“Smart Laboratory : ระบบออนไลน์กับการพัฒนาระบบงานห้องปฏิบัติการ”
วันที่เขียน 10/8/2564 23:33:59     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/9/2567 13:37:40
เปิดอ่าน: 3744 ครั้ง

“Smart Laboratory : ระบบออนไลน์กับการพัฒนาระบบงานห้องปฏิบัติการ” ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 “Smart Laboratory : ระบบออนไลน์กับการพัฒนาระบบงานห้องปฏิบัติการ”

      ในปัจจุบัน ระบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการระบบงานงานในห้องปฏิบัติการมากขึ้น เนื่องจาก ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับงานด้านต่างๆ ของห้องปฏิบัติการ มีระบบจัดการจัดการข้อมูล ทำให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวกในการใช้งาน ทำงานได้เร็ว ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน และลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบออนไลน์ที่นำมาใช้ในการพัฒนางานในห้องปฏิบัติการ ได้แก่

 

  • Smart Laboratory: ระบบสารสนเทศห้องปฏิบัติการ (LIMS) สำหรับการจัดการห้องปฏิบัติการ

       Laboratory Information Management System หรือจะเรียกว่า LIMS ได้พัฒนาโดยทีมศูนย์บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์  LIMS เป็นระบบการจัดการสารสนเทศห้องปฏิบัติการแบบอัตโนมัติ ครอบคลุมการทำงานตั้งแต่การรับ-ส่งตัวอย่างจากผู้ใช้บริการ การกรอกผลวิเคราะห์ การรายงานผลการวิเคราะห์/ทดสอบเป็นไฟล์แบบ PDF การนำ LIMS มาใช้จัดการห้องปฏิบัติการทำให้เกิดเป็น Smart Lab ที่ช่วยให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มคุณภาพงานและเพิ่มรายได้จากการบริการวิชาการ

ข้อดีของระบบ LIMS ทำให้ลดการใช้กระดาษ ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อนในการเก็บข้อมูล เนื่องจากข้อมูลมีการจัดการอย่างเป็นระบบทำให้สะดวก ง่ายในการสืบค้นและสามารถทวนสอบผลการวิเคราะห์ได้ง่าย การทำงานจึงไปได้อย่างรวดเร็ว บุคลากรทุกคนทำงานแทนกันได้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกของผู้บริหารในการนำข้อมูลไปพัฒนาด้านการตลาด

 

  • Smart Laboratory: การจัดการครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้วยสื่อมัลติมีเดีย โดยคุณกิตติ ปานมณี นักวิทยาศาสตร์ หัวหน้างานห้องปฏิบัติการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

       ปัญหาในการจัดการครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้บริการใช้งานเครื่องมือไม่ถูกต้อง ผู้ดูแลไม่มีเวลาสอนใช้งาน เครื่องมือเสียหายทำให้ส่งผลกระทบกับงานและเสียงบประมาณในการซ่อม และจากสถานการณ์การแพร่ระบายของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการเรียนออนไลน์ การใช้สื่อมัลติมีเดียด้วยการถ่ายวิดีโอสาธิตการใช้งานเครื่องมือเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้จัดการปัญหา

ขั้นตอนของการทำสื่อวิดีโอ

  1. เขียนลำดับเรื่องที่ต้องการสื่อ (Story board)
  2. ซักซ้อมกับทีมงานในการนำเสนอ โดยการทำวิดีโอไม่ควรยาวเกิน 15 นาที ถ้าวิธีการใช้งานมีหลายขั้นตอนควรทำแยกเป็นตอนๆ
  3. การถ่ายวิดีโอจริง สามารถใช้กล้องวิดีโอหรือกล้องจากโทรศัพท์ในการถ่ายทำ จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของภาพและเสียงก่อนที่จะทำการตัดต่อ
  4. ตัดต่อวิดีโอ ปัจจุบันมีโปรแกรมตัดต่อวีดิโอมากมายให้เลือกใช้งานมีทั้ง Freeware และแบบ shareware
  5. อัพวิดีโอลงบนเซิรฟ์เวอร์ของหน่วยงาน หรือบนยูทูป หรือเพจเฟสบุ๊ค เป็นต้น
  6. สร้าง QR code โดยการคัดลอก Link วิดีโอที่อัพโหลดไว้มาวางในเว็บไซด์ที่สร้าง QR code ฟรี จากนั้นจะได้ QR code ออกมา แล้วคัดลอก QR code มาวางในโปรแกรม Word หรือโปรแกรม Power point พิมพ์ชื่อเครื่องมือเพื่อทำเป็นสติกเกอร์ไปติดที่เครื่องมือต่อไป

       ประโยชน์ของการจัดการครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้วยสื่อมัลติมีเดียนั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานแทนกันได้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลรับผิดชอบเครื่องมือนั้นไม่สามารถมาให้บริการได้  และสามารถนำ QR code เครื่องมือไปใส่ไว้ในเล่มคู่มือปฏิบัติการประกอบการสอน โดยนักศึกษาสามารถสามารถแสกน QR code และเข้าไปศึกษาขั้นตอนการใช้งานได้ทันที

 

  • Smart Laboratory: การจองใช้เครื่องมือด้วยระบบออนไลน์

       การจองเครื่องมือด้วยระบบออนไลน์นี้ พัฒนาโดยคุณสกาวรัตน์ ทับทองหลาง นักวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาระบบคือการใช้ Account Gmail, Google from, Google calendar, Google sheet, Google site, Line application และ Google drive  วิธีการสร้างทำได้โดยสร้าง Google calendar ของเครื่องมือแต่ละเครื่อง ตั้งชื่อปฎิทินให้สัมพันธ์กับเครื่องมือ  สร้าง calendar ID เพื่อนำไปใช้เขียน Code  สร้าง Google from  เตรียม Google sheet ID  เขียน Code แล้ว Run Function อัตโนมัติแล้วทดสอบระบบจอง  จากนั้นสร้าง Line group และ Line notify  แล้วทดสอบระบบการแจ้งเตือนเป็นขั้นตอนสุดท้าย  ในระบบจองเครื่องมือของแต่ละเครื่องจะมีไฟล์แบบฟอร์มการขอใช้เครื่อง คู่มือการใช้งานอย่างง่ายและวิดีโอการใช้งานให้ผู้ใช้งานได้ทำการศึกษา  ผู้ใช้งานสามารถเข้าจองใช้งานได้ 4 ช่องทาง ได้แก่  1) Note ในกลุ่มไลน์ของผู้ใช้งาน  2) QR code ที่ติดบนหน้าเครื่องมือ  3) QR code ที่ติดห้องเครื่องมือ และ 4) ลิงค์บนเว็บไซต์ของคณะ  โดยผู้ใช้งานเข้าไปกรอกข้อมูลใน Google form จากนั้นข้อมูลจะไปแสดงผลใน Google calendar แล้วระบบจะแจ้งเตือนไปยังไลน์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแล  สิ่งที่ได้รับจากการมีระบบการจองเครื่องมือนี้ พบว่าทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนในการทำงานและลดทรัพยากร

 

  • Smart Laboratory: การเบิกสารเคมีด้วยระบบออนไลน์

       ระบบบการเบิกสารเคมีด้วยระบบออนไลน์ ได้ถูกพัฒนาโดย คุณประภาส ภูเวียง นักวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดการด้วยการใช้ระบบออนไลน์ได้เริ่มสร้างในปี 2558 และเริ่มใช้ในปี 2560 ต่อมาได้พัฒนาเป็นโปรแกรมจนเป็นระบบการเบิกสารเคมีด้วยระบบออนไลน์ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้แทนระบบเดิมที่เป็นการเบิกสารสารเคมีด้วยแบบฟอร์มกระดาษ  ผู้ที่สามารถเข้าถึงโปรแกรมระบบการเบิกจ่ายสารเคมีผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่

  1. ผู้รับบริการ 
  2. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัยที่มีหน้าที่ยืนยันการเบิกสารเคมีของนักศึกษา
  3. ผู้ให้บริการ (นักวิทยาศาสตร์) มีหน้าที่ในเข้าสู่ระบบแล้วเลือกรายชื่อผู้รับบริการเพื่อยืนยันข้อมูลการเบิกแล้วระบบจะส่งข้อมูลการเบิกให้แก่หัวหน้าภาควิชาเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  4. หัวหน้าภาควิชามีหน้าที่ยืนยันข้อมูลการเบิกสารเคมีโดยระบบจะส่งผลการอนุมัติให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 
  5. ผู้ดูแลระบบมีหน้าที่ในการจัดการรายการสารเคมีและจัดทำข้อมูลความปลอดภัย

       การใช้งานระบบ ผู้รับปริการยื่นแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิ์การเข้าถึงโปรแกรมผ่านระบบ QR code จากผู้ให้บริการ (นักวิทยาศาสตร์) หลังจากนั้นจะได้รับ username และ password เพื่อใช้สำหรับ log in เข้าสู่ระบบ เพื่อเข้าไปเบิกสารเคมีที่ต้องการใช้ รอผลการพิจารณาอย่างน้อย 2 วัน แล้วติดต่อขอรับสารเคมีที่ห้องปฏิบัติการ  ก่อนสิ้นภาคการศึกษาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์จะการสรุปค่าใช้จ่ายในการเบิกสารเคมีของผู้รับบริการ แล้วแจ้งให้ผู้รับบริการให้ทำการจัดซื้อสารเคมีคืนห้องปฏิบัติการ จากนั้นผู้รับบริการนำสารเคมีคืนห้องปฏิบัติการพร้อมรับสำเนาใบเสร็จ 

      ข้อดีของระบบการเบิกจ่ายสารเคมีระบบใหม่จากการสร้างโปรแกรมเบิกจ่ายผ่านระบบออนไลน์  คือ เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ทราบข้อมูลราคาของสารเคมี ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี  และใช้เวลาดำเนินการ 2 วัน ลดการใช้กระดาษ แต่มีข้อเสียคือ เมื่อทราบคลังสารเคมี ทำให้มีการเบิกใช้สารเคมีอย่างฟุ่มเฟือย

 

  • Smart Laboratory: การเบิก-คืนเครื่องแก้วด้วยระบบออนไลน์

       โดยคุณ ภวรรณพ เหมพันธุ์พิรุฬห์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัญหาของระบบการเบิก-คืน เครื่องแก้วด้วยการลงบันทึกในแบบฟอร์มกระดาษ คือ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหมุนเวียนหน้าที่ในการเบิก-คืน การจัดเก็บเอกสารต้องรอเจ้าหน้าที่คนเดียว การจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ ขาดหลักฐานบักทึกการเบิก-คืน ชำรุดในบางรายการ ไม่มีคู่มือขั้นตอนการเบิก-คืน และเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการสรุปข้อมูลเครื่องแก้ววัสดุวิทยาศาสตร์มากกว่า 16 ชั่วโมง ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาระบบการเบิกคืนเครื่องแก้ววัสดุวิทยาศาสตร์ด้วยระบบออนไลน์เพื่อนำมาใช้แทนระบบเดิม ซึ่งการพัฒนาระบบนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันของโปรแกรมเมอร์และผู้ดูแลระบบ/ผู้ประสานงาน (Admin)  ในการใช้งานระบบนั้น Admin จะเข้าระบบผ่าน QR code หรือทาง URL ที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อเข้าไปจัดการข้อมูลของนักศึกษาผู้ใช้งาน เช่น รหัสประจำตัว ชื่อ-สกุล สาขาวิชาเรียน อีเมล์ เบอร์โทร และจัดการกลุ่มอุปกรณ์วัสดุที่ใช้เรียนของแต่ละกลุ่มวิชาเรียน  สำหรับนักศึกษาเข้าระบบด้วยการแสกน QR code เพื่อเข้าไปกดปุ่มยืนยันการเบิกที่จะมีรายการวัสดุอุปกรณ์ที่นักวิทย์จัดไว้ให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดการการเบิกโดยเลือกชุดอุปกรณ์ที่จะให้นักศึกษา  ในการคืนอุปกรณ์ นักศึกษาแสกน QR code แล้วเข้าไปเช็ครายการคืนตามที่ได้เบิกไป จากนั้นเจ้าหน้าที่จะกดปุ่มตรวจสอบรายการที่นักศึกษายืม ถ้าหากข้อมูลถูกต้องเจ้าหน้าที่กดปุ่มส่งเข้าไปในระบบ แล้วนักศึกษากดปุ่มพิมพ์ใบชำระเงินออกมาเพื่อชำระค่าเครื่องแก้วที่แตกชำรุดซึ่งสามารถทำผ่านมือถือได้ 

      ประโยชน์ของการเบิก-คืน เครื่องแก้วและวัสดุวิทยาศาสตร์ด้วยระบบออนไลน์คือ ลดเวลาในการสรุปคลังเครื่องแก้วและวัสดุวิทยาศาสตร์ การระดมความคิดข้ามหน่วยงานเพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานที่ทำเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงาน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และมีข้อมูลในการนำไปใช้ในการพัฒนา เช่น วางแผนการจัดซื้อเครื่องแก้ววัสดุที่ชำรุด ส่วนข้อเสียคือ ผู้ปฏิบัติงานยังไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ทันทีเมื่อพบข้อมูลผิดพลาด ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบเครื่องแก้วออนไลน์ในอนาคต

 

  • Smart Laboratory: ระบบการจองใช้เครื่องมือออนไลน์ด้วยโปรแกรม Trello 

       ได้ถูกพัฒนาโดย คุณกาญจนา ขันทกะพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการจองเครื่องมือโดยการประยุกต์ใช้โปรแกรม Trello ร่วมกับการใช้ Google forms ในการบันทึกการใช้งานเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาและลดความผิดพลาดของการจองใช้เครื่องมือจากระบบเดิม  โดย Trello เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ใช้ Software แบบ cloud ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดได้ฟรีเพื่อใช้ในการจัดการโปรเจกต์งาน มีลักษณะเป็นบอร์ดออนไลน์ที่จัดการงานได้เร็วขึ้น ในการใช้งานต้องทำการลงทะเบียนบนเว็บไซต์ของ com จากนั้นจึงจะสามารถสร้างกระดานงานและออกแบบห้องปฏิบัติการและเครื่องมือที่จะให้ทำการจองใช้งานได้  สำหรับนักศึกษานั้นจะสามารถทำการจองเครื่องมือผ่าน Trello ได้ก็ต่อเมื่อนักศึกษาผ่านการอบรมการใช้เครื่องมือมาแล้ว นักวิทย์ทำการเชิญนักศึกษาเข้าสู่ระบบจองเครื่องมือ ผ่าน Email Link หรือ QR code  จากนั้นนักศึกษาเข้าไปเพิ่มการ์ดการจองโดยระบุ ชื่อ-สกุล วัน เวลาที่ต้องการจอง แล้วนักวิทย์ผู้ดูแลเครื่องจะเป็นผู้อนุมัติและลงปฏิทินการจองเครื่องมือโดยจะมีระบบการแจ้งเตือนไปยังมือถือของนักศึกษาผ่าน Trello  

      ข้อดีที่ได้จากการพัฒนาระบบการจองเครื่องมือออนไลน์ด้วยโปรแกรม Trello คือ ลดการใช้กระดาษ  มีความสะดวกรวดเร็วในการจอง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่พบการจองซ้ำซ้อน ไม่พบข้อผิดพลาดในการจองและ สามารถวางแผนการใช้งานเครื่องมือได้ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

 

  • Smart Laboratory: การพัฒนาระบบจองห้องปฏิบัติการออนไลน์ สำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์

       การพัฒนาระบบจองห้องปฏิบัติการออนไลน์ สำหรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคุณชาคริต เทียนทอง นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการชั้นสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยใช้ Kotchasan Web framework  ซึ่งเป็น Freeware ที่มีคู่มือการใช้งานและมีตัวอย่างให้ศึกษา  โดยระบบจองห้องปฏิบัติการออนไลน์นี้ได้พัฒนาขึ้นจากความต้องการของนักศึกษาที่ต้องการใช้ห้องปฏิบัติการนอกเวลาเรียนในการฝึกปฏิบัติงานหรือทดสอบโปรแกรมที่เขียนขึ้น ใช้ห้องในการประชุม อ่านหนังสือและติวหนังสือ แทนระบบการจองห้องแบบเก่าที่เป็นการจองด้วยการกรอกแบบฟอร์มและต้องเดินทางไปติดต่อที่ห้องของเจ้าหน้าที่เพื่อส่งแบบฟอร์มและรอการอนุมัติซึ่งทำให้ใช้เวลานาน

       การใช้งานระบบการจองห้องปฏิบัติการ ผู้ใช้งานสมัครสมาชิกแล้วเข้าสู่ระบบโดยใช้ Email ที่ใช้สมัคร ในหน้าหลักของระบบจะแสดง 3 ส่วน คือ 1) ส่วนห้องของห้องปฏิบัติการ  2) ส่วนของการจองห้องปฏิบัติการ และ 3) ส่วนของปฏิทินการจอง ผู้ใช้งานเข้าไปจองห้องปฏิบัติการโดยการกรอกข้อมูลการจอง ชื่อ-สกุล วัน เวลาที่เริ่มใช้และสิ้นสุดแล้วบันทึกในระบบ  ถ้าได้รับอนุมัติการจองแล้ววันเวลาที่ได้ทำการจองจะปรากฎบนปฏิทินการจองโดยจะมีแถบสีแสดงช่วงเวลาการจอง  ในระบบการจองห้องปฏิบัติการนี้ผู้รับผิดชอบการจองมีหน้าที่อนุมัติการจอง ดูสถานะการจองและแก้ไขข้อมูล  ส่วนผู้ดูแลระบบสามารถจัดการข้อมูลของสมาชิกและแก้ไขการตั้งค่าของระบบ  ข้อดีของระบบการจองห้องคือ ห้องปฏิบัติการถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถจองห้องปฏิบัติการได้ทุกที ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน สามารถตรวจสอบสถานะการจองและยังลดปัญหาการจองห้องในเวลาเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ

 

  • การพัฒนาระบบงานห้องปฏิบัติการสู่การจัดทำผลงานวิชาการ บรรยายโดยคุณปัทมา จักษุรัตน์ เลขานุการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       การพัฒนาและการปรับปรุงกระบวนการทำงาน คือการจัดระบบงานใหม่ ค้นหาวิธีการใหม่ที่ดีและง่ายกว่าเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน  หลักคิดในการพัฒนาและการปรับปรุงกระบวนงานคือ 3 ลด 3 เพิ่ม โดย 3 ลด คือ ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนการทำงาน และลดต้นทุน  ส่วน 3 เพิ่มคือ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มความพึงพอใจหรือความประทับใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งในการพัฒนา/ปรับปรุงงานต้องทบทวนภาระงานที่รับผิดชอบแล้วนำมาจัดกลุ่มและเรียงลำดับความสำคัญงานใดเป็นงานหลัก งานรอง งานพิเศษ งานพัฒนา เพื่อจะนำไปสู่การเลือกหัวข้อในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป งานในห้องปฏิบัติการที่สามารถนำมาพัฒนาระบบงาน เช่น งานบริการยืม/จองเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ งานบริการจองใช้ห้องปฏิบัติการ งานบริการเบิกสารเคมี/เบิกอุปกรณ์การทดลอง งานดูแลครุภัณฑ์ งานช่วยสอนหรือแนะนำวิธีการทดลองแก่นักศึกษา งานจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ งานรับวิเคราะห์คุณภาพน้ำ งานรับตรวจเชื้อ เป็นต้น

ขั้นตอนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนากระบวนงานไปสู่ระบบออนไลน์

  1. เลือกงานที่จะพัฒนา
  2. กำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดและเป้าหมาย
  3. เขียน Work Flow ของงาน 
  4. วางแผนการดำเนินงาน วิเคราะห์ปรับปรุงงานเดิมเพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือรวมบางขั้นตอนเข้าด้วยกันอาจใช้แนวคิด Kaizen หรือ ECRS 
  5. ออกแบบระบบงานใหม่เป็นภาพรวมใหญ่แล้วแบ่งส่วนออกเป็น Module ย่อยๆ 
  6. เลือกใช้ Software สำเร็จรูปหรือพัฒนาโปรแกรมโดยโปรแกรมเมอร์ 
  7. ทดลองใช้ ปรับปรุงและใช้จริง
  8. ประเมินผล อาจจะแบบสอบถามจากผู้ใช้ 

       แนวทางการพัฒนาระบบงานออนไลน์ ต้องพิจารณาระบบงานที่ต้องการพัฒนาสู่ระบบออนไลน์ เช่น จำนวนขั้นตอน จำนวนผู้รับบริการและข้อมูลที่ต้องการเก็บนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง การเลือกวิธีการพัฒนาระบบ เช่นการเลือกใช้ Freeware การเลือกพัฒนาระบบโดยโปรแกรมเมอร์ การพิจารณาความคุ้มค่าคุ้มทุน และการประเมินความเสี่ยงของระบบ

 

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : กลุ่มงานช่วยวิชาการ
เบญญาภา หลวงจินา » ความปลอดภัยในห้องปฏฺิบัติการเคมี
ปัจจุบันกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องนำสารเคมีหลากหลายชนิดเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านการเกษตร ด้านการศึกษา ด้านอุตสาหกรรมและด้นอื่น ๆ รวมทั้งสารเคมีเป็นส่วนประกอบที่ส...
ความปลอดภัย     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน เบญญาภา หลวงจินา  วันที่เขียน 29/8/2567 15:42:12  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19/9/2567 10:42:47   เปิดอ่าน 60  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
รุ่งทิพย์ กาวารี » #การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
นโยบายการขับเคลื่อนความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการแบบยั่งยืนในประเทศไทย โดย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึง การลงทะเบียนเพื่อขอรับเ...
Peer Evaluation  การขอทุนวิจัยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ  ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ     กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร   กลุ่มงานช่วยวิชาการ
ผู้เขียน รุ่งทิพย์ กาวารี  วันที่เขียน 29/8/2567 13:43:45  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19/9/2567 17:06:29   เปิดอ่าน 103  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง