รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร
บทความวารสาร » การทำรายการหัวเรื่องด้วยเครื่องมือบรรณารักษ์คือ ฐานข้อมูลหัวเรื่อง
[0] บทนำ เนื้อหาใน KM blog ครั้งนี้จะขยายความจากเนื้อหาที่ได้นำเสนอแก่บุคลากรห้องสมุดสายงานวิเคราะห์และทำรายการ (cataloging) เพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอในที่ประชุม/การพูดคุย โดยในวงพูดคุยได้แนะนำถึงการสร้างบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทยพอสังเขป และเน้นการใช้งานฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (Thaiccweb) ระดับพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ [1] จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 (มีนาคม-มิถุนายน 2563) และนโยบายให้ทำงานจากบ้าน (work from home) นั้น งานห้องสมุดเกี่ยวกับการวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร โดยเฉพาะการวิเคราะห์และให้หัวเรื่องแก่บทความวารสาร ซึ่งบรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ และบุคลากรห้องสมุดที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานลักษณะนี้จากบ้านได้ แต่อาจไม่สะดวกเพราะขาดเครื่องมือบรรณารักษ์คือคู่มือหัวเรื่องภาษาไทย ที่ใช้ในการตรวจสอบและกำหนดหัวเรื่องแก่เนื้อหาเอกสาร [2] เดิมคู่มือหัวเรื่องนี้จัดทำเป็นฉบับพิมพ์ 2 เล่ม (หนาประมาณเล่มละ 1,000 หน้า) และมีจำนวนตัวเล่มจำกัดเพียง 1-2 สำเนา (copies) จึงไม่เพียงพอกับบุคลากรทุกคน ประกอบกับคู่มือไม่อาจเพิ่มเติม/แก้ไขรายการคำหัวเรื่องใหม่ๆ ได้ จึงค่อนข้างล้าสมัย รวมทั้งเป็นเครื่องมือระบบมือที่การใช้งานค้นหาคำไม่สะดวกแบบระบบฐานข้อมูลหัวเรื่อง [3] คู่มือหัวเรื่องที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ใช้งานในปัจจุบัน จัดทำโดยผู้เขียน blog KM นี้ โดยใช้โปรแกรมจัดการศัพท์สัมพันธ์ (thesaurus management software) ชื่อ Thes_y.pas เป็นโปรแกรมภาษาปาสคาลบนโปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS for DOS ของ Unesco ซึ่งผู้เขียนได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นจากต้นแบบโปรแกรมตัวอย่าง Thes.pas ของ Unesco โปรแกรมนี้ช่วยในการสร้างคำหัวเรื่องภาษาไทยใหม่ๆ สะดวก สามารถสร้างหัวเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน 2 ทาง (two-way relationship) ได้อัตโนมัติ และมีการตรวจสอบความสัมพันธ์แบบศัพท์สัมพันธ์ (ความสัมพันธ์ NT/BT/RT/UF-Use) อัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบดรรชนีค้นหาคำที่หลากหลายและละเอียด ในการสร้างคำหัวเรื่องนั้นผู้เขียนจะเทียบเคียงศัพท์หัวเรื่องไทยจากฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาอังกฤษ Library of Congress Subject Headings (LCSH) ของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ที่เป็นฐานข้อมูลบน Classificationweb.net อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตามโปรแกรมนี้ทำงานบน DOS ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Windows 98 ซึ่งปัจจุบันไม่อาจติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ทำงานของบุคลากรแต่ละคนได้ จึงคงใช้งานเพียงผู้เขียน และการสร้างฐานข้อมูลหัวเรื่องเป็นหลัก ผู้เขียนประมาณการว่าหากจัดทำเป็นหนังสือคู่มือหัวเรื่อง (เล่มละ 1,000 หน้า) จะมีประมาณ 12 เล่ม [4] ผู้เขียนได้นำฐานข้อมูลให้บริการบนโปรแกรม CDS/ISIS for Windows ซึ่งโปรแกรมเมอร์ของห้องสมุดได้จัดทำเครื่องแม่ข่าย (server) ด้วยโปรแกรมลักษณะ virtual machine (ทำนอง VMware) ที่ทำงานระบบปฏิบัติการ Windows Server 200x เพื่อให้โปรแกรม CDS/ISIS for Windows ทำงานได้ แล้วบุคลากรห้องสมุดใช้งานโปรแกรมด้วยวิธีการ remote acess ใช้งาน แต่เนื่องจากเป็นการใช้ในเครือข่ายอินทราเน็ต (intranet) ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เท่านั้น จึงไม่เอื้อต่อการใช้งานลักษณะการทำงานจากบ้านของแต่ละบุคคลได้ [5] ผู้เขียนแนะนำฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (หรือ Thaiccweb) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหัวเรื่องของคณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา อันเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประมาณ 30 แห่ง และห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายดังกล่าวด้วย จึงได้รับ user name (account) ในการใช้งาน รวมทั้งสามารถสร้างและเสนอหัวเรื่องใหม่ได้ ปัจจุบันค่อนข้างมีหัวเรื่องพื้นฐานเพียงพอแล้ว และผู้เขียนประมาณการว่าหากจัดทำเป็นหนังสือคู่มือหัวเรื่อง (เล่มละ 1,000 หน้า) จะมีประมาณ 8 เล่ม [6] สถานภาพการใช้งานฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ มีหลายระดับ เช่น Visitor (ดูได้เพียงหัวเรื่องหลัก), Member (ดูรายละเอียดคำ การโยงคำต่างๆ และเสนอหัวเรื่องใหม่ได้), Editor (ปัจจุบันมี 2 คนคือ ผู้เขียน และบรรณารักษ์สำคัญอีกคนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), Administrator (ดูแลระบบทั้งหมด) ซึ่งในส่วนบุคลากรห้องสมุดสามารถใช้งานในระดับ Member ได้ โดย log in ด้วยบัญชีผู้ใช้ชื่อ mju1 และรหัสผ่านตามที่แจ้งในวง KM หลังจากนั้นสามารถใช้งานสืบค้นหัวเรื่องต่างๆ ได้สะดวก เนื่องจากฐานข้อมูลนี้เป็นระบบ web-based ใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรห้องสมุดสามารถใช้ฐานข้อมูลนี้จากบ้านพักของตนในช่วงการทำงานจากบ้านได้ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าหากมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในอนาคตและมีมาตรการให้บุคลากรทำงานจากบ้าน ฐานข้อมูลนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือบรรณารักษ์/นักเอกสารสนเทศ/ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด ที่เกี่ยวข้องกับงานหัวเรื่องในภาระงานการวิเคราะห์และทำรายการเนื้อหาได้เป็นอย่างดี.
คำสำคัญ : การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร  ฐานข้อมูล  ดัชนี  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2262  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 20/7/2563 15:02:10  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 27/3/2567 23:40:27
บทความวารสาร » KM การทำรายการดรรชนีบทความวารสาร
KM การทำรายการดรรชนีบทความวารสาร จากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรม KM นี้ของบุคลากรในสายงาน พัฒนาทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด และได้นำเสนอ/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การวิเคราะห์และทำรายการในฐานะบรรณารักษ์ชำนาญการ ก็ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความรู้ที่ตนเองพอจะมีบ้างไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กัน เช่น MARC tag ต่างๆ, หัวเรื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งจะบันทึกเป็นคู่มือการทำ รายการบทความวารสารไว้แล้ว ในบันทึกกิจกรรม KM บทความ (blog) ครั้งนี้ ผู้เขียนจะไม่นำเสนอ ถึง "รายละเอียดเนื้อหา" ที่ได้เรียนรู้กันไป แต่ในที่นี้จะบันทึกเกี่ยวกับ "ประเด็นแง่คิด" ที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรม KM ซึ่งมีบางประเด็น ที่ผู้เขียนสนใจและมีมุมมองที่ต้องการแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านดังต่อไปนี้ 1. การวิเคราะห์และทำรายการบทความวารสารของห้องสมุดเท่าที่ผ่านๆ มา พบว่าบรรณารักษ์และผู้จัดทำ ให้ความสำคัญกับการทำรายการเชิงพรรณนา (descriptive catalog) เช่น MARC tag ต่างๆ มากกว่าการทำรายการ เชิงเนื้อหา (subject catalog) ที่เป็นการกำหนดหัวเรื่อง อันเป็นเครื่องมือ ช่วยการค้นคว้าของผู้ใช้ที่ต้องการค้นหาเรื่องเกี่ยวกับ (know about) เนื้อเรื่อง (subject/content) โดยขณะนั้นผู้ใช้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการค้นหาอยู่ ซึ่งการค้นหาลักษณะ subject search นี้เป็นลักษณะการใช้สำคัญของการศึกษาเรียนรู้ 2. บรรณารักษ์และบุคลากรไม่เข้าใจและตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ข้อมูลที่กรอก หรือบันทึก ข้อมูลดรรชนีในระบบจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ ข้อมูลการสืบค้นของผู้สืบค้น ข้อมูล การประมวลผลของโปรแกรมระบบงานห้องสมุด ทำให้การบันทึกข้อมูลบางอย่าง ว่า ควรบันทึกหรือไม่ บันทึกในรูปแบบ/แบบแผน (pattern) การพิมพ์เช่นไร บันทึกในเขต ข้อมูล (tag) ใด บันทึกในรูปแบบคำที่ใช้ทั่วไปหรือรหัสพิเศษ บันทึกในรูปแบบมาตรฐาน ใด (เช่น มาตรฐานหัวเรื่อง) บันทึกแล้วระบบจะประมวลผลอย่างไร บันทึกไว้แล้วจะ สามารถค้นคืนได้เช่นไร ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ทำให้การกำหนดแนวปฏิบัติงานบางอย่าง มีภาระในการทำงานโดยไม่จำเป็นหรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เช่น เดิมมีการกำหนด ให้ลงข้อมูล tag 8 บางตำแหน่ง, tag 5xx, tag 041, tag 245 บางลักษณะ, tag 653 เป็นต้น ขณะเดียวกันก็อาจไม่ได้บันทึกข้อมูลที่ควรเน้นเพื่อการสืบค้น เช่น ข้อมูล tag 246, tag 6xx 3. มุมมองของบรรณารักษ์และผู้ทำการวิเคราะห์และทำรายการบทความวารสาร มี ลักษณะแบบ ถูก/ผิด ต้องทำ/ไม่ต้องทำ แบบA/ไม่ใช่แบบA ใช้วิธีการAเท่านั้น/ไม่ใช้วิธีการB หรือวิธีอื่น ฯลฯ ในลักษณะว่ามีเพียง 2 อย่างให้เลือก หรือ ขาว/ดำ พวกเรา/ไม่ใช่ พวกเรา มิตร/ศัตรู อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงขาดความยืดหยุ่นในการพิจารณาปัญหา มักนำ มาซึ่งข้อถกเถียงที่ไม่เปิดกว้างเพียงพอ ขาดการนำเสนอแนวทางต่างๆ ที่หลากหลายได้ รวมทั้งขาดการพูดคุยถึงการพัฒนาใหม่ๆ เช่น full-text ของบทความดิจิทัล การ Link เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลอื่น การร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำรายการระหว่างห้องสมุด 4. แนวทางปฏิบัติงาน ด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน มีการมอบหมายให้บุคลากรต่างๆ ช่วย การปฏิบัติ โดยไม่ได้พิจารณาหรือให้ความสำคัญกับประเด็นพื้นฐานบางอย่าง เช่น คุณสมบัติ ของผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนา/ฝึกอบรม/สอนงานแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และ การตรวจสอบประเมินผลงานที่เป็นระบบ ทั่วถึง และสม่ำเสมอ 5. การวิเคราะห์และทำรายการบทความวารสาร ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางสารสนเทศ ศาสตร์ เช่น MARC tag ต่างๆ และดรรชนีหัวเรื่อง มีรายละเอียดที่ควรศึกษาเรียนรู้มาก ซึ่งกิจกรรม KM ไม่ควรจัดทำเพียงครั้งคราวเพื่อรายงานผลสถิติว่าจัดแล้วเท่านั้น แต่ควร มีการวางนโยบายและจัดกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ในหัวข้อ (outline) ต่างๆ อย่างครอบคลุม ละเอียด มีการวางแผนการสอน/การเรียนรู้ การสร้างและเก็บสะสมสื่อการเรียนรู้ โดยอาจใช้ ตัวอย่างผลงานที่เป็นปัญหาหรือข้อถกเถียงมาเป็นสื่อเรียนรู้ด้วย สรุป แนวคิดนอกเหนือจากห้องประชุมครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งอาจเกิดกิจกรรม KM ต่อๆ ไปที่จะช่วย นำความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลต่างๆ ออกมาเผยแพร่ต่อไปในอนาคต. ---end
คำสำคัญ : MARC format  การบริหารองค์ความรู้  การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร  ดรรชนี  บทความวารสาร  รูปแบบการลงรายการแบบมาร์ค  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2009  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 13/4/2563 15:51:13  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/3/2567 19:53:16
บริการสื่อโสตทัศน์ » PMEST facet กับการทำดรรชนี
งานสำคัญประการหนึ่งของการจัดระบบเอกสารหรือสื่อหรือทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดคือ การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร (cataloging) ซึ่งบางกรณีเรียกว่างานเทคนิคห้องสมุด เป็นงานที่อาศัยความรู้ ทักษะ ทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ PMEST เป็นหลักการหรือมุมมองในการวิเคราะห์เนื้อหาเอกสารที่จะให้บริการของห้องสมุด โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับการพิจารณาหรือการใช้มุมมองสิ่งใดๆ เป็นแง่มุม (facet) เฉพาะด้านหลายๆ ด้าน (มุมมอง) เพื่อให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ รอบด้านและถี่ถ้วนขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับการทำงานวิเคราะห์เอกสาร ก็จะทำให้สามารถกำหนดคำดรรชนีได้ละเอียดขึ้น เพื่อช่วยการเข้าถึงเนื้อหาเอกสารต่างๆ ได้ครอบคลุมประเด็นเนื้อหาให้ครบถ้วน (รอบด้าน) มากขึ้น ผู้ใช้ห้องสมุดก็สามารถสืบค้นเรื่องที่ต้องการจากคำดรรชนีได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น PMEST เป็นอักษรย่อจากคำว่า Pesronality Material Energy Space Time P = Pesronality = บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร เช่น ภูมิพลอดุลยเดชฯ กษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ M = Material วัตถุ สิ่งของ เช่น วัง บ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร E = Energy พลังงาน สิ่งไร้รูป สิ่งนามธรรม กิจกรรมและการกระทำ เช่น ดนตรี แสงสว่าง ความดี การเล่นกีฬา วิทยาศาสตร์ S = Space สถานที่ ชื่อภูมิศาสตร์ เช่น ไทย เชียงใหม่ สันทราย มหาวิทยาลัย ฟาร์ม T = Time เวลา เหตุการณ์ เช่น กลางคืน ศตวรรษที่ 21 แผ่นดินไหว น้ำท่วม เมื่อนำ PMEST มาใช้กับการวิเคราะห์และทำรายการสื่อโสตทัศน์ของห้องสมุด จะทำให้บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศมีมุมมองกำหนดคำดรรชนีได้มากขึ้น และตรวจสอบได้ว่าวิเคราะห์เนื้อหาสื่อได้ครบถ้วนทุกมุมมองหรือไม่ ตัวอย่างเช่น สื่อโสตทัศน์ CD ภาพยนตร์เรื่อง Bohemian Rhapsody (2018) ซึ่งเป็นเรื่องชีวประวัติของ Freddie Mercury นักร้องนำวงดนตรี Queen สามารถใช้หลักการ PMEST กำหนดดรรชนีได้ดังนี้ P = Pesronality = Mercury, Freddie ; นักร้อง ; นักดนตรี ; Queen (วงดนตรี) ; วงดนตรี M = Material เช่น [ภาพยนตร์ไม่มีเนื้อหาสำคัญที่เน้นมุมมอง facet นี้] E = Energy เช่น ดนตรีร็อค ความใฝ่ฝัน การร้องเพลง S = Space สถานที่ ชื่อภูมิศาสตร์ เช่น [ภาพยนตร์ไม่มีเนื้อหาสำคัญที่เน้นมุมมอง facet นี้] T = Time เวลา เหตุการณ์ เช่น คอนเสิร์ต การแสดงดนตรี การนำไปใช้กับสื่อหรือเอกสารเรื่องอื่น เช่น Titanic หรือสื่อลักษณะอื่น เช่น เอกสารวิชาการ ตำรา นวนิยาย ก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป อนึ่ง การนำเสนอแนวคิด PMEST ในครั้งนี้ให้ข้อมูลเพียงสังเขป พร้อมกับได้ทำสไลด์ Powerpoint 17 ภาพ และตัวอย่างแบบทดสอบประกอบ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Titanic มีเนื้อหาสามารถกำหนดดรรชนีตาม PMEST ได้ครบทุกมุมมอง (facet) โดยสไลด์ดังกล่าวใช้ในกิจกรรม KM ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ข้อมูลโดยละเอียดและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้สนใจสามารถติดต่อผู้เขียน blog ได้ ซึ่งผู้เขียนพร้อมบริการผู้สนใจด้วยความยินดี. [end]
คำสำคัญ : PMEST  การวิเคราะห์และทำรายการเอกสาร  ดรรชนี  ทรัพยากรสารสนเทศ  สื่อโสตทัศน์  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2147  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 18/9/2562 16:25:16  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28/3/2567 4:15:51