ความเครียดคืออะไร
ความเครียด หมายถึง อาการที่สมองไม่ได้ผ่อนคลาย เพราะคร่ำเคร่งอยู่กับงานจนเกินไป (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542) นอกจากนี้กรมสุขภาพจิต (2552) กล่าวว่าความเครียดเป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจที่เกิดการตื่นตัวเตรียมรับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าพอใจ เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเกินกำลังทรัพยากรที่เรามีอยู่หรือเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกหนักใจเป็นทุกข์ และพลอยทำให้เกิดผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรมตามไปด้วย
อาหารสัมพันธ์กับความเครียด
อาหารมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของคนเรา อาหารหลายๆ ชนิดเกี่ยวข้องกับความเครียด อาการซึมเศร้า หดหู่ใจ อีกทั้งความเครียดและอาหารเลวทำให้ระดับสารสื่อสมองลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีความ เครียดมักจะกินอาหารที่เพิ่มความเครียดให้ร่างกาย เช่น อาหารแปรรูปและ junk food ที่จะกระตุ้น sympathetic nerve system ที่จะหลั่ง epinephrine และ nor-epinephrine นอกจากนี้ผู้ที่เครียดจะมีนิสัยการบริโภคที่แย่ลง อาจงดอาหารบางมื้อ ทำให้หิวจัดแล้ว เลือกกินอาหาร fast food ติดกาแฟ หรือใช้กาแฟแก้เครียด แก้ง่วง กระตุ้นความตื่นตัว หรือกินแก้เครียดทำให้น้ำหนักขึ้น
คาเฟอีนตัวการสำคัญในการเพิ่มฮอร์โมนเครียด
คาเฟอีนมากส่งผลให้ฮอร์โมนเครียดหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น
Adenosine ทำให้ตื่นตัวจริงแต่ก่อให้เกิดปัญหาการนอนในระยะต่อมา
Adrenaline ทำให้ตื่นตัวมากขึ้นแต่จะทำให้อ่อนเพลียเมื่อหมดฤทธิ์ไป
Cortisol ฮอร์โมนเครียดทำให้อยากอาหารคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมัน และทำให้ลงพุง
Dopamine ทำให้รู้สึกดี สดชื่น แต่เมื่อหมดฤทธิ์ทำให้เริ่มติดกาแฟ
อาหารที่ร่างกายต้องการต้านเครียด
คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี และโปรตีนเล็กน้อย ช่วยสร้างสารสื่อสมองชื่อ “เซโรโทนิน” ซึ่งช่วยให้หลับสบาย เกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องความจำ ควบคุมความอยากอาหารคาร์โบไฮเดรต คุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ป้องกันการออกซิไดซ์ของกรดไขมันอิ่มตัวหลายตำแหน่ง
วิตามินบี ช่วยการทำงานของระบบประสาท เผาผลาญอาหารคาร์โบไฮเดรตและไขมันเป็นพลังงาน ขาดวิตามินบีมีผลให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ และเพิ่มความเครียดให้กับเซลล์ ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าและหงุดหงิด
วิตามินซี ระหว่างที่ร่างกายมีความเครียดและเจ็บป่วย หมวกไตจะมีการใช้วิตามินซีมากขึ้น วิตามินซีมีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสรต่างๆ ซึ่งพบมากในสมองมากกว่าบริเวณอื่นๆ 100 เท่า
แมกนีเซียมและสังกะสี ขณะที่ร่างกายมีความเครียด จะสูญเสียแมกนีเซียมและธาตุอื่นๆ ไปกับปัสสาวะมากกว่าปกติ เจ็บป่วยมีความ เครียดทั้งทางกายและใจ มักมีระดับแมกนีเซียมและสังกะสีในเลือดต่ำ
อาหารฟังก์ชันที่นิยมใช้ลดระดับความเครียด
อาหารฟังก์ชัน (Functional food) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีการเติมสารอาหารบางอย่างเข้าไป อาทิ สารสกัดจากธรรม ชาติที่ให้ประโยชน์นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐาน สารอาหารฟังก์ชันเหล่านั้นจะส่งผลดีต่อสุขภาพ และ/หรือ ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่างๆ อาหารฟังก์ชันที่นิยมใช้ลดระดับความเครียด
กรดไขมันโอเมกา 3 พบมากในไขมันปลา โดยเฉพาะ ปลาแซลมอน และปลาทูนา กรดไขมันชนิดนี้ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน และป้องกันการเกิดฮอร์โมนเครียด เช่น adrenaline และ cortisol
กิงโก้ หรือแปะก๊วยมีคุณสมบัติในการรักษาความผิดปกติในสมอง อาการหลงลืมหรือสมองเสื่อม โรคอัลไซม์เมอร์ และความผิดปกติอันเนื่องมาจากการไหลเวียนโลหิตผิดปกติและอื่นๆ นอกจากนี้ยังควบคุมการไหลเวียนของโลหิตและหลอดเลือด ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นปกติและช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงสมอง มือ และเท้า และยังมีสารประกอบที่มีหน้าที่เสมือนตัวจับอนุมูลอิสระด้วย
จินเซ็นโนไซด์ สารในกลุ่ม ซาโปนิน ส่งผลต่อสารสื่อประสาทเซโรโทนินที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะเครียดเรื้อรังในสมอง ส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
น้ำมันหอมระเหย จากสะระแหน่ ดอกเสาวรส กระเพรา และโหรพา