สรุปการอบรมหลักสูตร “กฎหมายปกครองสำหรับนักบริหารมหาวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยแม่โจ้”
ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565
ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
หัวข้อเนื้อหา
- กฎหมายปกครองเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย
- กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
- กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล
- กฎหมายว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย
กฎหมายปกครองเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย
กฎหมายมหาชน แบ่งออกเป็น
- กฎหมายรัฐธรรมนูญ กำหนดการจัดอำนาจและองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรดังกล่าวด้วยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรดังกล่าวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- กฎหมายปกครอง กำหนดสถานะ อำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองด้วยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- กฎหมายการคลัง กำหนดวิธีการงบประมาณ การคลังและภาษีอากร
กฎหมายปกครอง จะครอบคลุม
- เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรของรัฐในทางบริหาร
- เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครอง
- เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการใช้อำนาจทางปกครอง
คดีปกครอง คือ คดีที่มีข้อพิพาททางกฎหมายปกครองระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน เกี่ยวกับการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ลักษณะของคดีปกครอง
- คู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- เป็นคดีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกกฎ ออกคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดในทางปกครอง
สัญญาภาครัฐ แบ่งเป็น
- สัญญาทางปกครอง
แนวคิด : สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
- สัญญาทางแพ่ง
กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ขั้นตอนการซื้อหรือจ้าง
- แผนการจัดซื้อจัดจ้าง (มีประกาศเผยแพร่แผนฯ)
- ขอบเขตของงาน/ Spec. (รับฟังความคิดเห็น กรณี e-bidding วงเงินเกิน 5 ล้านบาท)
- ทำรายงานขอซื้อ/จ้าง
- ดำเนินการจัดหา (วิธีจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปมี 3 วิธี คือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก วิธีเฉพาะเจาะจง)
- ขออนุมัติสั่งซื้อ/จ้าง (ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง คือ (1) หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ (2) ผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น)
- การทำสัญญา (หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้ลงนามสัญญา)
- การตรวจรับพัสดุ (มีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ)
การจัดทำร่างขอบเขตของงานที่จะซื้อหรือจ้าง
TOR คือ การร่างขอบเขตงาน เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดเงื่อนไขการเสนอราคา ซึ่งประกอบด้วยเอกสารแสดงข้อมูล รายการ รายละเอียดเทคนิคของสิ่งของ หรืองานจ้าง ที่จะประกาศ หรือแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ได้รับทราบถึงความต้องการ ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นของหน่วยงานของรัฐ ผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้าง
มาตรา 8 หลักการจัดซื้อจัดจ้าง
คุ้มค่า (มีคุณลักษณะตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งานและมีราคาเหมาะสม)
โปร่งใส (เปิดเผยข้อมูล เปิดโอกาสให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม)
ตรวจสอบได้ (เก็บข้อมูลเป็นระบบเพื่อการตรวจสอบ)
ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (วางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและมีการประเมินผล)
หลักการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งของที่จะซื้อ หรือขอบเขตงานที่จะจ้าง (Specification : Spec) ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานของรัฐที่สามารถกำหนดได้ตามความต้องการของหน่วยงาน แต่ต้องสอดคล้องกับรายการเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา และที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี หรือหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมต่าง ๆ ด้วย
การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ (ตาม พรบ.มาตรา 9) หลักเกณฑ์ที่ต้องคำนึงถึง
ห้ามกำหนดใกล้เคียงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
เว้นแต่มียี่ห้อเดียว หรือต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใด ให้ระบุยี่ห้อนั้นได้
คุณลักษณะเฉพาะ = เทคนิค คุณภาพ วัตถุประสงค์
ราคากลาง ราคาเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริงตามลำดับ ดังต่อไปนี้
- ราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการราคากลางกำหนด
- ฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของกรมบัญชีกลาง
- ราคามาตรฐานของสำนักงบประมาณหรือหน่วยงานอื่น
- สืบราคาจากท้องตลาด
- ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายใน 2 ปีงบประมาณ
- ราคาตามหลักเกณฑ์อื่นของหน่วยงานของรัฐ
*กรณีที่มีราคาตามข้อ 1 ให้ใช้ข้อ 1. ก่อน หากไม่มีให้พิจารณาข้ออื่นตามลำดับ
**จะใช้ราคาใดให้คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ
รายงานขอซื้อ หรือขอจ้าง ระเบียบฯ ข้อ 22 อย่างน้อยต้องมีรายการดังนี้
- เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง
- ขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ หรือแบบรูปรายการงานก่อสร้างที่จะซื้อหรือจ้าง แล้วแต่กรณี
- ราคากลางของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้าง
- วงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง โดยให้ระบุวงเงินงบประมาณ ถ้าไม่มีวงเงินดังกล่าวให้ระบุวงเงิน ที่ประมาณว่าจะซื้อหรือจ้างในครั้งนั้น
- กำหนดเวลาที่ต้องการใช้พัสดุนั้น หรือให้งานนั้นแล้วเสร็จ
- วิธีที่จะซื้อหรือจ้างและเหตุผลที่ต้องซื้อหรือจ้างโดยวิธีนั้น
- หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ
- ข้อเสนออื่น ๆ เช่น การขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการซื้อหรือจ้าง การออกประกาศและเอกสารเชิญชวน และหนังสือเชิญชวน
การแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้าง ระเบียบฯ ข้อ 25
การซื้อหรือจ้างแต่ละครั้ง ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้ง “คณะกรรมการซื้อหรือจ้าง” เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้ พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี คือ
- คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์
- คณะกรรมการพิจารณาผลการสอบราคา
- คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือก
- คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
- คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ
องค์ประกอบของคณะกรรมการ ระเบียบฯ ข้อ 26
ประธาน 1 คน
กรรมการ อย่างน้อย 2 คน
แต่งตั้งจากข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานของรัฐ พนักงานหน่วยงานของรัฐ หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสำคัญ
ในกรณีจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐจะแต่งตั้งบุคคลอื่นร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้ แต่จำนวนกรรมการที่เป็นบุคคลอื่นจะต้องไม่มากกว่าจำนวนกรรมการตามวรรคหนึ่ง
ข้อห้าม ในการซื้อหรือจ้างครั้งเดียวกัน ห้ามแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กรรมการพิจารณาผลการสอบราคา หรือกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือก เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ
คณะกรรมการซื้อหรือจ้างทุกคณะ ควรแต่งตั้งผู้ชำนาญการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับงานซื้อหรือจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
การซื้อหรือจ้าง โดยวิธีคัดเลือก
มาตรา 56 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน
เว้นแต่ (1) กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีคัดเลือก
- ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
- พัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อน หรือต้องผลิต ก่อสร้าง หรือให้บริการ โดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูงและผู้ประกอบการมีจำนวนจำกัด
- มีความจำเป็นเร่งด่วน อันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้
- ลักษณะของการใช้งาน หรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
- ต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ หรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
- ใช้ในราชการลับ หรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ หรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
- งานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อน จึงจะประมาณค่าซ่อมได้
- กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
วิธีเฉพาะเจาะจง
มาตรา 56(2) (ข) : กรณีวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ 79 วรรคสอง
ข้อยกเว้น : กรณีจำเป็นเร่งด่วน /ไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน /ดำเนินการตามปกติไม่ทัน
วิธีการ : เจ้าหน้าที่ หรือ ผู้รับผิดชอบดำเนินการไปก่อน
รายงานขอความเห็นชอบหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับ
ผลของสัญญา
หลักการ : สัญญามีผลนับตั้งแต่วันที่คู่สัญญาได้ลงนามในสัญญา
ยกเว้น : คู่สัญญามีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขกันไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น
ค่าปรับ (เบี้ยปรับ) ค่าเสียหาย
ค่าปรับ (เบี้ยปรับ) เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย
ค่าเสียหาย เป็นสิทธิเรียกร้องของคู่สัญญาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ต้องพิสูจน์ความเสียหาย
การบริหารงานบุคคลและคดีปกครองเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
พนักงานมหาวิทยาลัย หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา คือ บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาให้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา
ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดประเภทคดีปกครอง กรณีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ มหาวิทยาลัยต้นสังกัดซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม การละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนล่าช้า การมอบหมายงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ตรงกับภาระงาน การไม่จ่ายงานสอนและประเมินผลงานให้ไม่ผ่านเกณฑ์ การไม่จ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อออกจากงาน หรือการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
- คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
- คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีมติว่า การที่ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหารอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม การละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนล่าช้า การมอบหมายงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ตรงกับภาระงาน การไม่จ่ายงานสอนและประเมินผลงานให้ไม่ผ่านเกณฑ์ การไม่จ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อออกจากงาน หรือการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
คดีพิพาทเกี่ยวกับการไม่ต่อสัญญาจ้าง (มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นกรณีศึกษา)
- เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง การจะต่อสัญญาจ้างหรือไม่ เป็นดุลพินิจของคู่สัญญา
- สัญญาจ้างกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องมีการประเมินผลงานจึงจะต่อสัญญาจ้าง เมื่อหน่วยงานไม่ประเมินในขณะที่ภารกิจของงานยังมีอยู่ ถือว่าหน่วยงานผิดสัญญา
- สัญญาจ้างระบุว่า จะต่ออายุสัญญาจ้างเมื่อผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน เมื่อไม่ผ่านการประเมิน หน่วยงานย่อมเลิกจ้างได้
- แม้ว่าจะผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน แต่หน่วยงานไม่ต่อสัญญาให้ก็ได้
การบริหารงานบุคคล
ต้องคำนึงถึงระบบคุณธรรม และศาลปกครองนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการพิจารณาตัดสินคดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล
- การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
- การดำเนินการ พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
- พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
สาระสำคัญของระบบคุณธรรม
- หลักความเสมอภาค
- หลักความสามารถ
(มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นกรณีศึกษา)
การดำเนินการทางวินัย (มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นกรณีศึกษา)
ข้าราชการทีกระทำผิดวินัย แม้ต่อมาจะได้ออกจากราชการ (มิใช่ตาย) ผู้บังคับบัญชาก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ เสมือนยังไม่ได้ออกจากราชการ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ก่อนออกจากราชการ มีการกล่าวหาเป็นหนังสือว่า ขณะรับราชการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทไม่เกี่ยวกับราชการ หรือความผิดลหุโทษ : แต่ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ (มาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ฉบับที่ 4)
พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ฉบับที่ 4 มาตรา 53/1 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดซึ่งออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษาผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้วแต่กรณี
มีปัญหาว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมาตรา 100/1 แห่ง พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ หาก ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดในขณะที่ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้ว ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยจะต้องออกคำสั่งลงโทษตามมติชี้มูลความผิดทางวินัยของ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ภายในระยะเวลาเท่าใด นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
บทสรุป ขณะรับราชการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้จะออกจากราชการไปแล้ว ก็ยังดำเนินการทางวินัยได้ ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาก่อนหรือภายหลังออกจากราชการไปแล้วก็ตาม
--------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง : เอกสารประกอบการอบรม
- การบริงานบุคคลและคดีปกครองเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
- ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560