คนยุคก่อนเชื่อว่า เบียร์ (Beer) เป็นสิ่งที่เทพพระเจ้าประทานมาให้ พวกเขาคิดว่าข้าวบาร์เลย์และน้ำที่ทิ้งไว้ในธรรมชาติมันเกิดกลายเป็นเครื่องดื่มมึนเมาขึ้นมาเองได้ เพราะตอนนั้นพวกเขาเหล่านั้นยังไม่รู้จักยีสต์ จึงทำให้คนยุคนั้นบูชาและถือเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ต่อมาในยุคอียิปต์มีการพัฒนาของเบียร์มากขึ้น มีการให้ขนมปังคู่กับเบียร์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับแรงงานทาสกันอย่างมาก และต่อมาในยุคสมัยของกรีกนั้น เบียร์กลับถูกด้อยค่าลงเพราะยุคกรีกมีไวน์ (Wine) เป็นเครื่องดื่มของเทพเจ้าอยู่แล้ว จึงทำให้เบียร์ไม่เป็นที่นิยม แต่หลังจากนั้นเบียร์ก็ถูกส่งต่อไปตามพ่อค้าที่ทำการค้าขายและตามสงครามต่างๆ จึงทำให้เบียร์มีการกระจายไปทั่วโลก
ปัจจุบันเบียร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมที่ได้มาจากกระบวนการหมักไม่ใช่โดยวิธีการกลั่น เบียร์เกิดจากการหมักน้ำตาลที่ได้จากการเปลี่ยนแป้งมอลต์ ต่างจากไวน์ที่เป็นการหมักน้ำตาลที่ได้จากผลองุ่น เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับไวน์ และเหล้าวิสกี้ หรือบรั่นดี
วัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์
ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ มอลต์ (malt) ฮอปส์ (hops) น้ำ (water) และยีสต์ (yeast)
- มอลต์ (Malt) คือข้าวบาร์เลย์ (barley) ที่ผ่านกระบวนการเพาะให้งอก (malting) หรือเรียกว่า Barley malt เพื่อทำให้มีเอนไซม์ เช่น อะไมเลส (amylase) ซึ่งจะเปลี่ยนสตาร์ซ (starch) ให้มีโมเลกุลเล็กลง เช่น มอลโตส (maltose ) และกลูโคส (glucose) การผลิตมอลต์ทำได้โดยการนำข้าวบาร์เลย์ไปแช่น้ำให้เกิดการงอกแต่ไม่ถึงขั้นแทงใบ เพราะถ้าเกิดการแทงใบไปแล้วจะทำให้สูญเสียสารอาหารไป มอลต์เป็นวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง มอลต์ที่ผลิตจากประเทศไทยหรืออเมริกาจะมี Adjunct ซึ่ง Adjunct คืออะไรก็ตามที่ใส่แล้วให้แป้งเหมือนกัน การใส่ Adjunct ลงไปก็เพื่อลดต้นทุนในการผลิตมอลต์นั่นเอง ดังนั้นการทำเบียร์ในประเทศไทยจึงมีการใช้ข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ปลูกได้ในประเทศและสามารถให้แป้งเหมือนกันเป็น Addjunct ส่วนในอเมริกาใช้ข้าวโพด และแอฟริกาใช้ข้าวฟ่าง อย่างไรก็ตามการทำเบียร์ยังคงต้องมีมอลต์จากข้าวบาร์เลย์เป็นส่วนประกอบหลัก 60% โดยมี Adjunct ที่ใส่ลงไปไม่เกิน 40%
- ฮอปส์ (Hops) เป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา ให้รสขมและกลิ่น ฮอปส์ที่ใช้ในการทำเบียร์ ได้แก่ Bitter hops และ Aroma hops โดยฮอปส์ทั้งสองแบบต่างกันที่ α-acid ซึ่งค่า α-acid เป็นค่าที่ บ่งบอกถึงน้ำมัน (oils) จากฮอปส์ที่จะไปทำปฏิกิริยาในน้ำเดือดแล้วทำให้เกิดความขมนั่นเอง Bitter hops ส่วนใหญ่ มีค่า α-acid สูง (7-15%) มีราคาถูกกว่า ส่วน Aroma hops จะมี α-acid ต่ำ (3-5%) และมีราคาค่อนข้างแพงแต่จะให้กลิ่นฮอปส์ที่ดีกว่า Bitter hops ดังนั้นในการทำเบียร์จะมีเทคนิคของการใช้ฮอปส์ให้น้อยลงเพื่อลดต้นทุน โดยใช้ Bitter hops เยอะๆ และใช้ Aroma hops น้อยๆ เช่น หากต้องการความขม 20% จะใช้ Bitter hops ประมาณ 18% และใช้ Aroma hops 2% ส่วนหลักการใช้ฮอปส์ คือ ยิ่งต้มฮอปส์นานเท่าไหร่ความขมก็จะมากขึ้นตาม แต่ในทางตรงข้ามจะได้ Aroma น้อยลง ดังนั้นถ้าอยากได้ Aroma จะต้องลดเวลาในการต้มให้น้อยลง
- น้ำ (Water) เป็นส่วนประกอบที่มากที่สุดในเบียร์ มีถึง 90% น้ำมีความสำคัญในแง่ของแร่ธาตุ ในประเทศอังกฤษนั้นน้ำจะมีแร่ธาตุสูงสามารถผลิตเบียร์ดำได้ค่อนข้างดี แต่ทว่าถ้านำไปทำเบียร์ LAGER กลิ่นแร่ธาตุในน้ำจะทำให้ได้กลิ่นที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรในการทำเบียร์ดำ ดังนั้นการเลือกน้ำที่ใช้ในการผลิตเบียร์จึงมีความสำคัญ
- ยีสต์ (Yeast) เป็นจุลินทรีย์ที่มีบทบาสำคัญในการผลิตเบียร์ โดยยีสต์จะกินน้ำตาลแล้วทำให้กลายเป็นแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เบียร์ถูกแบ่งตามยีสต์เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ LAGER และ ALE โดย LAGER เป็นเบียร์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เช่น เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง เบียร์ลีโอ มีลักษณะคลีนๆ ใสๆ ไม่มีกลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อน ส่วน ALE จะเป็นเบียร์ที่มีคาแรกเตอร์ที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีรสชาติค่อนข้างเยอะ ซึ่งยีสต์ LAGER กับยีสต์ ALE มีลักษณะการทำงานที่ต่างกัน โดย
- ยีสต์ LAGER จะทำงานอยู่ก้นถังหมักและทำงานที่อุณหภูมิต่ำกว่ายีสต์ ALE (7-13 องศาเซลเซียส) ยีสต์ LAGER พอเกิดการการแบ่งตัวแล้วจะแยกตัวเป็นอิสระจากกัน
- ยีสต์ ALE จะทำงานอยู่ข้างบนถังหมักและทำงานที่อุณหภูมิสูงกว่ายีสต์ LAGER (15-24 องศาเซลเซียส) เมื่อยีสต์ ALE เกิดการแบ่งตัวแล้วมันจะเกาะกันกันอยู่ ดังนั้นเมื่อยีสต์กินน้ำตาลแล้วกลายเป็นแอลกอฮอล์กับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์จะดันยีสต์ ALE ขึ้นไป ดังนั้นยีสต์ ALE จึงทำงานอยู่ด้านบนของถังหมัก
รูปแบบของเบียร์
1. LAGER ได้แก่
- Pale Lager เป็นเบียร์ที่มีความซ่าเยอะกว่าเบียร์แบบ Ale ทำให้ได้ความสดชื่น ดื่มคล่องคอ มีรสชาติเบาๆ แต่มีแอลกอฮอล์สูง เช่น American Light Lager, Pilsner, Dortmunder
- Special Lager เช่น Herb Spice, Fruit, Smoke, Winter Warmers/Holiday Beer
- Dark Lager เช่น Munich dunkel, Schwarzbier
- Amber Lager เป็นเบียร์ที่มีสีอัมพัน ใช้วิธีผลิตการของยุโรปตอนกลาง คือจะไม่มีกลิ่นฮอปส์ ที่รุนแรง หรือรสชาติที่รุนแรง ส่วนสีที่ปรากฏในเบียร์โดยส่วนมากจะเกิดมาจากสีของ malt เช่น Marzen/Oktoberfest, Vienna Lager Rauchbier
- Block เป็นเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์มากที่สุดในบรรดา Lager มีสีที่เข้มและรสชาติที่เข้มกว่าเบียร์ลาเกอร์แบบอื่นๆ เช่น Traditional block, Helles bock, Maiblock, Maibock, Eisblock
2. ALE ได้แก่
- Pale Ale เป็นเบียร์ที่ผ่านกระบวนการหมักร้อนด้วยมอลต์สีอ่อน โดยมีอัตราส่วนของมอลต์และ ฮอปส์ที่ใช้ในการหมักในปริมาณเท่าๆ กัน ทำให้เบียร์ชนิดนี้มีรสชาติกลมกล่อม balance ระหว่างความขมกับความหวานได้ดี
- IPA หรือ India Pale Ale เช่น West Coast IPA, New England IPA และ Imperial IPA ซึ่งสไตล์เหล่านี้เป็นที่รู้จักจากลักษณะของฮอปส์ที่หอมฟุ้ง มีหลากหลายตั้งแต่กลิ่นซิตรัส กลิ่นผลไม้ กลิ่นดอกไม้
- Wheat Wheat Beer นั้น เป็นเบียร์ที่ใช้สัดส่วนของข้าวสาลีมากกว่ามอลต์ในขั้นตอนการหมัก โดยส่วนใหญ่แล้วเบียร์ชนิดนี้จะไม่ค่อยขม เช่น Belgian Wheat, German Wheat
- Porter & Stout Ale เบียร์ชนิดนี้มีสีที่เข้มเกือบดำ ซึ่งได้จากการหมักข้าวบาร์เลย์ที่ผ่านการอบจนเกือบไหม้กับมอลต์ มีรสชาติออกไปทางหวาน เข้มข้น เช่น Scottish Ale, Irish Ale, Brown Ale, American Ale, Belgian Ale, Sour Ale, Strong Ale
ฝึกปฏิบัติการทำเบียร์ ALE
คาแรกเตอร์ของเบียร์ ALE จะเป็นไปตามรูปแบบของเบียร์ ALE และขึ้นอยู่กับการดีไซน์ของการเลือกวัตถุดิบที่ใช้ทำเบียร์ให้มีกลิ่นและรสชาติต่างๆ การทำเบียร์จะต้องตั้งเป้าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต้องการว่าต้องการกี่เปอร์เซ็นต์ จึงจะทำให้สามารถคำนวณปริมาณมอลต์ที่ต้องใช้ในการทำเบียร์ได้ เพราะมอลต์คือแป้งและแป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จึงจะทำให้รู้ว่าต้องการน้ำตาลเท่าไหร่
ขั้นตอนการทำเบียร์
- บดมอลต์ (Milling) บดให้แตกแต่ไม่ถึงกับละเอียด ให้เห็นเป็นกาก
- การสกัดน้ำตาลจากมอลต์ (Mashing) โดยนำมอลต์ที่บดแล้วมาต้มเป็นเวลา 60 นาที อุณหภูมิที่ใช้ในการสกัดน้ำตาลขึ้นอยู่กับว่าต้องการน้ำตาลประเภทไหน กลูโคสหรือมอลโตส ถ้าใช้อุณหภูมิประมาณ 60-65 องศาเซลเซียส น้ำตาลที่สกัดได้จะเป็นมอลโตส ถ้าต้องการเบียร์ที่มี body เยอะ ให้ใช้อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียส ถ้าต้องการเบียร์ที่มี body บางๆ แต่ได้แอลกอฮอล์เยอะ ให้ใช้อุณหภูมิประมาณ 60-65 องศาเซลเซียส
ในการฝึกอบรมครั้งนี้เพื่อที่จะสกัดน้ำตาลที่จะได้ทั้งกลูโคสและมอลโตส จึงได้ใช้อุณหภูมิที่ 67 องศาเซลเซียส โดยเลือกใช้มอลต์ 2 แบบ มาทำการสกัด คือ มอลต์ที่ให้แป้ง (Base malt) และ มอลต์ที่ให้สี (Special malt) โดยใช้สัดส่วนมอลต์ 1 ส่วนต่อน้ำ 4 ส่วน (จะทำให้ได้แอลกอฮอล์ 5%) ใส่ถุงผ้าขาวบางแล้วนำไปต้มนาน 60 นาที โดยปกติมอลต์มีความเป็นในกรดเมื่ออยู่ในน้ำ มี pH ประมาณ 5.8 ไม่จำเป็นต้องปรับ pH แต่ปริมาณน้ำตาลที่สกัดได้จะน้อย แต่ในทางอุตสาหกรรมจะมีการควบคุม pH ในการสกัดเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่สกัดออกมาทั้งหมดนั้นจะเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับ pH เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำตาลปริมาณที่สูง โดยจะควบคุม pH ให้อยู่ในช่วง 5.4-5.6 ซี่งการปรับ pH จะช่วยให้เอนไซม์มีการทำงานที่สมบูรณ์และพอเหมาะที่จะทำให้การสกัดน้ำตาลได้ดีขึ้น
หลังจากต้มมอลต์ที่อุณหภูมิ 67 องศาเซลเซียส ครบ 60 นาทีแล้ว จะยังคงมีน้ำตาลหลงเหลืออยู่ในกาก ดังนั้นเพื่อเป็นการเอาน้ำตาลออกมาให้มากที่สุด จึงใช้วิธีการเติมน้ำลงไปชะล้างน้ำตาลที่อยู่กับกาก (มอลต์ 5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หลังจากที่สกัดน้ำตาลเสร็จแล้วจะมีน้ำตาลที่ต้มค้างในกาก 1 เท่า น้ำที่สกัดได้จะเหลืออยู่เพียง 15 ลิตร ดังนั้นจึงเติมน้ำลงไปล้างกากให้ทั่วอีก 5 ลิตร เพื่อให้มีปริมาตร 20 ลิตรเท่ากับตอนเริ่มต้น) การสกัดน้ำตาลจากมอลต์ของการอบรมครั้งนี้ปฏิบัติการครั้งนี้จะได้น้ำตาลประมาณ 70% เนื่องจากไม่ได้ปรับ pH แต่ในทางอุตสาหกรรมต้องการน้ำตาลที่สกัดออกมาถึง 95% จึงทำให้ต้องทำการปรับ pH เพื่อที่จะทำให้ได้น้ำตาลออกมาเยอะๆ ในขั้นตอนนี้จึงมีวัดน้ำตาลด้วยเครื่อง Refractometer เพื่อเช็คปริมาณน้ำตาลเริ่มต้นด้วย
- การแยกกากออกจากน้ำ Wort (น้ำ wort คือ น้ำต้มมอลต์ที่กรองแล้ว) หลังจากที่ต้มมอลต์จนครบ 60 นาทีแล้ว ทำการแยกกากออกให้เหลือแต่น้ำ wort แล้วต้มน้ำ wort ต่อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอีก 60 นาที และทดสอบวัดน้ำตาลด้วย Refractometer
- ใส่ฮอปส์ การใส่ฮอปส์นั้นขึ้นอยู่กับว่าต้องการความขมมากเท่าไหร่ จะใส่เมื่อตอนที่น้ำ Wort มีอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสแล้วใส่ฮอปส์ทันทีและต้มไปจนครบ 60 นาที หรือจะใส่ฮอปส์เมื่อเหลืออีก 15 นาทีสุดท้ายก่อนจะครบเวลา 60 นาที เนื่องจากยิ่งต้มนานความขมจะมากขึ้นแต่ Aroma กลิ่นจะน้อยลง ดังนั้นถ้าอยากได้ Aroma กลิ่นของฮอปส์โดดออกมาให้ใส่ตอนประมาณ 5-15 นาทีสุดท้าย หรือจะแบ่งใส่เป็น 2 ช่วงในตอนต้นและตอนท้ายก่อนจะครบเวลา 60 นาทีก็ได้เช่นกัน
- การทำให้มีกลิ่นรส (Flavour) ที่เป็นคาแรกเตอร์ของเบียร์ ALE ในการฝึกปฏิบัติการนี้ ใช้วัตถุดิบเป็น ลำไย 20 กรัม (ให้ Flavour) ใบเตย 25 กรัม (ให้ Aroma) มะพร้าว 20 กรัม (ให้ความ Creamy) การใส่กลิ่นรสนี้มักจะใส่ในนาทีท้ายๆ โดยใส่เมื่อเหลืออีก 10 นาทีสุดท้ายก่อนจะครบเวลาของการต้ม 60 นาที การเลือกใช้วัตถุดิบแบบไหนที่จะส่งผลต่อรสชาติของเบียร์ ALE ที่ผลิตได้นั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่ผ่านการทดลอง การลองผิดลองถูกเพื่อดูว่าใส่ตอนไหนถึงจะให้กลิ่นและรสชาตที่ดี เช่น การจะใส่มะพร้าวหากใส่ตอนแรกๆ น้ำมันมะพร้าวจะหอมแล้วไปทำให้กลิ่นเบียร์อ่อนลงได้ เป็นต้น
- การ Cooling หลังจากต้มที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที ครบแล้ว ให้ทำการ Cooling จนอุณหภูมิลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นถ่ายน้ำ Wort ลงในถังหมักที่ฆ่าเชื้อแล้ว (การฆ่าเชื้อทำได้โดยใช้น้ำยา Starsan ผสมกับน้ำดื่มแล้วนำไปเทลงไปในถังหมัก ทำการเขย่าให้ทั่วถังหมัก และยังใช้น้ำยา Starsan ในการแช่อุปกรณ์ สายยาง ฝาขวด Airlock เพื่อฆ่าเชื้อ)
- เติมเชื้อยีสต์ ลงไปเพื่อทำการหมัก จากนั้นปิดฝาขวดหมัก แล้วเสียบ Airlock ที่ฝาด้านบนขวดหมักแกว่งถังหมักเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน
- นำไปหมักไว้ที่อุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14 วัน ยีสต์จะทำงานภายใน 48 ชั่วโมงและปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาทาง Airlock
- การทำ Cold crash ให้เบียร์คลีนขึ้น โดยเมื่อหมักผ่านไป 14 วัน ยีสต์จะกินน้ำตาลในถังหมักจนหมด (อาจจะหมักต่ออีก 20-30 วันก็ได้) หลังจากนั้น ทำการ Cold Crash ให้เบียร์คลีนขึ้นโดยการปรับอุณหภูมิการหมักที่ 1-4 องศาเซลเซียส แล้วหมักต่ออีก 3 วัน และในขั้นตอนนี้ให้ทดสอบวัดน้ำตาลอีกครั้งด้วย Refractometer เพื่อเช็คปริมาณน้ำตาลหลังหมัก
- การบรรจุลงในขวดเบียร์
- เมื่อครบ 3 วันแล้ว ให้ละลายน้ำตาล Dextrose จำนวน 6 OZ ในน้ำ 300 มิลลิลิตร (1.2 OZ ในน้ำ 60 มิลลิลิตร/เบียร์ 4 ลิตร) คนให้น้ำตาลละลายแล้วใช้ Syringe ที่ฆ่าเชื้อแล้วดูดน้ำตาลใส่ในขวดบรรจุเบียร์ ใส่ขวดละ 15 มิลลิลิตร
- เปิดฝา Airlock ออกจากถังหมักแล้วใช้ Auto siphon ที่ฆ่าเชื้อแล้ว (ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยา Starsan ผสมกับน้ำดื่ม) ในการย้ายเบียร์ลงขวดทุกขวด แล้วปิดฝาขวดให้เรียบร้อย จากนั้นนำไปหมักที่อุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส อีก 7 วัน
- เมื่อผ่านไปจนครบ 7 วัน ให้ปรับอุณหภูมิการหมักไปที่ 1-4 องศาเซลเซียส เพื่อให้ก๊าซ CO2 ละลายเข้าไปในเบียร์ แล้วแช่ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 วัน ก็จะสามารถดื่มเบียร์ได้