|
การศึกษาและรวบรวมการใช้พันธุ์ไม้ ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา
»
การศึกษาและรวบรวมการใช้พันธุ์ไม้ ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา
|
การศึกษาและรวบรวมการใช้พันธุ์ไม้ ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รมถึงรวบรวมรูปแบบลายหม้อปูรณฆฏะ ที่ปรากฏในงานศิลปกรรมล้านนาและนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ในลักษณะของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยใช้วิธีการเขียนอธิบายความพรรณนาและบันทึกภาพถ่าย ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการลงพื้นที่ภาคสนามเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งเป็นการวิจัยในลักษณะที่มุ่งเก็บรวมรวมรูปแบบลวดลายปูรณฆฏะในศิลปกรรม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งผลของการศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้วัฒนธรรมล้านนาเป็นทุนทางวัฒนธรรม
ผลการศึกษาการรวบรวมการใช้พันธุ์ไม้ ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา พบว่าในวัฒนธรรมของล้านนามีการใช้พันธุ์ไม้ตามธรรมชาติ มาออกแบบจนเกิดเป็นลวดลายประดับในงานศิลปะที่รับใช้ศาสนา ว่าด้วยลวดลายของเครื่องสักการระบูชา หนึ่งในลวดลายดังกล่าวปรากฏในรูปของ หม้อปูรณฆฏะ หรือในพื้นที่เรียกว่า ลายหม้อดอก ซึ่งปรากฏในงานศิลปกรรมล้านนาโดยการนำเอารูปแบบพันธุ์พฤกษาดอกไม้ต่างๆ มาออกแบบเป็นงานช่างศิลป์ ทั้งงานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา การเกิดขึ้นของลวดลายในแต่ละพื้นที่ ถึงรูปแบบที่มีพัฒนาการและปรับใช้ในยุคสมัยที่ต่างกัน โดยการเก็บรวบรวมลายหม้อดอกปูรณฆฏะ จำนวน 184 วัดกับ 6 แหล่งมรดกวัฒนธรรม ปรากฏลวดลายหม้อดอกกว่า483 ลาย สู่การทำความเข้าใจรูปแบบลายและความหมายในพื้นที่ผ่านการประดับลายในตำแหน่งต่างๆ ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่พบเทคนิคการสร้างงาน 3 อันดับแรกคือ งานลายคำมากที่สุด รองลงมาเป็นงานปูนปั้น และงานไม้แกะสลักตามลำดับ นอกจากเทคนิคงานช่างแล้ว จากการลงพื้นที่พบลวดลายหม้อดอกมากที่สุดในจังหวัด 3 อันดับแรกคือ จังหวัดลำปาง รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแพร่ ตามลำดับ และลวดลายหม้อดอกถูกสร้างขึ้นมาในการเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาพระธรรมมากที่สุด โดยปรากฏบนหีบธรรม ธรรมมาสน์ และหอธรรม
ส่วนการใช้พันธุ์ไม้ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา พบว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ยังปรากฏรูปแบบของหม้อปูรณฆฏะที่มีดอกบัวโผล่ออกมาจากปากหม้อเป็นส่วนใหญ่ จนถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 ลายหม้อปูรณฆฏะเริ่มเป็นลวดลายกระหนก ซึ่งไม่สามารถระบุการใช้พันธุ์ไม้ในการประดับได้ จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 หม้อปูรณฆฏะที่มีดอกบัวโผล่ออกมาจากปากหม้อเริ่มกลับมามีความนิยมอีกครั้ง และครั้งนี้เริ่มมีช่อดอกเอื้องประดับย้อยออกมาทั้งสองข้างของปากหม้อ ซึ่งพบลายในลักษณะนี้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดลำปางเท่านั้น และในช่วงสุดท้ายพุทธศตวรรษที่ 25ลายหม้อปูรณฆฏะเริ่มเป็นลวดลายกระหนกอีกครั้ง โดยมีรูปแบบของลวดลายประดิษฐ์เข้ามาผสมผสาน เช่นลายดอกพุดตาน ลายหน้ากาล ลายกระจังตาอ้อย ซึ่งเป็นลายที่ได้รับอิทธิพลจากรัตนโกสินทร์เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงอิทธิพลจากพม่า จีน และชาติตะวันตกด้วย
จากการศึกษาการใช้พันธุ์ไม้ ประดับลายหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา ถือเป็นการรวบรวมข้อมูลซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ ถือเป็นงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากการผูกพันกับธรรมชาติในสังคมล้านนา โดยนำเสนอผ่านมุมมองของความงามและสุนทรียะ เทคนิคงานช่างที่ใช้ใการสร้างสรรค์งาน ความนิยมในแต่ละพื้นที่ ทำให้เข้าใจการเชื่อมโยงและเห็นถึงที่มาของการใช้ลวดลายหม้อดอกสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งงานศึกษาชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ว่าด้วยเรื่องหม้อปูรณฆฏะในศิลปกรรมล้านนา ให้ผู้สนใจมองเห็นและเข้าใจความงาม และสามารถนำรูปแบบลวดลายที่ได้เก็บรวบรวมไว้นี้ ไปพัฒนาและปรับใช้ในอนาคตต่อไป
|
คำสำคัญ :
หม้อปูรณฆฏะ, หม้อดอก, ศิลปกรรมล้านนา
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม บันเทิง
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
1372
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
25/8/2565 10:00:21
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
21/11/2567 13:53:30
|
|
|
การวาดรูปสีน้ำเบื้องต้น
»
หลักการการวาดสีน้ำ
|
หลักการระบายสีน้ำ และเทคนิคการระบายสีน้ำ ความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจคุณสมบัติของสีน้ำ และต้องสามารถควบคุมได้ การลงมือทดลองจะเห็นธรรมชาติและความเป็นไปของจังหวะสี ดังนั้นการสร้างสรรค์ภาพวาดสีน้ำจึงต้องใช้เทคนิคพื้นฐานการระบายสีน้ำ ซึ่งจะสามารถนำไปสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมสีน้ำที่สมบูรณ์
การระบายแบบเปียกบนเปียก (Wet ON Wet) : คือ สีเปียก (สีผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษเปียก (กระดาษที่ระบายน้ำหรือน้ำสีไว้แล้ว) วิธีการคือ ใช้พู่กันจุ่มสี (ค่อนข้างข้น) แตะแต้มบนกระดาษที่เปียกอยู่แล้วตามด้วยสีอื่น สีจะไหลซึม รุกรานเข้าหากันอย่างกลมกลืนและมีส่วนที่เกิดเป็นสีใหม่เพิ่มขึ้นมา
ถ้าทำบนกระดาษเปียกชุ่ม สีจะรุกรานกันรวดเร็วและนุ่มนวล เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายท้องฟ้า หรือน้ำทะเลได้ ถ้าทำบนกระดาษเปียก สีจะรุกรานไม่มากแต่ยังคงผสมผสานกลมกลืนกันดี เทคนิคนี้นำไปใช้ระบายเป็นพวกวัตถุรูปทรงทั่วไปได้ ถ้าทำบนกระดาษหมาด สีจะผสมผสานกลมกลืนกันน้อย เห็นการแยกสัดส่วนชัดเจนกว่า เทคนิคนี้นำไปใช้ สร้างพื้นผิวแสดงความแตกต่าง ไม่เรียบ
การระบายแบบเปียกบนแห้ง (Wet ON Dry) : เป็นลักษณะการระบายเรียบโดยใช้สี (ผสมน้ำแล้ว) ระบายบนกระดาษแห้งมี 3 รูปแบบ ดังนี้
ระบายเรียบสีเดียว (Flat wash) : โดยใช้พู่กันจุ่มสีระบายไปตามแนวนอนบนกระดาษที่เอียงเล็กน้อยให้น้ำสีไหลลงไปกองข้างล่างแล้วระบายต่อเนื่องกันลงไปจนจบ การระบายครั้งต่อไปให้ต่อที่ใต้คราบน้ำที่ยังเปียกอยู่ ผลที่ได้คือสีจะใส เรียบสม่ำเสมอ ระวัง อย่านำพู่กันไปจุ่มน้ำ หรือเติมน้ำลงในสี ระหว่างทำงานเพราะจะทำให้สีที่ได้ไม่เรียบเกิดเป็นขั้นได้
ระบายเรียบหลายสี (Colour wash) : ทำเหมือนกับระบายเรียบสีเดียวแต่เมื่อจบสีที่ 1 แล้วให้ระบายสีที่ 2 ต่อที่ใต้คราบน้ำขณะที่เปียกอยู่ ผลที่ได้คือ สีต่างๆ จะมีการผสมผสานกลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง หมายเหตุ ทั้งการระบายเรียบสีเดียว และ หลายสี เป็นพื้นฐานของงานสีน้ำที่นำไปใช้ระบาย ให้เกิดภาพแล้วแต่ว่าจะให้เป็นสีเดียว หรือหลายสี เช่น ภาพคนใส่เสื้อผ้า ก็ต้องเป็นระบายเรียบหลายสี
ระบายเรียบอ่อนแก่ (Grade wash) : เป็นการระบายให้เกิดค่าน้ำหนักของสี จะเริ่มจากอ่อนไปหาแก่ หรือ จากแก่ไปหาอ่อนก็ได้ ถ้าเริ่มจาก แก่ไปหาอ่อน ก็ผสมสีให้ข้นกว่าปกติ แล้วระบายเรียบได้ช่วงหนึ่งให้ล้างพู่กันจนสะอาดแล้วจุ่มน้ำมาระบายใต้คราบน้ำเป็นระยะๆให้สีจางลงไปเรื่อยๆ ถ้าเริ่มจาก อ่อนไปหาแก่ ให้ผสมสีเจือจางแล้วระบายเรียบไปช่วงหนึ่ง ก็เพิ่มสีให้มีความเข้มข้นขึ้น แล้วระบายต่อใต้คราบน้ำลงมา เป็นระยะๆ ให้สีเข้มขึ้นการระบายเรียบอ่อนแก่ เป็นเทคนิคที่นำไปใช้ระบายให้เกิด มิติ แสง-เงา
การระบายแบบแห้งบนแห้ง (DRY ON DRY) : เป็นการระบายสีข้นๆบนกระดาษแห้งในลักษณะต่างๆเช่น แตะ แต้ม ขีด เขียน ลากเส้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการใช้ส่วนต่างๆของพู่กันคือปลายบ้าง โคนบ้างเพื่อให้เกิดเป็นลักษณะต่างๆ เทคนิคนี้นำไปใช้เน้นเพื่อเพิ่มรายละเอียดของภาพ เช่น เมื่อเราทำภาพตัวบ้านเสร็จแล้วเราก็มาใส่ประตู หน้าต่าง ด้วยการใช้สีข้นๆ แตะ แต้ม ลงไปเราก็จะได้รายละเอียดของภาพแบบ
ดังนั้น การวาดภาพสีน้ำกระบวนการสำคัญคือการให้แสงและเงา ที่เข้าใจธรรมชาติของภาพ แล้วนำมาร้างสรรค์งานภาพวาดสีน้ำต่อไป
|
คำสำคัญ :
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม บันเทิง
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
5370
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
5/9/2563 22:15:54
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
21/11/2567 15:42:20
|
|
|
|
|
|