูง 103 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลซึ่งการขึ้นไปถ้าเกิน 100 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเลไปแล้วก็จะถือว่าเป็นอวกาศ

เมื่อขึ้นไปแล้วจะค้างอยู่บนอวกาศนานประมาณ 6 นาทีเพื่อให้เก็บภาพและสัมผัสบรรยากาศด้วยสองตา  ได้เห็นโลกในมุมมองที่นับแต่มีประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติบนโลกนี้...มีเพียงแค่ 500 คนเท่านั้นที่เคยมีโอกาสไปพบเห็น  จะได้เห็นโลกสีฟ้าทั้งใบ  ก่อนจะพากลับมายังพื้นโลก...จะใช้เวลาตั้งแต่ออกจากภาคพื้นดินขึ้นไปอวกาศแล้วกลับมาจอดทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมงและจะออกเดินทางในปี พ.ศ.2558 นี้  ซึ่งไฟลต์เดินทางกำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบ

หากเมื่อถึงเวลานั้น....ชื่อของ “พิรดา  เตชะวิจิตร์ ” ก็จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักบินอวกาศคนแรกของไทย

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : เรื่องทั่วไป
Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน » Active listening: ฟังอย่างไรให้ได้ยิน
การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างบุคคล หลายครั้งที่การสื่อสารนั้นไม่ได้ผล เพราะ "เราฟังแต่ไม่ได้ยิน" การฟังแต่ไม่ได้ยินเกิดขึ้นหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อ...
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน พูนพัฒน์ พูนน้อย  วันที่เขียน 6/9/2562 16:49:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 27/3/2567 9:16:34   เปิดอ่าน 3049  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
Creative Commons » จัดการลิขสิทธิ์โลกออนไลน์ ด้วยมาตรฐาน Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) เป็นองค์กรไม่แสวง กำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โด...
creative commons  ลิขสิทธิ์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   เรื่องทั่วไป
ผู้เขียน อำนาจ ชิดทอง  วันที่เขียน 21/6/2562 15:11:08  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29/3/2567 7:47:32   เปิดอ่าน 94705  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง