ขั้นตอนการเขียนหนังสือราชการ
การเขียนหนังสือราชการเป็นกระบวนการเขียนที่เป็นขั้นตอน ผู้เขียนต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีความรอบคอบ พิถีพิถันในการเขียน อาจสรุปขั้นตอนในการเขียนได้ ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูล การได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและช่วยให้ผู้เขียนสามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางการเขียนได้ดียิ่งขึ้น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของเรื่องที่จะเขียน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นต้น
2. รวบรวมความคิด การรวบรวมความคิด หมายถึงการนำเอาข้อมูลที่ได้ศึกษามาสรุป เพื่อให้เกิดความคิดที่ชัดเจนว่าจะเขียนไปในทิศทางใด ตรงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
3. รวบรวมประเด็นและจัดลำดับเนื้อหา หลังจากได้แนวคิดที่ชัดเจนแล้ว ขั้นนี้จึงเป็นการเลือกสรรข้อมูลมาสรุปเป็นประเด็น แล้วนำไปจัดลำดับเรียบเรียงเป็นเนื้อหา ให้มีความสัมพันธ์และสอดรับกับเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
4. ลงมือเขียน เป็นขั้นลงมือปฏิบัติโดยให้เป็นไปตามแนวทางเขียนที่ได้จัดลำดับประเด็นและเรียบเรียงเนื้อหาไว้แล้ว การเขียนจะต้องพิจารณาถึง ส่วนประกอบของเนื้อหา ให้ครบทั้ง 3 ส่วน คือ ส่วนเหตุ ส่วนผล และสรุปความ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของการใช้ภาษาในการเขียนอีกด้วย
5. ตรวจสอบและปรับปรุง เมื่อลงมือเขียนหนังสือราชการเรียบร้อยแล้วถือว่ายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบแก้ไข สิ่งที่ควรตรวจสอบมีดังนี้
5.1 ตรวจสอบรูปแบบและส่วนประกอบให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นระเบียบสวยงาม
5.2 ตรวจสอบเนื้อหาว่าแต่ละส่วนประกอบ มีความถูกต้อง ชัดเจน บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
5.3 ตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้ภาษาว่า ใช้คำ ประโยค เครื่องหมายวรรคตอน ย่อหน้าถูกต้องชัดเจนและเหมาะสมหรือไม่
หลักการพื้นฐานในการเขียนหนังสือราชการ
ในการเขียนหนังสือราชการให้ดีมีมีหลักการพื้นฐานที่ควรยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
1. การเขียนให้ถูกต้อง ควรยึดหลักความถูกต้องโดยเขียนให้ถูกรูปแบบ ถูกเนื้อหา ถูกหลักภาษา และถูกความนิยม
1.1 ถูกรูปแบบ หมายถึง การเขียนให้ถูกต้องเกี่ยวกับส่วนประกอบ หรือโครงสร้างตามรูปแบบของหนังสือราชการ ซึ่งจะมีรูปแบบและข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละประเภท
1.2 ถูกชื่อเรื่อง หมายถึง การเขียนสรุปความลงในส่วนที่เรียกว่า “เรื่อง” ของหนังสือราชการ ซึ่งจะต้องเขียนให้ครอบคลุมทั้งจุดประสงค์และเนื้อหา
1.3 ถูกเนื้อหา หมายถึง เขียนถูกต้องและมีสัมพันธภาพในส่วนประกอบของเนื้อหา ซึ่งแบ่งส่วนประกอบของเนื้อหาหนังสือราชการ ออกเป็น 3 ส่วน
1.3.1 ส่วนเหตุ เป็นส่วนเริ่มต้นของเนื้อหา ซึ่งอาจเป็นเหตุจากผู้มีหนังสือไป หรือเหตุจากบุคคลภายนอก หรือเหตุจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้น หรือเหตุจากผู้รับหนังสือ และอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่หรือเหตุที่มีเรื่องเดิมที่เคยติดต่อกันมา มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “ด้วย” (กรณีเกริ่นลอย ๆ) “เนื่องจาก” (กรณีอ้างเหตุอันหนักแน่น) และคำว่า “ตาม” “ตามที่” หรือ “อนุสนธิ” ในกรณีที่เคยมีเรื่องติดต่อหรือรับรู้กันมาก่อน และต่อด้วยรายละเอียดของที่มาหรือเหตุของเรื่องแล้วตามด้วย คำว่า “นั้น” (เว้น 1 ช่วงตัวอักษร) อยู่ท้ายสุดของข้อความ
1.3.2 ส่วนผล หรือส่วนที่ต้องดำเนินการ เป็นส่วนที่ต้องเขียนต่อจากเหตุ เพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับผล หรือสิ่งที่ต้องดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุในข้อความตอนต้น ในส่วนนี้อาจอ้างถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย
1.3.3 ส่วนแจ้งจุดประสงค์ ส่วนสุดท้ายของการเขียนเนื้อหา ควรจะย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เริ่มต้นด้วยคำว่า “จึง” แล้วตามด้วยข้อความบอกจุดประสงค์
เกี่ยวกับจุดประสงค์ของหนังสือราชการ อาจแบ่งเป็น 3 จุดประสงค์หลัก คือ “เพื่อทราบ” เช่น ต้องการเพื่อถือปฏิบัติ เพื่อย้ำเน้น เป็นต้น “เพื่ออนุมัติ” เช่น เพื่ออนุญาต เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นต้น และ “เพื่อดำเนินการ” เช่น เพื่อพิจารณา เพื่อผ่านเรื่องดำเนินการต่อไป เป็นต้น
1.4 ถูกภาษาราชการ การใช้ภาษาในหนังสือราชการ ได้พิจารณา 3 เรื่อง ดังนี้
1.4.1 เรื่องคำ ต้องเลือกใช้คำที่เป็นภาษามาตรฐาน ถูกต้องทั้งระดับและฐานะของคำ รวมทั้งต้องถูกตามความหมายด้วย เช่น ใช้คำว่า “เกษียณ” ในความหมายของข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีแล้วต้องหมดวาระการรับราชการ และไม่ใช้คำว่า “เกษียน” ที่มีความหมายว่าเขียน หรือคำว่า “เกษียร” ซึ่งแปลว่า น้ำนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องคำถึงเรื่องคำที่ใช้เฉพาะในราชการด้วย เช่น คำว่า “สั่งการ” “วินิจฉัย” เป็นต้น
1.4.2 เรื่องประโยค หนังสือราชการนิยมเขียนประโยคที่สั้น กระชับตรงไปตรงมา หรือหลีกเลี่ยงการใช้คำบุพบทที่ฟุ่มเฟือย เช่น “การขาดราชการของนายใจ สุขดี ครั้งนี้ทำให้ส่วนราชการเสียหาย” แทนคำว่า “ด้วยการที่นายใจ สุดดี ได้ขาดราชการในครั้งนี้ทำให้ส่วนราชการต้องเสียหายอันเป็นผลมาจากนายใจ สุขดี ได้ขาดราชการในครั้งนี้” เป็นต้น
1.4.3 เรื่องสำนวนภาษา การเขียนหนังสือราชการต้อง”ไม่เล่นสำนวน” ให้ใช้สำนวนภาษาที่รัดกุม มีความหมายตรงไม่คลุมเครือ หรือมีความหมายตีความได้หลายแง่หลายมุม อีกประการหนึ่งผู้เขียนจำเป็นต้องรู้สำนวนภาษาราชการ เพื่อจะได้เลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
1.5 ถูกความนิยม ความนิยมที่จะต้องคำนึงถึงในการเขียนหนังสือราชการหมายความรวมทั้งความนิยมที่ใช้กันโดยทั่วไปในวงราชการ และความนิยมเฉพาะบุคคลในหนังสือ
2. ความชัดเจน หนังสือราชการต้องยึดหลักความชัดเจน 3 ประการ คือ
2.1 จุดประสงค์ชัดเจน ผู้อ่านเข้าใจได้ทันทีว่าต้องการอะไร
2.2 เนื้อหาชัดเจน เนื้อหาสอดคล้องกับจุดประสงค์ มีการจัดลำดับประเด็น และเรียบเรียงเนื้อหาดี ไม่วกวน สับสน
2.3 ข้อมูลชัดเจน เนื้อหาของหนังสือราชการจะสมบูรณ์ได้ ก็ต้องเขียนจากข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการอ่าน
3. ความเป็นระเบียบสวยงาม เป็นส่วนเสริมที่ช่วยให้หนังสือราชการสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คือความเป็นระเบียบสวยงาม ดังนี้
3.1 ฟอร์มสวย หมายถึง แบบของหนังสือราชการแต่ละประเภท มีการวางระยะวรรคตอนที่เป็นระบบสวยงาม
3.2 จัดพิมพ์ดี หมายถึง การเลือกใช้ตัวอักษรในการพิมพ์มีความเหมาะสม รวมทั้งแบบของตัวอักษรและขนาดตัวอักษร คือไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป พิมพ์วรรคตอนถูกต้อง ไม่ตกหล่นหรือพิมพ์ผิด รวมทั้งพิมพ์ชัดเจนไม่มีตำหนิ ขีด ฆ่า ขูด ลบให้ปรากฏ