ระบบการดูแลช่วยเหลือป้องกันการฆ่าตัวตายในสถาบันอุดมศึกษา โดยนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต
วันที่เขียน 10/10/2562 10:59:10     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 18:56:10
เปิดอ่าน: 5970 ครั้ง

ความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาต่อการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาต่อการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

  1. ระบบการดูแลช่วยเหลือป้องกันการฆ่าตัวตายในสถาบันอุดมศึกษา 

สถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งในทางจิตวิทยาไม่ใช่การนำตนเองไปสู่จุดจบ แต่ที่จริงเป็นการนำตนเองออกจากความเจ็บปวด แสดงว่านักศึกษาเหล่านี้มีปัญหาและสะสมมามากจนรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า หรือเป็นภาระกับผู้อื่น ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจึงเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำ แต่ใต้น้ำที่ใหญ่กว่าก็คือ ปัญหาสุขภาพจิตหรือความไม่เป็นสุขของนักศึกษา เมื่อมีความเครียดจากเหตุต่าง ๆ ก็จะแสดงออกเป็นพฤติกรรม เช่น การไม่เข้าเรียน มาสาย ผลการเรียนต่ำ เปลี่ยนสายการเรียน รวมทั้งการเล่นเกมส์ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด จากนั้นก็ลุกลามเป็นการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า ติดสุรา/สารเสพติด และที่รุนแรงที่สุดก็คือการฆ่าตัวตาย การป้องกันการฆ่าตัวตายจึงเป็นการช่วยดูแลปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษานั้นเอง การที่นักศึกษามีปัญหาในการปรับตัวเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ซึ่งหากเขาผ่านพ้นไปได้ก็จะมีความเข้มแข็งทางใจ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และสังคมต่อไป การจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิต จึงควรได้รับการป้องกันและช่วยเหลือแต่เนิ่น ๆ โดยมีระบบดูแลช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาเป็นระบบสำคัญ มหาวิทยาลัยทั่วโลกจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการประกันคุณภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทย โดยอัตราการฆ่าตัวตายในปี 2561 จำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ช่วงอายุ 70-74 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด (ร้อยละ 9.51) รองลงมาคือ ช่วงอายุ 35-39 ปี (ร้อยละ 9.13) และอัตราการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2557-2561 ในช่วงอายุ 10 -19 ปี และช่วงอายุ 20-24 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยใช้วิธีการแขวนคอ (ร้อยละ 74.5), กินยาฆ่าแมลง/ยากำจัดวัชพืช (ร้อยละ 8.6), ปืน (ร้อยละ 5.9), เครื่องยาและชีววัตถุ
(ร้อยละ 3.8) และวิธีอื่น ๆ เช่น กระโดดน้ำ กระโดดตึก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย คือ ความสัมพันธ์, การใช้สุรา, มีอาการมึนเมาขณะทำร้ายตนเอง, โรคทางจิตเวช, โรคทางกาย และเศรษฐกิจ เป็นต้น

และในปี 2562 สถานการณ์การฆ่าตัวตายจากการนำเสนอข่าว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 27 เมษายน 2562 พบว่ามีคนฆ่าตัวตาย จำนวน 129 คน โดยใช้วิธีการในการฆ่าตัวตาย ดังนี้ 1. วิธีผูกคอตาย จำนวน 44 คน, 2. วิธีใช้ปืนยิงตัวตาย จำนวน 34 คน,3. วิธีรมควัน จำนวน 22 คน, 4. วิธีกระโดดตึก จำนวน 15 คน และวิธีการอื่น ๆ เช่น กระโดดน้ำ, มีด, กินยา, จุดไฟเผา จำนวน 14 คน ซึ่งมีสาเหตุมากจากปัญหาด้านสุขภาพจิต, ด้านสัมพันธภาพ, ปัญหาการเรียน/งาน, การใช้สุรา/สารเสพติด และการใช้ความรุนแรง (ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์ wwwthairath.co.th/home

จากสถิติดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะนี้มีข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตายหลายราย โดยจะใช้วิธีการที่เหมือนกันซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า Copycat หรือการเลียนแบบ เหตุการณ์ลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหา 2 ด้าน คือ ด้านกลุ่มคนที่มีปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยระบบดูแลช่วยเหลืออาจไม่สมบูรณ์ และด้านวิธีการเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายตาม ซึ่งจากการศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น พบว่า ไม่มีนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะ สาเหตุเดียว ส่วนใหญ่จะมีปัญหาที่ซ้ำซ้อน และการเสนอข่าวอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะการพาดหัวข่าวที่เด่นชัดและแรง เป็นการกระตุ้นให้กลุ่มคนที่มีปัญหามากอยู่แล้ว อาจเลือกทางออกเลียนที่เป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาในทั้ง 2 ด้าน  ด้านหนึ่งดูแลกลุ่มเสี่ยงให้ดีขึ้น คือ ทำระบบดูแลนักศึกษาให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าทำได้ปัญหาก็จะลดลง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสื่อสารให้ดีขึ้นด้วย ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเหมือน Tip of Iceberg ที่ด้านล่างใต้ผิวน้ำของภูเขาน้ำแข็ง คือ ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสัมพันธภาพ ความรุนแรง การใช้สารเสพติด ปัญหาการเรียน ปัญหาการทำงาน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ส่วนด้านบนที่โผล่เหนือผิวน้ำของภูเขาน้ำแข็ง เป็นการฆ่าตัวตาย มหาวิทยาลัยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ก็มีเป็นข่าว จึงเป็นสิ่งบอกเหตุว่าระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยยังต้องพัฒนา

องค์การอนามัยโลกเสนอว่า การฆ่าตัวตายสามารถลดลงได้ต้องมีสองด้าน คือ การบริหารจัดการกับ Intervention สำหรับการจัดการ ผู้นำต้องมีภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตของนักศึกษา มี Intervention ที่ดี มีการประเมินผลที่ดี เขียนสรุปได้เป็น Leadership Intervention Vision Evaluation ส่วนด้าน Intervention มี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1) การหาทางลดวิธีการที่นักศึกษาใช้ฆ่าตัวตาย เช่น กรณีการกระโดดตึก โรงแรมสมัยใหม่อาคารจะไม่มีส่วนที่สามารถใช้ออกไปกระโดดได้

2) Interaction with media องค์ประกอบนี้เป็นหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตในการจัดสัมมนาสื่อ เรื่องวิธีการลงข่าวที่เหมาะสม 

3) Life skills คือ ทำได้ทั้งในวิชาหมวดการศึกษาทั่วไปให้มีเนื้อหา Life skills หรืออยู่ในคาบ Home room นักศึกษาก็จะได้มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี

4) ระบบการดูแลนักศึกษาต้องมี Early Identification ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง

จากข้อเสนอของกรณีการฆ่าตัวตายดังกล่าว การป้องกันต้องดำเนินการทั้งในระดับรายบุคคล คือ การให้ความรู้กับเพื่อนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ให้รู้จัก 3 ส และหลัก ACT ส่วนในอีกระดับหนึ่งได้แก่ ระดับประชากรทั้งสังคม คือ เรื่อง Do/Don’t ของสื่อ เรื่องการปรับปรุงระบบดูแลนักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้กำลังมีการมองถอดบทเรียนจากมหาวิทยาลัยต้นแบบลักษณะต่าง ๆ คือ จากกลุ่มมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยขนาดกลาง และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสุดท้ายคือเรื่อง Postvention ที่มาจากคำว่า Post + Intervention ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่กำหนดขึ้นมา คือ เมื่อเกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย ก็ต้องมีการจัดการและทบทวนระบบใหม่ 

       ระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาใหม่ที่ควรปรับปรุงขึ้นนี้ หัวใจสำคัญคือ ต้องมีการออกแบบและทำตามระบบจริง อาจารย์ต้องรู้จักนักศึกษาเป็นรายบุคคลจริง ต้องมีการจัดกิจกรรม Homeroom ก็จะทำให้ทราบว่ามีนักศึกษาคนไหนต้องการการให้คำปรึกษา ซึ่งจะทำให้มีการให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้น และมีการส่งต่อตามลำดับ เริ่มจากมี Counselors ภายในมหาวิทยาลัยขึ้นมาก่อน การส่งต่อไปยังจิตแพทย์เลยนั้นจะล่าช้าและไม่ค่อยครอบคลุม ควรจะมีตัวกลางคั่นคือ Counselors ที่จะสามารถดูแลได้มากกว่าเร็วกว่าที่จะส่งไปยังจิตแพทย์เลยทันที คือต้องมีระบบภายในและค่อยส่งต่อภายนอกตามลำดับ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง ที่มีกลุ่มงานสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยา และนักวิชาชีพเฉพาะที่เชี่ยวชาญ ถ้ารุนแรงกว่านั้นก็จะส่งไปโรงพยายาลศูนย์ราชบุรีที่มีแผนกจิตเวชและจิตแพทย์ ถ้ามหาวิทยาลัยมีระบบแล้ว ถ้านักศึกษาไม่มีปัญหาก็ดูแลต่อเนื่องโดยอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นอีก ก็จะต้องมี Postvention คือ ต้องมีมาตราการชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นต้องมีการจัดทำรายงาน และประเมินผล

 

ระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับระบบการเรียนการสอน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องจัดทำมาตรฐานที่เป็นหลักประกันว่าจะมีการจัดระบบให้มีคุณภาพตามที่ตั้งใจไว้ จากนั้นการวางระบบทำตามระบบอย่างที่กล่าวมาจะต้องเป็นการสะท้อนคุณภาพตามมาตรฐาน โดยมีการทบทวน ปรับปรุงเป็นระยะทุกภาคการศึกษา ควบคู่ไปกับการมีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Professional Learning Community หรือ PLC) ทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนงานเอกสารและบันทึกที่บางมหาวิทยาลัยมีอยู่นั้นไม่ได้มีการนำมาใช้และวิเคราะห์จริง ดังนั้นงานส่วนต่าง ๆ ควรมีการเขียน Work Instruction ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่สำคัญ คือการรู้จักนักศึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อจะได้ทราบว่าใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจทำเป็นแบบ Check list พฤติกรรม ได้แก่ 1) พฤติกรรมการเรียน เช่น มาสาย ขาดเรียน หลับในห้องเรียน ผลการเรียนตก เปลี่ยนสายการเรียน 2) อาการและพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น มีการแยกตัว ซึมเศร้า บ่นไม่อยากมีชีวิต เสพสุรา ยาเสพติด ติดเกมส์ เป็นต้น ซึ่งอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้เป็นอาการของปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว จริง ๆ แล้วถ้าเพื่อนรู้และรู้ว่าเรื่องแบบนี้ต้องแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษา การฆ่าตัวตายอาจจะลดน้อยลงมาก สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Early Identification ที่ต้องรู้ว่าใครเสี่ยง ซึ่งก็ครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ นั่นเอง ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงระหว่างอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะในหลายกรณีของข้อแรก อาจารย์ผู้สอนรู้แต่ไม่มีการเชื่อมโยงกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะแก้ไขแต่เนิ่น ระบบจึงควรจัดให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันได้ง่ายและทันกาล

ส่วน Life Skills คือ การทำให้นักศึกษามีความเข้มแข็ง โดยเริ่มต้นจากนักศึกษาต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีการตระหนักในตนเอง เข้าใจผู้อื่น ภูมิใจในตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร การตัดสินใจ การแก้ปัญหา
การจัดการกับอารมณ์ และการจัดการความเครียด บางมหาวิทยาลัยจัดให้มีกิจกรรม Homeroom
แต่คู่มือการจัด Homeroom ยังไม่ได้เน้นเรื่องทักษะชีวิต เป็นที่น่าสังเกตว่ามีนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่อาจกังวลว่าจะไม่จบการศึกษา รู้สึกคล้ายกับว่าตนเองมาถึงเกือบปลายทางแล้วแต่ไม่สามารถไปต่อได้ ซึ่งถ้าระบบมีความเข้มแข็งก็จะมีการให้ทักษะที่สร้างความเข้มแข็งให้นักศึกษาสามารถจัดการกับปัญหาชีวิตได้ดีกว่า ปรับตัวได้ดีขึ้น  การมีระบบนี้ไม่ใช่เป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายอย่างเดียว แต่เรื่องนี้เป็นผลพลอยได้มากกว่า

หลักการให้คำปรึกษาเบื้องต้นสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาในการดูแลสุขภาพจิตทุกปัญหา คือ 3 ส ซึ่งเป็นวิธีการช่วยเหลือทางจิตใจเบื้องต้น มีดังนี้

  1. อดส่อง มองหา คือ ต้องรู้ว่า ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง คนใกล้ชิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
  2. ใส่ใจ รับฟัง คือ การฟังอย่างใส่ใจ ช่วยให้เกิดความไว้วางใจ เช่น คำที่กล่าวว่า อย่าคิดมาก แท้จริงแล้วเป็นการตัดบท ดังนั้นผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเข้าใจเรื่องนี้
  3. ส่งต่อ เชื่อมโยง คือ ถ้าเห็นว่ามีปัญหาเกินกว่าจะช่วยได้ ต้องส่ง Counselors ให้เป็นฝ่ายชักชวน/นำพาเข้าสู่ระบบรักษา

ถ้าเป็น Counselor และอาจารย์ที่ปรึกษาทำได้ ต้องมีทักษะ ACT คือ Ask, Care, Treat

A: Ask คือ การถามความคิดฆ่าตัวตาย นอกจากไม่ซ้ำเติม ยังช่วยได้ตรงจุดว่า นักศึกษาเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือไม่

- มีความคิดไม่อยาก (มีชีวิต) อยู่ไหม (ประเมินความเสี่ยงของคิดทำร้ายตัวเอง)

- เคยคิดจะทำอย่างไร (วิธีการ) (ประเมินความรุนแรง)

- มีอะไรช่วยให้ยังไม่ทำ (ค้นหาปัจจัยปกป้อง)

C: Care คือ การฟังอย่างใส่ใจ และแสดงความห่วงใยเพื่อลดความคิดลบ (ว่าไม่มีคุณค่า ไม่เป็นภาระ) 

- สบตาพยักหน้า

- ย้ำว่าเราพร้อมอยู่เป็นเพื่อน/ไม่เป็นภาระ

- ส่งเสริมคุณค่าที่เขามี

T: Treat คือ การนำไปสู่การดูแลรักษา เป็นสิ่งสำคัญเพราะกลุ่มเสี่ยงมักไม่มีพลังพอจะไปด้วยตนเอง

- รู้แหล่งช่วยเหลือตามระดับความรุนแรง

- นำพาและอยู่ร่วมในการรักษา

- ติดตามจนเขาพ้นวิกฤต

อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือที่นักศึกษาเข้าถึงได้ง่ายที่นอกเหนือจากอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเฉพาะการสร้างเสริมให้มีกิจกรรมนักศึกษา ในลักษณะชมรม เพื่อนช่วยเพื่อน และระบบการให้คำปรึกษาแบบ online ผ่านทาง Facebook หรือ Chatboard รวมทั้งการเผยแพร่บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทั้งหมดนี้ถ้ายึดโยงกับอาจารย์ที่ปรึกษาในระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษา ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการ

 

 

 

ไม่ว่าระบบดีแค่ไหนก็ตาม ก็มีโอกาสเกิดอุบัติการณ์ได้ เมื่อใดที่เกิดเหตุจะต้องมี Postvention คือ 

1. การเยียวยาผู้ใกล้ชิด ได้แก่ เพื่อนนักศึกษา, ผู้ปกครอง รวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา

1. ให้ระบายความรู้สึก รวมทั้งความรู้สึกผิดที่คนใกล้ชิดมักจะรู้สึกตำหนิตนเองที่ไม่สามารถยับยั้งการฆ่าตัวตาย

2. ทำความเข้าใจสาเหตุที่ซับซ้อนของการฆ่าตัวตายจึงไม่ใช่ความผิดของใครและให้กำลังใจ

3. ส่งเสริมทำสิ่งที่ลดความรู้สึกผิด เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ต้องรู้สึกผิด เช่น ร่วมจัดงานรำลึก จัดพิธีกรรมทางศาสนา

         2. การป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ได้แก่

  1. ทบทวนระบบดูแลนักศึกษา

2. ค้นหาจุดที่เป็นช่องว่าง

3. ปรับปรุงระบบที่เป็นจุดอ่อน

 

********************************************************************************************************************

 

 

 

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=1068
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : การบริหารจัดการ การจัดการความรู้
ถ่านชีวภาพ » การวิเคราะห์สมบัติของถ่านชีวภาพตามมาตรฐาน
ถ่านชีวภาพที่ผลิตได้จะมีสมบัติแตกต่างกันตามกระบวนการและวัสดุที่ใช้ในการผลิต หากจะนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการเกษตร พืชก็มีความต้องการสมบัติของ ดิน น้ำ ถ่านชีวภาพที่มีความเหมาะสมกับชนิดแล...
ถ่านชีวภาพ มาตรฐาน การวิเคราะห์     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   การบริหารจัดการ การจัดการความรู้
ผู้เขียน ธนศิษฏ์ วงศ์ศิริอำนวย  วันที่เขียน 17/3/2565 14:57:05  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:19:47   เปิดอ่าน 1976  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง