งานสำคัญประการหนึ่งของการจัดระบบเอกสารหรือสื่อหรือทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดคือ การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร (cataloging) ซึ่งบางกรณีเรียกว่างานเทคนิคห้องสมุด เป็นงานที่อาศัยความรู้ ทักษะ ทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ PMEST เป็นหลักการหรือมุมมองในการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่จะให้บริการของห้องสมุด โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับการพิจารณาหรือการใช้มุมมองสิ่งใดๆ เป็นแง่มุม (facet) เฉพาะด้านหลายๆ ด้าน (มุมมอง) เพื่อให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ รอบด้านและถี่ถ้วนขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับการทำงานวิเคราะห์เอกสาร ก็จะทำให้สามารถกำหนดคำดรรชนีได้ละเอียดขึ้น เพื่อช่วยการเข้าถึงเนื้อหาเอกสารต่างๆ ได้ครอบคลุมประเด็นเนื้อหาให้ครบถ้วน (รอบด้าน) มากขึ้น ผู้ใช้ห้องสมุดก็สามารถสืบค้นเรื่องที่ต้องการจากคำดรรชนีได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น PMEST เป็นอักษรย่อจากคำว่า Pesronality Material Energy Space Time P = Pesronality = บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร เช่น ภูมิพลอดุลยเดชฯ กษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ M = Material วัตถุ สิ่งของ เช่น วัง บ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร E = Energy พลังงาน สิ่งไร้รูป สิ่งนามธรรม กิจกรรมและการกระทำ เช่น ดนตรี แสงสว่าง ความดี การเล่นกีฬา วิทยาศาสตร์ S = Space สถานที่ ชื่อภูมิศาสตร์ เช่น ไทย เชียงใหม่ สันทราย มหาวิทยาลัย ฟาร์ม T = Time เวลา เหตุการณ์ เช่น กลางคืน ศตวรรษที่ 21 แผ่นดินไหว น้ำท่วม เมื่อนำ PMEST มาใช้กับการวิเคราะห์และทำรายการสื่อโสตทัศน์ของห้องสมุด จะทำให้บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศมีมุมมองกำหนดคำดรรชนีได้มากขึ้น และตรวจสอบได้ว่าวิเคราะห์เนื้อหาสื่อได้ครบถ้วนทุกมุมมองหรือไม่ ตัวอย่างเช่น สื่อโสตทัศน์ CD ภาพยนตร์เรื่อง Bohemian Rhapsody (2018) ซึ่งเป็นเรื่องชีวประวัติของ Freddie Mercury นักร้องนำวงดนตรี Queen สามารถใช้หลักการ PMEST กำหนดดรรชนีได้ดังนี้ P = Pesronality = Mercury, Freddie ; นักร้อง ; นักดนตรี ; Queen (วงดนตรี) ; วงดนตรี M = Material เช่น [ภาพยนตร์ไม่มีเนื้อหาสำคัญที่เน้นมุมมอง facet นี้] E = Energy เช่น ดนตรีร็อค ความใฝ่ฝัน การร้องเพลง S = Space สถานที่ ชื่อภูมิศาสตร์ เช่น [ภาพยนตร์ไม่มีเนื้อหาสำคัญที่เน้นมุมมอง facet นี้] T = Time เวลา เหตุการณ์ เช่น คอนเสิร์ต การแสดงดนตรี การนำไปใช้กับสื่อหรือเอกสารเรื่องอื่น เช่น Titanic หรือสื่อลักษณะอื่น เช่น เอกสารวิชาการ ตำรา นวนิยาย ก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป อนึ่ง การนำเสนอแนวคิด PMEST ในครั้งนี้ให้ข้อมูลเพียงสังเขป พร้อมกับได้ทำสไลด์ Powerpoint 17 ภาพ และตัวอย่างแบบทดสอบประกอบ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Titanic มีเนื้อหาสามารถกำหนดดรรชนีตาม PMEST ได้ครบทุกมุมมอง (facet) โดยสไลด์ดังกล่าวใช้ในกิจกรรม KM ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ข้อมูลโดยละเอียดและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้สนใจสามารถติดต่อผู้เขียน blog ได้ ซึ่งผู้เขียนพร้อมบริการผู้สนใจด้วยความยินดี. [end]